สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยครูลาว น้ำพระทัยเจ้าฟ้า (1)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

สายนทีรินหลั่งจากฟ้า

แบ่งพสุธาเป็นซ้ายและขวาสองฝั่ง

หากน้ำกั้นขวางก็บ่สำคัญ

แต่ความสัมพันธ์ของเฮามั่นคงเรื่อยไป

 

เสียงเพลงสองฝั่งโขง แว่วขึ้นมาในภวังค์ระหว่างทางที่รถโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร นำคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ออกจากสนามบินจังหวัดอุดรธานี มุ่งหน้าสู่จังหวัดหนองคาย เมื่อเช้าวันที่ 17 สิงหาคม 2560

ผมกับ คุณพลพิบูล เพ็งแจ่ม คอลัมนิสต์ด้านการศึกษา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ติดตามคณะกรรมการมูลนิธิ นำโดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิ เดินทางไปตามโครงการเยี่ยมยามครูลาวผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี คนที่สอง ที่เวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ก่อนข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว คณะแวะไปพบครู ผู้บริหารโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร โรงเรียนมัธยมมีชื่อระดับแถวหน้าของจังหวัดหนองคายและประเทศไทย

รับฟังความก้าวหน้าของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามโครงการพระราชทานความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้าแขวงเวียงจันทน์ (หลัก 67) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ซึ่งโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร เป็นศูนย์ประสานงานและเป็นฐานฝึกอบรมปฏิบัติการ

 

ความเป็นมาและเป็นไปของโครงการดังกล่าวน่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง เป็นความเคลื่อนไหวของการพัฒนาคุณภาพและโอกาสทางการศึกษากับประเทศเพื่อนบ้าน อันเนื่องมาจากพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนโรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้าแขวงเวียงจันทน์ (หลัก 67) วันอังคารที่ 8 เมษายน 2558

ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้าแขวงเวียงจันทน์ (หลัก 67) เรียนวิทยาศาสตร์เฉพาะทฤษฎี ยังขาดการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ ขอให้ศาสตรจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประสานกับหน่วยงานในประเทศไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนนี้

จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ สำนักชลประทานที่ 5 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพฯ และโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร หนองคาย

ดำเนินโครงการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ มุ่งเน้นการปฏิบัติการทดลอง ให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้าแขวงเวียงจันทน์ (หลัก 67) ตั้งแต่ปลายปี 2558 เรื่อยมา

 

ต้นเดือมกุมภาพันธ์ 2559 คณะครูโรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าฯ (หลัก 67) นำโดย นายจันดา แก้วพักดี ผู้อำนวยการโรงเรียน เดินทางมาโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ อุปกรณ์และสารเคมีภายในห้องปฏิบัติการต่างๆ โดยคณะครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร เป็นผู้นำเยี่ยมชม อธิบายวิธีการใช้งาน

สาธิตการทดลองและการใช้อุปกรณ์ที่ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ แยกตามเนื้อหาวิชา วิทยาศาสตร์ทั่วไป ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา โลกดาราศาสตร์และอวกาศ ระบบโครงสร้างร่างกายมนุษย์ และการเกิดปฏิกิริยาเคมี คัดเลือกหลักสูตรเพื่อพัฒนา กิจกรรมสื่อและอุปกรณ์การสอนด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ที่นำไปใช้ในชั้นเรียน โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้า

ต่อมาเดือนเมษายน 2559 คณะผู้ร่วมโครงการจากประเทศไทยเดินทางไปโรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าฯ (หลัก 67) ร่วมประชุมกับคณะครูวางแผนจัดทำหลักสูตรการอบรมปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์ แยกตามสาขาวิชา และสรุปความต้องการด้านต่างๆ อาทิ อาคารปฏิบัติการ อุปกรณ์ทดลองและ การอบรมพัฒนาครู

เกิดการจัดทำแผนการดำเนินงานโครงการพระราชทานความช่วยเหลือด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนในเดือนต่อมา เปิดการอบรมครั้งที่ 1 วันที่ 23 กรกฎาคม 2559 ที่โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร

และเปิดศูนย์พัฒนาครูวิทยาศาสตร์ร่วมสนองงานโครงการพระราชทานความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าฯ (หลัก 67) ณ โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร ในเดือนสิงหาคม 2559

เดือนธันวาคม 2559 ศาสตรจารย์ ดร.ไพรัช และคณะจากประเทศไทย เดินทางไปเยี่ยม ติดตามการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ หารือกับผู้บริหารที่โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าฯ ต่อมามีการอบรมปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ครู อาจารย์ ครั้งที่ 2 วันที่ 22-26 มกราคม 2560 ณ โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จ.หนองคาย

 

ครับ ผมลำดับความเป็นมาการดำเนินงานของโครงการพระราชทานความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมนเผ่าฯ จากเอกสารเผยแพร่ “น้ำพระทัยหลั่งรดหล้า นำการศึกษาทั่วถิ่นแดนไกล” เห็นภาพความร่วมมือ ส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาคุณภาพและโอกาสทางการศึกษาระหว่างประเทศ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องน่าชื่นชมยินดี

คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ได้เยี่ยมชมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนระดับมัธยมปลาย คุณครูวิชาเคมีสอนอย่างขะมักเขม้น เสียงดังฟังชัด ตั้งคำถามให้นักเรียนคิดหาคำตอบเรื่องตารางธาตุ โดยไม่ร้สึกเหน็ดเหนื่อย ทั้งๆ ที่กำลังอุ้มท้องน้องตัวเล็กอยู่ในร่างกายของเธอ

ผมฟังไป คิดตามไป แต่ไม่ใช่เรื่องตารางธาตุ ครูนอกจากสอนนักเรียนแล้วยังสอนลูกในท้องไปพร้อมกัน เด็กคนนี้เกิดมาคงชอบวิชาวิทยาศาสตร์ คิดถึงคำแนะนำคุณแม่วัยใส ให้อ่านหนังสือ ร้องเพลงให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง เด็กจะซึมซับไปทีละน้อย คลอดออกมาจะได้เป็นเด็กอารมณ์ดี มีสุนทรียะ ชอบฟังเพลง ชอบอ่านหนังสือ

ความคิด ความเชื่อนี้จริงหรือไม่ ต้องถามคุณแม่ คุณครูผู้มีประสบการณ์ ขณะที่นักสังเกตการณ์ทางการศึกษาที่ไปด้วยกันบางท่าน สะท้อนคิดว่า ครูยังเน้นบรรยาย Lecture Based น่าจะสร้างบรรยากาศ กระตุ้นให้นักเรียนคึกคักกว่านี้

 

คณะครูเล่าว่า “ที่โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้า หลัก 67 ห้องหนึ่งมีนักเรียน 60-70 คน กรอบการพัฒนา 2559-2561 นอกจากอบรมครูวิทยาศาสตร์โดย สสวท. ดูเนื้อหา ความถูกต้องของหลักสูตรแล้ว เราไปช่วยสร้างห้องปฏิบัติการทดลองรายวิชาโครงงานวิทยาศาสตร์ วิพากษ์โครงงานวิทยาศาสตร์ โครงการฟิสิกส์สัประยุทธ์ ศูนย์ดาราศาสตร์รุ่นเยาว์ ติวโอลิมปิกวิชาการ สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระกรุณาเสด็จติดตามความก้าวหน้าของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง”

ก่อนแยกย้ายกันเลือกชมห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ที่ห้องชีวะสอนวิธีใช้กล้องจุลทรรศน์ ดูรูปร่างลักษณะของเซลล์พืช สัตว์ต่างๆ 10 สไลด์ ให้นักเรียนถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์มือถือมาแลกเปลี่ยนกัน บรรยากาศน่าสนุก เด็กเรียนอย่างมีความสุข

ต่างคนต่างเลือกสังเกตการณ์ ออกห้องนั้น เข้าห้องนี้ ดูกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคนิค วิธีพัฒนานักเรียน น่าศึกษาเรียนรู้ จนเวลาจวนเจียนเต็มทีผู้ประสานงานส่งสัญญาณต้องข้ามโขงไปถึงที่หมาย พบคนสำคัญ 2 คนให้ทันบ่ายวันนั้น

คนสำคัญเป็นใคร ไว้ว่ากันต่อไป