ศิลปะกับการเมืองในโลกดิจิทัล มองผ่าน The Ideoscape of Violence ของวิทวัส ทองเขียว

บทความพิเศษ | คงกฤช ไตรยวงค์

ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ศิลปะกับการเมืองในโลกดิจิทัล

มองผ่าน The Ideoscape of Violence

ของวิทวัส ทองเขียว

 

การพ่นกำแพงวัดพระแก้วที่เพิ่งเกิดไม่นานมานี้ มีผู้โยงกับงานของศิลปินกราฟิตี้อย่าง Banksy ในทำนองว่า คนไทยชื่นชมงานของศิลปินขาพ่นคนนี้ แต่กลับยอมรับไม่ได้กับการพ่นสีใส่กำแพงวัดพระแก้ว

คำถามที่เกี่ยวข้องกันก็คงจะเป็นความหมายและสถานะของงานศิลปะ

คำถามนี้หมุนเวียนในโซเชียลมีเดีย ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อมนุษย์

จนมีกระแสการนำภาพถ่ายเหตุการณ์ดังกล่าวไปสร้างใหม่กลายเป็น “มีม” ล้อเลียน

เส้นแบ่งระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนจึงไม่อาจกำหนดชัดเจนได้

ประเด็น “ดราม่า” นี้ไม่ช้าไม่นานก็จะหายไป และจะกลับมาเมื่อเกิดเรื่องคล้ายๆ กันขึ้นมาอีก

แต่ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะลองพิจารณาประเด็นเรื่องศิลปะกับสังคมการเมืองอีกครั้ง

โบริส กรอยส์ (Boris Groys) นักปรัชญาและนักทฤษฎีสื่อชาวเยอรมัน เห็นว่าภาพ (image) เป็นสิ่งที่แสดงถึงความจริงของศิลปะ โดยงานศิลปะมีภาวะอิสระหรือการดำรงอยู่ด้วยตัวของมันเอง (ไม่ใช่ในฐานะอย่างอื่น เช่น สินค้า) ก็ต่อเมื่อศิลปะแสดงถึงสิทธิเชิงสุนทรียะที่เท่าเทียมของภาพที่หลากหลาย

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ศิลปะต้องเปิดรับความหลากหลายในการสร้างสรรค์และนำเสนอภาพขึ้นมา

งานศิลปะจึงเป็นการต่อสู้เพื่อการยอมรับ (recognition) ของคนกลุ่มน้อยหรือคนที่ตกเป็นเบี้ยล่างในสังคม

แต่ภาพที่ไหลเวียนอยู่ในส่วนมวลชน (mass media) หรือกระทั่งสื่อใหม่ (new media) อย่างโซเชียลมีเดีย ที่ดูเหมือนจะมีความหลากหลายนั้น แท้จริงแล้วกลับเป็นภาพที่ซ้ำซากและคอยกำหนดรสนิยมของผู้คนให้รู้สึกนึกคิดหรือมีรสนิยมเหมือนๆ กันมากกว่า

ภาพ “Ten Shades of Yellow”

The Ideoscape of Violence งานจิตรกรรมสีน้ำมันชุดใหม่ของวิทวัส ทองเขียว สร้างสรรค์ขึ้นในบริบทความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอย่างมาก

งานชุดนี้จัดแสดงที่ Manycuts Artspace ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม-23 เมษายน 2566 โดยมีบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ เป็นคิวเรเตอร์

ผลงานของวิทวัส ทองเขียว ได้รับการยอมรับมานานในฐานะทิวทัศน์แบบเหมือนจริง

อย่างไรก็ตาม งานช่วงหลังของศิลปินกลับเน้นประเด็นทางสังคมการเมือง โดยที่ยังใช้เทคนิคเหมือนจริง อย่างงานชุด นิ/ราษฎร์ : The L/Royal Monument (2564)

แต่งานทางสังคมการเมืองเหล่านี้ มีรอยปริแตกจากงานก่อนหน้าในแง่การพยายายามทดลองบางอย่าง

งานชุด The Ideoscape of Violence แสดงวิภาษวิธีระหว่างการคิดใคร่ครวญกับการกระทำทางสังคมการเมืองให้ปรากฏออกมา

หากพิจารณาในเชิงปรัชญา ชีวิตที่เน้นการใคร่ครวญ (vita contemplativa) ดูเหมือนจะเรียกร้องการอยู่เงียบๆ คนเดียว โดยถอยห่างออกมาจากสังคม จึงยิ่งขับเน้นความเป็นปัจเจกของศิลปิน

เหมือนที่นักปรัชญาฝรั่งเศสอย่างฌอง-ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) กล่าวค่อนแคะนักปรัชญาที่เอาแต่หมกมุ่นครุ่นคิดกับตัวเองว่า ถึงจะมีเพื่อนมนุษย์โดนฆาตกรรมตรงริมหน้าต่างห้องนอน เขาก็คงงัวเงียขึ้นมาแล้วก็นอนหลับต่อไป

ขณะที่ประเด็นทางสังคมการเมืองเรียกร้องให้เราออกจากพื้นที่ส่วนตัวไปสู่กิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ หรือเรียกว่าเป็นชีวิตที่เน้นการกระทำ (vita activa)

งานชุดนี้ใช้การเปรียบต่างของสี (contrast of hue) ในการนำเสนอ ผู้เขียนขอแบ่งงานชุดนี้ออกเป็นสามกลุ่ม

กลุ่มแรก ได้แก่ งานที่กลับไปหาคำถามที่เป็นพื้นฐานที่สุด นั่นคือ ภาษาของจิตรกรรมที่สื่อผ่านสี โดยอาศัยจินตนาการในการเล่น (play) ทำงานชุดนี้ขึ้นมาเพื่อใคร่ครวญและตั้งคำถามกับเงื่อนไขทางวัตถุของงานศิลปะ ได้แก่ วัตถุดิบคือสี เทคนิคในการสร้างงาน รวมทั้งเวลา ทักษะและแรงงานของศิลปินที่ใช้ไป แม้แต่ราคาสีที่แตกต่างกันก็สร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

ในงานที่ชื่อ “Ten Shades of Yellow” ศิลปินใช้สีเหลืองต่างยี่ห้อกัน เพื่อสร้างเป็นแถบสีแนวขวางจากบนลงล่าง ที่จริงเราอาจจะเรียกว่าเป็นพีระมิดของสีเหลือง เพราะสีที่อยู่ด้านบนสุดมีราคาแพงที่สุด ไล่ลำดับจากถึงฐานล่างที่เป็นสีเหลืองยี่ห้อที่ราคาถูกที่สุดและคุณภาพต่ำที่สุด

ยิ่งสีคุณภาพต่ำ ศิลปินก็ยิ่งต้องใช้เวลา ทักษะและแรงงานในการทำงานมากขึ้น เพื่อทำให้ภาพที่ปรากฏออกมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกันมากที่สุด

และที่สำคัญ รายละเอียดเหล่านี้ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยภาพที่ผลิตซ้ำในรูปของไฟล์ดิจิทัล จึงเรียกร้องให้ผู้ชมมาดูในสถานที่จัดแสดงจริง

ที่น่าสนใจคืองานอีกชิ้นที่ชื่อ “Twelve shades of Red” ใช้เทคนิควิธีคล้ายกัน แต่มีการจัดวางให้แถบสีแดงอยู่ในแนวดิ่ง คล้ายๆ ลูกกรงห้องขัง และงานที่ชื่อ “Royal Blue” ที่เป็นแถบสีน้ำเงินรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ซ้อนกัน

จริงอยู่ สีเหลืองและสีแดงสื่อความหมายถึงจุดยืนทางการเมืองในสังคมไทยที่กินเวลายาวนานกว่าทศวรรษ และสีน้ำเงินคือสัญลักษณ์ของสถาบันหลักของสังคมไทย

แต่การเล่นของศิลปินกับตัววัตถุคือสีกลับเด่นชัดออกมามากกว่า

หรือพูดด้วยภาษาทางสุทรียศาสตร์ของสายมาร์กซิสต์อย่าง เธโอดอร์ อะดอร์โน (Theodore Adorno) ก็คืองานกลุ่มนี้แสดงถึงความเป็นวัตถุ (materiality) มากกว่า และความหมายของงานเกิดขึ้นผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับสี

ภาพ “Green Chronicle”

งาน กลุ่มที่สอง ได้แก่ งานที่ศิลปินใช้สีเพื่อตอบโจทย์ประเด็นทางประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง งานที่ชื่อ “Pink Yellow Green” (The Ideologues in Disney) เป็นงานชิ้นเดียวที่ไม่ได้ใช้การเปรียบต่างของสี ใช้แถบสีชมพู เหลือง และเขียวสลับกันในแนวตั้ง สีออกแนวหวานๆ ชวนตาลาย ที่ชวนให้นึกถึงขนมหวานที่เรียกว่า “สลิ่ม”

หรืองานที่ชื่อ “Green Chronicle” ที่วาดแถบสีแดง เขียว และเหลืองในแนวตั้ง โดยที่แถบสีเขียวมีช่วงกว้างที่แตกต่างกัน

สีเขียวที่สื่อแทนกองทัพ และช่วงกว้างของแต่ละแถบของสีเขียวคือช่วงเวลาของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

การใช้สีในฐานะภาษาที่สื่อความหมาย (signitive language) อาทิ สีเขียวทางกองทัพ สีหวานๆ ที่หลากหลายแทน “สลิ่ม” ทำให้ความหมายของงานถูกเข้าควบคุมและลดทอนการแสดงออกซึ่งความเป็นวัตถุของตัวงานไป

นอกจากนี้ สภาวะการสร้างสรรค์ศิลปะของไทยโดยรวม ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลผลิตของสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ปรากฏออกมาในงานที่ชื่อ “Silpakorn Green”

สีเขียวเวอริเดียนที่เป็นสีประจำของมหาวิทยาลัยศิลปากรปรากฏอยู่ตรงกลางเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง

มีแถบสีชมพู ขาว และเขียว แถบเล็กๆ อยู่ตรงกลาง รอบนอกสีเขียวเวอริเดียนมีแถบสีน้ำเงิน ขาว เหลือง และแดง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งล้อมอยู่ ตามลำดับที่กล่าวมา

ราวกับป่าวประกาศออกมาว่า ศิลปะร่วมสมัยตอบสนองของสถานะอันมั่นคงของคนกลุ่มใด และใครกลายเป็นกลุ่มคนชายขอบ แต่ก็แลกมาด้วยการใช้สื่อสื่อความเหมือนภาษาแทนที่จะเกิด “การเล่น” อย่างที่เกิดขึ้นในงานกลุ่มแรก

ภาพ “Contrast of Hue” (Work of Mourning)

อย่างไรก็ตาม งานกลุ่มที่สาม ซึ่งไม่ได้จัดแสดงในห้องเดียวกับงานสองกลุ่มแรก กลับน่าสนใจอย่างมากในแง่ของการแสดงถึงวิภาษวิธีระหว่างการใคร่ครวญและการกระทำในพื้นที่สาธารณะ งานกลุ่มนี้ใช้ชื่อเหมือนกันคือ “Contrast of Hue” แต่มีชื่อรองแตกต่างกันไป

ชิ้นแรก มีชื่อรองว่า “Work of Mourning” ที่แปลว่า “การไว้อาลัย”

เป็นงานที่ศิลปินนำภาพเหตุการณ์การกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภูเมื่อเดือนตุลาคมปี 2565 มาใช้ ภาพนี้ใช้การเปรียบต่างของสีมานำเสนอฉากสถานที่หลังเกิดเหตุการณ์ สีฟ้าของท้องฟ้า แถบสีเหลืองที่หมายถึงเทปกั้นเขต ส่วนที่แดงหมายถึงพรมที่นำมาปูหลังเกิดเหตุการณ์ ซึ่งสะท้อนวิธีคิดแบบราชการไทย

อีกชิ้นคือภาพที่มีชื่อรองว่า “Redemption” ซึ่งประกอบสร้างขึ้นจากภาพข่าวการประท้วงของ “ตะวัน-แบม” ในโซเซียลมีเดีย โดยใช้การเปรียบต่างของสีแดง น้ำเงิน และเหลือง อีกสองชิ้นที่เหลือแสดงถึงความตกต่ำของระบบยุติธรรมของไทย

ถ้ามองแบบกรอยส์แล้ว งานชุดนี้สะท้อนเงื่อนไขทางวัตถุของงาน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี เทคนิควิธีและวัสดุ เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ทำให้ภาพต่างๆ ไหลเวียนอย่างรวดเร็ว

แม้แต่ภาพเหตุการณ์ความรุนแรงก็กลายสิ่งที่มีไว้มองผ่านอย่างรวดเร็ว การตอบสนองอย่างรวดเร็วของเหตุการณ์การกราดยิงที่ศูนย์เด็กเล็กด้วยการปูพรมพิธีการก็แสดงถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

การนำภาพในโซเชียลมีเดียมาสร้างใหม่โดยใช้การเปรียบต่างของสี จึงเป็นการเรียกร้องให้ฝูงชนดิจิทัลที่นิยม “ดราม่า” ในโลกออนไลน์ กลายเป็นสาธารณชนที่รู้คิด หรือผู้ชมที่มาดูงานในสถานที่จัดแสดง เท่ากับเป็นการไว้อาลัยต่อเหยื่อของเหตุการณ์ความรุนแรง

งานที่ชื่อ “Redemption” ที่เป็นภาพ “ตะวัน-แบม” ยืนชูสามนิ้ว เรียกร้องให้สาธารณชนออกมาจากพื้นที่ส่วนตัว มาสู่โลกภายนอก สู่พื้นที่แสดงงาน เพื่อให้งานพูดบางอย่างกับเรา

ถ้าพูดด้วยภาษาของกรอยส์ งานสองชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้เพื่อการยอมรับหรือการเห็นหัวประชาชนที่ตกเป็นเบี้ยล่าง ซึ่งแสดงความเป็นการเมืองของตัวงานออกมานั่นเอง

ณจุดนี้เองที่ความหมายของสีในแง่ของการสื่อความตามตรง ได้แก่ สีเหลือง สีแดง และสีน้ำเงิน ในฐานะสัญลักษณ์ของจุดยืนทางการเมือง และเทคนิคการเปรียบต่างของแม่สีอย่างสีเหลือง แดง และน้ำเงิน ไม่ได้ถูกอย่างใดอย่างหนึ่งกลืนกลายหรือกลบทับอีกอย่างหนึ่ง แต่ปรากฏออกมาพร้อมกัน

เฉกเช่นการใคร่ครวญ (vita contemplativa) และการกระทำ (vita activa) ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

ประเด็นทางการเมืองของงานศิลปะอาจจะไม่ได้มาในรูปของกิจกรรมทางการเมือง (activism)

และกิจกรรมทางเมืองอย่างการพ่นหรือป้ายสี ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นงานศิลปะ

เราไม่ควรทำให้ศิลปะถูกจำกัดด้วยกิจกรรมทางการเมือง ขณะเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้กิจกรรมทางการเมืองถูกจำกัดด้วยกรอบของศิลปะ

ในแง่ของตัวงานเอง งานจิตรกรรมชุด The Ideoscape of Violence คือกระบวนการทำงานศิลปะที่เป็นการคิดใคร่ครวญ ที่พร้อมเปิดรับต่อการกระทำทางสังคมการเมือง

ขณะเดียวกันก็เป็นการกระทำทางสังคมการเมืองให้เวลาในการคิดใคร่ครวญ

ในแง่ของการจัดแสดงในพื้นที่แกลลอรี ก็น่าจะเป็นการเชื้อเชิญให้ฝูงชนดิจิทัลได้ออกมาจากห้องที่สะท้อนความคิดเหมือนๆ กัน เพื่อมาดูงาน ขบคิดและแลกเปลี่ยน และอาจนำไปสู่การถกเถียง คืนชีวิตให้กับพื้นที่สาธารณะที่สามารถนำเสนอประเด็นทางสังคมการเมืองให้กลับมาอีกครั้ง

หมายเหตุ : ภาพประกอบเป็นภาพถ่ายของวิทวัส ทองเขียว ผู้เขียนได้รับอนุญาตให้ใช้ในบทความได้ ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้