ไขความลับ ‘นกพิษ’ แห่งปาปัวนิวกินี

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

แปร๊บบบบบ! นกพิษ …แม้จะฟังดูทะแม่งๆ แต่บอกเลยว่าพิมพ์ไม่ผิดแน่นอน เพราะนกหลายชนิดนั้น มีความแสบสันต์ฝังอยู่ในทุกรูขุมขน เผลอลิ้มรสเข้าไปอาจเป็นอัมพาต หรือถึงขั้นหัวใจล้มเหลว

หรือถ้าเบาหน่อย ก็อาจจะเจ็บแสบ ปากชา น้ำหูน้ำตาไหล กินอะไรไม่อร่อย…

แจ็ก ดัมแบเชอร์ (Jack Dumbacher) นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย (California Academy of Science) เล่าว่า ในตอนที่ยังเรียนอยู่ ราวๆ ช่วงปี 1989 เขาเคยบุกป่าปาปัวนิวกินี เพื่อวิจัยนกปักษาสวรรค์ (birds of paradise)

และในทริปนั้น เขาก็ได้รู้ซึ้งถึงอิทธิฤทธิ์ของ “นกพิษ” แบบเบาๆ

เพื่อจับนกปักษาสวรรค์ แจ็กและทีมกระจายกำลังช่วยกันขึงตาข่ายดักนกระหว่างต้นไม้ และในวันหนึ่ง เขาก็ได้พบกับนกหัวดำอกสีส้มสดใสตัวหนึ่งติดอยู่บนตาข่ายดักนกของเขา พวกมันมีจะงอยปากที่แหลมคม และกรงเล็บที่แข็งแรง

นกชนิดนี้มีชื่อว่า นกพิโทฮิวอิ (pitohui)

แม้จะหน้าตาน่ารัก แต่นี่ไม่ใช่นกที่เขาต้องการ เขาตัดสินใจที่จะปล่อยเจ้านกน้อยตัวนั้นไป ทว่า ในขณะที่กำลังขะมักเขม้นแกะตาข่ายที่พันตัวนกอยู่นั้น เขาก็โดนเล็บของมันบาดนิ้วจนเป็นแผล แจ็กเล่าว่า ตอนนั้นเขาเจ็บมาก เขารีบเอานิ้วเข้าปาก ดูดเลือดและเอาลิ้นเลียแผลเบาๆ ตามสัญชาตญาณ ก่อนที่จะกลับมาปล่อยนกไปแบบไม่ได้คิดอะไร

แค่แป๊บเดียว ปากเขาก็เริ่มแสบ และเริ่มไหม้เกรียม เขาสงสัยว่าไปโดนอะไรมา แจ็กไม่รู้เลยว่าเจ้านกน้อยพิโทฮิวอิที่หน้าตาดูเหมือนไร้พิษสง ที่จริงแล้ว กลับมี “พิษร้าย”

แจ็กพยายามหาว่าอะไรที่ทำให้ปากเขาไหม้ จนนักวิจัยในทีมอีกคนโดนเหมือนกันนั่นแหละ ถึงได้รู้ว่าที่จริงแล้ว ทั้งคู่ปากไหม้ก็เพราะนก!

แจ็กถามกับชาวบ้านเพื่อคอนเฟิร์ม และพวกเขาก็ได้รับความกระจ่าง “อ้อ… ใช่ ไอ้นกพวกนั้น มันมีพิษ คุณก็ไม่น่าจะไปจับตัวมันเลยนี่นา” ชนพื้นเมืองทุกคนรู้จักอิทธิฤทธิ์ของพิษของนกชนิดนี้ดี

พิโทฮิวอิคือนกที่พวกเขาเรียกกันว่า “Rubbish bird” หรือนกขยะ เพราะมันกินไม่ได้

นกอะไรประหลาด มีพิษกะเขาด้วย…

นกพิโทฮิวอิภาพโดย Benjamin Freeman, CC BY 4.0 (via Wikimedia Commons)

แจ็กเริ่มเบี่ยงเบนความสนใจ จากที่เคยวิจัยนกปักษาสวรรค์ ตอนนี้เขาหันมาสนใจ นกขยะ กินไม่ได้แทน

เขาเริ่มเก็บตัวอย่างขนนก และส่งบางส่วนไปให้กับนักเคมี จอห์น ดาลี (John Daly) ที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Institute of Health) เพื่อวิเคราะห์ว่าพิษที่นกมีนี่มันคือพิษอะไร

หลังจากที่ซุ่มทำงานอยู่พักใหญ่ จอห์นก็สรุปได้ว่าสารพิษที่อยู่บนขนของนกพิโทฮิวอินั้นคือสารเบทราโคทอกซิน (Batrachotoxin) ซึ่งน่าขนลุกขนพองมาก เพราะสารพิษชนิดนี้เป็นหนึ่งในสารพิษชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์ร้ายแรงที่สุดในโลก (แรงกว่ายาเบื่อ (Strychnine) ราวๆ 250 เท่า) และเป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในกบลูกดอกพิษ (poison dart frog) ที่เลื่องชื่อ

แค่โดนเพียงนิด หัวใจก็หยุดเต้น

ในที่สุด ในปี 1992 แจ็กและจอห์นก็ตีพิมพ์งานวิจัยของพวกเขาลงในวารสาร Science พอลงปุ๊บ ก็ดังเป็นพลุแตกปั๊บ เพราะงานนี้คือหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดชิ้นแรกที่ยืนยันว่านกบางชนิดก็มีพิษกับเขาได้เหมือนกัน ซึ่งนอกจากนกพิโทฮิวอิแล้ว แจ็กยังพบนกอื่นอีกหลายชนิดในป่าปาปัวนิวกินีที่มีพิษไม่ต่างจากพิโทฮิวอิ

อย่างเช่น ในปี 2000 ทีมวิจัยของเขาก็ค้นพบนกอีกชนิดหนึ่งที่มีพิษเช่นกัน ชื่อว่านก อีฟริทา (Ifrita)

แต่คำถามที่ค้างคาใจแจ็ก ก็คือนกเอาพิษมาจากไหน นกสร้างพิษเองได้ด้วยหรือ?

ภาพปกวารสาร Science ตีพิมพ์ผลงานของดัมแบเชอร์และดาลี และโครงสร้างของสารพิษเบทราโคทอกซิน (ภาพ Science Magazine & Wikipedia)

มองย้อนกลับไปที่กบลูกดอกพิษ หากอยู่ในป่า ผิวหนังสีสันสดใสของพวกมันนั้นจะฉาบทาไปด้วยสารพิษฤทธิ์ร้าย โดนเข้าไป ถ้าไม่ตายก็คางเหลือง แต่ถ้ามาเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน ไม่ช้าไม่นาน สารพิษที่มีก็จะค่อยๆ ก็จางหาย จากกบมหาภัยก็จะกลายเป็นกบบ้องแบ๊วสีสันสดใสไร้พิษสง

เพราะกบสังเคราะห์สารพิษเองไม่ได้ แต่จะเน้นกินอาหารที่มีสารพิษ และจะสะสมเอาสารพิษนั้นมาไว้เป็นพิษของตัวเอง แจ็กเชื่อว่าในกรณีของนกพิโทฮิวอิก็น่าจะมาทำนองเดียวกัน

หลังจากที่ติดตามศึกษานกพิษอยู่นานราวๆ สิบสองปี บวกกับความช่วยเหลือของชาวบ้านนิดหน่อย แจ็กและทีมก็ค้นพบความลับของนกพิษ พวกมันไม่ได้มีพิษเอง แต่จะอาศัยกินอาหารที่มีพิษเข้าไป

อาหารที่ว่าก็คือเต่าทองเมลีริด (Melyrid beetle) ที่สร้างสารพิษเป็นนิจสิน ที่จริง ชนพื้นเมืองเรียกเต่าทองนี้ว่า “นานิโซนิ (nanisoni)” แปลว่าแสบ ซ่า ชาปาก ซึ่งก็คือหนึ่งในอาการที่สำคัญที่จะรู้สึกได้เมื่อสารพิษพวกนี้ออกฤทธิ์

เชื่อกันว่าสารพิษพวกนี้จะมีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ที่จะช่วยขับไล่ปรสิต และนักล่า รวมถึงมนุษย์ด้วย

แจ็กเชื่อว่าพิษอาจจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์แห่งการวิวัฒน์อันแยบยลเพื่อการอยู่รอดในสภาวะแวดล้อมที่แก่งแย่งแข่งขันและโหดร้ายของป่าดงดิบแห่งปาปัวนิวกินี

แต่การวิวัฒน์แบบนี้น่าสนใจ เพราะการที่นกจะเอาเบทราโคทอกซินมาใช้ได้ นกจะต้องไม่โดนอิทธิฤทธิ์ของพิษไปด้วย

ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะถ้าพวกมันเองโดนพิษได้ด้วย ถ้าไม่ห้วใจล้มเหลว หรือเป็นอัมพาตตายไปก่อน คงทรมานพิลึก เพราะบินไปไหน ทำอะไร ก็คงแสบ ชา น้ำหูน้ำตาไหลไปตลอด

นกอีฟริทา นกอีกชนิดหนึ่งที่มีพิษเบทราโคทอกซิน (ภาพ Wikipedia)

เปเปอร์ใหม่แกะกล่องที่เพิ่งออกมาเมื่อต้นปี 2023 ในวารสาร Molecular Ecology จากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen) ที่ศึกษารหัสพันธุกรรมในจีโนมของนกพิษหลายชนิดในป่าปาปัวนิวกินี พบว่านกที่ใช้สารพิษนั้นจะต้องมีความสามารถในการต้านพิษและความลับในการต้านพิษของพวกมันก็คือการกลายพันธุ์ให้ดื้อพิษ

การกลายพันธุ์ที่ว่าจะเกิดขึ้นกับยีน SCN4A ที่ใช้สร้างโปรตีน Nav1.4 ที่อยู่ในเยื่อหุ้มเซลล์คอยเปิดๆ ปิดๆ เพื่อควบคุมการขนส่งเกลือโซเดียมในเซลล์กล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญมากในการทำงานของกล้ามเนื้อ และการสื่อประสาท

ซึ่งปกติ ในกรณีที่โดนสารพิษเบทราโคทอกซิน พิษจะเข้าไปยึดจับโปรตีน Nav1.4 และล็อกโปรตีนให้เปิดค้างไว้ ไม่ปิด ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ และการส่งกระแสประสาทเพี้ยน จนอาจส่งผลให้เกิดอาการแสบ ชา เป็นอัมพาต หรือแม้แต่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

และการกลายพันธุ์ที่พวกเขาเจอในโปรตีน Nav1.4 ของนกพิษนั้น จะทำให้เบทราโคทอกซิน เข้าไปยึดจับกับโปรตีน Nav1.4 ไม่ได้ ซึ่งพอจับไม่ได้ ก็จะไม่ส่งผลอะไรกับการทำงานของโปรตีน การขนส่งโซเดียมก็จะไม่ถูกก่อกวน นกกลายพันธุ์เลยไม่ตอบสนองอะไรกับพิษ ทุกอย่างเป็นปกติ

แหม่…แต่ที่น่าสงสารคือนักวิจัย เพราะตอนศึกษาก็อาจจะมีขนฟุ้งหรือแตะโดนกันบ้าง

กบลูกดอกพิษ (poison dart frog)

คนุด จอนส์สัน (Knud J?nsson) หัวหน้าทีมจากโคเปนเฮเกนเผยว่านักวิจัยของเขาแต่ละคนโดยพิษกันถ้วนหน้า ทำแล็บไป หน้าตาก็ซาบซึ้งไป น้ำตาไหลพรากๆ ราวกับกำลังหั่นหัวหอมไปด้วย

คนุดเผยว่า จากการสำรวจล่าสุดของพวกเขา เจอนกพิษอีกอย่างน้อยสองชนิด และถ้าวิเคราะห์ดีๆ บางทีอาจจะมีนกพิษมากกว่านี้มากมายนัก อย่างน้อยก็ในปาปัวนิวกินี

จะเศร้า ซึ้ง และแสบแค่ไหน เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับมวลมนุษยชาติ…นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยจะยอมแพ้

และทีมโคเปนเฮเกนเผยว่า พวกเขาตรียมตัวตะลุยป่าปาปัวนิวกินีต่อแล้ว ในอีกไม่ช้า…

เพราะชัดเจนแล้วว่า “นกพิษ” นั้นไม่ใช่แค่มีจริง แต่อาจจะมีหลากหลายมากกว่าที่เราเคยคิดเอาไว้ก็เป็นได้

ธรรมชาติยังคงมีปริศนาอีกมากมายรอให้เราไปค้นหา (ถ้าไม่สูญพันธุ์กันหมดไปซะก่อน เพราะโลกร้อน และอากาศปรวนแปรอะนะ…)