สุรชาติ บำรุงสุข | ประชาธิปไตยชนะแล้ว!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

นั่งดูภาพข่าวการหาเสียงที่ปรากฏในที่สาธารณะแล้ว ต้องยอมรับว่าน่าสนใจอย่างมากกับการเดินทางหาเสียงของอดีตผู้นำรัฐประหาร 2557 … สองในสามของอดีตนายทหารที่ทำการยึดอำนาจครั้งนั้น วันนี้พวกเขาต้อง “สยบยอม” กับกระแสประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับการเลือกตั้ง 2566 ด้วยการออกขอเสียงจากพี่น้องประชาชนที่เป็น “เจ้าของอำนาจ” ทางการเมืองอย่างแท้จริง

ในวันก่อนและหลังรัฐประหาร 2557 กลุ่มนายทหารเหล่านี้พร้อมกับเครือข่ายของพวกเขา ได้แสดงอาการต่อต้านประชาธิปไตย พร้อมกับแสดงอาการรังเกียจการเลือกตั้งด้วยการสร้าง “วาทะ” (narrative) หลากหลายเรื่อง วาทะเหล่านี้ขมวดปมได้เรื่องเดียว คือ การสร้างสิ่งที่เรียกในทางรัฐศาสตร์เรียกว่า “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (antipolitics ideology) ที่มีจุดยืนในการต่อต้านประชาธิปไตย

แน่นอนว่า กระแสเช่นนี้เมื่อขับเคลื่อนอย่างสุดโต่งแล้ว จะเอื้ออย่างมากในการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็เอื้ออย่างมากด้วยต่อการกลับสู่อำนาจอีกครั้งของคณะทหาร เพราะพื้นฐานของกระแสนี้คือ การมี “รัฐบาลคนกลาง” ที่มาด้วยการรัฐประหาร เนื่องจากจะต้องล้มรัฐบาลพลเรือนให้สิ้นสภาพไปให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่า คนกลางในบริบทการเมืองเช่นนี้ไม่มีใครเป็นอื่นไปได้ที่จะ “ตรงสเปก” มากเท่ากับผู้นำทหาร และในการเมืองไทยแล้ว สเปกนี้มักต้องเป็นของกลุ่มผู้นำทหารจากกองทัพบกเท่านั้น

การขับเคลื่อนของกระแสต่อต้านการเมืองอย่างสุดโต่งเช่นนี้ เกิดขึ้นด้วยการประท้วงทางการเมืองอย่างสุดโต่งที่มาในรูปแบบของ “กลุ่มนกหวีด” (กลุ่ม กปปส.) ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “กลุ่มขวาจัด” ของการเมืองไทยยุคปัจจุบัน (กลุ่มนี้จึงมีสถานะเป็นผู้ให้กำเนิด “กลุ่มสลิ่ม” ในการเมืองไทยในปัจจุบันด้วย)

หากย้อนเวลากลับไปพิจารณาสถานการณ์ทางการเมืองแล้ว เราจะตอบได้ทันทีเลยว่า การประท้วงรัฐบาลด้วยความสุดโต่งของกลุ่มนกหวีดนั้น จะต้องจบลงด้วยการยึดอำนาจอย่างแน่นอน เพราะการประท้วงครั้งนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการผนึกกำลังของกลุ่มปีกขวาทั้งหลายที่สมาทาน “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” อย่างชัดเจน และมีท่าทีอย่างไม่ปกปิดถึงความต้องการในการล้มระบอบประชาธิปไตย

ดังจะเห็นได้จากท่าทีของชนชั้นนำขวาจัด ผู้นำทหารขวาจัด กลุ่มการเมืองขวาจัด และกลุ่มทุนผูกขาดที่พร้อมจะเข้าร่วมการล้มระบอบเลือกตั้ง เพื่อเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ใหม่ แต่การจะทำเช่นนี้ให้สัมฤทธิ์ผลได้จะต้องอาศัยเงื่อนไขประการเดียวคือ ผู้บัญชาการทหารบกจะต้องเป็น “ตัวเปลี่ยนเกมส์”

ฉะนั้น “เกมส์เชนเจอร์” ในการเมืองไทยในปี 2557 จึงไม่มีทางเป็นอื่น นอกจากจะต้องกระทำผ่านการรัฐประหาร อันเป็นวิธีการที่ชนชั้นนำและผู้นำทหารมีความคุ้นเคยมาโดยตลอด จนมีคำล้อกันเล่นๆ ในทางรัฐศาสตร์ว่า ทหารไทยแทบไม่ต้องเขียนแผนยุทธการในการรัฐประหารเลย เนื่องจากความคุ้นชินในการกระทำ

สำหรับ นายกรัฐมนตรีพลเรือนและรัฐบาลนั้น พวกเขามักจะตกอยู่ใน “ภวังค์การเมือง” ที่ไม่เคยคิดถึงเรื่องการถูกยึดอำนาจ เช่น เชื่อว่าผู้บัญชาการทหารบกที่เคยอยู่บนรถทหารในวันที่ต้องเดินทางไปตรวจน้ำท่วมด้วยกันนั้น จะไม่ “โค่นล้ม” รัฐบาลเสียเอง แต่เมื่อกระแสนกหวีดถูกขับเคลื่อนด้วยความรุนแรงบนถนนแล้ว คำตอบจึงไม่มีทางเป็นอื่น นอกจากกลุ่มปีกขวาจัดกำลังเตรียมก่อการรัฐประหารอีกครั้ง … แล้วในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐประหารก็เกิดขึ้นจริงๆ และไม่ใช่สิ่งที่ผิดคาดแต่อย่างใด

จากวันนั้นถึงวันนี้ … ไม่น่าเชื่อว่าผู้นำทหารที่มาจากการยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 จะอยู่ยาวมาจนถึงพฤษภาคม 2566 อันเป็น 9 ปีของความสำเร็จของการสถาปนาอุดมการณ์ต่อต้านการเมืองในการเมืองไทย และทำให้ผู้นำรัฐประหารที่มีจุดยืนในการต่อต้านประชาธิปไตยอย่างชัดเจนนั้น อยู่ในอำนาจมาได้อย่างยาวนาน พร้อมกับสร้างความ “รวนเรและผิดเพี้ยน” ให้กับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทยอย่างมาก

แต่แล้ว เมื่อการอยู่ในอำนาจต่อไปของผู้นำรัฐประหารเดิม มาถึงจุดสิ้นสุดด้วยการหมดอายุของรัฐสภาแล้ว ความต้องการที่จะอยู่ต่อจะเกิดขึ้นได้ด้วยชัยชนะในการเลือกตั้งเท่านั้น กล่าวคือ ต้องชนะด้วยการเดินขอเสียงจากประชาชนเพื่อให้พรรคของตนได้คะแนนมากกว่าพรรคคู่แข่ง ไม่ใช่ชนะด้วยการเคลื่อนรถถังเข้ายึดรัฐสภา ที่แม้จะอยู่ใกล้หน่วยรถถังเพียงแค่เดินข้ามถนนก็ตาม

ดังนั้นในมุมหนึ่งของการเมืองไทย ภาพวันนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึง “ชัยชนะของประชาธิปไตย” อย่างชัดเจน ที่อดีตผู้นำรัฐประหารต้องออกเดินขอเสียงจากประชาชน … ต้องขึ้นรถไฟชั้น 3 เดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อหาเสียง และอีก “หลายๆต้อง” ในแบบที่ตอนยึดอำนาจนั้น พวกเขาไม่เคยต้องสนใจ เพราะในวันรัฐประหาร “อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน” แต่ในวันเลือกตั้ง “อำนาจรัฐเกิดจากปากกา” ของประชาชนที่ใช้กาบัตรเลือกตั้ง

วันนี้ ประชาธิปไตยบังคับให้อดีตนักรัฐประหารต้องยอมรับกระบวนการเลือกตั้ง ด้วยการเป็น “นักการเมือง” และต้องอาศัยเสียงของประชาชนในการอยู่ในอำนาจ ภาวะเช่นนี้อาจจะไม่ได้บอกว่า “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ชนะ แต่ต้องการบอกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” ชนะ และจะชนะชัดเจน ถ้า “กลุ่มการเมืองสายรัฐประหาร” ที่เกาะเกี่ยวอยู่กับ “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” นั้น ประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในวันที่ 14 พฤษภาคม นี้!