ระบอบประยุทธ์! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ผลของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 จะเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 นั้น เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหาร 2557 จึงแทบไม่ต้องคาดเดาเลยว่า คณะรัฐประหารจะแพ้การเลือกตั้ง เพราะเป็นที่รับรู้กันดีว่า การเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหารนั้น ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของระบอบทหาร

ในครั้งนั้น คณะรัฐประหาร 2557 ดำเนินการทุกอย่าง โดยเฉพาะการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อรองรับการกลับสู่อำนาจด้วยการแปลงรัฐบาลทหารให้เป็น “รัฐบาลเลือกตั้ง” สังคมไทยจึงเห็นวิธีการต่างๆ ที่ไม่ว่าจะฝืนกฎกติกาอย่างไร … ไม่ว่าจะฝืนความรู้สึกของสังคมอย่างไร แต่พวกเขาต้องทำเพื่อพาผู้นำรัฐประหารกลับสู่การมีอำนาจด้วยการจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง อันทำให้หลังเลือกตั้ง ได้เกิดสภาวะของการเป็น “รัฐบาลพันทาง” หรือที่เรียกในทางทฤษฎีว่า “ระบอบไฮบริด” โดยอาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจ หรืออาจเรียกสิ่งที่เกิดในการเมืองไทย 2562 ว่าเป็นการกำเนิดของ “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง”

การจัดตั้ง “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” คือ การ “สร้างภาพ” ของกลุ่มผู้นำรัฐประหารภายใต้แรงกดดัน โดยยอมใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรม แต่ก็เป็นการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำรัฐประหาร และจะทำให้พวกเขามีอำนาจต่อไป การเลือกตั้ง 2562 จึงไม่ใช่ “การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม” อย่างที่คาดหวัง แต่เป็นการทำให้ “โครงสร้างอำนาจเก่า” ดำรงอยู่ได้ด้วยการ “สืบทอดอำนาจ” ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ 6 ประการหลัก คือ

1) การดำรงบทบาททหารไว้ในการเมือง เพื่อเป็นฐานค้ำจุนอำนาจของผู้นำรัฐประหารที่เปลี่ยนตัวเองมาเป็นนักการเมือง และเปลี่ยนจากระบอบทหารไปสู่ระบอบพันทาง

2) การดำรงทิศทางของการพัฒนาประเทศให้เป็นไปตามที่ผู้นำรัฐประหารต้องการ ด้วยการออกข้อกำหนดที่เรียกกันว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

3) การดำรงอำนาจของผู้นำรัฐประหารด้วยการสร้างและออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเมืองของประเทศไทย เช่น อำนาจของวุฒิสภา

4) การดำรงการควบคุมทางการเมืองผ่าน “องค์กรอิสระ” ตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการที่คณะรัฐประหารเป็นผู้คัดเลือกผู้ที่มีบทบาทในองค์กรเหล่านี้ จนเกิดคำถามถึงความเป็นอิสระขององค์กร

5) การขยายบทบาทของทหารในสังคม ผ่านการออกกฎหมาย กอ. รมน. เพื่อให้คณะรัฐประหารที่แปลงร่างเป็นรัฐบาลนั้น ยังมีกลไกในการจัดการกับปัญหาแรงต้านทางการเมืองในสังคม

6) การสร้างความอ่อนแอด้วยวิธีการต่างๆ ให้เกิดแก่ระบบรัฐสภา และระบอบพรรคการเมือง

ดังนั้น ผลพวงจาการจัดตั้ง “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” ที่ผนวกเข้ากับระยะเวลาของการอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานตั้งแต่รัฐประหารพฤษภาคม 2557 จนถึงการเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 ในปัจจุบัน ได้กลายเป็นการสร้างฐานอำนาจทางการเมืองของสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประยุทธ์” (The Prayuth Regime) อย่างชัดเจน

ดังจะเห็นได้ว่า จากปี 2557 จนถึงปี 2566 ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งบุคลากรในองค์กรอิสระ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ ตุลาการ และพลเรือน อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีคนเดียว อีกทั้ง เกิดการสร้างวัฒนธรรมการเมืองไทยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะต้องเรียกว่า “วัฒนธรรมการเมืองแบบประยุทธ์” ที่ไม่สนใจกระบวนการเมืองแบบรัฐสภา ไม่ให้ความสนใจกับการพัฒนาประชาธิปไตย พร้อมกับการสร้างความอ่อนแอให้เกิดแก่ระบบรัฐสภาและพรรคการเมือง อีกทั้ง อยู่ในอำนาจโดยปราศจาก “ความรับผิดชอบทางการเมือง” (political accountability) เพราะไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น นายกรัฐมนตรีจะอยู่เหนือความผิดเหล่านั้นทั้งปวง หรือเกิดสภาวะ “นายกรัฐมนตรีที่โค่นไม่ได้” จนเป็นเสมือน “นายกรัฐมนตรีตลอดกาล” ภายใต้ระบอบที่ผู้นำรัฐประหารใช้อำนาจทางการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ 2560

ระบอบนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานของ “ระบอบอำนาจนิยมไทยยุคปัจจุบัน” ที่อำนาจไม่ได้ถูกสร้างผ่าน “อำนาจทหาร” เท่านั้น หากแต่ยังถูกสร้างผ่าน “อำนาจตุลาการ” ที่อยู่ในรูปแบบขององค์กรอิสระ และอำนาจเช่นนี้ยังได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจาก “อำนาจทุนใหญ่” ที่ทำหน้าที่เป็น “เสาค้ำ” อย่างแข็งแรงให้แก่ระบอบประยุทธ์ หรือเป็นการประสาน 3 พลังใหญ่ของฝ่ายสนับสนุนระบอบประยุทธ์

หากเป็นเช่นนี้แล้ว ถ้าการเลือกตั้ง 2566 เกิดขึ้น และหากพรรคการเมืองฝ่าย “อำนาจเก่า” ซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนระบอบประยุทธ์ชนะ การจัดวางอนาคตของประเทศอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่ต้องมีข้อขบคิดมากมาย เพราะประเทศจะไม่ไปเกินกว่าสิ่งที่ระบอบเก่าได้กำหนดไว้แต่เดิม เนื่องจากสังคมไทยไม่เคยเห็นข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนทิศทางการเมืองของระบอบประยุทธ์จากฝ่ายนี้แต่อย่างใด

แต่ถ้าพรรคการเมืองในฝ่ายค้านชัยชนะในการเลือกตั้ง 2566 ได้จริง ก็จะเป็นความท้าทายอย่างมากว่า พวกเขาจะเปลี่ยน “มรดกระบอบประยุทธ์” ได้หรือไม่ ถ้าพวกเขาตัดสินใจทำแล้ว “ระบอบรัฐราชการ” ซึ่งเป็นการรวมกลไกทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ พลเรือน และตุลาการ ภายใต้อำนาจของรัฐบาลประยุทธ์ จะทำตัวเป็น “ต้นไม้ใหญ่ล้มขวางถนน” ขัดขวางการ “ปฏิรูประบอบเก่า” ที่อยู่ภายใต้อำนาจและวัฒนธรรมทางการเมืองของระบอบประยุทธ์ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาอย่างไรหรือไม่ เพราะระบอบนี้เป็นฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐมายาวนาน

ฉะนั้น การเลือกตั้ง 2566 จึงท้าทายอย่างมาก … ผู้ชนะจะมาจากฝ่าย “เปลี่ยนสถานะเดิม” หรือจะมาจากฝ่าย “ดำรงสถานะเดิม” ถ้าฝ่ายผู้เปลี่ยนชนะแล้ว พวกเขาจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนั้นได้เพียงใด เพราะการยุติระบอบประยุทธ์มิใช่การสิ้นอำนาจของพลเอกประยุทธ์เท่านั้น หากแต่ต้องเปลี่ยนสิ่งที่เป็นมรดกจากตัวระบอบนี้ด้วย!