อพยพเคลื่อนย้าย

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

อพยพเคลื่อนย้าย

 

คาถาอันหนึ่งที่ประธานาธิบดีอเมริกันหลังไอเซนฮาวเออร์ลงมา ต้องคอยท่องบ่นให้พลเมืองฟังคือ การอพยพโยกย้ายเป็นส่วนหนึ่งที่แฝงอยู่ในความเป็นอเมริกันอย่างแยกไม่ออก

คาถานี้สำคัญแก่รัฐประชาชาติอเมริกันอย่างไร

สหรัฐเป็น “ชาติ” ที่ผูกพันกับชาติพันธุ์ไม่มากและแน่นแฟ้นเท่ากับ “ชาติ” ที่เกิดร่วมสมัยกันในยุโรปตะวันตก แม้กระนั้น คนที่พูดอังกฤษเป็นภาษาน้ำนม, นับถือนิกายโปรเตสแตนต์, ผิวขาว ก็ยังถือเป็นทั้งต้นแบบและแบบฉบับมาตรฐานของคน “อเมริกัน” สืบมาอีกอย่างน้อยจนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง มีคนผิวขาวจากยุโรปกลางและตะวันออก ที่ไม่ตรงแบบฉบับมาตรฐานอพยพเข้ามาเป็นพลเมืองอเมริกันอีกมาก รวมทั้งคนผิวดำที่ถูกบังคับให้อพยพโยกย้ายมาทวีปใหม่อีกประมาณ 10% ของพลเมือง ยังไม่พูดถึงจีนและญี่ปุ่นที่หนีภัยเศรษฐกิจในบ้านของตนมายังฝั่งตะวันตกของสหรัฐในช่วงปลายศตวรรษที่ 19-ต้น 20 อีกไม่น้อย

แต่แบบฉบับมาตรฐานอเมริกันก็ยังคงอยู่ นโยบายทางสังคมก็ยังถือว่าสหรัฐเป็นหม้อจับฉ่าย คือผสมปนเปกันหลายชาติพันธุ์จนกลืนกันเป็นจับฉ่ายหรืออเมริกัน (ซึ่งคือแบบฉบับมาตรฐาน) แต่นับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา นโยบายนี้ถูกต่อต้านอย่างกว้างขวาง ชาวอเมริกันที่ “ไม่ตรงปก” จำนวนมาก ต้องการมีอัตลักษณ์ที่เป็นของตนเองจริงๆ (การเมืองเชิงอัตลักษณ์สร้างเงื่อนไขการต่อรองได้เพิ่มขึ้น) พวกเขาจะไม่กลายเป็นอะไรนอกจากคนอเมริกันนั่นแหละ แต่เป็นอเมริกันที่พูดภาษาอื่นในบ้านอย่างไม่ต้องปิดบังใคร, นับถือศาสนาอื่น, ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและชาติพันธุ์ที่แตกต่างจากแบบฉบับมาตรฐาน, รวมทั้งมีหน้าตาผิวพรรณที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากปก โดยไม่เป็นปมด้อยด้วย ฯลฯ

และด้วยเหตุดังนั้น การอพยพโยกย้ายจากทุกมุมโลกมาเป็นพลเมืองอเมริกัน จึงเป็นวาทศิลป์ทางการเมืองที่ อย่างน้อยก็ไม่ตัดคะแนนเสียงของคนพูด ในสหรัฐมีทั้งแรงกดดันทางสังคม (social sanction) และกฎหมายที่ลงโทษการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางสีผิวหรือชาติพันธุ์ ทำให้พลเมืองที่ยังยึดถือแบบฉบับมาตรฐานของความเป็นอเมริกันอย่างไม่เสื่อมคลาย ไม่แสดงท่าทีของตนออกมาอย่างชัดๆ

 

“ชาติพันธุ์” เคยเป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งของลัทธิชาตินิยมในระยะแรกๆ โดยเฉพาะในหมู่ “ประชาชาติ” ที่แตกออกจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในยุโรปตะวันออก จักรวรรดิเกือบทั้งโลกไม่สามารถแปลงตนเองไปสู่ความเป็นรัฐประชาชาติได้ ก็เพราะปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ เช่น จักรวรรดิออตโตมัน, จักรวรรดิอังกฤษ, จักรวรรดิรัสเซีย (ซึ่งในที่สุดไม่ได้แปลงตนเองเป็นรัฐประชาชาติ แต่เป็นสหภาพโซเวียต ไม่เกี่ยวอะไรกับชาติพันธุ์เลย… อย่างน้อยก็ตามทฤษฎี) จะมียกเว้นแต่หนึ่งเดียวคือจักรวรรดิจีน ไม่ว่าแมนจู, มองโกล, อุยกูร์, ทิเบต, (ยังไม่นับจ้วง-ไท, ม้ง, เย้า ฯลฯ ซึ่งกำลังเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมจีนฮั่นอย่างรวดเร็ว) กลายเป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ชาติพันธุ์ไม่สามารถเป็นเงื่อนไขสำคัญของความเป็นรัฐประชาชาติได้ในหลายรัฐที่เพิ่งได้เอกราชในแอฟริกาและเอเชีย เช่น อินเดียประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์มาก ตอนที่กำลังต่อสู้กับอังกฤษ นักชาตินิยมบางกลุ่มพยายามหาชื่อภาษา “พื้นเมือง” ให้แก่ “ชาติ” ของตนเองที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ แต่หาไม่ได้ เพราะชื่อเก่าๆ ที่รู้จักกันไม่ครอบคลุมทั้งอนุทวีปอินเดีย เช่น ภารตวรรษหมายถึงเฉพาะลุ่มน้ำสินธุ มัธยมประเทศหมายค่อนไปทางลุ่มน้ำคงคา ชื่อเหล่านี้จึงไม่รวมดินแดนตอนกลางและใต้ซึ่งเป็นอารยธรรมที่โดดเด่นของตนเองในอดีตเหมือนกัน แม้แต่จะหาภาษากลางมาแทนภาษาอังกฤษก็ยังยาก

ชาติพันธุ์มีความสำคัญน้อยลงในความเป็นประชาชาติ (แม้หลายรัฐยังใช้ชื่อตามชาติพันธุ์ เช่น “ไทย”, “เยอรมัน”, “ฝรั่งเศส” ฯลฯ) ความเป็นอเมริกันไม่เกี่ยวกับชาติพันธุ์อะไรเลย ในยุโรปตะวันตกซึ่งครั้งหนึ่งค่อนข้างกีดกันการอพยพเข้าไปตั้งรกรากของชาติพันธุ์อื่น โดยเฉพาะผิวสี แต่ปัจจุบัน กลับเปิดรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเยอรมันสมัยแมร์เคิล ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะพลเมืองลดน้อยถอยลง แต่อีกส่วนที่สำคัญก็คือความสำคัญที่ลดน้อยถอยลงของชาติพันธุ์ในความเป็นประชาชาติ

 

แต่ในขณะเดียวกัน ชาติพันธุ์กลับกลายเป็นปัญหาในรัฐประชาชาติอีกหลายแห่ง ที่เรารู้กันค่อนข้างดีคือลังกาและจีน แต่เรามักจะลืมไปว่ามาเลเซียก็เคยมีปัญหาอย่างเดียวกัน แต่โชคดีที่ปัญหามันค่อยๆ คลี่คลายไปในทางที่เกิดความเห็นพ้องต้องกันระหว่างพลเมืองเชื้อสายจีนและมลายูว่า การกีดกันคนเชื้อสายจีนไม่ค่อยให้ประโยชน์อะไรแก่มาเลเซียเสียแล้ว

ประเทศที่เป็นผลผลิตของอาณานิคมซึ่งรวมเอาคนหลายชาติพันธุ์ไว้ใต้อำนาจของจักรวรรดินิยมเดียวกัน เช่น อินเดียและอินโดนีเซีย เคยสถาปนาเอกราชของตนให้ไปพ้นชาติพันธุ์ แต่มาในภายหลังความแตกแยกทางชาติพันธุ์ก็กลับมาอีก

เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างอินเดียและอินโดนีเซีย (ผมคิดว่า) อินเดียล้มเหลวมากกว่าในด้านนี้ จากประเทศที่ตกลงกันทุกฝ่ายตอนได้เอกราชว่า จะสถาปนารัฐ “ฆราวาส” เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างคนต่างศาสนิก, รัฐที่ปลอดจากชาติพันธุ์หลัก, รัฐที่ทุกส่วนเข้าร่วมโดยสมัครใจ ฯลฯ รัฐบาลของอินเดียเอกราชทำไม่สำเร็จสักเรื่อง และยิ่งนับวันหลักการแห่งความเป็น “ชาติ” ดังกล่าวก็ถูกรัฐเองมองข้ามไป หรือละเมิดหลักการดังกล่าวเสียเอง

ผมมีข้อสังเกตซึ่งอาจผิดว่า แม้ในทุกประชาชาติย่อมมีคนต่างชาติพันธุ์จากชาติพันธุ์หลักอาศัยอยู่ด้วย มากบ้างน้อยบ้างเป็นธรรมดา ปัญหาคือรัฐประชาชาตินั้นแตกต่างจากราชอาณาจักร ชาติเรียกร้องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพลเมืองมากกว่าราชอาณาจักรอย่างเทียบกันไม่ได้ วรรณคดีโบราณของไทยสรรเสริญบารมีของกษัตริย์ว่าเป็นเจ้าเหนือชนหลายชาติพันธุ์ ยิ่งแตกต่างกัน ยิ่งมีภาษาวัฒนธรรมประเพณีที่ไม่เหมือนกันเท่าไร ยิ่งแสดงบารมีของกษัตริย์มากเท่านั้น

แต่ในรัฐประชาชาติกลับเรียกร้องเอาอะไรที่ “ประจำชาติ” หรือ “แห่งชาติ” ที่เนื้อตัวและจิตใจของพลเมือง นับตั้งแต่ภาษา, ชุดแต่งกาย, ดนตรี, วรรณกรรม, อาหาร, มารยาท ฯลฯ จนความเป็นชาติพันธุ์อื่นถูกเบียดขับออกไปจากชีวิตของทุกคน

ยิ่งสร้างลักษณะเฉพาะประจำชาติมากและเคร่งครัดเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ “ชนส่วนน้อย” อึดอัดมากขึ้นเท่านั้น จนอาจถึงขั้นต้องแข็งข้อต่อรัฐประชาชาติอย่างเปิดเผย กลายเป็นความขัดแย้งที่อาจรุนแรงถึงขั้นสงครามกลางเมืองก็ได้ (อย่างในลังกาหรือพม่า)

 

ผมเข้าใจว่านโยบายบีบบังคับทางตรงหรือทางอ้อม ให้ชนกลุ่มน้อยต้องทิ้งอัตลักษณ์ของตน อย่างรวดเร็วหรือทีละน้อย จนในที่สุดพลเมืองทุกคน ก็จะอยู่ในวัฒนธรรมอันหนึ่งอันเดียวกันซึ่งเป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ รัฐประชาชาตินั้นจะมีความสมบูรณ์ เพราะทุกคนร่วมอยู่ในชาติพันธุ์เดียวกัน ผมเรียกนโยบายอย่างนี้ว่าทำ “จับฉ่าย” ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จในสหรัฐ ซึ่งก็ดูจะไม่สำเร็จในพม่า, อินเดีย, ลังกา ฯลฯ และอีกหลายประชาชาติ

ด้านการอพยพเคลื่อนย้ายก็เหมือนกัน นับวันมันกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นจนกระทั่ง ประชาชาติอย่างที่เรา (คนรุ่นผม) รู้จัก กำลังเปลี่ยนไปอย่างที่คาดไม่ได้เหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต

อันที่จริงนับตั้งแต่มีมนุษย์สักล้านปีมาแล้ว มนุษย์ก็เหมือนสัตว์ประเภทอื่นนะครับ การอพยพเคลื่อนย้ายเป็นส่วนหนึ่งของการหากิน เราทำอย่างนั้นตลอดมาจนสักประมาณ 5,000 ปีที่แล้วมา (เท่ากับ 0.5% ของประวัติศาสตร์มนุษย์) จึงมีมนุษย์บางกลุ่มบางเหล่าจำนวนน้อยค้นพบการเกษตรกรรม ซึ่งทำให้การหากินไม่ต้องเคลื่อนย้าย แต่บังคับให้อยู่กับที่ อย่างน้อยก็ในระยะเวลาที่รอเก็บเกี่ยว

แต่อย่างที่กล่าวข้างบน คนที่เลือกการหากินด้วยการอยู่กับที่มีน้อย คนส่วนใหญ่ยังหากินด้วยการเคลื่อนย้ายอยู่เสมอมา ต้องใช้เวลาอีกนับพันๆ ปี คนที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่กับที่จึงกลายเป็นคนส่วนใหญ่ และพวกเร่ร่อนเป็นคนส่วนน้อย แต่คนเร่ร่อนไม่เคยหายไปจากประวัติศาสตร์โดยสิ้นเชิง เป็นทางเลือกหนึ่งของการหากินและอารยธรรมอีกแบบหนึ่งที่เราไม่ค่อยรู้จัก เพราะความรู้เกี่ยวกับสังคมแบบนั้นของเราน้อยเกินกว่าจะซึมเข้าไปในระบบการศึกษาได้

 

แม้เมื่อมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานถาวรในรัฐต่างๆ แล้ว การอพยพโยกย้ายก็ยังมีอยู่ แต่ไม่ใช่เพื่อการเก็บของป่าล่าสัตว์อย่างเมื่อสมัยที่ยังไม่มีรัฐ ภัยทางเศรษฐกิจบังคับให้ผู้คนต้องเคลื่อนย้ายขนานใหญ่ เคลื่อนไปสู่แหล่งทำกินใหม่ในรัฐเดียวกันหรือข้ามรัฐ ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศซึ่งเกิดขึ้นเสมอมาเพียงอย่างเดียว ก็ทำให้แหล่งทำกินที่เคยอุดมสมบูรณ์รองรับประชากรได้มาก กลายเป็นแหล่งที่ผลิตได้น้อยลง จนคนจำนวนมากต้องอพยพไปหาแหล่งดินดำน้ำชุ่มอื่นๆ ทั้งนี้ยังไม่นับโรคระบาด, การปกครองที่กดขี่ หรือไร้ประสิทธิภาพที่จะคุ้มครองผู้คนให้พ้นจากการปล้นสะดม และสงคราม

รัฐโบราณไม่มีอำนาจหรือเจตนาที่แรงกล้าพอจะตรึงราษฎรของตนให้อยู่กับที่ได้หรอกครับ ราษฎรคือที่มาของรายได้ของผู้ปกครอง (ในรูปแรงงาน, สินค้า หรือเงินตรา ก็ตาม) แต่การเก็บรวบรวมสิ่งทั้งหมดเหล่านี้จากราษฎรให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมีต้นทุนที่สูงมาก เช่นต้องมีระบบราชการที่ใหญ่เกินกำลังของผู้ปกครองจะจ่ายได้ การอพยพเคลื่อนย้ายจึงเป็นส่วนหนึ่งของการทำมาหากินของราษฎร

ผมเคยพบชุมชนชาวลำปาง (เพราะเขาพูดสำเนียงที่คนเหนือฟังแล้วเป็นเสียงลำปาง) ไม่ไกลจากเมียวดีในพม่านัก พวกเขาอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่นั่นเพื่อหนีการเก็บภาษีเป็นตัวเงินของรัฐบาลไทยสมัย ร.5 แล้วก็อยู่ที่นั่นมาจนถือสัญชาติพม่าในปัจจุบัน

จนเมื่อเกิดรัฐประชาชาติขึ้นนั่นแหละ รัฐจึงมีกำลังและอำนาจพอจะขึ้นทะเบียนพลเมืองของตนได้ทั่วทุกตัวคน กำลังและอำนาจดังกล่าวอาจไม่ได้อยู่ในรัฐอย่างเดียว ข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐประชาชาติต่างๆ ก็มีส่วนทำให้แต่ละรัฐตีตราพลเมืองแต่ละคนให้เป็นของตนได้ เช่น สมมุติฐานว่าทุกคนต้องมี “รัฐ” ของตนเอง แสดงออกด้วยเอกสารที่รัฐนั้นๆ ออกให้ เช่น บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง ฉะนั้น แม้ผู้คนอพยพเคลื่อนย้ายไปอยู่นอกรัฐของตนแล้ว จะไปตั้งถิ่นฐานในรัฐใหม่ ก็เป็นเรื่องที่ทำตามสะดวกไม่ได้ ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐใหม่ด้วย

เป็นไปได้ว่า รัฐประชาชาติช่วยชะลอการอพยพเคลื่อนย้ายของมนุษย์ให้ลดลงกว่ายุคก่อนหน้าได้บ้าง แต่ก็เกิดขึ้นท่ามกลางการสื่อสารคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วและราคาถูกด้วย การอพยพเคลื่อนย้ายที่ลดลงจึงเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ชั่วคราวเท่านั้น

 

นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา รัฐประชาชาติต่างๆ เปิดกว้างให้แก่การอพยพเคลื่อนย้ายของคนต่างสัญชาติมากขึ้น ไม่แต่เพียงเพราะเหตุผลด้านทัศนคติต่อชาติพันธุ์ที่แตกต่างดังที่กล่าวในตอนต้นเท่านั้น แต่แรงผลักดันที่สำคัญคือมีประเทศที่ขาดแคลนแรงงาน ทั้งที่มีทักษะต่ำและทักษะสูง ทำให้ต้องเปิดให้แก่การอพยพเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างชาติที่มีคุณสมบัติตามต้องการ แม้ไม่ได้ให้สิทธิพลเมืองแก่ผู้อพยพโยกย้าย แต่แรงงานข้ามชาติก็สามารถใช้ชีวิตในรัฐใหม่ได้เป็นเวลานานๆ จนแทบไม่ต่างจากพลเมืองทั่วไป

ในขณะเดียวกัน รัฐที่มีแรงงานล้นเกินความต้องการ ก็มักเปิดให้พลเมืองของตนอพยพออกไปทำงานนอกประเทศ เพราะเป็นแหล่งรายได้สำคัญอย่างหนึ่งของตน

เฉพาะปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ก็ทำให้มีการอพยพเคลื่อนย้ายของคนข้าม “ชาติ” กันจำนวนมากแล้ว ยังไม่นับปัจจัยที่มีมาแต่โบราณ เช่น หนีภัยสงคราม, เพื่อการศึกษา, เพื่อความก้าวหน้าในชีวิต ตลอดจนการโยกย้ายไปตามตำแหน่งของบริษัทข้ามชาติหรือองค์กรระหว่างประเทศ

“ชาติ” แทบจะทุกชาติในโลกปัจจุบัน มีสายใยจากพลเมืองเชื่อมต่อกันและกันอย่างกว้างใหญ่ไพศาลและซับซ้อน มากเสียยิ่งกว่าสายใยทางเศรษฐกิจ, การเมือง หรือสังคมเสียอีก นับวัน “ชาติ” ก็จะสูญเสียอัตลักษณ์ที่แน่นิ่งตายตัวไปทุกที พูดง่ายๆ ก็คือ “ความเป็นไทย” ที่เคยถูกชนชั้นนำนิยามให้แน่นิ่งไม่เปลี่ยนแปลงนั้นอันตรธานไปแล้ว เช่นเดียวกับความเป็นเขมร, เวียดนาม, มาเลเซีย, อเมริกัน, ฝรั่งเศส, เยอรมัน ฯลฯ

วันหนึ่ง เมื่อถูกถามว่า “คุณเป็นคนไทยได้อย่างไร” ลูกหลานของเราจะตอบว่า “ผมหรือฉันถือบัตรประชาชนไทยครับ/ค่ะ”