โค้งสุดท้าย ก้าวไกล โจทย์ใหญ่ เปลี่ยน ‘กระแส’ เป็น ‘คะแนนจริง’

การเกิดขึ้นของอนาคตใหม่จากผลการเลือกตั้งปี 2562 สะเทือนการเมืองไทยแบบเดิมอย่างยิ่ง

จากเดิมที่การเมืองไทยพัฒนาโดยมีรากฐานมาจากการเมืองแบบบ้านใหญ่ การเมืองระบบอุปถัมภ์ หรือจะเรียกการเมืองอิทธิพลระบบหัวคะแนน เปลี่ยนมามีมิติเชิงความคิด อุดมการณ์มากขึ้น

ผลสะเทือนของอนาคตใหม่ ก่อให้เกิดการปรับตัวอย่างใหญ่หลวงของการเมือง การเมืองระบบความสัมพันธ์แบบเก่า ใครจะไปเชื่อว่าพรรคที่ไม่เคยมีใครเป็นผู้แทนฯ สักครั้ง จะได้เป็นผู้แทนฯ รวดเดียว 80 กว่าคน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพี่ใหญ่ฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยนั้น รากฐานส่วนใหญ่ของพรรคก็คือการพัฒนามาจากบ้านใหญ่ จึงถูกท้าทายจากการเมืองแบบอนาคตใหม่เต็มๆ แม้จะคิดคล้ายกันและพยายามปรับตัวอย่างเต็มที่

อนาคตใหม่ สามารถเอาชนะผู้สมัครเพื่อไทยไปได้ในหลายเขต ในการเลือกตั้งปี 2562 เช่น ที่เชียงราย 2 เขต ขอนแก่น 1 เขต และกรุงเทพฯ อีกหลายเขต

นี่คือสัญญาณให้เพื่อไทยมองเห็นแล้วว่าฐานเสียงเดิมของตัวเองในหลายที่ คู่แข่งในสนามเลือกตั้ง ไม่ใช่ฝ่ายจารีตนิยมเดิมแล้ว แต่คือการเมืองแบบอนาคตใหม่ แบบก้าวไกล หลายจังหวัดที่คิดว่าจะเหมายกจังหวัดให้เพื่อไทย กลับกลายเป็นอนาคตใหม่ตามบี้มาติดๆ

จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ความขัดแย้งของพรรคเพื่อไทย กับก้าวไกลในปัจจุบัน ที่แสดงออกผ่านแฟนคลับของแต่ละพรรค ไปถึงขั้นเถียงกันดุเดือด ร้อนแรง

ยิ่งระบบเลือกตั้งถูกออกแบบเพิ่มความสำคัญของ ส.ส.เขต ที่มีเก้าอี้ถึง 400 ที่นั่ง ใครแพ้คะแนนเดียวก็ถือว่าแพ้ คะแนนที่เหลือตกน้ำหมด ลดความสำคัญของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เหลือ 100 ที่นั่ง

ดังนั้น เดิมพันยิ่งสูง ดีกรีความเข้มข้นการถกเถียงยิ่งสูงขึ้น

 

ขณะนี้ ความนิยมของก้าวไกล กราฟพุ่งขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 3” ปรากฏว่า บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 ร้อยละ 35.44 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) แซง ที่ได้อันดับ 2 ร้อยละ 29.20 คือ น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) ขณะที่อันดับ 3 ร้อยละ 14.84 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) และอันดับ 4 ร้อยละ 6.76 นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย)

ส่วนคำถามเรื่องการเลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยชนะ โดยมีก้าวไกลตามมาติดๆ ชนิดหายใจรดต้นคอ

ผลโดยรวม สอดคล้องกับโพลอีกหลายสถาบัน และศรีปทุมโพล และโพลระบบออนไลน์ของมติชนและเดลินิวส์ ว่ากระแสความนิยม “พิธา” แซง “แพทองธาร” ไปแล้ว

 

ต้องยอมรับว่าก้าวไกลปลุกกระแส “หัวคะแนนตามธรรมชาติ” สู้ “หัวคะแนนจัดตั้ง” สำเร็จมากระดับหนึ่ง

หัวคะแนนจัดตั้ง ทำงานการเมืองเชิงพื้นที่ สื่อสารโดยเข้าถึงผู้ใช้สิทธิด้วยหัวคะแนน ผ่านการจัดสรรทรัพยากรจากบ้านใหญ่

ขณะที่ “หัวคะแนนตามธรรมชาติ” ทำงานการเมืองเชิงกระแส ปฏิบัติการการสื่อสารการเมืองผ่านพื้นที่ออนไลน์เป็นหลัก และทำงานเชิงพื้นที่ด้วยความสมัครใจ

เปิดติ๊กต็อก ยูทูบ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เราจึงได้เห็นมีมก้าวไกลสารพัด ที่จำนวนมากไม่ได้ผลิตโดยพรรค แต่ผลิตโดยชาวบ้าน คนธรรมดาๆ

เราจึงได้เห็นรถบรรทุก 18 ล้อ-กระบะคอก ร่วมใจกันติดป้ายท้ายรถช่วยหาเสียงให้, ได้เห็นชาวบ้านคนธรรมดาอาสาปรินต์ป้ายรณรงค์ไปติดไว้หน้าบ้านตัวเอง, ได้เห็นชายคนหนึ่งไปยืนถือป้ายริมแยกไฟแดงชวนให้เลือก, ได้เห็นชาวบ้านช่วยกันซ่อมป้ายให้ผู้สมัคร, วัยรุ่นใช้กระเป๋าติดไฟแอลอีดีที่มีข้อความโฆษณาชวนเลือกพรรคก้าวไกล, ไรเดอร์หยุดการรับงานมาลบสเปรย์ที่ถูกพ่นทับหน้าผู้สมัครของพรรค แม้แต่คลิปซื้อน้ำไปให้คนติดป้ายหาเสียงของพรรค

ย้ำว่าทั้งหมด ยอดวิวหลักล้าน

นี่คือสิ่งที่ทำให้การเมืองเก่า หวาดกลัวก้าวไกล เพราะมันทรงพละกำลังในการสื่อสาร สะเทือนทั้งออนไลน์ และอันที่จริง สะเทือนในระดับพื้นที่ด้วย

ยิ่งเจอกับปรากฏการณ์ประชาชนหัวคะแนนธรรมชาติแห่มาต้อนรับแกนนำและผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, ช่อ พรรณิการณ์ วานิช เริ่มตั้งแต่ สามย่าน, ต่อด้วย สะพานหิน ที่ภูเก็ต, ภาพแห่ฟังพิธาที่ลานสามกษัตริย์ ในตัวเมืองเชียงใหม่, เชียงราย, ชลบุรี ภาพการยืนรอฟังปราศรัยธนาธร ที่ยะลา, ปัตตานี, อุดรธานี

โดยเฉพาะเหตุบังเอิญที่ห้างดังแห่งหนึ่งย่านพระราม 2 ขณะพิธาจอดรถเดินผ่านตัวห้างเพื่อไปเวทีย่อยใกล้ๆ บริเวณนั้น เกิดเหตุผู้คนจำนวนมากกรูกันวิ่งตาม ล้อมถ่ายรูป ส่งเสียงเชียร์ดังสนั่น ทั้งชายหญิงแห่กันขอถ่ายรูปจับมือ พร้อมส่งเสียงเรียก “นายกฯ” ตลอดเวลา จนท.ต้องมาคล้องมือนำตัวนายพิธาออกจากห้าง จนสื่อใช้คำว่า ปรากฏการณ์ห้างแตก

ยิ่งเป็นภาพน่ากังวลในทางการเมืองยิ่งของฝ่ายตรงข้ามพิธา และพรรคก้าวไกล ทั้งหมดเกิดขึ้นต่อเนื่องช่วงสัปดาห์มานี้เอง

จึงสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับผลโพลของนิด้าโพล มติชน-เดลินิวส์โพล

 

แต่ทุกอย่างไม่ง่าย ช่วงเวลาเดียวกัน พิธาในฐานะแม่ทัพก้าวไกล ก็เจอกระแสสู้กลับจากฝ่ายที่มองว่าพิธาคือภัยทางการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้

เริ่มตั้งแต่การจุดประเด็นเรื่องการโกหกเรื่องการเดินทางมางานศพพ่อ ถูกฝ่ายตรงข้ามสาดสีให้พิธา กระทั่งสร้างแฮชแท็กว่า “พิธาน”

แต่พิธาก็เลือกตอบกลับอย่าง “ใจเย็น” แม้แต่ในเวทีดีเบต นักการเมืองฝั่งตรงข้ามยังเอาเรื่องนี้ไปขยี้บนเวที ยังดีที่ไม่ว่าจะเป็น “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” หรือ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ไหวพริบเร็ว โต้กลับอย่างทันท่วงที เปลี่ยนจากแง่ “ลบ” กลายเป็น “บวก”

หรือธนาธร ที่ถูกอดีตนายกฯ ใช้วาทศิลป์นักโต้วาที ไล่ต้อนเรื่อง 112 บนจอทีวี ต่อมาถูกนำมาขยายต่อในสื่อฝ่ายอนุรักษนิยมตัดประเด็นชี้แจงของอีกฝ่ายทิ้ง

นั่นคืออาการที่ฝ่ายขวาดูเหมือนนิ่งสงบ แต่ความจริงคือการจับจ้อง มองหาจุดที่จะนำมาขยายผลตลอดเวลาเสมอ

นอกจากนี้ ยังจะต้องเจอ “วิชามาร” นอกระบบอีกเยอะ ยังไม่นับวิชามาร “ในระบบ” ที่ไม่รู้จะโผล่มาวันไหน ที่ล้วนมีเป้าหมายคือ สกัด “ก้าวไกล” ไม่ให้เติบโตจนเป็นภัย

แต่นั่นคือสิ่งที่ต้องเจอในฐานะผู้ที่ท้าทาย และต้องการจะ “เปลี่ยน”

 

ความน่าสนใจอีกอย่างในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ของพรรคก้าวไกล และความนิยมต่อ-พิธา-ธนาธร ยังอยู่ที่การจะเปลี่ยน “กระแส” ให้กลายเป็น “คะแนน” ได้อย่างไร

อย่าลืมว่าระบบเลือกตั้งรอบนี้ถูกออกแบบมาให้ “ลด” ความสำคัญทางการเมืองของ “พรรคแบบอุดมการณ์” และไปให้ความสำคัญกับ “การเมืองเชิงพื้นที่” มากขึ้น

นั่นคือจะเปลี่ยนประเทศนี้ จะตั้งรัฐบาลได้ ต้องยึดกุมเก้าอี้ ส.ส.ระบบเขตให้ได้มากที่สุด

และนั่นคือโจทย์ใหญ่ของก้าวไกล ที่อาจจะถนัดการเมืองเชิงกระแส การเมืองภาพใหญ่ การเมืองเชิงวิธีคิด ขณะที่การเมืองเชิงพื้นที่ การเมืองที่จับต้องได้ตรงหน้าทันที การเมืองระบบคุณค่าความสัมพันธ์เดิม ยังเป็นเรื่องใหม่ของก้าวไกล

ต่างกับนักการเมืองส่วนใหญ่ของเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ ที่ถนัด-เข้าใจการเมืองเชิงพื้นที่มากกว่า ด้วยประสบการณ์ ความคุ้นเคย เห็นหน้าคาดตามาตลอดชีวิต

แน่นอนว่าก้าวไกลพยายามท้าทายระบบคุณค่าเดิม ด้วยระบบคุณค่าความสัมพันธ์ใหม่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ง่าย-อาจจะทำได้ยากในยกเดียว

เลือกตั้งรอบนี้จึงต้องจับตาก้าวไกลจะแปร “กระแส” เป็น “คะแนนจริง” ได้มากแค่ไหน?

 

อย่างไรก็ตาม ผลโพลเพื่อไทยไล่บี้กับก้าวไกลในหลายๆ โพล สะท้อนอย่างหนึ่งว่า ชัยชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะเป็นของฝ่ายเสรีนิยม หรือผู้ที่ต้องการท้าทายอำนาจเดิม ผิดกับบรรดา 2 ลุง ที่ความนิยมต่ำอย่างเห็นได้ชัด โดยอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านทิ้งห่างเหลือเกิน

เพราะผลงานการบริหารตลอดเกือบ 9 ปีที่ผ่านมา คือปัจจัยทางการเมืองอันทรงพลังให้ฝ่ายอนุรักษนิยมในการเมืองไทยอ่อนพลังลงไปมาก นี่จึงสะท้อนออกมาตามผลโพล

แต่อย่าดูแคลนฝ่ายอำนาจเก่าเด็ดขาด จากประวัติศาสตร์ ฝ่ายอนุรักษนิยม-อำนาจเก่า พร้อมเล่นนอกเกมเพิ่มขึ้นไปอีกเสมอ (จากที่เล่นนอกเกมอยู่แล้ว) เมื่อเขารู้สึกจนมุม

เอาแค่ระยะสั้น หลังจากนี้ สิ่งที่ทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลอาจจะต้องเจอในศึกเลือกตั้ง เช่น ปัญหาการนับคะแนน การลำเลียงบัตรเลือกตั้ง การรายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง จึงต้องเตรียมพร้อมจับตาใกล้ชิด

ยังมีมรสุมเรื่องยุบพรรคอีก ซึ่งอะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะมันเกิดมาบ่อย ด้วยเหตุผลที่นักวิชาการรัฐศาสตร์-นิติศาสตร์จำนวนมากยังส่ายหัว ทั้งยังต้องสู้กับการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย สู้กับ 250 ส.ว.อีก

ครั้งที่แล้วเขาก็ทำมาให้เห็นแล้วว่าปริ่มน้ำแค่ไหนก็ไปรอด เขาทำได้ ทำอยู่ และอาจจะทำต่อ…ก็เป็นได้