ผู้ซื้อ(อาวุธ)ที่ฉลาด! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

การจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยกลายเป็น “ดราม่า” ชุดใหญ่ ที่จนบัดนี้ยังไม่จบ แม้มีความพยายามอย่างมากที่จะต้อง “ปิดสตอรี่” ชุดนี้ให้จบก่อนที่รัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้น เพราะหากรัฐบาลประชาธิปไตยประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว กรณีเรือดำน้ำไทยน่าจะเป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องพิจารณาในอนาคต

ว่าที่จริง ปัญหาเรือดำน้ำเกิดมาโดยตลอด เนื่องจากรัฐบาลจีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ให้แก่เรือดำน้ำที่ราชนาวีไทยได้สั่งต่อให้ กล่าวคือ จีนไม่สามารถทำตามเงื่อนไขสัญญาที่ต้องใช้เครื่องยนต์ของเยอรมนี (MTU 396) ในเรือดำน้ำนี้ได้ หรือกล่าวในทางสัญญาจัดซื้อจัดจ้างคือ เกิดการที่ผู้รับสัญญาไม่อาจดำเนินการตาม TOR ที่ลงนามไปแล้วนั่นเอง

ถ้าเรื่องเช่นนี้เกิดในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว รัฐสภาจะต้องจัดให้เกิดกระบวนการ “การไต่สวนในรัฐสภา” (parliamentary hearing) เพื่อให้ได้คำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นในการกระบวนการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ (ในประเด็นเรื่อง accountability- ความรับผิดชอบในตำแหน่งอำนาจหน้าที่)

แต่ในบริบทแบบการเมืองไทย ปัญหาเรือดำน้ำกลายเป็น “ความคลุมเครือ” ที่กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือ ไม่เคยมีคำตอบอย่างแท้จริงให้แก่ประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีตั้งแต่ต้น จนเกิดสภาวะว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็น “เรื่องของทหาร” สังคมไม่มีความจำเป็นต้องรับรู้และเกี่ยวข้อง หรือที่เป็นสำนวนในอดีตเรียกว่า “เขตทหารห้ามเข้า” … การจัดซื้อยุทโธปกรณ์เช่น กรณีเรือดำน้ำ กลายเป็น “เขตทหารห้ามเข้า” ในทางการเมืองอย่างชัดเจน

ว่าที่จริงแล้ว ผู้นำทหารควรต้องตระหนักว่า เรือดำน้ำนี้ไม่ได้ถูกจัดซื้อด้วยเงินส่วนตัวของรัฐมนตรีกลาโหมหรือผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เกี่ยวข้อง เพราะถ้าพวกเขาออกสตางค์ซื้อให้แก่กองทัพไทยแล้ว สังคมคงไม่จำเป็นต้องวิจารณ์อะไรมากนัก (ไม่ต่างกันกับปัญหาการจัดซื้อเอฟ-35 ของกองทัพอากาศ)

ฉะนั้น หากย้อนกลับไปดูในช่วงที่ผ่านมาแล้ว เราจะพบว่ากระทรวงกลาโหมและกองทัพไม่เคยแถลงเรื่องการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม เรื่อง “ตลกไม่ออก-หัวเราะไม่ได้” กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อมีข่าวว่า ผู้บัญชาการทหารเรือไทย พยายามที่จะหาหนทางประนีประนอมกับจีนอย่างมาก เพื่อแก้ปัญหา “เรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์” ด้วยการเปลี่ยนสัญญาจัดซื้อจาก “เครื่องยนต์เยอรมัน” ไปเป็น “เครื่องยนต์จีน” (CHD 620)

วันนี้ ผู้นำทหารไทยที่เป็น “ลูกค้าอาวุธจีน” จะมีท่าทีแบบ “ยอมจำนน” จีนจะเสนออะไร ผู้นำทหารไทยก็ต้องยอมรับ โดยไม่คำนึงว่า ข้อเสนอนั้นจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัญญาเพียงใดหรือไม่ก็ตาม ท่าทีแบบยอมจำนนเช่นนี้ ทำให้เกิดสถานะ “ผู้ซื้อที่ไร้อำนาจต่อรอง” และต้องคอย “งอนง้อ” ขอจีนไม่เลิก ทั้งที่ไทยเป็นผู้ซื้อ แต่ทำไมไทยเป็นผู้ซื้อแบบยอมจำนน จนทำให้เกิดคำถามตามมาลับหลังว่า จีนให้อะไรเป็นผลประโยชน์ตอบแทนแก่บรรดา “นายพลเหล่าจัดซื้อ” ของกองทัพไทยหรือไม่ (นายพลในกองทัพไทยเมื่อเติบโตในทางราชการแล้ว พวกเขาหลายคนไม่ว่าจะอยู่ในเหล่าทัพใด มักย้ายสังกัดไปอยู่หน่วยเดียวกันคือ “เหล่าจัดซื้อ” ซึ่งเป็นเหล่าที่ใหญ่ที่สุด มีอิทธิพลมากที่สุด และเข้มแข็งที่สุดในกองทัพและกระทรวงกลาโหมไทย!)

ในกรณีเรือดำน้ำจึงน่าแปลกใจว่า ราชนาวีไทยไม่เคยแสดงบทบาทเป็น “smart buyer” การเป็นผู้ซื้อแบบยอมจำนน ทำให้เมื่อผู้ขายผิดสัญญาในสาระสำคัญคือ การเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ฝ่ายทหารเรือไทยที่เป็นผู้ซื้อกลับยอมคิดตามข้อเสนอของจีนแบบง่ายๆ ว่า “ปลอดภัย-ไม่มีปัญหา” ทั้งที่การเปลี่ยนเครื่องยนต์นั้น เป็นประเด็นที่ผู้ซื้อต้องวินิจฉัยด้วยความ “ใคร่ครวญและรอบคอบ” และต้องไม่เริ่มคิดด้วยความต้องการเฉพาะหน้า ที่พวก “ลัทธิบูชาเรือดำน้ำ” ในกองทัพเรือ ที่มีคำตอบประการเดียวว่า ทร. ไทย จะต้องมีเรือดำน้ำเท่านั้น ถ้าปราศจากเรือดำน้ำแล้ว ทร. จะทำหน้าที่ในความเป็นกองทัพเรือไม่ได้

สิ่งที่ราชนาวีไทยจะต้องตอบให้ได้คือ เครื่องยนต์จีนมีประสิทธิภาพเท่ากับเครื่องยนต์เยอรมันจริงหรือไม่… เครื่องยนต์จีนจะใช้กับเรือดำน้ำได้จริงเพียงใด… การเอาเครื่องเรือรบบนผิวน้ำมาใช้กับเรือดำน้ำตามข้อเสนอของจีน เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่… หากเกิดปัญหาทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของชีวิตลูกเรือไทยแล้ว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ (แค่ปัญหาเรือหลวงสุโขทัยจม จนบัดนี้ยังหาความรับผิดชอบไม่ได้เลย!)

นอกจากนี้ ในความเป็นจริงของธุรกิจอาวุธในเวทีโลกนั้น ตลาดไม่ใช่ “ตลาดผู้ขาย” เพียงฝ่ายเดียวเช่นในอดีต จนทหารไทยต้องเกิดอาการ “งอนง้อ” ของผู้ซื้อ แต่ตลาดอาวุธสมัยใหม่ เป็น “ตลาดผู้ซื้อ” ที่ผู้ซื้อมีอำนาจในการต่อรองอย่างมาก อันเป็นผลจากการแข่งขันของผู้ผลิตอาวุธในตลาดโลก

ในทางการเมือง ผู้นำกองทัพเรืออาจเชื่อเสมอว่า สังคมไทยที่ดำรงสภาวะ “ทหารเป็นใหญ่” (civilian supremacy) นั้น การเปลี่ยนแปลงสัญญาในสาระสำคัญจะไม่ทำให้เกิดการฟ้องร้องในทางกฎหมาย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลง TOR ในการซื้ออาวุธจึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้นำทหารต้องกังวล (ถ้าเป็นข้าราชการพลเรือนในกรณีนี้ ตอบได้เลยว่า อาจต้องเตรียมย้ายบ้านไปนอนคุก)

หากกองทัพเรือต้องการให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอการเปลี่ยนแปลง TOR เครื่องยนต์เรือดำน้ำไทยสัญชาติจีน ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร มักจะพูดสนับสนุนทหารในทุกเรื่องอย่างที่ไม่คิดอะไรอยู่เสมอ ดังนั้น กองทัพเรือจึงอาจมั่นใจว่า มติ ครม. จะช่วยให้แก้ปัญหา “เรือไร้เครื่อง” ได้ แต่ถ้าทำเช่นนั้นจริง ครม. ก็อาจต้องเป็นผู้รับผิดชอบในทางอาญาด้วย หากเกิดการไต่สวนขึ้นในอนาคต

ในความเป็นจริงแล้ว เรือดำน้ำคือ ตัวแทนของปัญหา “ความไม่โปร่งใส” ของกองทัพ ไม่ต่างจากปัญหาจีที-200 (กล่องพลาสติกพร้อมก้านเหล็ก) เรือเหาะ (ที่ไม่เหาะ) รถถังยูเครน (ที่ไม่มีเครื่องยนต์เยอรมัน) … ปัญหาทั้งหมดนี้คือ ภาพสะท้อนถึงการขาด “ธรรมาภิบาลทหาร” ที่เป็นปัญหาในกองทัพไทยมาโดยตลอดนั่นเอง!