นโยบายแรงงาน ที่ต้องเป็นมากกว่าเรื่องค่าแรง | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง หนึ่งในนโยบายที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหาเสียง เห็นจะไม่พ้นนโยบายแรงงาน

แต่น่าสนใจว่าเมื่อพูดถึงนโยบายแรงงาน ข้อเสนอส่วนมากก็จะวนกลับไปที่เรื่องค่าแรง

แม้ค่าแรงจะเป็นส่วนสำคัญสำหรับนโยบายแรงงาน แต่เป็นเพียงแค่องค์ประกอบส่วนน้อยเมื่อพูดถึงภาพรวมของนโยบายแรงงาน ซึ่งหมายรวมถึงคนวัยทำงานมากกว่า 38 ล้านคนทั่วประเทศ

ผลประโยชน์ของคนทำงานจำเป็นต้องพูดถึงมากกว่าเรื่องค่าแรง

ในบทความนี้จะทำการวิเคราะห์ถึงแนวนโยบายแรงงานที่จำเป็นต้องพูดถึง 4 ประการดังนี้

 

1.สิทธิการรวมตัว เป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่ค่อยถูกถกเถียงในที่สาธารณะมากนัก แต่การรวมตัวเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการแก้ปัญหาในกลุ่มอาชีพต่างๆ

เราลองพิจารณาว่า เรามีหลากหลายอาชีพในระบบการทำงาน ทุกอย่างกระจัดกระจายและควบคุมผ่านสถานประกอบการที่มีมาตรวัดเป็นเรื่องประสิทธิภาพและกำไร

ผลประโยชน์ของนายจ้างมีฝ่ายบุคคลดูแล แต่ผลประโยชน์ของคนทำงานกลับกระจัดกระจาย

เมื่อไม่สามารถรวมตัวกันได้ สุดท้าย แม้จะมีพรรคการเมืองหรือการเลือกตั้ง สุดท้ายก็ไม่พ้นลักษณะอภิสิทธิ์ชนคิดแทนประชาชน

เพราะตามจริงแล้วย่อมไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนใดสามารถตอบโจทย์ทุกปัญหาของทุกกลุ่มอาชีพ

ดังนั้น หากครูสามารถรวมตัวกันได้ หมอ พยาบาลสามารถรวมตัวกันได้ แรงงานที่ทำงานตามแพลตฟอร์มสามารถรวมตัวกันได้ พนักงานทำความสะอาดสามารถรวมตัวกันได้ ปัญหาของพวกเขาก็จะสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ไม่จำเป็นต้องคอยการเลือกตั้งทุกครั้ง

สิทธิในการรวมตัว การนัดหยุดงานการประท้วงในที่ทำงาน หรือการรวมตัวของกลุ่มแรงงานที่มากกว่าแค่คนที่อยู่ในที่ทำงานเดียวกัน มากกว่าแค่เรื่องค่าจ้างและสวัสดิการ เป็นกุญแจสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้ามากขึ้นมาแล้วในหลากหลายประเทศ

 

2.การคุ้มครองแรงงาน รวมถึงการกำหนดสวัสดิการ ค่าจ้าง เวลาการทำงาน

ลักษณะการทำงาน ในสังคมไทยเรามักคุ้นชินกับ “ลัทธิเผด็จการของทุน” ในที่ทำงาน

กล่าวคือ เมื่อเดินก้าวเท้าเข้าสู่ที่ทำงาน หรือ ยอมรับการเข้าทำงาน จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถต่อรองได้ และหากไม่พอใจก็เพียงแค่ให้ย้ายไปทำงานที่อื่น

ซึ่งการพูดถึงนโยบายแรงงานของพรรคการเมืองส่วนมากละเลยประเด็นตรงนี้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ในปริมณฑลใดของชีวิต มนุษย์ก็ยังพึงมีชีวิตที่สมศักดิ์ศรีและได้รับการคุ้มครอง

ดังนั้น หากเราพูดถึงหลักการคุ้มครองแรงงานพื้นฐาน คือการกำหนดชั่วโมงการทำงานที่ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ วันหยุดสองวันต่อสัปดาห์ และการจ้างเป็นรูปแบบรายเดือนมากกว่าการจ้างรายวัน สิทธิการลาคลอดอย่างน้อยหกเดือนโดยได้รับค่าตอบแทนทั้งชายและหญิง การมีสภาพการทำงานที่ไม่เป็นพิษ (Toxic)

รวมถึงการไม่ถูกเลือกปฏิบัติตั้งแต่การรับสมัครงาน จนการทำงาน การประเมิน ไม่ว่าด้วยเพศสภาวะ วิถีชีวิต ศาสนา หรือทัศนะทางการเมือง

การคุ้มครองคนทำงานเป็นสิ่งที่พึงกระทำแม้ในมิติของการทำงานที่ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของชีวิตเรา และเราควรมีชีวิตที่สมศักดิ์ศรีในทุกวินาที

 

3.ค่าจ้างและรายได้ เรามักคิดว่าถ้าค่าจ้างสูงแล้วผู้ประกอบการจะไม่สามารถอยู่ได้

เป็นคำกล่าวที่เกินจริงไปไม่น้อย ยิ่งสำหรับประเทศที่ค่าจ้างต่ำเตี้ย แต่ผลิตภาพการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันหมายความว่ามูลค่าส่วนเกินมหาศาลถูกตักตวงมากขึ้นในแต่ละปี

ดังนั้น การสร้างค่าจ้างที่เหมาะสมนอกจากจะทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นตัวเร่งด้านนวัตกรรมให้ผู้ประกอบการสร้างงานที่เหมาะสมกับรายได้ที่สูงขึ้นของผู้ใช้แรงงาน

นอกจากนี้ งานวิจัยหลายชิ้นยังยืนยันว่า ค่าจ้างที่สูงขึ้นไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการลดลงแต่อย่างใด

ตรงกันข้ามทำให้มีตัวเลือกในแรงงานมากขึ้น และแรงงานอยู่กับบริษัทนานขึ้นอันเป็นการลดงบประมาณด้านการลงทุนในบุคลากรใหม่ๆ

 

4.ประการสุดท้าย ขบวนการแรงงานต้องเกี่ยวข้องกับ ขบวนการประชาธิปไตย ไม่เกาะเกี่ยวกับอำนาจเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยในที่ทำงาน พร้อมกับประชาธิปไตยในสังคมโดยรวม

จากประสบการณ์ในอดีตเมื่อใดที่มีการทำรัฐประหารจะส่งผลให้สิทธิแรงงานด้านต่างๆ แย่ลง

และเมื่อแรงงานถูกแยกออกจากการต่อสู่การเมืองในมิติอื่นๆ แรงงานก็จะโดดเดี่ยวและไร้พลังในการต่อสู้ต่อรอง

ดังนั้น ขบวนการแรงงานต้องไม่ปลอดการเมือง ต้องท้าทายอำนาจรัฐ และส่งเสริมขบวนการประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าไม่ฝักใฝ่อำนาจเผด็จการ

ทั้งหมดนี้คือนโยบายแรงงานโดยสังเขป เพื่อเป็นหลักยึดสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อคนวัยทำงานกว่า 38 ล้านคนในประเทศนี้