ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | กาลเปลี่ยนแปลง |
เผยแพร่ |
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ชูคำขวัญของพรรคที่ตั้งใจให้เป็นวลีติดปากว่า “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” หลังจากกุมบังเหียนรัฐนาวาไทยมานานจวบจะครบ 9 ปี ซึ่งต้องถือว่าทำลายสถิติหลายประการในการเมืองไทยลงไปเรียบร้อยแล้ว
นั่นคือ ประการแรก เป็นนายกฯ ที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดเป็นอันดับสามในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นรองเพียงแค่จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับจอมพลถนอม กิตติขจร และแซงหน้า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ลงไปได้สำเร็จ
ประการที่สอง เป็นนายกฯ จากคณะรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดเกินกว่านายพลรายอื่นตั้งแต่หลัง 14 ตุลาฯ เป็นต้นมา ซึ่งอยู่ในอำนาจคนละ 1-2 ปีเท่านั้น
และประการสุดท้าย เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารที่สามารถสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งได้สำเร็จและอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ เทียบกับหัวหน้าคณะรัฐประการรายอื่นๆ ที่ล้วนล้มเหลวในเกมสืบทอดอำนาจผ่านคูหาเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นจอมพล ป. ที่ต้องหมดอำนาจไปแม้ชนะการเลือกตั้งในปี 2500 ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก จอมพลถนอมที่ชุบตัวเองขึ้นมาเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งปี 2512 ภายใต้พรรคทหาร แต่อยู่ในอำนาจได้เพียง 2 ปีก็รัฐประหารตัวเอง
หรือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ขึ้นมาเป็นนายกฯ ผ่านพรรคนอมินีและการ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” แต่ก็ถูกประท้วงขับไล่จากประชาชนเรือนแสนในเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535
อย่างไรก็ตาม ศึกการเลือกตั้งปี 2566 ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่สุดของอดีตผู้นำคณะรัฐประหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ โอกาสที่จะหวนคืนกลับมากุมอำนาจรัฐไม่ใช่เรื่องง่าย
แม้ไม่ได้ปิดประตูตายเป็นศูนย์ (ในการเมืองไทยที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบปรกติ ทุกอย่างย่อมเกิดขึ้นได้) แต่ต้องถือว่ายากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา ทั้งด้วยสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เปลี่ยนไป สภาวะเศรษฐกิจ กติกาการเลือกตั้งใหม่ และกระแสความนิยมที่ไม่เหมือนเดิม
หากวิเคราะห์กันตามกฎกติกาและความเป็นจริงทางการเมือง โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ นั้น ต้องผ่านด่าน 5 ด่าน หรือเงื่อนไข 5 ประการสำคัญดังต่อไปนี้
ด่านที่หนึ่ง พรรครวมไทยสร้างชาติต้องชนะการเลือกตั้งได้จำนวน ส.ส.เกิน 25 ที่นั่ง
ข้อนี้คือ ไฟต์บังคับที่หากทำไม่ได้ก็หมดโอกาสไปต่อ เพราะเป็นกติกาที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ว่า พรรคการเมืองที่จะมีสิทธิเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือกเป็นนายกฯ นั้น ต้องมีที่นั่ง ส.ส.ขั้นต่ำจำนวน 25 คนขึ้นไป
หากพรรคใดมีจำนวน ส.ส.ไม่ถึง 25 ที่นั่ง เท่ากับแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองนั้นหมดสิทธิเป็นนายกฯ ทันที
สำหรับด่านแรกนี้ ประเมินแล้วพรรครวมไทยสร้างชาติ และ พล.อ.ประยุทธ์คงฝ่าด่านไปได้ แม้ว่ายังอยู่ในข่ายที่ต้องลุ้นเหมือนกัน
เพราะการประเมินของสำนักข่าวและโพลหลายแห่งระบุตรงกันว่าจำนวนที่นั่ง ส.ส.ของรวมไทยสร้างชาติน่าจะอยู่ที่ประมาณ 25-45 ที่นั่ง (อาจขยับได้อีกในช่วงโค้งสุดท้าย)
โดยคะแนนบัญชีรายชื่อนั้นได้กระแสความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์มาช่วยฉุดคะแนนของพรรคที่ไม่มีกระแสมากนัก
บวกกับการที่พรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนและอัตลักษณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างสับสนในครั้งนี้ ทำให้เสียงของฝั่งอนุรักษนิยมมีแนวโน้มเทมาให้รวมไทยสร้างชาติที่ขายภาพความเป็นพรรคฝั่งขวาสุดขั้วที่ชูอัตลักษณ์การพิทักษ์ความเป็นไทย “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ที่ชัดเจนกว่า
ในกลุ่มมวลชนอนุรักษนิยมที่หวาดกลัวกระแสฝ่ายประชาธิปไตย ยี่ห้อประยุทธ์มีความน่าเชื่อถือกว่าแคนดิเดตนายกฯ คนอื่นในขั้วรัฐบาลปัจจุบัน
ที่สำคัญคือ องคาพยพและกลไกรัฐที่แวดล้อม พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ปล่อยให้ความพยายามที่จะรักษาอำนาจต่อมาตกม้าตายง่ายๆ
ฉะนั้น ด่านแรกนี้น่าจะผลักดันกันให้ผ่านไปได้
ด่านที่สอง ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่งเพื่อมีความชอบธรรมในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
เงื่อนไขข้อนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตยทั่วไป
แต่เป็นไปไม่ได้สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติที่จะได้ที่นั่ง ส.ส.มาเป็นอันดับที่หนึ่ง
ฉะนั้น แกนนำ รทสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ คงลุ้นแค่ให้พรรคที่ชนะมาเป็นอันดับหนึ่ง (น่าจะไม่พลิกโผจากเพื่อไทย) ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แล้วชิงจัดตั้งรัฐบาลแบบที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งก่อนที่พรรคพลังประชารัฐมีที่นั่ง ส.ส.เป็นอันดับสอง แต่สุดท้ายตั้งรัฐบาล
ด่านที่สองนี้ ยากที่ พล.อ.ประยุทธ์จะผ่านเงื่อนไข
ฉะนั้น รวมไทยสร้างชาติจึงไม่เคยประกาศว่าตนเองยอมรับธรรมเนียมประชาธิปไตยและเงื่อนไขข้อนี้
ด่านที่สาม พรรครวมไทยสร้างชาติได้เสียง ส.ส.มากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ เงื่อนไขนี้ก็ไม่ง่ายเช่นกัน
คือ ต่อให้รวมไทยสร้างชาติแหวกธรรมเนียมประเพณีของการเมืองแบบรัฐสภาที่พรรคอันดับหนึ่งต้องมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ก็ต้องมาเจออุปสรรคสำคัญกับพรรคขั้วเดียวกัน
เพราะจากผลโพลต่างๆ โอกาสที่ภูมิใจไทยจะได้ที่นั่งมากกว่ารวมไทยสร้างชาตินั้นมีอยู่สูงมากทีเดียว
ประชาธิปัตย์นั้นก็สูสี และพรรคของสองลุงก็อาจจะมีที่นั่งใกล้เคียงกัน
คำถามก็คือว่า หากรวมไทยสร้างชาติได้ที่นั่ง ส.ส.น้อยกว่าภูมิใจไทยและพลังประชารัฐ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ย่อมมีอำนาจต่อรองและอยากขึ้นเป็นนายกฯ ด้วยตัวเองแทนที่จะเอาตำแหน่งนั้นมายกให้ พล.อ.ประยุทธ์ง่ายๆ
สถานการณ์ไม่เหมือนครั้งที่แล้ว ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้ที่นั่งมากที่สุดในขั้วอนุรักษนิยมด้วยกันอย่างชัดเจน
ด่านที่สี่ คือ การได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ของพรรคการเมืองต่างๆ เกิน 250 เสียงเพื่อมีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล
ด่านนี้ถือว่าเป็นด่านหินอย่างมาก เพราะตัวเลขของทุกโพลและทุกสำนักข่าว รวมถึงการวิเคราะห์ของฝ่ายความมั่นคงเองประเมินออกมาตรงกันว่า พรรคการเมืองขั้วฝ่ายค้านรวมกัน (ได้แก่ เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ประชาชาติ และพรรคตั้งใหม่อย่างไทยสร้างไทย) จะชนะเสียงข้างมาก โดยอย่างต่ำอยู่ที่ 270 เสียง และอย่างสูงอาจกระโดดไปถึง 320 เสียง
หากผลโพลไม่พลิกไปจากนี้ในโค้งสุดท้าย ก็ต้องถือว่ายากมากที่ พล.อ.ประยุทธ์จะรวบรวมเสียง ส.ส.ให้เกินกึ่งหนึ่งเพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้
การรวบรวมเสียง ส.ส.เกิน 250 นั้นสำคัญ เพราะว่าในวันที่เปิดประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาและหลังจากนั้นก็จะทำการเลือกนายกฯ (น่าจะตกราวๆ กลางเดือนกรกฎาคม) ฝ่ายใดมีเสียงข้างมากชัดเจนก็ย่อมมีความชอบธรรมและอำนาจในการตั้งรัฐบาล
แต่สิ่งที่ทำให้การตั้งรัฐบาลมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน ไม่ตรงไปตรงมาเหมือนอารยประเทศ คือ บทบาทของวุฒิสภาจากการแต่งตั้งที่มีสิทธิร่วมเลือกนายกฯ ได้ด้วย
และข้อนี้เองที่ พล.อ.ประยุทธ์และคนที่สนับสนุนหวังจะใช้เป็นช่องทางในการกลับสู่ทำเนียบแม้จะแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งนั่นก็คือด่านถัดไปที่เรากำลังจะกล่าวถึง
ด่านที่ห้า ได้เสียงโหวตจากที่ประชุมรัฐสภา (ส.ส. กับ ส.ว. รวมกัน) เกิน 375 เสียงเพื่อเป็นนายกฯ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในบทเฉพาะกาล
ความเป็นไปได้คือ แม้หลังเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์จะรวบรวมเสียง ส.ส.ไม่ได้เกินครึ่ง แต่จะอาศัยเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกที่ตนเองมีส่วนตั้งมากับมือให้โหวตสนับสนุนให้ได้เป็นนายกฯ ก่อน
และเมื่อเป็นนายกฯ ได้สำเร็จแล้ว ก็จะมีอำนาจและพลังพิเศษที่สามารถไป “ดูด” นักการเมืองงูเห่าจากพรรคฝ่ายค้านให้ย้ายข้างมาอยู่ฝั่งตนจนได้เสียง ส.ส.เกิน 250 คนและตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้
วิธีนี้ แม้ว่าเป็นไปได้ในทางทฤษฎี แต่ยากมากในทางปฏิบัติ
แน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เปรียบพรรคฝ่ายค้านตรงที่มี ส.ว.สนับสนุนตัวเองอยู่ แต่ต้องอย่าลืมว่าวุฒิสภาในปัจจุบันไม่ได้เป็นเอกภาพเหมือนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
พล.อ.ประวิตรก็คุม ส.ว.จำนวนหนึ่งอยู่ในมือเช่นกัน บวกกับความจริงที่ว่า ส.ว.แต่งตั้งชุดปัจจุบันเหลือเวลาอยู่ในอำนาจได้อีกเพียงปีเดียว และจะกลับมาดำรงตำแหน่งไม่ได้อีก (และ ส.ว.ชุดหลังจากนี้จะไม่มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ อีกต่อไป)
ฉะนั้น มิใช่ทุกคนที่อยากจบชีวิตการเป็นวุฒิสมาชิกด้วยการถูกตราหน้าและจดจำในประวัติศาสตร์ว่าโหวตสวนมติเสียงข้างมากของประชาชน และสนับสนุนนายกฯ ที่แพ้การเลือกตั้ง
การดึงงูเห่านั้นก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายคนคิด เพราะบรรดาพรรคฝ่ายค้านย่อมตระหนักดีถึงปัญหานี้ และเลือกเฟ้นผู้สมัครอย่างเข้มข้นขึ้นเพื่อปิดจุดอ่อน ในความเป็นจริงงูเห่าตัวจริงเสียงจริงนั้นก็ย้ายพรรคไปหมดแล้วตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้
ที่สำคัญ การดึงงูเห่านั้นจะสำเร็จได้หากเสียงต่างกันไม่กี่เสียง แต่ถ้าเสียงต่างกันถึง 50-60 ที่นั่ง การจะดึง ส.ส.จำนวนมากขนาดนั้นให้ย้ายขั้วย่อมเป็นเรื่องยาก
การหวังใช้สูตรคำนวณเพื่อพลิกเปลี่ยนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคก็จะไม่สามารถทำได้เหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว
เพราะระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบรอบนี้มีสูตรคำนวณที่ตายตัวชัดเจน ไม่สามารถพลิกแพลงได้
หากในวันที่เปิดประชุมสภาเลือกนายกฯ และ พล.อ.ประยุทธ์รวบรวมเสียงได้ไม่ถึง 250 เสียง แล้วหวังไปลุ้นให้ ส.ว.ส่วนใหญ่มาเลือกตนเป็นนายกฯ ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจึงเป็นไปได้ยากมาก
เพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยย่อมไร้เสถียรภาพ ไม่สามารถผ่านกฎหมายงบประมาณและการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้
ฝืนตั้งไปก็มีแนวโน้มล่มสลายลงในเวลาอันรวดเร็ว
ยิ่งหากยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ โอกาสจะแพ้มากกว่าเดิมก็ยิ่งสูงเนื่องจากประชาชนย่อมไม่พอใจที่เจตนารมณ์ของพวกเขาไม่ถูกเคารพ
ส่วนการใช้วิธียุบพรรคการเมืองและการรัฐประหารเป็นไม้ตายสุดท้ายเพื่อรักษาอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ครองอำนาจต่อนั้น
หากเกิดขึ้นจริง ย่อมขาดความชอบธรรมอย่างรุนแรงทั้งในสายตาประชาคมโลกและในหมู่ประชาชน
เพราะครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจลงเลือกตั้งเองและผันตัวเองมาเป็นนักการเมืองเต็มตัวโดยไม่มีใครบังคับ เดินหาเสียงขอคะแนนจากชาวบ้านทั่วประเทศ
หากแพ้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์และชนชั้นนำที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมรับการตัดสินใจของประชาชน แต่ฝืนใช้อำนาจนอกระบบมาล้มกระดานในการแข่งขันที่ตนเองแพ้
ย่อมเสี่ยงที่จะนำไปสู่วิกฤตรุนแรงในบ้านเมืองในระดับที่ยากจะควบคุมสถานการณ์ได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022