ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (2) จากยุคสงครามเย็นสู่ปัจจุบัน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ไม่เหมือนกับเรื่องของสงครามเย็นในระดับโลก การตะลุมบอนระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง [ในเอเชีย] มีแนวโน้มที่จะจำกัดอยู่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”

Kurt Campbell and Jake Sullivan (August 2019)

 

การประกาศทิศทางยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐอเมริกาในเอเชียภายใต้แนวคิดทางยุทธศาสตร์ว่าด้วย “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดเผย” (The Free and Open Indo-Pacific) ในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงการจัดวางยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐต่อเอเชียในยุคศตวรรษที่ 21

และเท่ากับเป็นสัญญาณว่า ยุทธศาสตร์เดิมที่วางอยู่บนแนวคิดของพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็น “เอเชีย-แปซิฟิก” ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปแล้ว ทั้งยังเป็นสัญญาณอีกด้วยว่า การขับเคลื่อนก่อนหน้านี้ จนถึงการประกาศ “หมุดหมายแห่งเอเชีย” (Pivot to Asia) ของประธานาธิบดีโอบามา ได้ถึงจุดสูงสุดด้วยการปรับยุทธศาสตร์ใหม่

ในเชิงภาษาที่เกิดขึ้นก็บ่งชี้ให้เห็นถึงพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ในยุทธศาสตร์อเมริกัน ที่ครอบคลุมอาณาบริเวณมากกว่าแนวคิดเดิม เพราะบ่งบอกถึงการเชื่อมต่ออาณาบริเวณของมหาสมุทรแปซิฟิกเข้ากับมหาสมุทรอินเดีย และมีนัยในการดึงเอาอินเดียเข้ามาเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกับฝ่ายตะวันตก

พร้อมกับการให้ความสำคัญกับพื้นที่ของมหาสมุทรอินเดียมากขึ้น แทนที่สหรัฐจะวางน้ำหนักทางยุทธศาสตร์ไว้กับมหาสมุทรแปซิฟิกในแบบเดิมเท่านั้น

 

ดังนั้น การปรับยุทธศาสตร์ที่ขยายพื้นที่เชื่อมต่อมหาสมุทรทั้งสองจึงมีส่วนต่อการกำหนดความเป็นไปของการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียอย่างมาก อันเท่ากับบ่งบอกถึงมุมมองใหม่ของสหรัฐในยุคแห่งการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่สำหรับจีนแล้ว ยุทธศาสตร์นี้คือการขัดขวางของตะวันตกต่อการขยายอิทธิพลของจีนในเอเชียโดยตรง

สภาวะเช่นนี้ย่อมหมายถึง “การปะทะทางยุทธศาสตร์” ของสองมหาอำนาจใหญ่ในเอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาถึงเงื่อนไขสงคราม

ฉะนั้น บทนี้จะทดลองพิจารณาถึงพัฒนาการทางยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐ ที่มีนัยถึงการเตรียมกำลังสำหรับ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ในเอเชีย

 

ยุทธศาสตร์ทหารอเมริกัน

หากเราลองย้อนอดีตเพื่อทำความเข้าใจกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐในเอเชียแล้ว เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า นับตั้งแต่การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเอเชีย สหรัฐมีสถานะเป็นตัวแสดงที่สำคัญ และมีบทบาทเข้าแทนที่เจ้าอาณานิคมเดิม ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์

ทั้งยังเข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญกับปัญหาสงครามและความขัดแย้งในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นในกรณีสงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นความชัดเจนในบทบาทของยุคสงครามเย็นว่า สหรัฐเข้าสงครามใหญ่ในเอเชียถึง 2 ครั้ง และยังนำเอาชีวิตของทหารชาวอเมริกันจำนวนมากมาทิ้งไว้กับสนามรบในเอเชีย อันอาจกล่าวได้ว่า สงครามใหญ่ของกองทัพอเมริกันในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ในเอเชีย

พร้อมกันนี้สหรัฐในยุคสงครามเย็นได้เข้ามามีบทบาทกับการเมืองในเอเชียอย่างมากด้วย ความสัมพันธ์แบบทวิภาคี ไม่ว่าจะเป็นกับญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ตลอดรวมถึงไทย เป็นคำตอบที่ชัดเจนถึงบทบาทของสหรัฐในภูมิภาค

สภาวะเช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าสหรัฐเป็น “มหาอำนาจแห่งเอเชีย” แม้ตัวภาคพื้นทวีปของอเมริกันจะอยู่อีกฝากฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิกก็ตาม แต่บทบาทความเป็นรัฐมหาอำนาจของสหรัฐดำรงอยู่ในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง

แม้อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า บทบาทของสหรัฐในภูมิภาคยุโรปสูงกว่าบทบาทในเอเชีย อันเป็นผลโดยตรงจากสงครามเย็น และการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นระหว่างสหรัฐกับโซเวียต

แต่กระนั้นก็เกิดเป็นคำถามที่สำคัญในทางทหารว่า ถ้าสหรัฐต้องทำสงครามใหญ่แล้ว สหรัฐจะกำหนดยุทธศาสตร์ทหารใน “ภูมิรัฐศาสตร์ของสองสนามรบ” อย่างไร?

เงื่อนไขเช่นนี้นำไปสู่การสร้างยุทธศาสตร์ของ “สงครามสองยุทธบริเวณ” (Two-Theater War) ที่มีนัยถึงการที่นักวางแผนทางทหารจะต้องพิจารณาถึงการจัด “ขนาดและองค์ประกอบ” ของกำลังรบอเมริกันที่จำเป็นและเพียงพอในการสร้างความพร้อมรบในสองยุทธบริเวณภายใต้กรอบเวลาหนึ่ง

กล่าวคือ กองทัพสหรัฐจะต้องมีความพร้อมรบในสองสงครามใหญ่ที่อยู่ในคนละซีกโลกพร้อมกัน

 

ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งในเวทีโลกในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 ทำให้เกิดการปรับแผนทางทหารเป็น “ยุทธศาสตร์สองครึ่ง” (Two-and-One-Half Strategy) ซึ่งกองทัพอเมริกันจะยังคงดำรงขีดความสามารถในการทำสงครามพร้อมกันใน 2 ยุทธบริเวณเช่นที่กล่าวแล้ว และมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการรับมือกับ “สงครามจำกัด” ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของโลก (ความหมายของ “ครึ่งหนึ่ง” ในยุทธศาสตร์นี้คือ สงครามจำกัด ที่ไม่ใช่สงครามใหญ่)

ยุทธศาสตร์นี้กล่าวเป็นรูปธรรมได้ว่า กองทัพสหรัฐสามารถรับมือกับกองทัพโซเวียตที่เปิดการโจมตีประเทศในยุโรป ขณะเดียวกันก็รับมือกับกองทัพจีนที่เปิดการโจมตีประเทศในเอเชีย และทั้งสามารถเข้าไปจัดการกับวิกฤตขนาดเล็กเช่นวิกฤตคิวบา หรือวิกฤตในละตินอเมริกาได้พร้อมกัน

กล่าวคือ กองทัพอเมริกันพร้อมปฏิบัติการใน 3 แนวรบได้ในเวลาเดียวกัน

แต่การคิดยุทธศาสตร์ทหารเช่นนี้มีความหมายอีกด้านคือ การใช้งบประมาณทหารเป็นจำนวนมาก ซึ่งสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศอาจแบกรับไม่ไหว และอาจถูกต่อต้านจากคนในสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้งบประมาณทหารขนาดใหญ่

ดังนั้น เมื่อสหรัฐเข้าสู่สงครามเวียดนาม ทำให้ต้องปรับเป็น “ยุทธศาสตร์หนึ่งครึ่ง” (One-and-One-Half Strategy) คือดำรงความสามารถพร้อมรบในการทำ 1 สงครามใหญ่และ 1 สงครามจำกัด

แต่ในยุคหลังสงครามเวียดนามแล้ว เพนตากอนปรับแนวคิดเป็น “ยุทธศาสตร์หลายยุทธบริเวณ” (Multitheater War) และต่อมามีความพยายามที่จะขยายเป็นยุทธศาสตร์การเตรียมรับมือกับสงครามในระดับโลก (All-Out Global War)

แต่ก็ตามมาด้วยปัญหาค่าใช้จ่ายทางทหารขนาดใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าเศรษฐกิจอเมริกันไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางทหารได้ทั้งหมด

 

ปรับใหม่-ปรับใหญ่

ในที่สุดแล้วสหรัฐจำเป็นต้องปรับใหญ่อีกครั้งในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ บุช ด้วยแนวคิดแบบ “คงกำลังในระดับต่ำสุด” (Based-Force Concept) คือเป็นตัวเลขของกำลังในระดับฐานล่างที่จะสามารถดำรงความมุ่งหมายในยุทธศาสตร์ทหารไว้ได้ โดยไม่ยึดติดกับแนวคิดที่วางอยู่บนพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์แบบเดิม เพราะจะต้องใช้จัดเตรียมกำลังเกินความจำเป็น

แต่เมื่อสงครามเย็นยุติลง สหรัฐกลับต้องไปหายุทธศาสตร์ที่อิงอยู่กับพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์แบบเดิม

ดังนั้น ในสมัยของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ยุทธศาสตร์ทหารกลับมาใช้แนวคิด “สงครามสองยุทธบริเวณ” อีกครั้ง หากแต่จุดเน้นของพื้นที่ความขัดแย้งแตกต่างจากเดิม ซึ่งไม่ใช่แนวคิดของ 2 สงครามใหญ่ที่เกิดจากการโจมตีของรัสเซียและจีน หากแต่เป็นสงครามในอ่าวเปอร์เซีย

ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าปัญหาจะเกิดจากอิรัก และสงครามบนคาบสมุทรเกาหลี จากการบุกของเกาหลีเหนือ

 

การวางยุทธศาสตร์เช่นนี้ถูกวิจารณ์อย่างมาก 2 ประการหลัก คือ

1) การละเลยปัญหาสงครามอสมมาตรในแบบของการก่อการร้าย

2) ปัญหาการควบคุมการแพร่กระจายของอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง (WMD)

ซึ่งการเตรียมกำลังสำหรับภัยคุกคามเช่นนี้ต้องการกำลังรบที่เบากว่า เคลื่อนที่ได้เร็วกว่า และมีความอ่อนตัวมากกว่า ดังจะเห็นจากสถานการณ์ในยุคหลัง 11 กันยายน 2001 ที่ตามมาด้วยสงครามอัฟกานิสถาน (2001) และสงครามอิรัก (2003)

แต่ความท้าทายใหม่ 2 ประการในศตวรรษที่ 21 คือ

1) การก้าวสู่ความเป็นรัฐมหาอำนาจของจีน

2) การฟื้นตัวกลับสู่ความเป็นรัฐมหาอำนาจของรัสเซีย

ซึ่งทำให้เกิดคำถามถึงยุทธศาสตร์ทหารโดยตรง แม้สถานการณ์จะดูสอดรับกับ “ยุทธศาสตร์สองยุทธบริเวณ” แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ และปัญหาต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดแนวคิดในการเตรียมกำลังรบที่วางอยู่บนฐานของการ “ประเมินที่เป็นจริง” (realistic assessment) เพื่อลดภาระที่เกิดขึ้น

แต่กระนั้นความท้าทายอย่างสำคัญที่เกิดตามมาคือ สงครามยูเครน วิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวัน และอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

 

ผลกระทบต่อเอเชีย

สถานการณ์ใน 3 ส่วนดังกล่าวเป็นทิศทางหลักในปัจจุบัน และทำให้สหรัฐไม่สามารถทอดทิ้งเอเชียให้ตกเป็น “เขตอิทธิพลจีน” ฝ่ายเดียว

ประกอบกับเมื่อยุทธศาสตร์ทหารถูกปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว สหรัฐยังได้ปรับยุทธศาสตร์ใหญ่ที่วางบนฐานคิดทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ในเชื่อมสองมหาสมุทร และหวังว่ายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกจะเป็นกลไกสำคัญในการคงบทบาทของความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐไว้ในเอเชียต่อไป และยังสามารถรับมือกับการขยายอิทธิพลของจีนด้วย

แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีความชัดเจนว่าสหรัฐมีทรัพยากรมากเพียงพอในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้ และในทางนโยบายก็คือ สหรัฐจะนำเอายุทธศาสตร์นี้ไปสู่การปฏิบัติได้จริงเพียงใด และถ้าจำเป็นจะต้องแสวงหาทางเลือกในการแข่งกับจีนแล้ว สหรัฐหันไปสร้างระบบพันธมิตรเพื่อเป็นแกนความมั่นคง ซึ่งเป็นทิศทางหลักของสหรัฐมาโดยตลอด

ดังจะเห็นถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างสหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลีย หรือ “AUKUS” ในปี 2021 อันอาจตีความได้ว่า ความตกลงนี้คือส่วนต่อขยายของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่นำไปสู่การร่วมมือด้านความมั่นคง และการขยายขีดความสามารถทางทะเลของออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ทั้งสองนี้อาจเป็นเรื่องใหม่ และต้องการระยะเวลาของการขับเคลื่อน (แต่ก็มิได้หมายความว่าวอชิงตันมีเวลาเหลือเฟือในการดำเนินการ) หากยุทธศาสตร์นี้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นจริงในอนาคตแล้ว ภูมิทัศน์ของเอเชียจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และอาณาบริเวณทางภูมิรัฐศาสตร์ก็จะถูกขยายขอบเขตให้มีความกว้างขวางมากขึ้น

และเอเชียในยุทธศาสตร์อเมริกันจะไม่ใช่เพียงตัวภาคพื้นทวีปและบริเวณของมหาสมุทรแปซิฟิกแบบเดิมอีกต่อไป แต่ขยายไปครอบคลุมถึงประเทศริมชายฝั่งและอาณาบริเวณของมหาสมุทรอินเดียอีกด้วย

ดังนั้น แม้ยุทธศาสตร์ “สองยุทธบริเวณ” จะถูกยกเลิกไป แต่สภาวะ “สองยุทธบริเวณ” กำลังปรากฏชัดขึ้นจากสงครามยูเครน วิกฤตช่องแคบไต้หวัน และปัญหาบนคาบสมุทรเกาหลี

สภาวะเช่นนี้จึงท้าทายต่อนักวางแผนทางทหารของอเมริกันในการออกแบบยุทธศาสตร์ทหารเป็นอย่างยิ่ง!