คณะทหารหนุ่ม (37) | โจทย์ใหญ่ของ ผบ.ทบ.มือใหม่ ชายแดนระอุ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

เหตุการณ์ปะทะระหว่างทหารไทยกับทหารเขมรแดงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลาย พ.ศ.2519 จนถึงกลางปี พ.ศ.2520 อยู่ระหว่างรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่ง พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นผู้บัญชาการทหารบก ขณะที่คณะทหารหนุ่มก็รวมตัวเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ และ พ.ท.ประจักษ์ สว่างจิตร ได้เข้าร่วมด้วยเต็มตัว

มิถุนายน พ.ศ.2520 ขณะที่ชายแดนอรัญประเทศร้อนเป็นไฟ คณะทหารหนุ่มก็เคลื่อนกำลังเพื่อยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่ พล.อ.เสริม ณ นคร ปฏิเสธการนำ คณะทหารหนุ่มจึงล้มเลิกแผน

ก่อนที่จะได้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัตินำคณะทหารหนุ่มโค่นล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นผลสำเร็จเมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520

 

โจทย์ใหญ่ของ ผบ.ทบ.มือใหม่

“ลิขิต” แห่งการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2521 แล้วทะยานต่อสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ.2523 นั้น ไม่ได้เพียงเพื่อถูกมอบหมายให้จัดการปัญหาการเมืองในรัฐสภา และการคุกคามจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่การคุกคามจากชายแดนกัมพูชานับเป็นปัจจัยชี้ขาด เพราะเป็นเรื่องของความอยู่รอดหรือดับสูญของประเทศชาติ

การคุกคามจากชายแดนด้านตะวันออกยิ่งชัดเจนและทวีความน่าวิตกมากขึ้นหลังเวียดนามบุกกัมพูชาเมื่อ 25 ธันวาคม พ.ศ.2521 ขณะที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานท์ ผู้บัญชาการทหารบก เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2521 ถือเป็น “มือใหม่” ที่ต้องเข้าแบกรับปัญหาใหญ่นี้โดยตรง

อันเป็นการพิสูจน์ฝีมือสำหรับการเป็น “ตัวเลือก” ในการเผชิญหน้ากับปัญหาสำคัญของชาติที่จะต้องเข้าฝ่าฟัน

 

สหพันธรัฐอินโดจีน

ปัญหาการคุกคามทางชายแดนด้านตะวันออกนั้น เมื่อถึงต้นปี พ.ศ.2522 ก็สามารถกล่าวอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า มาจากเวียดนามซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับแนวความคิดในการจัดตั้ง “สหพันธรัฐอินโดจีน”

งานวิจัย “เวียดนาม” ของศาสตราจารย์ ดร.เขียน ธีระวิทย์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายความเป็นมาของ “สหพันธรัฐอินโดจีน” ไว้ดังนี้

“เมื่อคอมมิวนิสต์เวียดนามจัดตั้งพรรคการเมืองในปี 1930 (พ.ศ.2473) ภายใต้การชี้นำขององค์การคอมมิวนิสต์สากล พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน’ ชื่อนี้ส่อให้เห็นแนวความคิดที่จะสร้างระบบการเมืองที่เป็นหนึ่งเดียวกันซึ่งประกอบด้วยเวียดนาม ลาว และกัมพูชา นักสังเกตการณ์ทางการเมืองทั่วไปนิยมให้ชื่อการพยายามรวมกลุ่มดังกล่าวว่า ‘สหพันธรัฐอินโดจีน’ (Indochina Federation) แต่เนื่องจากมีกระแสต่อต้านจากนักชาตินิยมในลาวและกัมพูชา ประกอบกับมีคนต่างชาติระแวงว่าเวียดนามต้องการอาศัยกลไกนี้ครอบงำหรือควบคุมลาวและกัมพูชา คำใหม่ที่นิยมใช้กันมากกว่าคือ ‘ความสัมพันธ์แบบพิเศษ'(Special Relationship)”

“ไม่ว่าจะใช้ชื่อเรียกอย่างไร แนวความคิดนี้เคยเป็นนโยบายที่ผู้นำคอมมิวนิสต์เวียดนามส่งเสริมแม้ในทศวรรษ 1990 (พ.ศ.2533) จะเลิกพูดกันแล้วก็ตาม”

เป็นที่ทราบกันอย่างชัดเจนว่า ตลอดระยะสงครามอินโดจีนครั้งแรกเพื่อขับไล่ฝรั่งเศส และครั้งที่สองเพื่อขับไล่อเมริกานั้น เวียดนามคอมมิวนิสต์เป็น “พี่ใหญ่” และใช้ทั้งลาวและกัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่การรบ ครั้นเมื่อสามารถปลดปล่อยประเทศทั้งสามได้เมื่อ พ.ศ.2518 แล้ว เวียดนามก็ยังพยายามคงสถานะความเป็นผู้นำในอินโดจีนนี้ไว้

เวียดนามเป็นแกนนำในการจัดทำสนธิสัญญา “มิตรภาพและความร่วมมือ” กับลาวเมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2520 และกับรัฐบาลกัมพูชาของเฮง สัมริน ภายใต้การยึดครองของเวียดนามเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2522

สนธิสัญญาทั้ง 2 ฉบับมีธาตุแท้เป็น “สนธิสัญญาร่วมป้องกันทางทหาร” โดยมีข้อกำหนดที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการปกป้องเอกราชทุกรูปแบบ ซึ่งย่อมหมายรวมถึงการให้เวียดนามมีกำลังทหารประจำการอยู่ในลาวและกัมพูชาได้ด้วย

ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 (พ.ศ.2533) เวียดนามมีกำลังทหารราบ ทหารช่าง ที่ปรึกษาช่างเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญอยู่ในลาวประมาณ 40,000 ถึง 60,000 คน และในกัมพูชาประมาณ 150,000 ถึง 200,000 คน ในช่วงนั้นเวียดนามได้ใช้ดินแดนลาวและกัมพูชาต่อต้านจีน ลาวถูกกดดันให้เข้าข้างเวียดนามและสหภาพโซเวียต ส่งผลให้จีนต้องยกเลิกความช่วยเหลือลาวทั้งหมดในต้นปี 1979 (พ.ศ.2522) พร้อมด้วยการถอนบุคลากรและอุปกรณ์ทั้งหมดกลับจีน

ไม่เพียงแต่แนวความคิดในการรวม 3 ชาติให้เป็นหนึ่งในนาม “สหพันธรัฐอินโดจีน” เท่านั้น แต่ยังมีแนวความคิดในการเฉือนดินแดนบางส่วนจากไทยไปผนวกเป็นสหพันธรัฐอินโดจีนด้วย

 

ลาว-กัมพูชา จะเรียกร้องดินแดนจากไทย?

งานวิจัย “นโยบายของไทยต่อลาว” ของ สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงความตั้งใจของลาวและกัมพูชาในการอ้างสิทธิเหนือดินแดนบางส่วนของไทยดังนี้

“นโยบายและทัศนะของผู้นำลาวในเรื่องการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนภาคอีสานของไทย ฝ่ายไทยทราบมาเป็นระยะๆ จากหลายแหล่งข่าว ดังอาทิ จากผลการเจรจาตกลงกันเป็นการส่วนตัวระหว่างเจ้าสีหนุกับเจ้าสุวรรณภูมาเมื่อปี พ.ศ.2504 (ก่อนความตกลงเจนีวา พ.ศ.2505) สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ทั้งสองฝ่ายจะยึดถือนโยบายเป็นกลางต่อไป ทั้งสองจะรักษาสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันตลอดไป ทั้งจะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกโจมตี

เจ้าสีหนุได้กล่าวถึงดินแดนหลายจังหวัดของไทยว่า แต่ก่อนเป็นของกัมพูชาและได้กล่าวถึงกรณีเขาพระวิหารว่ากัมพูชามีหลักฐานอย่างพร้อมมูลที่แสดงว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นของกัมพูชา เจ้าสุวรรณภูมาได้กล่าวว่า ภาคอีสานทั้งหมดเป็นดินแดนของลาวแต่สมัยโบราณ ถ้าได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลลาวเรียบร้อยเมื่อใดจะจัดการเรียกร้องดินแดนเหล่านั้นกลับมาเป็นของลาวให้ได้

ทั้งสองวางโครงการร่วมกันว่า ถ้าเจ้าสุวรรณภูมาเรียกร้องดินแดนอีสานของไทยเมื่อใด

เจ้าสีหนุก็จะเรียกร้องจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ด้วยเมื่อนั้น”

พ.ศ.2522 กองทัพเวียดนามประชิดชายแดนไทยแล้ว…

นี่จึงนับเป็นโจทย์ใหญ่โจทย์แรกสำหรับการทดสอบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ว่าเหมาะสมคุ้มค่าหรือไม่เพียงใดกับการต้องยอมสละทิ้งแบบธรรมเนียมอาวุโสที่ยึดถือมาช้านานในกองทัพ จน พล.อ.เสริม ณ นคร ต้องขึ้นไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแต่เพียงตำแหน่งเดียว

 

เวียดนามจะยึดภาคอีสานจริงหรือ?

“ความสัมพันธ์ไทยจีน เหลียวหลังแลหน้า” ของศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบันทึกปาฐกถาพิเศษของ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน เมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ.2543 เกี่ยวกับความต้องการของเวียดนามในการยึดภาคอีสานของไทยที่น่าสนใจดังนี้

“ผมไม่เคยเชื่อว่าเวียดนามต้องการจะบุกรุกยึด 16 จังหวัดของเมืองไทย ผมอยากให้พวกนักประวัติศาสตร์ดูข้อเท็จจริงและพยายามวิเคราะห์ว่าความจริงมันอยู่ที่ไหน แต่ผมก็ไม่เคยเชื่อว่าเวียดนามต้องการจะยึด 16 จังหวัดของเมืองไทย”

“ในเวียดนามเองก็อาจมีคนกลุ่มหนึ่งหรือคนเล็กน้อยที่ต้องการบุกเข้ามายึด 16 จังหวัดของไทย แต่ที่ผมอยากจะรู้น่ะ ตอนนั้นรัฐบาลแต่ละรัฐบาลในขณะนั้นต้องการมากน้อยแค่ไหน เพราะเราได้ฟังแต่ข่าวชวนเชื่ออยู่ตลอดเวลา”