สงกรานต์คนไทยแห่ ‘เที่ยวนอก’ ญี่ปุ่น-ฮ่องกง-ยุโรป ฮอต! ทัวร์เต็ม ‘แอร์ไลน์’ แห่อัพค่าตั๋วตุนกำไร

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

สงกรานต์คนไทยแห่ ‘เที่ยวนอก’

ญี่ปุ่น-ฮ่องกง-ยุโรป ฮอต! ทัวร์เต็ม

‘แอร์ไลน์’ แห่อัพค่าตั๋วตุนกำไร

 

ข้อมูลจากกองกลยุทธ์การตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 ภาพรวมบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศคึกคักมาก โดยคาดว่าจะสร้างรายได้คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 18,530 ล้านบาท

แบ่งเป็นตลาดในประเทศ ประมาณ 13,500 ล้านบาท จากจำนวนชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 3.8 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้หมุนเวียน 13,500 ล้านบาท และตลาดต่างประเทศ ประมาณ 5,030 ล้านบาท

ขณะเดียวกันภาพรวมการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของคนไทยในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ก็กลับมาคึกคักไม่แพ้กัน

โดย 3 เดสติเนชั่นยอดนิยมของคนไทยยังคงเป็น ญี่ปุ่น ฮ่องกง และยุโรป

 

“ธนพล ชีวรัตนพร” อุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) และเจ้าของบริษัท แตงโมทัวร์ จำกัด ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมของตลาดเอาต์บาวด์ หรือคนไทยเที่ยวต่างประเทศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ดีมาก โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ฮ่องกง ที่มีการจองแพ็กเกจทัวร์เข้ามาเต็มตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ส่วนเส้นทางยุโรปและเวียดนามแม้จะไม่หวือหวา แต่ยังได้รับการตอบรับดีต่อเนื่องเช่นกัน รวมถึงจีนที่มีกระแสดีเกินคาดหลังจากที่รัฐบาลจีนเปิดให้คนไทยยื่นขอวีซ่าได้ ปัจจุบันมีคนไทยยื่นขอวีซ่าจีนเป็นจำนวนมาก

สอดรับกับ “เด่น มหาวงศ์นันท์” กรรมการผู้จัดการ อินสปิริตฮอลิเดย์ ผู้ประกอบการนำเที่ยวทั้งตลาดเอาต์บาวด์ อินบาวด์ และโดเมสติก ที่บอกว่า แพ็กเกจเที่ยวต่างประเทศในช่วงสงกรานต์ปีนี้ขายดี บัตรโดยสารสายการบินมีไม่พอขาย โดยแพ็กเกจทัวร์ญี่ปุ่นเป็นตลาดที่ได้รับการตอบรับดีที่สุด ขายหมดเกลี้ยงตั้งแต่ต้นมีนาคมที่ผ่านมา

และไม่เพียงแค่ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น ปัจจุบันยังขายหมดยาวไปถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566 และคาดว่าจะยังคงเป็นตลาดที่ได้รับการตอบรับดีต่อเนื่องตลอดทั้งปี

เนื่องจากญี่ปุ่นได้ประกาศจะยุติมาตรการควบคุมการข้ามพรมแดนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป

 

ขณะเดียวกันในส่วนของราคาแพ็กเกจทัวร์ก็ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่อง ทั้งตลาดญี่ปุ่น ฮ่องกง และยุโรป ยกตัวอย่างเช่น แพ็กเกจเที่ยวญี่ปุ่น (โตเกียว ฮอกไกโด) พัก 4-5 วัน เฉลี่ยยังขายที่ระดับ 40,000-50,000 บาท เนื่องจากราคาบัตรโดยสารสายการบินยังคงสูงมาก ส่วนคนที่มีกำลังซื้อสูงกว่านี้ส่วนใหญ่จะเลือกเดินทางไปเที่ยวยุโรป โดยเส้นทางอิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส

พร้อมบอกด้วยว่า แม้ราคาบัตรโดยสารสายการบินสูงแต่ก็ขายหมดเกลี้ยงแทบทุกเส้นทาง ซึ่งอาจเป็นเรื่องของเทศกาล แต่เชื่อว่าความมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ยังพบว่าพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยหลังโควิดเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน จากที่เคยนิยมเดินทางกันเป็นกรุ๊ปใหญ่ 30-40 คน เปลี่ยนเป็นเดินทางกรุ๊ปขนาดเล็กในกลุ่มครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน และนิยมออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยวเอง

โดยมีบริษัทนำเที่ยวทำหน้าที่เป็นคนช่วยจัดเส้นทาง จองโรงแรม และจองตั๋วโดยสารสายการบินให้ และมีโลคัลไกด์รอรับปลายทาง ไม่ต้องมีหัวหน้าทัวร์พาเดินทางจากกรุงเทพฯ

“บูรณี วีระภุชงค์” กรรมการผู้จัดการ ยูนิไทย แทรเวล ย้ำว่า โดยรวมถือแล้วถือว่าราคาแพ็กเกจทัวร์ในขณะนี้ยังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น ฮ่องกง ซึ่งปัจจัยหลักมาจากจำนวนที่นั่งสายการบินที่ยังกลับมาได้ไม่มากนัก บวกกับราคาน้ำมันโลกที่ยังอยู่ในระดับที่สูงเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม บางตลาดก็เริ่มปรับราคาลงแล้ว เช่น เวียดนาม ปัจจุบันราคาแพ็กเกจทัวร์อยู่ในระดับ 1 หมื่นบาทต้นๆ เนื่องจากเป็นตลาดที่สายการบินกลับมาให้บริการเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ขณะที่สภาพอากาศเวียดนามโดยรวมเริ่มร้อนขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักดีมานด์ซัพพลายของตลาด

หรือตลาดญี่ปุ่นในบางเมือง บางเส้นทาง ราคาก็เริ่มปรับลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 30,000 บาท จากเดิมที่ก่อนหน้านี้จะไม่มีแพ็กเกจทัวร์ตลาดญี่ปุ่นราคาต่ำกว่า 30,000 บาทออกมาจำหน่าย

ทั้งนี้ ประเมินคร่าวๆ ว่าภาพรวมการเดินทางในช่างวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปีนี้น่าจะกลับมาประมาณ 70-80% เมื่อเทียบกับปีก่อนวิกฤตโควิด

 

ส่วนตลาดที่ซบหนักและน่าเป็นห่วงมากที่สุดสำหรับปีนี้คือ เกาหลี ซึ่งเป็นตลาดที่แพ็กเกจทัวร์ขายไม่ออก และเริ่มเกิดปรากฏการณ์ถล่มราคา หรือลดราคาในรูปแบบที่เรียกว่า “ทัวร์ไฟไหม้” ออกมาขายแล้วเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคนไทยที่จะเดินทางไปเที่ยวเกาหลียังต้องลงทะเบียนในระบบ K-ETA ก่อนออกเดินทาง

โดยประเด็นปัญหาคือ ระบบ K-ETA ที่เข้มงวดของเกาหลีทำให้คนไทยที่ได้รับการอนุมัติให้เข้าประเทศเกาหลีได้มีสัดส่วนที่ต่ำมาก

บางกรุ๊ปมีลูกค้า 10-20 คน ลงทะเบียนในระบบ K-ETA ผ่านไม่ถึง 50% ทำให้ต้องยกเลิกการเดินทางทั้งกรุ๊ป

ทั้งนี้ ประเมินว่าเป็นเพราะกระแสคนไทย (ผีน้อย) ที่ลักลอบเข้าไปทำงานและไปสร้างปัญหา ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นอยู่ บางกรุ๊ปเดินทางไป 20 คนเหลือคนที่ไปเที่ยวจริงๆ 4-5 คนเท่านั้น

“ตอนนี้รัฐบาลเกาหลียังคงขึ้นแบล็กลิสต์คนไทย ขณะที่อนุญาตให้คนญี่ปุ่นและจากอีกหลายประเทศเข้าเกาหลีได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนในระบบ K-ETA แล้ว”

 

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) รายหนึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเติบโตอย่างชัดเจนของทั้งตลาดอินบาวด์ (นักท่องเที่ยวขาเข้า) และตลาดเอาต์บาวด์ (นักท่องเที่ยวขาออก) หรือตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศ ทำให้สายการบินที่ให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศทุกรายปรับขึ้นราคาตั๋วโดยสาร

ที่สำคัญ เริ่มรู้สึกว่าจำนวนที่นั่งที่มีจำกัดในตลาดนั้นทำให้สายการบินสามารถปรับขึ้นราคาและทำกำไรได้ดีขึ้น จึงยังไม่จำเป็นต้องเร่งเพิ่มเครื่องบินเพื่อให้มีที่นั่งมากขึ้น แล้วมาแข่งขันกันทำราคาถูก ซึ่งอาจไม่คุ้มกับการลงทุนเพิ่ม

ก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยช่วงวันหยุดยาว 5 วันของเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน 2566 ส่วนใหญ่ยังนิยมเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ สัดส่วนการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมีเพียงแค่ประมาณ 11-12% ของจำนวนคนที่ออกเดินทางเท่านั้น

ทั้งนี้ คาดว่ามาจากต้นทุนการเดินทางต่างประเทศที่สูงเมื่อเทียบกับในช่วงก่อนการระบาดโควิด และเส้นทางการบินที่มีค่อนข้างจำกัด

ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายหนึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า จากปัจจัยเรื่องเรื่องต้นทุนการเดินทางท่องเที่ยวที่สูง และจำนวนที่นั่งสายการบินที่ยังมีจำกัด ทำให้คาดว่าจำนวนคนไทยเที่ยวต่างประเทศตลอดทั้งปีนี้น่าจะอยู่ในระดับประมาณ 7-8 ล้านคน จากปี 2562 ที่มีประมาณ 10.5 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะเป็นฤดูกาลการเที่ยวต่างประเทศของคนไทย เนื่องจากมีวันหยุดยาวหลายวัน และด้วยสภาพอากาศเมืองไทยที่ร้อนมากทำให้คนไทยนิยมไปเที่ยวในเดสติเนชั่นที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น ญี่ปุ่น และยุโรป

โดยประเมินคร่าวๆ ว่า จะมีคนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ที่ราว 2 แสนคน ต่ำกว่าปีปกติก่อนโควิดที่มีจำนวนประมาณ 2.8 แสนคน