‘เชียงใหม่’ เปื้อนพิษที่สุดในโลก

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
Lillian Suwanrumpha/AFP

“โดมินิก ไซปินสกี้” เขียนบทความเรื่อง “เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษสูงที่สุดในโลกได้อย่างไร” เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ “อัล จาซีรา” ที่มีผู้อ่าน 300 ล้านคนใน 140 ประเทศทั่วโลก เป็น 1 ในบทความที่อ่านแล้วเจ็บจี๊ดๆ เพราะเป็นเรื่องจริงเถียงไม่ออก

“ไซปินสกี้” ยกเอาข้อมูลคุณภาพอากาศของไอคิวแอร์ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบคุณภาพอากาศชื่อดังของสวิส มาโชว์ให้เห็นว่า คุณภาพอากาศเชียงใหม่เลวร้ายยิ่งกว่าเมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน กรุงเตหะราน อิหร่าน และกรุงปักกิ่ง ของจีน

คุณภาพอากาศเชียงใหม่วันที่ 6 เมษายน ต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกเกือบ 15 เท่า

ผู้เขียนบอกว่าเมื่อสูดอากาศที่เชียงใหม่เข้าไปก็รู้ว่ามีกลิ่นควันเปื้อน เป็นกลิ่นควันที่มาจากการเผาไร่เผานา

ส่วนวิธีแก้ปัญหา ไซปินสกี้เหน็บว่าทางการเชียงใหม่ทำได้แค่เอาน้ำโปรยใส่เมืองและทำฝนเทียม หวังน้ำฝนจะชะล้างอากาศเป็นพิษให้หมด แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอ

ต้นตอปัญหาหลักอยู่ที่ฤดูแล้งมาถึงเมื่อไหร่ ชาวไร่พร้อมใจพากันจุดไฟเผาหญ้า ซังข้าว เพื่อเตรียมดินรอรับฤดูเพาะปลูกใหม่

ควันพิษจากการเผาพืชไร่ปนเปื้อนอากาศภาคเหนือมานานกว่า 20 ปีนี้ กลายเป็นปัญหาซ้ำซาก

มีภาพถ่ายทางอากาศเมืองเชียงใหม่ปกคลุมด้วยควันพิษหนาประกอบอยู่ในบทความชิ้นนี้ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม บทความของไซปินสกี้ยังไม่ดุดันเท่ากับ “มาร์ก ฟุตเตอร์” แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ “เซาธ์ ไชน่ามอร์นิ่ง โพสต์” ซึ่งมีคนจีนและชาวโลกอ่านเดือนละ 31 ล้านคน

“ฟุตเตอร์” เป็นนักเขียนในเว็บไซต์ชื่อดังของฮ่องกงมากว่า 24 ปีแล้ว ได้ตั้งหัวเรื่องในเชิงเสียดสีประเทศไทยว่า เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม แต่เป็นดินแดนที่ผู้คนหน้าตาบูดบึ้งซะมากกว่า

บูดบึ้งเพราะอากาศเปื้อนไปด้วยมลพิษ มีผู้ป่วยเพราะสูดอากาศพิษเข้าไปในอัตราสูงมาก ภาพลักษณ์ของประเทศไทยติดลบไม่ได้เป็นสวรรค์ของการท่องเที่ยว

คอลัมน์นิสต์ยังเหน็บว่า น่าจะใช้สโลแกน “ไปเที่ยวไทยเมืองเปื้อนพิษ”

บทความชิ้นนี้ หยิบข้อมูลของไอคิวแอร์ในการตรวจสอบคุณภาพอากาศเชียงใหม่ที่เลวร้ายมาประจานให้โลกรู้เช่นเดียวกัน

ที่น่าตกใจก็คือข้อเสนอแนะของ “ริชาร์ด แบร์โรว์” ชาวต่างประเทศที่พำนักในไทยซึ่งฟุตเตอร์หยิบมาเขียนใส่ในบทความ

“แบร์โรว์” บอกว่า คุณภาพอากาศภาคเหนือเลวร้ายต่อเนื่อง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จุดท่องเที่ยวยอดนิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวประเภทแบ๊กแพ็ก ค่ำไหนนอนนั่นตกอยู่ในสภาวะอันตรายเป็นพิเศษ

“ถึงเวลาแล้วที่สถานทูตต่างๆ ต้องออกคำเตือนนักท่องเที่ยวเป็นประจำทุกปี” แบร์โรว์เสนอ เพราะคนที่มาเที่ยวเมืองไทยจะมีของฝากเป็นที่ระลึกกลับบ้านด้วยอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

Dominik Sipinski/Al Jazeera

กลับมาที่สถานการณ์ฝุ่นควันพิษในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ เชียงราย ในปีนี้ผมคิดว่าถึงจุดวิกฤตสุดทั้งในเชิงของผลกระทบทางสุขภาพ การท่องเที่ยวและมิติทางสังคม

โดยเฉพาะชาวเมืองเชียงใหม่สุดทนถึงกับยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ชาวเชียงใหม่ในนามเครือข่ายประชาชนภาคเหนือยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯ ไม่ได้ใช้กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 มาตรา 9 ซึ่งระบุว่า เป็นอำนาจนายกฯ โดยตรงในการสั่งหน่วยงานแก้วิกฤตที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง

คำฟ้องได้นำข้อมูลการเพิ่มขึ้นของฝุ่นพิษเกินมาตรฐานเป็นระยะเวลาหลายเดือนมาประกอบและสถานการณ์คนป่วยเพราะฝุ่นพิษ

ส่วนการฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั้น เพราะเห็นว่าไม่ทำตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่รัฐบาลประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2562

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม 2564 คุณภูมิวชร เจริญผลิตผล ชาวอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ยื่นฟ้องร้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกรณีฝุ่นพิษเปื้อนภาคเหนือต่อศาลปกครองเชียงใหม่

ต่อมาศาลวินิจฉัยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ว่า ปัญหาฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 เกิดขึ้นในเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน มีแนวโน้มร้ายแรงเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนหรือก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

ศาลพิพากษาให้ กก.วล.กำหนดให้ทั้ง 4 จังหวัดเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อลดและขจัดมลพิษเพราะเห็นว่าเป็นวิธีการหนึ่งสำหรับใช้แก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในอนาคตเพื่อให้ กก.วล.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุ้มครอง บำรุงรักษาฟื้นฟูและบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากฝุ่นพิษ

นั่นเป็นคำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่เมื่อ 2 ปีก่อน

 

มาถึงวันนี้ปัญหาฝุ่นพิษไม่ได้บรรเทาเบาบาง ตรงกันข้ามกลับเพิ่มระดับความรุนแรงลุกลามกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวถึงขั้นมีเสียงเรียกร้องให้สถานทูตแต่ละประเทศออกคำเตือนการมาเที่ยวไทยในช่วงหน้าแล้ง

นั่นแสดงว่า 2 ปีที่ผ่านมา กก.วล.ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลคุณภาพมาตรฐานสิ่งแวดล้อมทำงานล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

กก.วล.ชุดปัจจุบันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ เป็นรองประธานคนที่ 1 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีรัฐมนตรีว่าการอีก 8 กระทรวง เป็นกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 8 คน

เมื่องานล้มเหลว ขอถามหาต่อมสำนึกความรับผิดชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชุดนี้มีหรือไม่?

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องถามหาความรับผิดชอบหรอกครับ เพราะเป็นนายกฯ ที่ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อความเสียหายของประเทศมานาน 8 ปีแล้ว •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]