กดเครื่องคิดเลขรอ สำรวจนโยบายพรรคการเมือง ขั้วไหน? ใช้เงินเท่าไหร่ ถ้าเป็นรัฐบาล

ใกล้เข้าสู่ช่วงโค้งอันตรายของศึกเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 อันเป็นการต่อสู้ระหว่างขั้วรัฐบาลปัจจุบัน ที่มีพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ เป็นหัวหอก กับข้างฝ่ายค้านเดิมที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

ถือเป็น “จุดเปลี่ยนการเมือง” ครั้งสำคัญว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะได้ตั้งรัฐบาล หรือชนะแต่แพ้ได้เป็นฝ่ายค้าน เหมือนเมื่อ 4 ปีก่อน

และอาจเป็น “จุดเปลี่ยนชีวิต” ของคนการเมืองหลายคนว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ

และหนึ่งใจปัจจัยชี้ขาดชัยชนะสำคัญคือนโยบาย-แคมเปญ หาเสียงของแต่ละพรรค-แต่ละขั้ว ที่เกทับบลั๊ฟฟ์แหลก หวังจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52 ล้านคน

เมื่อหันมาสำรวจนโยบายของแต่ละขั้วการเมือง หากขั้วไหน-พรรคไหนจะเป็นรัฐบาล สำนักงบประมาณต้องกันเงินแผ่นดินเท่าไหร่ ที่ให้แต่ละขั้วไปใช้ทำนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน

หากวัดตามผลสำรวจคะแนนนิยมตามโพลต่างๆ พรรคเพื่อไทยยึดครองพื้นที่อันดับหนึ่งแทบทุกโพล เช่นเดียวกัน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทั้ง แพทองธาร ชินวัตร อยู่ในอันดับ 1 ก่อนจะถูกก้าวไกล – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไล่จี้มาติดๆ ขณะที่ “เศรษฐา ทวีสิน” เปิดตัวได้ไม่นาน ติดอยู่ในหัวตาราง แต่นำความนิยมแพทองธาร-เศรษฐา รวมกัน พรรคเพื่อไทยครองโอกาสการเป็นรัฐบาลมากที่สุด

พรรคเพื่อไทยแสดงจุดยืนทางการเมืองไว้หลายหนว่า หากได้จัดตั้งรัฐบาล จะจับมือกับพรรคพันธมิตรฝ่ายค้านเดิมก่อน อาทิ พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ

ขั้วรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป รวม 50 ล้านคน ใช้จ่ายใกล้บ้าน 4 กิโลเมตร ระยะเวลาการใช้ 6 เดือน ใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท

ขณะที่พันธมิตรเบอร์ 1 ขั้วเพื่อไทย ที่มีแนวโน้มได้ ส.ส.ในสภาแบบมีนัยยะสำคัญต่อการตั้งรัฐบาล คือ พรรคก้าวไกล ที่ชูนโยบาย “สวัสดิการก้าวหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย” ใช้งบประมาณปีละ 560,000 ล้านบาท อาทิ ให้ของขวัญแรกเกิดถึง 6 ขวบ คนละ 3,000 บาท ใช้งบประมาณ 2,100 ล้านบาท ให้เงินเลี้ยงดูเด็กเล็กคนละ 1,200 บาทต่อเดือน ใช้งบประมาณ 32,000 ล้านบาท

สำหรับค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท โดยรัฐเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีใน 6 เดือนแรก ใช้งบประมาณ 16,000 ล้านบาท ผู้สูงวัยได้เงินเดือนละ 3,000 บาท สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง ใช้งบฯ 420,000 ล้านบาท คนพิการได้เดือนละ 3,000 บาท ใช้งบฯ 72,000 ล้านบาท

ดังนั้น ในขั้วรัฐบาลเพื่อไทย หากจับมือหลังเลือกตั้ง ทั้งนโยบายเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย 560,000 ล้านบาท และนโยบายรัฐสวัสดิการของพรรคก้าวไกล ที่ตกปีละ 560,000 ล้านบาท รวมปีแรกในการเป็นรัฐบาล สำนักงบประมาณต้องเตรียมงบฯ ไว้ให้ 1,120,000 ล้านบาท

และถ้าอยู่ครบ 4 ปี งบประมาณโครงการของพรรคก้าวไกลจะใช้งบฯ รวม 2,240,000 ล้านบาท จะทำให้ขั้วรัฐบาลเพื่อไทย+ก้าวไกล ต้องเตรียมงบประมาณกว่า 2,800,000 ล้านบาท

ส่วนขั้วรัฐบาลปัจจุบัน ที่มีพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ เกาะกลุ่มกันอยู่ แต่ละพรรคการเมืองนำเสนอนโยบาย “ประชานิยม” ที่รวมๆ แล้วใช้เงินมากกว่า 1.19 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย

พรรคพลังประชารัฐ กำหนดวงเงินงบประมาณที่จะใช้หากได้เป็นรัฐบาลไว้ในกองทุนประชารัฐ วงเงิน 3 แสนล้านบาท ภายใต้นโยบาย 3 เร่งด่วน 7 เร่งรัด คือ บัตรประชารัฐ 700 บาทต่อเดือน ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนผ่านเกณฑ์ได้รับสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.6 ล้านคน ต้องเตรียมวงเงินไว้ 122,640 ล้านบาทต่อปี หากอยู่ครบวาระ 4 ปี ต้องใช้เงินงบประมาณทั้งหมด 490,560 ล้านบาท

เบี้ยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปรับ 3,000 บาทต่อเดือน อายุ 70 ปีขึ้นไปรับ 4,000 บาทต่อเดือน และอายุ 80 ปีขึ้นไปรับ 5,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันผู้สูงอายุมีประมาณ 12 ล้านคน หากไม่รับข้าราชการจะมีประมาณ 10 ล้านคน หากใช้ค่ากลางเป็นเกณฑ์ คือ อายุ 70 ปีขึ้นไปรับ 4,000 บาทต่อเดือน จะใช้เงิน 480,000 ล้านบาทต่อปี หรืออยู่ครบวาระ 4 ปี ต้องเตรียมเงินงบประมาณไว้ 1,920,000 ล้านบาท

นโยบายของพรรคพลังประชารัฐ เพียงแค่ 1 ปีแรกหากเป็นรัฐบาล เฉพาะนโยบายบัตรประชารัฐ กับเบี้ยผู้สูงอายุ ต้องใช้งบประมาณกว่า 602,640 ล้านบาท และถ้าครบ 4 ปี 2,410,560 ล้านบาท

พรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบายประกันรายได้-จ่ายส่วนต่างพืช 5 ชนิด ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด วงเงิน 1 แสนกว่าล้านบาทต่อปี หรือ 5 แสนล้านบาทต่อ 4 ปี พ่วงกับมาตรการคู่ขนานชาวนารับ 30,000 บาทต่อครัวเรือน (ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่) จำนวน 4.69 ล้านครัวเรือน วงเงิน 140,700 ล้านบาทต่อปี หรือ 562,800 ล้านบาทต่อ 4 ปี

ชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000 บาทต่อปี ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน จำนวน 3 หมื่นชมรม วงเงิน 10,800 ล้านบาทต่อปี หรือ 43,200 ล้านบาทต่อ 4 ปี ประมงท้องถิ่นรับกลุ่มละ 100,000 บาททุกปี จากทั้งหมด 2,800 กลุ่ม วงเงิน 280 ล้านบาทต่อปี หรือ 1,120 ล้านบาทต่อ 4 ปี นโยบาย 3 ล้านบาทต่อยอดเกษตรแปลงใหญ่ ปัจจุบันประมาณ 10,000 แปลง เกษตรกรเข้าร่วม 5 แสนราย พื้นที่ 8 ล้านไร่

ค่าตอบแทน อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) 1,000 บาทต่อเดือน 7.6 หมื่นรายทั่วประเทศ วงเงิน 912 ล้านบาทต่อปี หรือ 3,648 ล้านบาทต่อ 4 ปี

รวมค่าใช้จ่ายงบประมาณของพรรคประชาธิปัตย์ ปีแรก 252,692 ล้านบาท รวม 4 ปี จะต้องใช้งบฯ ราวๆ 1,110,000 ล้านบาท

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ มีนโยบายบัตรสวัสดิการพลัส เป็น 1,000 บาท/เดือน (คนลงทะเบียนผ่านเกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน) วงเงิน 175,200 ล้านบาทต่อปี หรือครบวาระ 4 ปี วงเงิน 700,800 ล้านบาท

ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากแบบขั้นบันไดเป็นให้เท่ากันทุกช่วงอายุ คนละ 1,000 บาทต่อเดือน รวมวงเงิน 120,000 ล้านบาทต่อปี (ผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคน) หรือครบวาระ 4 ปี วงเงิน 480,000 ล้านบาท

เพิ่มเงินสนับสนุนต้นทุนปลูกข้าว ไร่ละ 2,000 บาท ครอบครัวละ 5 ไร่ (ตัวเลขเดียวกับประชาธิปัตย์ 4.69 ล้านครัวเรือน) วงเงิน 46,900 ล้านบาทต่อปี หรือครบวาระ 4 ปี ต้องใช้เงิน 187,600 ล้านบาท

รวมนโยบายที่เป็นไฮไลต์ของพรรครวมไทยสร้างชาติในปีแรก 342,100 ล้านบาท ใช้งบฯ ตลอด 4 ปีทั้งสิ้น 1,368,400 ล้านบาท

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ที่ตั้งเป้าตัวเลข 80 ส.ส.ในสภา มีนโยบายพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท, โครงการแจกหลังคาโซลาร์เซลล์ 21 ล้านหลังคาเรือนทั่วประเทศ, โครงการมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าซึ่งให้ประชาชนซื้อในราคา 6,000 บาท ใช้วิธีการออก “พันธบัตรระดมทุน” ในชื่อพันธบัตร Thai Power หรือ พันธบัตรคนไทยรวมพลัง จำหน่ายให้กับประชาชนผู้มีเงินฝาก ดอกเบี้ยร้อยละ 2.5-3 แล้วนำเงินที่ได้จากการขายพันธบัตรมาดำเนินนโยบาย

รวมแล้ว ขั้วรัฐบาลเดิมถ้าได้กลับมาตั้งรัฐบาลจะใช้งบฯ รวมกัน 1,197,432 ล้านบาท ภายในปีแรกเท่านั้น

หากคิดรวมระยะเวลาที่สามารถอยู่ได้ครบ 4 ปี ก็จะหมายถึงเม็ดเงินงบประมาณมหาศาลมากยิ่งกว่าการฟอร์มรัฐบาลโดยอีกขั้วหนึ่งเสียอีก

สุดท้าย วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จะเป็นวันตัดสินว่า ท้ายที่สุด ขั้วไหนหรือขั้วผสมใหม่จะเข้ามาขับเคลื่อนนโยบาย พร้อมทั้งใช้งบประมาณมหาศาลเมื่อได้เป็นรัฐบาล