ราชวงศ์ซ่ง กับ ความเหลวแหลก อันเนื่องมาจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงของขุนนาง ความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยของ…

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

อุษาวิถี (29)

 

ข้อแตกต่างของพุทธและเต้าที่เด่นชัดเห็นจะเป็นประเด็นเรื่องกาม เช่น ในขณะที่พุทธสอนให้ละกามสุลลิกานุโยค และมีบทบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์ทรงพรหมจรรย์นั้น เต้ากลับคิดว่า การละกามเป็นการฝืนธรรมชาติ เป็นต้น

แต่กระนั้น รากฐานของลัทธิขงจื่อที่เริ่มปลูกฝังในสมัยราชวงศ์ฮั่นก็มิได้ถูกสั่นคลอนลงไป มิหนำซ้ำยังได้ขยายความออกไปโดยการเน้นถึงความสำคัญของครอบครัว ด้วยการรวบรวมหลักคำสอนของขงจื่อว่าด้วยครอบครัวขึ้นมา

ที่สำคัญ การล้างภาพที่ดูประดุจหนึ่งเทพที่ราชวงศ์ฮั่นสร้างให้กับขงจื่อลงมา เสมอด้วยมหาบุรุษสามัญนั้น นับว่ามีส่วนไม่น้อยในการทำให้ลัทธิขงจื่อสามารถสัมผัสและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับพุทธหรือเต้าที่มีภาพของความเป็น “เทพ” อยู่ไม่น้อยในสังคมจีน

 

ถัดจากยุคนี้ไปแล้ว ประวัติศาสตร์จีนก็สลับกันไปมาระหว่างช่วงที่มีเอกภาพในระยะสั้นๆ อยู่อีกหลายราชวงศ์ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ใช่เอกภาพอันพึงประสงค์ ตราบจนถึงสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) เอกภาพในความหมายที่สมบูรณ์จึงได้หวนกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

และเป็นการกลับมาที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของลัทธิขงจื่อพอสมควร

โดยเฉพาะเมื่อราชวงศ์นี้ได้เปิดกว้างให้กับการเข้ามาของลัทธิความเชื่อต่างๆ ที่โดดเด่นเป็นพิเศษก็คือ พุทธมหายานและลัทธิเต้า

การเปิดให้ความเชื่ออื่นที่ต่างไปจากลัทธิขงจื่อนี้ มีส่วนไม่น้อยที่ทำให้สังคมจีนกลมกลืนไปภายใต้ลัทธิหรือความเชื่อ 3 กระแส นั่นคือ ขงจื่อ เต้า และพุทธมหายาน

ทั้งนี้ โดยเป็นที่ยอมรับกันว่า ถึงที่สุดแล้ว ลัทธิขงจื่อก็ยังคงอยู่ในกระแสหลักอยู่ดี

 

ควรกล่าวด้วยว่า การเข้ามามีบทบาทที่โดดเด่นของพุทธและเต้านี้ มิได้หมายความว่าจะปราศจากซึ่งปฏิกิริยาต่อต้านจากบัณฑิตลัทธิขงจื่อไปด้วยไม่ ปฏิกิริยานี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานทัศนะที่มองว่า พุทธและเต้ายังผลไม่น้อยต่อความอ่อนแอลงของรัฐบาลกลาง และทำให้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในอันที่จะฟื้นฟูลัทธิขงจื่อขึ้นมาให้แข็งแกร่งดังเดิม

ด้วยเหตุนี้ บัณฑิตลัทธิขงจื่อจึงไม่ลังเลที่จะวิพากษ์พุทธ ว่าเป็นลัทธิหรือศาสนาของคนป่าเถื่อน การเคารพบูชาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าของพระบรมวงศานุวงศ์จึงถูกต่อต้านตามไปด้วย ว่าเป็นวัฒนธรรมที่ป่าเถื่อนและเป็นการให้ความเคารพกับสิ่งสกปรก

ไม่เพียงเท่านี้ ข้อวิพากษ์ยังมองต่อไปว่า การยึดเอาพุทธเป็นหลักชัยจะยังความเสียหายและอ่อนแอให้แก่รัฐ

 

ในขณะเดียวกัน “วิถี” หรือ “เต้า” (the Way) วิถีเดียวก็ถูกมองว่าเป็นการทำลายหลักคำสอนของลัทธิขงจื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว นั่นคือ หลักที่เรียกว่า “วิถีแห่งปราชญ์” ซึ่งเชื่อกันว่า จะเป็นวิถีที่สามารถปกป้องประชาชนให้พ้นจากภยันตรายต่างๆ

และเป็นวิถีที่สามารถแสดงให้เห็นถึงการมีชีวิตที่ความมั่นคง กินอิ่ม-นอนอุ่น ต่อสู้กับสัตว์ร้าย การสัมผัสถึงรสของดนตรีและพิธีกรรม ตลอดจนการสร้างสรรค์สถาบันทางการเมืองที่มีศักยภาพในการปกป้องคุ้มครอง และปรามปราบอาชญากรรมได้อย่างไร

โดยวิถีอันพึงประสงค์นี้ต่างถูกศาสนาพุทธและลัทธิเต้าบิดเบือนจนหมดสิ้น

ทางออกที่ทัศนะวิพากษ์นี้เสนอก็คือ จะต้องกวาดล้างทำลายพุทธและเต้าให้ออกไปจากสังคมจีนเท่านั้น สังคมจีนจึงจะดำรงอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นข้อวิพากษ์ที่รุนแรง แต่ก็เป็นข้อวิพากษ์ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติมากนัก โดยเฉพาะในเรื่องของทำลายล้าง แต่ที่มีผลไม่น้อยก็คือ การทำให้ลัทธิขงจื่อยังคงตั้งมั่นอยู่ได้ต่อมา

 

เมื่อราชวงศ์ถังล่มสลายลงไป จีนก็หวนกลับไปสู่ภาวะที่ไร้เอกภาพในยุคห้าราชวงศ์ สิบรัฐ” (Five Dynasties & Ten Kingdoms, ค.ศ.907-979) แล้วจึงเอกภาพอีกครั้งหนึ่งในสมัยราชวงศ์ซ่ง (Song Dynasty, ค.ศ.960-1279) ซึ่งเป็นเอกภาพแบบขาดตอน

กล่าวคือ มีเอกภาพอยู่ช่วงหนึ่งแล้วอ่อนแอลงโดยมีราชวงศ์อื่นๆ มาสลับอำนาจในช่วงสั้นๆ แล้วก็ต่อด้วยราชวงศ์นี้อีกครั้งหนึ่ง ราชวงศ์ที่มาสลับอำนาจที่ค่อนข้างมีความมั่นคง (อยู่ในพื้นที่ของตนเองที่เป็นคนละพื้นที่ในเขตอำนาจของราชวงศ์ซ่ง) ก็คือ ราชวงศ์จิน (Jin Dynasty, ค.ศ.1115-1234) ในสมัยนี้ลัทธิขงจื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเอกอุ จนถูกเรียกว่า “ลัทธิขงจื่อใหม่” (Neo-Confucianism)

นักปรัชญาขงจื่อที่ทำการสังเคราะห์ลัทธิขงจื่อขึ้นมาใหม่นี้คือ จูซี (Zhu-xi, ค.ศ.1130-1200) โดยเขาได้รวบรวมหลักคำสอนของขงจื่อพร้อมกับอธิบายข้อคิดเห็นขึ้นมาใหม่ ภายหลังจากนั้นบทสังเคราะห์ของเขาก็ได้กลายเป็นแม่แบบให้กับการศึกษาลัทธิขงจื่อในเวลาต่อมา

และได้กลายเป็นลัทธิขงจื่อขนานแท้และดั้งเดิมตายตัวนับแต่ ค.ศ.1313 เรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 20

ประเด็นปัญหาก็คือว่า ลัทธิขงจื่อใหม่ของจูซีที่เคร่งครัดตายตัวนี้ส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และโน้มนำให้สังคมจีนมีความยึดมั่นในขนบจารีตหนักแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น และมีส่วนอย่างมากในการทำให้สังคมจีนมีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก

หรือแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลยก็ว่าได้

ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงของลัทธิขงจื่อในครั้งนี้ถึงแม้จะส่งผลดีต่อราชสำนักซ่งก็ตาม แต่ก็เป็นผลดีให้กับยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความเสื่อมถอย เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ราชวงศ์จากที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์นั้น ราชวงศ์ซ่งเป็นราชวงศ์หนึ่งที่เต็มไปด้วยความเหลวแหลก

เป็นความเหลวแหลกอันเนื่องมาจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงของขุนนาง ความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยของบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ความไม่ใส่ใจต่อการคุกคามจากชนชาติที่มิใช่จีน การสร้างค่านิยมที่กดขี่ทางเพศด้วยการให้สตรีรัดเท้าตนตั้งเล็กจนโต เป็นต้น

ในระหว่างที่ราชวงศ์ซ่งเสื่อมอำนาจลงนั้น ศัตรูที่สำคัญของราชวงศ์ก็คือ ชนชาติมองโกล

มองโกลเป็นหนึ่งในชนชาติอีกนับสิบชนชาติในสังคมจีนที่เป็นภัยคุกคามจีน (ที่เป็นชนชาติฮั่น) อยู่เสมอ โดยพวกมองโกลเป็นหนึ่งในไม่กี่ชนชาติที่ค่อนข้างมีอำนาจมากกว่าชนชาติอื่น

กล่าวสำหรับราชวงศ์ซ่งแล้ว ถือได้ว่าเป็นยุคที่พวกมองโกลรุ่งเรืองมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อสามารถโค่นล้มราชวงศ์ซ่งได้สำเร็จ แล้วสถาปนาราชวงศ์หยวน (Yuan Dynasty, ค.ศ.1271-1368) ขึ้นมาเป็นของตนเอง