ต้นกำเนิด ‘โควิด-19’ ปริศนาที่ยังเต็มไปด้วยปริศนา

(Photo by Anthony WALLACE / AFP)

การล่วงรู้ถึงแหล่งที่มาของโรค หรือต้นตอที่ให้กำเนิดโรค โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ที่ร้ายแรงมากอย่างโควิด-19 นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงในแง่ที่ว่า เราจำเป็นต้องแก้ไขปรับเปลี่ยนข้อบกพร่องหรือผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังมีความหมายอย่างยิ่งต่อการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดใหญ่แบบเดียวกันขึ้นอีกในอนาคต

นั่นคือเหตุผลที่ทุกฝ่ายเฝ้าตั้งคำถามและควานหาคำตอบที่ว่า ต้นกำเนิดของโควิด-19 คืออะไรมาตลอดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่แรกเริ่ม จุดโฟกัสของคำถามนี้พุ่งไปที่ตลาดอาหารทะเลสดหัวหนาน ในเมืองอู่ฮั่น ตอนกลางของจีน เพราะเป็นจุดเริ่มที่ปรากฏผู้ป่วยโควิดรายแรกๆ ขึ้น ตลาดสดขนาดใหญ่มากดังกล่าวไม่เพียงขายแต่อาหารทะเล แต่ยังลักลอบจำหน่ายสัตว์ป่าและสัตว์ป่าที่เพาะเลี้ยงเป็นๆ ในมุมหนึ่งของตลาดอีกด้วย

แต่อู่ฮั่นไม่ได้มีเพียงตลาดสด ยังมีสถาบันไวรัสวิทยาแห่งอู่ฮั่น ปรากฏอยู่ด้วย ข้อสันนิษฐานถึงต้นตอของโควิดจึงแตกหน่อออกไปสารพัด ตั้งแต่เกิดจากสัตว์ป่าที่นำมาแพร่ในตลาดหัวหนาน เกิดจากใครคนใดคนหนึ่งสักคนที่นำมันเข้ามาแพร่ในตลาด และเกิดจากเชื้อไวรัสในการทดลองที่บังเอิญรั่วไหลออกมาจากห้องทดลองที่นั่น

วันที่ 1 มกราคม 2020 ทางการจีนสั่งปิดตลาดหัวหนาน สัตว์เป็นทั้งหมดถูกโยกย้ายออกไปฆ่าทิ้ง ตัวตลาดถูกทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นหลังจากศูนย์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคของจีน (ซีซีดีซี) มอบหมายให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งเข้าไปเก็บตัวอย่างจากหลายที่ หลายจุดในตลาด นำมาตรวจสอบ

พบอาร์เอ็นเอของไวรัสซึ่งต่อมารู้จักกันไปทั่วโลกในชื่อ “ซาร์ส-โควี-2” และดีเอ็นเอของมนุษย์มากมาย

(Photo by AFP) / China OUT

ข้อมูลเหล่านั้นถูกนำเสนอต่อทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาต้นตอโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก ที่เดินทางเข้าไปตรวจสอบในเดือนมกราคม 2021

หลังจากนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 ข้อมูลทั้งหมดถูกนำเสนอออนไลน์แบบพรีพรินต์ คือยังไม่มีการตรวจทานและตรวจวิเคราะห์

ส่วนที่ขาดหายไป และจำเป็นอย่างยิ่งในการบ่งชี้และทบทวนสำหรับศึกษาวิจัยต่อเพื่อค้นหาต้นตอของโควิด ก็คือ ผลการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของตัวอย่างที่เก็บโดยตรงจากสัตว์เป็นทุกตัวที่นำมาขายในตลาดแห่งนั้น ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่าข้อมูล “เมต้าจีโนมิก” ซึ่งนักวิชาการที่ต้องการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานศึกษาวิจัยในวารสารวิชาการระดับสากลต้องจัดหามาประกอบ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ “การเปิดกว้าง” และ “พร้อมให้ความร่วมมือ” ในการศึกษาวิจัยต่อ อันเป็นจิตวิญญาณของวิทยาศาสตร์

นั่นเป็นที่มาที่ทำให้บางส่วนของทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงออกมากล่าวหาจีนว่าปกปิดข้อมูลบางส่วนเอาไว้

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต้องรอจนถึงเดือนมีนาคม 2023 นี่เอง ถึงสามารถเข้าถึงเมต้าจีโนมิกดังกล่าวนั้นได้ เมื่อจู่ๆ ก็มีผู้โพสต์ข้อมูลดังกล่าวลงไว้ในฐานข้อมูลสากลออนไลน์ของโคโรนาไวรัส (GISAID) ที่เป็นฐานข้อมูลแบบเปิด คืออนุญาตให้ทุกคนเข้าถึงได้

 

ทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ จากสหรัฐ, ยุโรปและออสเตรเลีย ตรวจสอบข้อมูลเมต้าจีโนมิกดังกล่าว แล้วพบหลายอย่างที่น่าทึ่ง นั่นคือ พบว่ามีพันธุกรรมของ “จิ้งจอกแร็กคูน” (raccoon dog) ร่วมอยู่กับอาร์เอ็นเอของไวรัสซาร์ส-โควี-2 เป็นจำนวนมาก จากตัวอย่างที่เก็บจากพื้นที่ขายสัตว์ป่าเป็นของตลาด บางส่วนมีพันธุกรรมของมนุษย์ร่วมอยู่ด้วย แต่มีไม่น้อยที่มีเพียงพันธุกรรมของจิ้งจอกแร็กคูนและไวรัสเท่านั้น

นั่นหมายความว่า เป็นไปได้สูงยิ่งที่จิ้งจอกแร็กคูนจะติดเชื้อโควิดจากค้างคาวแล้วนำมันมาแพร่ต่อให้กับมนุษย์ที่ตลาดแห่งนี้ เพราะพื้นที่ที่พบตัวอย่างพันธุกรรมดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงไปถึงผู้ป่วยรายแรกๆ ที่พบในอู่ฮั่นหลายราย แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตามที

ทีมวิจัยสรุปว่า เป็นไปได้สูงมากว่า จิ้งจอกแร็กคูน คือสัตว์ตัวกลางที่รับเอาเชื้อโควิดจากค้างคาวมาพักไว้ในตัวจนกลายพันธุ์จนสามารถแพร่ให้กับมนุษย์และทำให้เกิดการระบาดจากคนสู่คนได้ในที่สุด

รายงานผลการวิจัยนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

(Photo by Hector RETAMAL / AFP)

คําถามสำคัญที่คำตอบยังเป็นปริศนาอยู่ในเวลานี้ก็คือ ทำไมข้อมูลเหล่านี้ถึงไม่ถูกเปิดเผยออกมาตั้งแต่แรกเริ่ม ต้องรอจนถึงโควิดสร่างซาแล้วถึงเผยแพร่ออกมา?

มองอย่างเข้าอกเข้าใจก็คือว่า แนวทางการวิเคราะห์ของนักวิทยาศาสตร์จีนผิดพลาดตั้งแต่เริ่มแรก ความเชื่อมโยงระหว่างสัตว์ป่ากับคนถูกมองข้ามความสำคัญไป

แต่ก็สามารถมองอย่างมาดร้ายได้ว่า นัยสำคัญของเรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์จีนตระหนักตั้งแต่แรก แต่จงใจปกปิด ส่วนเหตุผลนั้นต้องให้นักวิทยาศาสตร์จากซีซีดีซีเหล่านี้ตอบออกมาเอง

ปริศนาประหลาดที่แวดล้อมกรณีนี้ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะหลังจากตรวจวิเคราะห์รายงานการตรวจสารพันธุกรรมที่เผยแพร่ออกมา ทีมวิจัยนานาชาติได้ติดต่อไปยังนักวิทยาศาสตร์จีนผู้ทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ เพื่อสอบถามความเห็น

ปรากฏว่า อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาหลังจากการติดต่อดังกล่าว รายงานผลการวิเคราะห์เชิงพันธุกรรมดังกล่าว ถูกถอดออกจากฐานข้อมูลสากล GISAID ไปทั้งหมด

เหตุการณ์เช่นนี้ถือเป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับฐานข้อมูลแบบเปิดเช่นนี้

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดคำถามขึ้นตามมาว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากข้อมูลเหล่านี้ถูกเปิดเผยออกมาตั้งแต่แรก การระบาดของโควิด-19 จะร้ายแรงและยืดเยื้อเหมือนเช่นที่เป็นมาหรือไม่ หรือจะผันแปรไปเป็นอย่างอื่น หรือไม่มีผลใดๆ

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ โลกเสียโอกาสที่จะสาวไปถึงต้นตอที่แท้จริงของโควิด-19 ไปแล้ว แม้จะรู้ชัดมากขึ้นว่าที่มาของมันมาจากสัตว์ ไม่ใช่จากห้องทดลองก็ตามที

และโอกาสที่เราจะป้องกันการระบาดใหญ่ครั้งใหม่ในอนาคตก็ลดลงตามไปด้วยเช่นกัน