ทำไมการเลือกตั้งในปี 2566 จึงแตกต่างไปจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

การเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นับเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญ แม้ว่าเราจะเคยมีการเลือกตั้งมาก่อนแล้วในปี 2562

ซึ่งหากย้อนไปในครั้งนั้นก็นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบกว่า 11 ปี ในครั้งนั้นพรรคอนาคตใหม่ได้ที่นั่งมากกว่า 80 ที่นั่ง และส่งให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แข่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ด้วยเงื่อนไขวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง 250 เสียงสามารถลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อันนำสู่การสืบทอดอำนาจไปอีก 4 ปี

คำถามคือมีอะไรที่จะทำให้การเลือกตั้งในปี 2566 นี้แตกต่างไปจากปี 2562

มันจะเป็นเพียงแค่การโหมกระพือกระแสแค่ก่อนการเลือกตั้งและจางหายไปเหมือนเมื่อสี่ปีก่อนหรือไม่

ในบทความนี้สิ่งที่ผมจะทำการย้ำคือความแตกต่างของการเลือกตั้งครั้งนี้จากสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีต

และความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ที่อาจะนำสู่การเปลี่ยนแปลง

 

1. การเลือกตั้งครั้งนี้ คือการเลือกตั้งครั้งแรกของคนรุ่นใหม่ที่อายุ 13 ถึง 17 ปี เมื่อปี 2562 ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านคน

และแต่ละปีมีคนเสียชีวิตกว่า 6 แสนคน และมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 5 แสนคน ในทางประชากรศาสตร์ มีคนตายมากกว่าคนเกิดทุกปี

แม้โครงสร้างสังคมไทยจะมุ่งหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือคนมีอายุยืนมากขึ้น

แต่ในแง่การเมืองแล้ว มีคนรุ่นใหม่เข้าสู่การตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น และความน่าสนใจคือความคิดของพวกเขาก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก

ทั้งในทางการเมืองที่ตั้งคำถามต่อระบอบอำนาจนิยม ตั้งคำถามต่อระบบเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำ สามารถหาข้อมูลที่มีความหลากหลาย ไม่ผูกติดโดยสื่อกระแสหลัก

แม้บางครั้งอาจเกิดกระแสความสนใจในบางเรื่องที่ฉาบฉวย

แต่แทบจะจินตนาการไม่ออกเลยว่า ใน 3 ล้านคนที่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งแรกจะมีสัก 5 แสนคนที่เลือกพรรคการเมืองที่จะร่วมรัฐบาล กับฝั่งอำนาจนิยม

การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้จะท้าทายมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

ซึ่งเป็นการเปลี่ยนที่ยากจะย้อนกลับไปให้ในสถานะเดิมเหมือนก่อนหน้านี้

 

2. การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในปี 2563-2564

การชุมนุมได้มีข้อเสนอมากมาย ทั้งในประเด็นทางการเมือง ทางด้านเศรษฐกิจ

เป็นการชุมนุมที่มีผู้คนมากมายมหาศาล และรัฐบาลก็ดำเนินการปราบปราม จับกุมคุมขัง ดำเนินคดี

ชนชั้นนำยักไหล่กับเหตุการณ์ดังกล่าวและปกครองประเทศต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ระบบรัฐสภาที่มีในขณะนั้นก็ไม่สามารถตอบรับปัญหาต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

การเลือกตั้งปี 2566 จึงเป็นภาพสะท้อนการที่จะสามารถกดดันและผลักดันข้อเสนอต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2563-2564 ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมได้

และเป็นการส่งเสียงที่สะท้อนความไม่พอใจ ความหวัง ความปรารถนาของคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ยังถูกจับกุมคุมขัง ดำเนินคดี และลี้ภัยทางการเมือง

 

3.การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรก จากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งวิกฤตดังกล่าว จากปี 2563-2565 นับเป็นการเสียชีวิตของพลเรือนไทยมากกว่าสงครามโลกครั้งที่สอง การเสียชีวิตของผู้คนมากกว่า 30,000 ชีวิต

เศรษฐกิจถดถอย ส่วนหนึ่งมีความเกี่ยวพันกับการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข และนโยบายการเยียวทางเศรษฐกิจ

การสูญเสียงานและรายได้มหาศาลที่หลายครอบครัวไม่สามารถที่จะรักษาชีวิต ความฝันไว้ได้

นักศึกษาต้องลาออก นักธุรกิจรายย่อยเลิกกิจการ งานภาคบริการหดหาย

แต่ตลอด 3 ปีของวิกฤตโควิด-19 ชนชั้นนำปิดตัวเองอยู่ในหอคอย ออกแบบนโยบายต่างๆ ที่ไม่เห็นชีวิตของผู้คนอยู่ในสมการ

เงินเยียวยาที่ล่าช้าส่งผลสำคัญให้ทุกอย่างย่ำแย่ และส่งผลระยะยาวจนปัจจุบัน

การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นภาพสะท้อนการตั้งคำถาม และเสนอทางเลือกใหม่เพื่อสร้างสังคมที่เสมอภาคมากขึ้น มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น จากความล้มเหลวก่อนหน้านั้น

 

ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญที่นำสู่การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จึงนับว่าแตกต่างไปจากอดีตที่เคยมีมา

ไม่ใช่เพียงแค่การเลือกตั้ง ปี 2562 เท่านั้น มันยังต่างจากเงื่อนไขในปี 2554 หรือก่อนหน้านั้น

มันมากไปกว่าการต่อสู้ระหว่างเผด็จการและประชาธิปไตย

มันยังหมายถึงการเลือกระหว่าง ความเสมอภาคและความเหลื่อมล้ำ อนุรักษนิยมและความก้าวหน้า สังคมแบบเก่าและแบบใหม่

แต่ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่มากไปกว่าเงื่อนไขบริบทพื้นฐาน ที่แม้จะวางเงื่อนไขสำคัญแต่ก็ยังไม่ใช่ตัวชี้ขาด

สิ่งที่สามารถชี้ขาดได้คือกำลังของประชาชน ซึ่งมากกว่าแค่การลงคะแนนเสียง

การรวมตัวกัน ติดตามนโยบาย ส่งเสียงให้เหล่านักการเมืองเห็นถึงความทุกข์ร้อนที่พวกเรามีกันตลอดมา ทุกปี ทุกเดือน ทุกวัน ไม่ใช่เพียงแค่ช่วงเวลาการเลือกตั้ง

ส่งเสียงว่าเราล้วนปรารถนาการเปลี่ยนแปลง เพราะมันล้วนเกี่ยวพันกับความเป็นความตายของเรา ที่นักการเมืองทั้งหลายไม่ว่าพรรคใดต้องไม่มองเราเป็นแค่หน่วยนับสู่อำนาจของพวกเขาเท่านั้น

เมื่อเรารวมตัวกัน อภิสิทธิ์ชนจะไม่กล้าคิดแทนพวกเรา