ปรากฏการณ์ส้มแลนด์สไลด์ บอกอะไรได้บ้าง

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

ผลการเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้สร้างความฮือฮาครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อพรรคก้าวไกลผงาดขึ้นมาครองบัลลังก์แชมป์ไปด้วยการคว้าเก้าอี้ ส.ส.เป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 152 คน

แซงขึ้นไปเหนือแชมป์เก่าอย่างเพื่อไทยที่ครั้งนี้ได้มาเพียง 141 คน

สามารถเอาชนะเพื่อไทยได้ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบบัญชีรายชื่อที่ได้มากกว่าเพื่อไทยขาดลอยถึง 10 เสียง

ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อมากเมื่อมองจากผลโพลย้อนหลังไปเมื่อ 1-2 ปีก่อน และทำให้แผนแลนด์สไลด์ของเพื่อไทยไม่สำเร็จ แต่กลับพลิกไปสู่ชัยชนะอย่างถล่มทลายของก้าวไกลแทน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพเกือบแลนด์สไลด์ใน กทม. คือได้มา 32 ที่นั่งจากทั้งหมด 33 แบ่งให้เพื่อไทยไปเพียง 1 เก้าอี้ ด้วยแต้มที่ต่างกันเพียง 4 แต้มเท่านั้น

และเพื่อจะวิเคราะห์เรื่องดังกล่าว มาพิจารณากันเบื้องต้นว่าปรากฏการณ์ “ส้มแลนด์สไลด์” ในครั้งนี้พอจะบอกอะไรได้บ้าง

 

1.ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร

ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาที่หมักหมมคาราคาซังในสังคมไทยถูกหยิบยกขึ้นมาหาทางแก้อยู่นับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่ว่าจะพยายาม “ปฏิรูป” สักกี่ครั้งก็ดูเหมือนต้องคว้าน้ำเหลวไปตลอด ความตกต่ำย่ำแย่ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาได้สร้างความอึดอัดคับข้องใจให้แก่ผู้คนจำนวนมาก

การที่ก้าวไกลปรากฏในเวทีดีเบต โซเชียลมีเดีย และกิจกรรมหาเสียงอื่นๆ ด้วยกลวิธีที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ประกอบเข้ากับชุดนโยบายที่แตกต่างจำนวนมาก บวกเข้ากับแนวอุดมการณ์ที่ชัดเจนทั้งพรรค และบุคลิกผู้นำที่โดดเด่นและเปี่ยมเสน่ห์ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้จุดประกายความหวังให้แก่ผู้คนที่สะบักสะบอมมาอย่างยาวนานจากพิษเศรษฐกิจในยุคโควิด และวัฒนธรรมทางการเมืองแบบโบราณของรัฐบาลที่ผ่านมา ทั้งหมดผสมกันเข้าก่อตัวเป็นปรากฏการณ์ “ก้าวไกลฟีเวอร์” ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

นอกจากนี้ เส้นทางของพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพรรคก้าวไกล ที่ขรุขระและเต็มไปด้วยขวากหนาม ยังไม่อาจหยุดการเติบโตของพรรคได้ แต่กลับยิ่งไปกระตุ้นและสั่งสมความอึดอัดคับข้องใจของประชาชนที่เคยโดนรังแกเอาเปรียบ และต่อต้านการกดขี่ข่มเหงจากผู้มีอำนาจ

ซึ่งท้ายที่สุดได้ทำให้มวลชนเหล่านี้เกิดความสงสารเห็นใจ และเปลี่ยนใจจากพรรคการเมืองอื่นที่เคยให้การสนับสนุน แล้วหันเหมาหาทางเลือกใหม่ที่ชัดเจนตาต่อตาฟันต่อฟันมากกว่า กระทั่งหลั่งใหลเข้ามาเป็นฐานเสียงของก้าวไกลในที่สุด

ปรากฏการณ์ทั้งหลายจึงอธิบายเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกจากต้องมองว่านี่คือความปรารถนาอย่างแรงกล้าของประชาชนจำนวนมากที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและถึงรากถึงโคน โดนพร้อมใจกันแสดงเจตจำนงดังกล่าวออกมาพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย และเป็นประจักษ์พยานว่านับต้องแต่จุดนี้เป็นต้นไปการเมืองไทยจะเข้าสู่ยุคสมัยของคนรุ่นใหม่อย่างเต็มตัว

 

2.ความพ่ายแพ้ของเพื่อไทยอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในพรรค

ความพ่ายแพ้ของเพื่อไทยแทบไม่ต่างอะไรกับช้างล้มหรือการจมของเรือไททานิค ด้วยขนาดที่ใหญ่โตโอฬารของพรรคและมีจำนวนนักการเมืองระดับบิ๊กเนมอัดแน่นอยู่นับไม่ถ้วน

ผลการเลือกตั้งที่ผิดเป้าไปแบบสุดกู่ จากเป้าหมาย 310 ร่วงลงมาเหลือ 141 ทำให้ภายในพรรคอาจเกิดความปั่นป่วน

พรรคเพื่อไทยไม่ใช่วุยก๊กที่แม้จะพ่ายยับในศึกเซ็กเพ็ก (ยุทธนาวีที่ผาแดง) แล้วยังสามารถฟื้นกลับมาได้ใหญ่โตกว่าเดิม

เพราะวุยก๊กนั้นยังคงมีโจโฉที่รักษาการนำไว้ได้อย่างมั่นคงเต็ม 100% ในขณะที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อไทยอย่างระมัดระวังที่สุด ณ พื้นที่ห่างไกลในต่างแดน

เมื่อมองในมุมนี้การรวบรวมกำลังเพื่อกอบกู้ทุกอย่างกลับคืนมาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ที่สำคัญก็คือความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ไหลบ่าถาโถมลงมาอย่างรวดเร็วและรุนแรงได้ทำให้นักการเมืองรุ่นลายครามครึ่งค่อนพรรคไม่อาจปรับตัวรับมือได้ทัน

ผลจากการนี้ได้ทำให้พรรคที่แต่เดิมเต็มไปด้วยความล้ำสมัยในชื่อ “ไทยรักไทย” ได้ถอยหลังไปสู่การเป็นอาณาจักรของเสือเฒ่าตกสมัย ที่แม้จะมีเขี้ยวเล็บเต็มที่แต่ก็หลุดบ้างทื่อบ้างไปตามวันเวลา

เมื่อเปรียบเทียบเรื่องนี้กับพรรคน้องใหม่อย่างก้าวไกลแล้ว ก้าวไกลที่เป็นแหล่งรวมของคนหนุ่มคนสาวแทบทั้งพรรค เพราะฉะนั้น จึงได้เปรียบกว่าในเกมของยุคสมัยใหม่ ซึ่งท้ายที่สุดอาจนำมาสู่แรงกดดันอันจะเป็นจุดเปลี่ยนให้พรรคเพื่อไทยต้อง “รีแบรนดิ้ง” ตัวเองครั้งใหญ่

หรือไม่ก็อาจตั้งพรรคใหม่ไปเลยก็ได้ เหมือนสมัยที่ทักษิณออกจากพรรคพลังธรรมมาสร้างพรรคไทยรักไทยขึ้นมา

 

3.ก้าวไกลจะถลำเข้าสู่โซนสังหารที่อันตรายกว่าเดิม

แม้จะได้รับชัยชนะแบบล้มยักษ์ หักทุกปากกาเซียน และเกิดผลการเลือกตั้งช็อกโลก ซึ่งเบื้องต้นทุกคนในพรรคก้าวไกลก็คงยินดีแน่นอน

แต่ด้วยความที่ผ่านประสบการณ์การถูกยุบพรรค ถูกตัดสิทธิ์ ถูกดูด ส.ส. ถูกสารพัดข้อหา ฯลฯ ก้าวไกลย่อมทราบดีว่ายิ่งประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเดินลึกเข้าสู่ “โซนสังหาร” มากเท่านั้น

เพราะจะยิ่งสร้างความหวาดกลัวและหวาดระแวงแก่อำนาจทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มก้อนความคิดนี้

และนั่นจะดึงคมหอกคมดาบสารพัดวิธีที่เอามาทิ่มแทง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางกฎหมาย แบบที่พูดถึงกันทั่วไปว่าเป็น “นิติสงคราม” (Lawfare)

ด่านแรกที่ก้าวไกลต้องเจอคือพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยกันเอง ที่พร้อมจะสละเรือปล่อยมือได้ทุกเมื่อหากได้รับสัญญาณให้ทำเช่นนั้น และ ส.ว.ที่ต้องยกมืออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ ส.ว.ทั้งหมดไม่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้งจากประชาชนแต่อย่างใด

ทั้งสองด่านนี้เป็นเพียงแต่บททดสอบแบบเบาะๆ แต่ก็ใหญ่โตพอจะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลด้วยพรรคที่ได้อันดับพังทลายลงมาได้ ไม่รวมไปถึงคดีความค้างศาลที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ถูกยื่นร้องเรียนว่าขาดคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุผลเรื่องการถือหุ้นสื่อ itv

ก้าวไกลเดินทางมาได้ไกลขนาดนี้ และมีบทเรียนมากมาย ฉะนั้น ทีมบริหารของพรรคก็ย่อมตระหนักในเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว

สิ่งที่ประชาชนจะคอยติดตามดูจึงไม่ใช่แค่เพียงพฤติกรรมและการตัดสินใจของพรรคอื่นๆ และ ส.ว. ว่าจะเป็นอย่างไร

แต่ยังจะต้องจับตามองการแก้เกมของพรรคก้าวไกลทุกฝีก้าวด้วย ในฐานะที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย

 

4.การถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์และมาตรา 112 จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา

เดิมทีการสนทนาประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์และกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเรื่องที่อ่อนไหวในสังคมไทยมาก แต่เมื่อพรรคก้าวไกลนำเสนอนโนบายการแก้ไขมาตรา 112 ออกมาแต่เพียงพรรคเดียว แรงเสียดทานทั้งหมดจึงรวมศูนย์ไปที่ก้าวไกล ในสภาพที่พรรคกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก”

เช่นนี้ ผู้ที่มองโลกในแง่ร้ายก็จะคิดว่าสถานการณ์ของพรรคจะเสียเปรียบแน่ๆ

แต่ในทางตรงกันข้าม หากมองในแง่บวก นโยบายนี้ได้ขับเน้นเอกลักษณ์ของก้าวไกลให้เด่นชัดออกมากว่าเดิม และแตกต่างจากพรรคเพื่อไทยที่อยู่ในขั้วเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด

ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเป็นเช่นนี้คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้อนุมานได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศพร้อมเต็มที่แล้วกับการหยิบยกทุกปัญหาที่หมกอยู่ใต้พรมออกมาชำระสะสางให้เสร็จสิ้นเสียที

ซึ่งแน่นอนว่ามีเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมอยู่ด้วย

ฉะนั้น การเมืองยุคต่อไปจะเป็นเวทีสำหรับการนำข้อถกเถียงที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาหารือกันทั้งในและนอกสภา และทำให้เรื่องนี้ที่แต่เดิมเป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างยิ่ง กลายเป็นเรื่องสามัญที่ใครๆ ก็พูดได้ในวงกว้าง

และประชาชนเคยชินจนเป็นปกติธรรมดาขึ้นมาเรื่อยๆ