“แดเนียล เช็ชต์แมน” ผู้อดทนต่อเสียงเย้ยหยัน…จนได้รับรางวัลโนเบล | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

ก่อน ค.ศ.1992 สหพันธ์ผลึกวิทยานานาชาติ (The International Union of Crystallography) ให้นิยามว่า “ผลึกคือสารที่องค์ประกอบซึ่งเป็นอะตอม โมเลกุล หรือไอออน จัดเรียงตัวกันซ้ำๆ กันในสามมิติอย่างมีระเบียบ”

ผลึกมี ‘หน่วยเซลล์’ เรียงต่อกันซ้ำๆ คล้ายๆ อิฐที่เรียงซ้อนกันเป็นกำแพง ที่น่าสนใจคือ ผลึกจะมีสมมาตรเชิงการหมุนพ่วงมาด้วย

สมมุติว่าเราต้องการปูพื้นด้วยกระเบื้อง รูปร่างของกระเบื้องที่ง่ายที่สุดคือสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งมีสมมาตรแบบ 4 ทบ เนื่องจากหากหมุนกระเบื้องไป 90 องศา ก็จะกลับมามีรูปร่างเดิม (90 องศา x 4 = 360 องศา)

กระเบื้องรูปเหลี่ยมอื่นๆ ที่ปูพื้นได้โดยไม่เหลือที่ว่าง ได้แก่ สามเหลี่ยมด้านเท่าและหกเหลี่ยมด้านเท่า ซึ่งมีสมมาตรแบบ 3 ทบ และ 6 ทบ ตามลำดับ สมมาตรแบบ 3, 4 และ 6 ทบ จึงเรียกว่า ‘สมมาตรที่เป็นไปได้’

แต่ถ้าใช้กระเบื้องรูปห้าเหลี่ยมด้านเท่าจะพบว่าปูพื้นไม่เต็ม เพราะจะเหลือที่ว่างระหว่างแผ่น สมมาตรแบบ 5 ทบ จึงเป็น ‘สมมาตรต้องห้าม’ สมมาตรอื่นๆ เช่น แบบ 7 ทบ แบบ 8 ทบ และมากกว่าก็เป็น ‘สมมาตรต้องห้าม’ เช่นกัน

แต่แล้ว…ความเชื่อเรื่องสมมาตรต้องห้ามนี้ก็ถูกท้าทาย!

แดเนียล เช็ชต์แมน
ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/แดน_เชชท์มัน

เช้าวันที่ 8 เมษายน ค.ศ.1982 แดเนียล เช็ชต์แมน (Daniel Shechtman) ชาวอิสราเอล ซึ่งทำงานวิจัยอยู่ที่ National Bureau of Standards หรือ NBS (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น National Institute of Standards and Technology หรือ NIST ใน ค.ศ.1988) ในรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ได้ใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบทรานสมิชชั่นวิเคราะห์ตัวอย่างชิ้นงานโลหะผสมระหว่างอะลูมินั่มและแมงกานีสที่เกิดจากการเย็นตัวอย่างรวดเร็ว เฟสของวัสดุที่เขาศึกษามีสูตรเคมีคือ Al6Mn

เช็ชต์แมนรู้สึกประหลาดใจ เพราะเขาเห็นรูปแบบการเลี้ยวเบนที่มีสมมาตรต้องห้าม คือ แบบ 10 ทบ!

เขาถึงกับอุทานออกมาเป็นภาษาฮีบรูว่า “Eyn chaya kazo” แปลว่า “ไอ้แบบนี้มันมีไม่ได้นี่” และจดลงไปในสมุดบันทึกการทดลองว่า “10 Fold ???” (อันที่จริงแล้วผลึกมีสมมาตรแบบ 5 ทบ แต่ปรากฏเป็นสองเท่าคือ 10 ทบ)

เขาตรวจสอบเพิ่มเติมโดยพยายามหาผลึกคู่แฝด (twinned crystal) ซึ่งทำให้เกิดรูปแบบการเลี้ยวเบนที่ผิดปกติได้ ผลึกคู่แฝดเป็นผลึก 2 ชิ้นที่เติบโตขึ้นพร้อมกัน แต่มีบางระนาบร่วมกันอยู่ (ลองนึกถึงฝาแฝดอย่างอิน-จันที่ตัวติดกัน) แต่ก็ไม่พบ

เช็ชต์แมนยังพบว่ามีแกนสมมาตรแบบ 5 ทบในแกนอื่น และมีสมมาตรแบบ 3 ทบ และแบบ 2 ทบ ในบางแกนของผลึกอีกด้วย สมมาตรทั้งหมดนี้แสดงว่าเฟส Al6Mn มีสมมาตรรูปทรงเหลี่ยม 20 หน้า (icosahedral symmetry)

เมื่อเช็ชต์แมนเล่าให้เพื่อนนักวิทยาศาสตร์ฟัง คนส่วนมากคิดว่านี่เป็นผลจากผลึกคู่แฝด ซึ่งเขาตรวจสอบจนมั่นใจแล้วว่าไม่ใช่ บางคนยังแสดงทีท่าเย้ยหยันอีกด้วย

ส่วนตัวหัวหน้าแล็บถึงกับนำตำราด้านผลึกวิทยามาให้ และแนะนำว่าเขาควรอ่านมันซะ และต่อมาได้เชิญ (ไล่) ให้เขาออกไปจากกลุ่มวิจัย เพราะการค้นพบที่ขัดแย้งกับตำราพื้นฐานเช่นนี้ได้สร้างความเสื่อมเสียให้แก่กลุ่มและองค์กรอย่างยิ่ง!

แดเนียล เช็ชต์แมน กำลังอธิบายควอไซคริสตัลให้เพื่อนร่วมงานฟังใน ค.ศ.1985
ที่มา : http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/0d/Dan_เช็ชต์แมน_in_1985.jpg

ในปีถัดมาเช็ชต์แมนชักชวนเพื่อนชื่อ ฮัน เบล็ช ให้มาสนใจการค้นพบพิสดารนี้ ทั้งคู่ช่วยกันตีความรูปแบบการเลี้ยวเบน และพยายามหาการจัดเรียงตัวของอะตอมในผลึก จากนั้นจึงเขียนบทความร่วมกันส่งไปที่ Journal of Applied Physics ในช่วงฤดูร้อน ค.ศ.1984

อนิจจา…บทความถูกตีกลับ เพราะบรรณาธิการปฏิเสธในทันที!

แดเนียลจึงขอร้องจอห์น ดับเบิลยู คาห์น แห่ง NBS ให้ช่วยดูข้อมูลของเขา คาห์นจึงขอให้นักผลึกวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ เดนิส กราเตียส ช่วยตรวจสอบงานของเช็ชต์แมน หลังจากตรวจสอบ กราเตียสบอกว่าผลการทดลองเชื่อถือได้

เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1984 ทั้ง 4 คน คือ เช็ชต์แมน, เบล็ช, กราเตียส และคาห์น ได้ร่วมกันตีพิมพ์บทความชื่อ “Metallic phase with long range orientational order and no translation symmetry” (เฟสของโลหะซึ่งมีความเป็นระเบียบระยะไกลในเชิงการเอียงตัวและไม่มีสมมาตรเชิงการเลื่อนตำแหน่ง) ในวารสาร Physical Review Letters

บทความนี้เปรียบเสมือนลูกระเบิดที่โยนลงไปท่ามกลางนักผลึกวิทยาทั้งปวง เพราะเป็นการตั้งคำถามกับ “ความจริงพื้นฐาน” ที่ยึดถือกันมานานในวงการผลึกวิทยาว่าผลึกทุกชนิดประกอบด้วยรูปแบบที่ซ้ำๆ กันเป็นคาบสม่ำเสมอ และไม่อาจมีสมมาตรต้องห้ามได้

 

ในอีกเส้นทางหนึ่งมีการคิดค้นเชิงทฤษฎีที่เริ่มต้นจากปัญหาในเชิงตรรกะ แต่ในที่สุดก็ไปบรรจบกับผลการทดลองของแดเนียล เช็ชต์แมน ได้อย่างลงตัว

ในช่วงทศวรรษที่ 1960 นักคณิตศาสตร์กลุ่มหนึ่งสนใจปัญหาการปูพื้นด้วยกระเบื้อง โดยรูปแบบที่ได้ต้องไม่เป็นคาบ คำถามก็คือ เป็นไปได้ไหมที่จะทำเช่นนั้นโดยใช้กระเบื้องที่แตกต่างกันซึ่งมีจำนวนจำกัดค่าหนึ่ง

ปัญหานี้มีนักคิดเข้ามาร่วมหาคำตอบหลายคน พบว่าตัวเลขคำตอบลดลงอย่างต่อเนื่อง จากคำตอบแรกในปี ค.ศ.1966 คือ 20,426 ชิ้น แล้วลดลงมาเหลือ 104 ชิ้น, 92 ชิ้น, 35 ชิ้น, 6 ชิ้น

จนสุดท้าย ใน ค.ศ.1974 โรเจอร์ เพนโรส นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ให้คำตอบเหลือเพียงแค่ 2 ชิ้น กระเบื้อง 2 ชิ้นนี้ เรียกว่า กระเบื้องเพนโรส (Penrose tiles)

ใน ค.ศ.1982 อะลัน ลินด์เซย์ แม็กเคย์ ได้ต่อยอดความคิดเกี่ยวกับการปูกระเบื้องแบบเพนโรสออกไปโดยสมมุติว่ามีอะตอมที่ตำแหน่งจุดตัด จากนั้นก็คำนวณรูปแบบการเลี้ยวเบนที่เกิดขึ้น แม็คเคย์พบว่ารูปแบบที่ได้มีสมมาตรแบบ 10 ทบ เขาจึงตีพิมพ์ในบทความชื่อ “Crystallography and the Penrose Pattern” ในวารสาร Physica A : Statistical Mechanics and it Applications

ผู้ที่เชื่อมโยงแบบจำลองของแม็กเคย์เข้ากับรูปแบบการเลี้ยวเบนของแดเนียล เช็ชต์แมน (ว่ามีสมมาตรเหมือนกัน) ก็คือ พอล สไตน์ฮาร์ต และโดฟ เลวีน ทั้งคู่ได้ตีพิมพ์บทความสำคัญชื่อ “Quasicrystals: a new class of ordered structures” (ควอไซคริสตัล : รูปแบบประเภทใหม่ของโครงสร้างที่มีระเบียบ) ในวารสาร Physical Review Letters

บทความนี้เองที่ให้กำเนิดชื่อ quasicrystal เป็นครั้งแรกในวงการวิทยาศาสตร์!

 

ควอไซคริสตัล (quasicrystal) เป็นของแข็งที่มีรูปแบบการเลี้ยวเบนที่มีพีคหรือจุดเลี้ยวเบนอย่างเด่นชัด แต่รูปแบบการเลี้ยวเบนกลับมีสมมาตรต้องห้ามตามความเชื่อแบบดั้งเดิมในวิชาผลึกวิทยา

แต่การที่ควอไซคริสตัลมีพีกหรือจุดเลี้ยวเบนที่คมชัด แสดงว่าของแข็งชนิดนี้มีการจัดเรียงตัวของอะตอมแบบมีระเบียบในระยะไกล ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติสำหรับผลึกทั้งหมดที่รู้จักกันมานาน

วงการวิชาการด้านผลึกวิทยาจึงตื่นตัวอย่างมาก เกิดการถกเถียง อภิปราย รวมทั้งการทำการทดลองโดยนักวิจัยหลายกลุ่ม ผลก็คือ มีการค้นพบควอไซคริสตัลในวัสดุอีกหลายระบบ และพบสมมาตรแบบอื่นๆ อีกหลายแบบ

ใน ค.ศ.1992 สหพันธ์ผลึกวิทยาสากลได้ให้นิยามใหม่สำหรับผลึกว่าเป็น “ของแข็งที่ตำแหน่งของอะตอมในของแข็งนั้นแสดงรูปแบบการเลี้ยวเบนที่แยกชัด”

นิยามใหม่ของผลึกครอบคลุมผลึกในแบบดั้งเดิม ควอไซคริสตัล โครงสร้างแบบ IMS (Incommensurately Modulated Structure) รวมทั้งโครงสร้างสสารรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความเป็นระเบียบในระยะไกลซึ่งอาจค้นพบในอนาคตอีกด้วย

 

น่ารู้ด้วยว่ามีนักวิทยาศาสตร์บางคนไม่เชื่อเรื่องควอไซคริสตัล กรณีที่โด่งดังที่สุดคือ ไลนัส พอลิง ผู้ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง

พอลิงถึงกล่าวในเชิงเสียดสีว่า “There are no such things as quasicrystals, there are only quasi-scientists.” แปลว่า “ไม่มีหรอกสิ่งที่เรียกว่าควอไซคริสตัล มีแต่คนที่เกือบๆ จะเหมือนนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น” (คำว่า quasi แปลว่า เกือบๆ เหมือน)

น่าคิดไม่น้อยว่าแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลก็ยังติดกับดักความเชื่อที่ยึดถือกันมานานได้เช่นกัน!

มีการนำควอไซคริสตัลไปใช้งานในเชิงพาณิชย์แล้ว เช่น โลหะ Sanvik NanoflexTM เป็นเหล็กกล้าไร้สนิมชนิดหนึ่ง มีสมบัติเด่น ได้แก่ ความแข็งแรงสูง ความเหนียวดี ทนทานต่อการกัดกร่อนดี ความสามารถในการเชื่อมดี และยังคงความแข็งแรงแม้จะมีอุณหภูมิสูงถึง 450 องศาเซลเซียส โลหะชนิดนี้ใช้ผลิตเครื่องมือผ่าตัดในทางการแพทย์ เช่น เข็มเย็บสำหรับการผ่าตัดตาและหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

 

แดเนียล เช็ชต์แมน จึงได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ในปี ค.ศ.2011 “สำหรับการค้นพบควอไซคริสตัล”

ความสำเร็จของเขาไม่ใช่เพียงแค่การค้นพบควอไซคริสตัลเท่านั้น แต่เป็นเพราะว่าเขาเชื่อมั่นในผลการทดลองของตน และได้พยายามอย่างยิ่งยวดในการทำให้ผู้อื่นเข้าใจ แม้จะต้องพบกับการต่อต้านและคำสบประมาทมากมายนั่นเอง!