99 ศพ 10 เม.ย.กับการเลือกตั้ง 14 พ.ค.

วงค์ ตาวัน
(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

ย่างเข้าเดือนเมษายน นอกจากเป็นสัญญาณว่า การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม เหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่สัปดาห์ จะได้รู้กันแล้วว่า ประชาชนคนมีสิทธิมีเสียง จะตัดสินอนาคตของประเทศ ด้วยการเลือกใครพรรคไหน ให้เข้ามาบริหารประเทศ มาแก้ปัญหาปากท้องความเป็นอยู่ อันเป็นเรื่องใหญ่หนักหนาของชาวบ้านในช่วงหลายปีมานี้

ไม่เท่านั้น เดือนเมษายน ยังเป็นเดือนที่มีการรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารหมู่กลางเมืองเมื่อปี 2553 ซึ่งความรุนแรงของการปราบม็อบเสื้อแดง เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 ก่อนไปจบลงในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

ลงเอยตายไป 99 ศพ

ความที่เป็นเหตุการณ์ซึ่งมีสื่อบันทึกภาพถ่าย วิดีโอ เป็นหลักฐานเอาไว้มากมาย เห็นตัวตนคนลงมือยิงในหลายๆ จุด แต่งชุดทหารเต็มอัตราศึก

จึงเป็นเหตุการณ์ที่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลขณะนั้น และใน ศอฉ. ยากจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้

แถมยังมีผลการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ที่ศาลได้ชี้ผลไปแล้ว 17 ศพว่า ถูกยิงจากปืนของทหาร ตามคำสั่งของ ศอฉ.

ขนาดนี้แล้ว แต่คดีความเดินหน้าไม่ได้ เสียงทวงถามความยุติธรรมจากญาติมิตรคนตายและขบวนการเสื้อแดง จึงดังกระหึ่มขึ้นทุกปี

แม้จะผ่านมาแล้ว 13 ปี แต่ไม่มีปีไหนที่ไม่มีการรำลึกถึงและทวงถามความยุติธรรม

ขณะเดียวกันในปีนี้ กำลังจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ มีกระแสความขัดแย้งของแกนนำเสื้อแดงบางส่วนกับพรรคเพื่อไทย ทั้งจากการจัดทีมผู้ลงรับสมัคร ส.ส. ซึ่งแกนนำเสื้อแดงหลายรายชื่อหลุดไป ทำให้เกิดความไม่พอใจ และเป็นที่สงสัยว่า จะทำให้ฐานมวลชนเสื้อแดงในบางพื้นที่เริ่มไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่เคยแนบแน่นกันมาตลอดหรือไม่

แถมแกนนำเสื้อแดงบางราย ยังออกมาโจมตีพรรคเพื่อไทยอย่างหนัก ว่าต่อสู้เฉียดความตาย ผ่านคุกผ่านตะรางมาแล้ว กลับถูกเพื่อไทยทอดทิ้ง ไม่ดูดำดูแดง

ประกาศสิ้นสุดการสนับสนุนพรรคการเมืองนี้และตระกูลชินวัตรแล้วอย่างเด็ดขาด แถมหันไปเข้าร่วมพรรครวมไทยสร้างชาติ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกสมัย ไปโน่นเลย!!

แต่กระนั้นก็ตาม แกนนำเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย ยังคงเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนการเอาชนะเลือกตั้งให้เพื่อไทย เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

แกนนำเสื้อแดงอีกส่วน ยังคงเคลื่อนไหวในนามญาติวีรชน 99 ศพ เพื่อตามจี้คดี ตามจี้ความยุติธรรม ซึ่งหากใครยังต่อสู้เพื่อคนตาย 99 ราย ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะย้ายค่ายไปหนุน พล.อ.ประยุทธ์

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหนึ่งในผู้นำกองทัพในช่วงเกิดเหตุปราบเสื้อแดงปี 2553 แถมการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำการยึดอำนาจล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นการผสมผสานร่วมกับม็อบ กปปส. ที่แกนนำก็คือ ผู้นำรัฐบาลในเหตุการณ์ 99 ศพเช่นเดียวกัน

จนวิเคราะห์ได้ไม่ยากว่า ปฏิบัติการล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อ 9 ปีที่แล้วนั้น มีวาระคดี 99 ศพ ซ่อนเร้นอยู่ด้วยอย่างแน่นอน

เช่นนี้แล้ว น่าจะกล่าวได้ว่า ถ้ายังเป็นแกนนำเสื้อแดงที่ไม่เลิกล้มการทวงยุติธรรมให้กับ 99 ศพ จะไม่มีทางกลับหลังหันไปสนับสนับสนุนรวมไทยสร้างชาติและประกาศตัดขาดกับเพื่อไทยกระมัง

 

การเลือกตั้งในเดือนหน้า มองในด้านความสัมพันธ์ของขบวนการเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย เป็นประเด็นที่วิเคราะห์วิจารณ์กันไม่น้อย ด้วยมีภาพความไม่พอใจของเสื้อแดงที่ไม่ติดโผผู้สมัครเลือกตั้งของเพื่อไทย ต้องย้ายไปพรรคอื่น ไปจนถึงเสื้อแดงคนดังๆ ที่ประกาศทิ้งเพื่อไทย หันไปหา พล.อ.ประยุทธ์

เท่ากับว่า มีเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง เลิกเป็นฐานสนับสนุนเพื่อไทยแล้วแน่ๆ แต่มีปริมาณมากน้อยแค่ไหน ต้องมองอย่างลงลึกต่อไป

แต่ถ้าจะมองขบวนการเสื้อแดงตัวจริง ต้องมองไปที่กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อทวงยุติธรรม 99 ศพ

ล่าสุดตั้งกลุ่มคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53) นำโดย ธิดา ถาวรเศรษฐ เลขาธิการกรรมการ คปช.53 นพ.เหวง โตจิราการ, ทนายโชคชัย อ่างแก้ว, ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี พร้อมทั้งตัวแทนญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553

มองในแง่ความเคลื่อนไหวของคณะ คปช.53 จะพบว่า มีการติดตามคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยเน้นไปยังการทำสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ซึ่งเดิมที พนักงานสอบสวนของดีเอสไอ ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐาน นำขึ้นไต่สวนในชั้นศาล โดยทยอยส่งไปแล้วจำนวนหนึ่ง จนกระทั่งศาลได้ชี้ผลไต่สวนไปแล้ว 17 ราย ว่าตายด้วยปืนของเจ้าหน้าที่ทหาร หรือปืนที่ยิงมาจากฝั่งทหาร

จึงมีการทวงถามอีกหลายสิบศพว่า เหตุใดสำนวนไต่สวนจึงเงียบหายไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงียบหายไปนับแต่การรัฐประหารของ คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นการยึดอำนาจที่ปูทางโดยม็อบ นำโดยผู้นำรัฐบาลในเหตุการณ์ 99 ศพ

ความเคลื่อนไหวของแกนนำเสื้อแดง ในนามคณะ คปช.53 ดังกล่าว จึงพุ่งเป้าไปที่สำนวนคดีที่เงียบหาย เป็นคำถามถึงการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์

เช่นนี้แล้ว แกนนำเสื้อแดงที่ยังคงไม่ลืมเลือนเพื่อนมิตรที่เสียชีวิต จะปรับเปลี่ยนพรรคการเมืองที่สนับสนุน โดยหันไปซบ พล.อ.ประยุทธ์ได้อย่างไร

จึงอาจจะกล่าวได้ว่า มีเสื้อแดงที่แตกกับเพื่อไทยจริง

แต่ภาพรวมของเสื้อแดง และบรรยากาศในเดือนเมษายนที่เข้าสู่ช่วงรำลึก 99 ศพ

ย่อมเห็นได้ว่า ขบวนการเสื้อแดงโดยรวม คงจะไม่ถึงขั้นเลิกหนุนเพื่อไทย แล้วไปหนุนพรรคฝ่ายประยุทธ์อย่างแน่นอน

 

เหตุการณ์ 99 ศพ ปี 2553 เกิดในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรรณ โดยผู้นำกองทัพในขณะนั้นคือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นตัวละครกลุ่มเดียวกันทั้งหมด ในเหตุการณ์อีก 4 ปีถัดมา

นั่นคือ การขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ของม็อบ กปปส.และไม่เอาเลือกตั้ง ขัดขวางเลือกตั้ง ทำให้บ้านเมืองเข้าทางตัน เปิดทางให้กองทัพยึดอำนาจ

แต่ในปี 2554 หรือ 1 ปี หลังเหตุการณ์ปราบม็อบเสื้อแดง 99 ศพนั้น เป็นปีที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ได้เป็นนายกฯ เป็นรัฐบาล ทำให้การสืบสวนสอบสวนคดี 99 ศพ โดยดีเอสไอ เดินหน้าไปได้

ทั้งความที่เป็นเหตุการณ์ปราบม็อบโดยใช้กระสุนจริง ใช้หน่วยสไนเปอร์ซุ่มยิง โดยปรากฏหลักฐานมากมาย ทั้งเอกสารคำสั่ง ไปจนถึงภาพถ่ายและวิดีโอ

คดี 99 ศพ จึงคืบหน้าในชั้นการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ นำมาสู่คำสั่งศาลที่ชี้แล้ว 17 ศพ ว่าตายด้วยปืนทหาร

จากผลการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ จึงนำไปสู่การฟ้องศาลเป็นคดีอาญา

แต่ต่อมาทุกอย่างชะงักงันไปทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหาร ปี 2557

มองแบบนี้ ไม่ต้องอธิบายอะไรอีกแล้วว่า ชาวเสื้อแดงที่ยังจดจำเหตุการณ์ตั้งแต่คืน 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม 2553 และยังทวงถามความเป็นธรรมให้คนถูกยิงตายกลางเมือง

จะหวังพึ่งความยุติธรรมจากรัฐบาลชุดไหน!

การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้ อาจจะมีเสื้อแดงแตกออกจากพรรคเพื่อไทย เลิกหนุนเพื่อไทย

แต่เสื้อแดงที่หวังความยุติธรรม 99 ศพ ย่อมหวังให้เพื่อไทยได้มาเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายประชาธิปไตยได้เป็นรัฐบาล เพื่อให้ความยุติธรรมเปิดกว้าง อย่างแน่นอน

เมื่อเข้าสู่เดือนเมษายนแบบนี้ ในบรรยากาศรำลึก 99 ศพแบบนี้

อีก 1 เดือนข้างหน้า ฐานมวลชนเสื้อแดง ที่แผ่กว้างในภาคอีสานและภาคเหนือ จะเดินเข้าคูหาเลือกพรรคไหน สนับสนุนพรรคไหน น่าจะวิเคราะห์ได้ไม่ยาก!