โรงแรมคีรี ที่เชียงใหม่ บทเรียนสำหรับนักศึกษาสถาปัตย์ ในการออกแบบอาคารใต้ข้อจำกัด

ปริญญา ตรีน้อยใส

แนวคิดในการควบคุมการก่อสร้างอาคารในพื้นที่เฉพาะ เช่น ริมแม่น้ำ ริมทะเล เขตอนุรักษ์เมืองเก่า ที่มีข้อบังคับรูปแบบอาคาร และการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคาร ดูจะเป็นที่รังเกียจของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และสถาปนิกมักง่าย

เชียงใหม่ น่าจะเป็นเมืองแรกๆ ที่มีกฎระเบียบควบคุมพื้นที่เมืองเก่า ให้เป็นเขตอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม มีการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้ใช้ได้เฉพาะบางกิจกรรม เช่น ที่อยู่อาศัย กิจการค้าขนาดเล็ก หรือที่พักแรมโรงแรมเท่านั้น อีกทั้งควบคุมความสูงของอาคาร ไม่ให้สูงเกินยอดพระเจดีย์

ในตอนแรก มีคนคัดค้าน มีคนไม่พอใจ แต่ในตอนนี้ มีคนชื่นชม มีคนพอใจ เพราะเชียงใหม่ติดอันดับโลกเมืองท่องเที่ยว พื้นที่เมืองเก่ารูปสี่เหลียมจัตุรัส ที่มีคูน้ำล้อมรอบ กลายเป็นพื้นที่ที่สวยงาม นักท่องเที่ยวต่างชื่นชมโบราณสถาน ที่แทรกอยู่ระหว่างอาคารเก่าและใหม่ โดยมีฉากหลังเป็นดอยสุเทพ

อีกทั้งยังเดินเที่ยวชมสะดวกปลอดภัยตามถนนขนาดเล็กสายต่างๆ

ภาพจากเฟซบุ๊ก KIRI Hotel Chiang Mai

ตามตรอกซอกซอยเล็กๆ นอกจากร้านอาหารแล้ว ยังมีโรงแรมเล็กๆ โฮสเทล ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเลือกพักแรม ไม่ว่าจะเป็นห้องพักในบ้าน อาคารที่ปรับปรุงดัดแปลง หรืออาคารสร้างใหม่หลังเล็ก มีห้องไม่เกินสิบ จึงต้องจองล่วงหน้าเป็นปี ในราคาที่แพงกว่าโรงแรมใหญ่อื่น ในและนอกเขตเมืองเก่า

เหมือนอย่าง โรงแรมคีรี ที่เชียงใหม่ ที่จะพาไปมองคราวนี้ เจ้าของเป็นสถาปนิกและเป็นคนเชียงใหม่ ได้ใช้ความสามารถในการออกแบบ ด้วยความเข้าใจในพื้นที่

ที่ตั้งโรงแรมอยู่ในเขตเมืองเก่า ที่มีข้อจำกัดความสูงอาคารได้ไม่เกินสามชั้น ที่ดินยังมีขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในซอยมูลเมือง 5 ที่เป็นทางเล็กๆ เดินรถทางเดียว ส่วนด้านหลังติดกับตึกแถวรุ่นเก่า ที่อยู่ริมถนนราชวิถี

แทนที่จะเลือกวิธีดื้อดึงหรือมักง่ายจอดรถบนถนน สถาปนิกเลือกที่จะถอยร่นพื้นที่ด้านหน้าโรงแรม ให้เป็นที่จอดรถได้สามสี่คัน

จึงเท่ากับขยายผิวจราจรสาธารณะให้กว้างสะดวกขึ้น

มีการออกแบบกำแพงสูงริมถนน เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว และกันการบกวน หลังกำแพง จึงเป็นสระน้ำขนาดพอดี มีพื้นที่สีเขียวล้อมรอบ

เมื่ออาคารห้องพักสร้างขนานไปกับสระน้ำ ทำให้ห้องพักทั้งสิบแปดห้อง มองเห็นสระ ส่วนทางเดิน บันได ลิฟต์ อยู่ด้านใน ติดกับด้านหลังของตึกแถว

บนดาดฟ้าอาคาร ยังใช้ประโยชน์พื้นที่ใต้หลังคาจั่ว ที่เป็นข้อบังคับ และส่วนที่เป็นดาดฟ้า ให้ผู้พักแรมกินอาหารเช้า พร้อมกับชมทัศนียภาพของเมืองและดอยสุเทพ หรืออาหารเย็น ที่จะเห็นยอดเจดีย์สีทอง ส่องประกายในความมืดของเชียงใหม่ยามราตรี

เพื่อเปิดรับผู้เข้าพักทางด้านถนนราชวิถี จึงปรับพื้นที่ว่างแคบยาว นอกจากให้เป็นทางเดินเข้าโรงแรมแล้ว ยังเปิดเป็นไวน์บาร์ ใต้โครงหลังคาเหล็กรูปโค้งที่สวยงาม

สถาปนิกไม่ฟูมฟาย ไม่ประดิดประดอย หรือตกแต่งภายนอกและภายในอาคาร ให้เป็นแบบล้านนาแฟนตาซี เหมือนโรงแรมบูทีกอื่น หากออกแบบรูปด้านภายนอกที่พอมองเห็นบ้าง เรียบง่าย ไม่แปลกแยกกับอาคารทั่วไป

ผู้พักแรมจึงใช้ประโยชน์พื้นที่ได้เต็มที่ อย่างเหมาะสมลงตัว พร้อมกับสัมผัสสภาพและบรรยากาศเมืองเก่าเชียงใหม่ตลอดเวลา

ภาพจากเฟซบุ๊ก KIRI Hotel Chiang Mai

โรงแรมคีรี จึงเป็นบทเรียนสำหรับนักศึกษาสถาปัตย์ ในการออกแบบอาคารภายใต้ข้อจำกัดทางกฎระเบียบ ในพื้นที่ยาก และมีความต้องการใช้สอยเฉพาะ

โรงแรมคีรี ยังเป็นแนวทางให้นักลงทุนเอสเอมอี เห็นโอกาสพัฒนาที่พักแรมได้ในทุกพื้นที่ ถ้าว่าจ้างสถาปนิกที่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่สถาปนิกดารา นักวาดรูปสวยๆ ช่างเสริมสวยแต่งหน้าทาปากอาคาร หรือนักลอกแบบจากแม็กกาซีนฝรั่งหรือญี่ปุ่น

รวมทั้งโรงแรมคีรี จะเป็นแบบอย่างให้กับเมืองอื่น ที่ต้องกำหนดกฎระเบียบและควบคุมอาคารและการใช้ที่ดินเคร่งครัด เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสวยติดอันดับต่อไป •

 

ขอบคุณภาพจาก : https://www.facebook.com/kirihotelchiangmai

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส