มนัส สัตยารักษ์ : จุดอ่อนที่ต้องกำจัด

ในกระบวนการยุติธรรม องค์กรที่ถูกกล่าวถึงในเชิงลบมากที่สุดก็คือตำรวจ รวมถึงดีเอสไอในบางกรณี เพราะดีเอสไอทำงานคล้ายตำรวจในบางเรื่อง

ถัดมา (ไม่น่าเชื่อ) คือ สถาบันศาลยุติธรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแค่ข่าวซุบซิบด้วยว่ามีกำแพง “หมิ่นศาล” ขวางอยู่ ประเด็นที่ซุบซิบเป็นเรื่อง 2 มาตรฐานในกรณีที่ข้องเกี่ยวกับการเมือง การเมืองเป็นเรื่อง “ต่างคนต่างมอง” หรือ “ทีใครทีมัน”

ที่มีข่าวบ้างเป็นครั้งคราวก็คือราชทัณฑ์ จะเป็นข่าวเมื่อเกิดเรื่องใหญ่ถึงขั้นจลาจล หรือแหกคุก ที่ไม่ค่อยมีข่าว สันนิษฐานว่าเพราะอยู่ในแดนสนธยา

ส่วนองค์กรที่แทบจะไม่มีข่าวด้านลบเลยก็คืออัยการ ไม่มีข่าวเพราะไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบ และอัยการมักจะรู้ “ช่องทาง” หรือ “ทางออก” ในฐานะของทนายแผ่นดิน ซึ่งเหนือกว่าหรือเท่ากับทนายจำเลย

ตัวอย่างเช่น กรณี “บอส-กระทิงแดง” ขับรถชนตำรวจตาย คนที่เก่งทางกฎหมายย่อมรู้ว่าในบ้านเมืองของเรานี้ ช่องทางหรือทางออกโดยอิง “สิทธิมนุษยชน” มีอะไรบ้าง

องค์กรตำรวจนั้น ถูกประณามและจะถูกผ่าตัดหรือถูกปฏิรูปมาตลอดกาล แม้นักวิจัยระดับปริญญาเอกจะกล่าวว่า “ปัญหาของตำรวจไม่ใช่อยู่ที่โครงสร้าง แต่เป็นปัญหาเรื่องวัฒนธรรม เป็นอะไรที่บิดเบี้ยว แล้วก็ถูกละเลย ถูกปล่อยทิ้ง ปล่อยให้ความบิดเบี้ยวนั้นดำรงอยู่ แล้วตำรวจก็แก้ปัญหากันเอง”

ส่วนผมซึ่งเป็นตำรวจเก่าก็พูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า สาเหตุที่ตำรวจถูกมองด้วยความเกลียดชังมากกว่าคนในองค์กรอื่นนั้น เพราะตำรวจเป็นคนแรกที่ชาวบ้านจะไปพบ หรือนัยหนึ่งชาวบ้านถูกเข้ามาพบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย ข้าราชการอื่นไม่ค่อยมีหน้าที่ต้องพบกับชาวบ้านสักเท่าไร หรือชาวบ้านไม่จำเป็นต้องไปพบ

ตำรวจเดินตรวจตามปกติของหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ก็อาจจะโดนตำหนิว่าสอดส่องจับผิด

ในหลักสูตรหนึ่งของ บก.สูงสุด มีการดีเบตกันเรื่อง “การจราจร” เพื่อนจากทัพบกบ่นว่ารถติดเพราะตำรวจออกมายุ่งมากเกินไป แต่เพื่อนจากกองทัพเรือบอกว่ารถติดเพราะไม่มีตำรวจคอยดูแล

ยังไม่ทันหายจากหูชาด้วยเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ก็ต้องมาฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึง เรื่องสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) แล้วมีชื่ออดีตนายพลตำรวจ 2 นาย (พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ กับ พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์) อยู่ด้วย

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น เรียกกันสั้นๆ ชาวบ้านเข้าใจง่ายก็คือ “กฎหมายปราบโกง” แต่ชื่อของ 2 นายพลตำรวจ เป็นชื่อของผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวน กรณีร่ำรวยผิดปกติ!

อันที่จริง ผู้ที่น่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์คือ สนช. (ผู้แต่งตั้ง) กับ 2 นายพลตำรวจ (ผู้ได้รับการแต่งตั้ง) แต่ผมและชาวบ้านทั่วไปกลับรู้สึกว่าองค์กรตำรวจต่างหากที่เป็นผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ มันเหมือนกับเอาตำรวจมาทำให้ กมธ. พ.ร.บ.ป.ป.ช. ดูพิกลพิการ ขณะเดียวกันก็ทำให้คำว่า “ตำรวจ” ดูเลวร้ายยิ่งขึ้น

กำลังจะลืมเรื่อง “นายพลร่ำรวยผิดปกติ” อยู่แล้วเชียว ก็ดันเกรียวกราวขึ้นมาอีก

ตำรวจทั่วไป ไม่ได้ร้อง “ยี้” กับการแต่งตั้งครั้งนี้ แต่ร้อง “อะไรกันวะ?”

กมธ.ชุดนี้มีอดีตนายตำรวจใหญ่หลายท่าน จึงเป็นความสุขเล็กๆ ของประดาสื่อซาดิสต์ที่ได้ป้อนคำถามทิ่มแทง แต่ระดับนายพลหรือจะหวั่นไหวกับคำถามเหล่านั้น

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธาน กมธ. ตอบเลี่ยงไปว่า ในที่ประชุมไม่ได้หยิบยกเรื่อง “ความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม” ของการแต่งตั้งครั้งนี้มาพิจารณา ที่ประชุมจะพิจารณาเฉพาะเรื่องของกฎหมายเท่านั้น และที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันนั้นถือเป็นเรื่องของความรู้สึก ว่าควรหรือไม่ควร

ส่วน พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็น กมธ. พ.ร.บ.ป.ป.ช. ชุดนี้ด้วย ตอบคำถามด้วยสูตรสำเร็จของสิทธิมนุษยชน… “ศาลยังไม่ตัดสิน ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์”

สื่อหันไปถามคนที่ไม่ได้เป็นตำรวจ นายวิชา มหาคุณ อดีต ป.ป.ช. ซึ่งเป็น กมธ. อีกท่านหนึ่ง นายวิชาตอบสั้นๆ แต่กระเทือนไปยังแม่น้ำทั้ง 5 สายว่า “ไปนั่งทำงานด้วยความลำบาก ต้องทำใจให้นิ่ง”

ไม่มีใครไปถาม 2 นายพลตำรวจผู้ตกเป็นข่าว ดังนั้น ท่านต้องถามตัวท่านเองละว่า มันคุ้มไหมกับการมาเป็น กมธ. ทำหน้าที่พิจารณากฎหมาย ป.ป.ช. ในขณะที่ตัวเองตกอยู่ในสถานะผู้ถูกกล่าวหาของ ป.ป.ช.

มีประโยชน์อะไรที่คิดว่าน่าจะได้บ้าง เช่น

ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีส่าวนร่างกฎหมายปราบโกง จะได้ลบภาพลักษณ์ของ “ผู้ถูกกล่าวหา” หรือจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่าร่ำรวยผิดปกตินั้น เปลี่ยนเป็นร่ำรวยอย่างปกติ

หรือคิดว่าจะมีโอกาสได้ขัดเกลาถ้อยคำของกฎหมายให้มี “ช่องทาง” หรือทางออกที่เป็นคุณต่อผู้ถูกกล่าวหา เพื่อนำมาใช้เป็นคุณต่อตัวเองได้

กรณีของ “บอส-กระทิงแดง” มีการพูดถึงช่องทางหรือทางออกหนึ่งคือการร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ กมธ.ของสภานิติบัญญัติฯ ทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นพิจารณาของ กมธ.กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ ใช้เวลาตรวจสอบถึงครึ่งปี

มีการเปิดเผยชื่อรองประธาน กมธ. คืออดีตตำรวจ พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ มีบิ๊กตำรวจร่วม 20 นาย นำโดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็น กมธ. ทำให้เห็นกันว่าตำรวจเป็น “จุดอ่อน” ของความผิดพลาด

ปกติโค้ชที่ดีและฉลาดย่อมจะรู้จุดอ่อนและหาทางขจัดจุดอ่อนในทีมกีฬา ถ้าจำเป็นก็เปลี่ยนตัว ส่วนกีฬาที่ไม่เป็นทีม เช่น มวย โค้ชก็ควรรู้จุดอ่อนของคู่ต่อสู้ว่าอยู่ที่ปลายคาง หรือท้อง หรือขาพับ

ผมไม่รู้หรอกว่าการแต่งตั้งกรรมาธิการชุดต่างๆ ของ สนช. มีโค้ชหรือเปล่า แต่อย่างน้อยตัวนักกีฬาเองก็น่าจะรู้ตัวดี นักกีฬาที่มีชนักปักหลังมีแต่จะถูกกองเชียร์โห่ไล่

ถ้าไม่รู้ตัวหรือคิดไม่ออก ก็เพียงแต่นึกเวทนาสงสารสถาบันตำรวจบ้างสักนิด-ก็ยังดี