ทรงซิกซ์แพ็ก : ทรงอย่าง ‘สมชาย-สมหญิง’ ในประติมากรรมสมัยคณะราษฎร

ณัฐพล ใจจริง

“เดิน เดิน เดิน อย่ายอมแพ้ใคร ชาติไทยต้องเดิน

เดิน เดิน เดิน ถ้าหวังก้าวหน้า เราต้องพากันเดิน

เดิน เดิน เดิน อย่าท้อทางไกล ขอให้ไทยเจริญ”

(หลวงวิจิตรวาทการ, 2482)
ชาตินิยมในศิลปะสมัยคณะราษฎร

 

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยกับบรรยากาศสร้างชาติสมัยรัฐบาลจอมพล ป. (2481-2487) ที่ส่งเสริมการสร้างเรือนกายใหม่ให้กับพลเมืองเพื่อร่วมกันสร้างชาติ พร้อมกระแสบทเพลงปลุกใจประเภทเพลงมาร์ชดังไปทั่วสารพางค์สังคมไทย

ด้วยบทเพลงปลุกกระแสชาตินิยมที่ดังไปทั่วสังคม ในความหมายว่า ชาติ คือ ประชาชน ของหลวงวิจิตรฯ ชื่อ “เดิน เดิน เดิน” (2482) นั้น มีสาระในคำเนื้อร้องว่า ไทยจะเจริญก้าวหน้าได้นั้น

คนในชาติต้องร่วมใจกันฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ อย่าท้อถอยหรือยอมแพ้ หรือท้อถอยใดๆเพื่อปลุกขวัญกำลังใจให้มวลชาวไทยมุ่งมั่นสร้างชาติไปสู่อนาคต

ในปีเดียวกัน เขาเขียน มนุสสปฏิวัติ (2482) ขึ้น ภายหลังจากที่เขาวิจารณ์เรือนกายอ้อนแอ้นอรชรของพระรามจากวรรณคดีรามเกียรติ์ไปแล้วนั้น เขาวิจารณ์รูปลักษณ์เรือนกายแบบจารีตต่อไปว่า “กวีของเรามักปั้นรูปพระเอกให้เป็นคนอ้อนแอ้นอ่อนแอ พอต้องทำงานอะไรเข้าหน่อยก็พรรณนาให้น่าสงสาร เช่น แสนวิตกอกเอ๋ยไม่เคยยาก

ผิดกับกวีนิพนธ์ของฝรั่งและจีนซึ่งพระเอกของเขามักต้องเป็นผู้ล่ำสันใหญ่โตแข็งแรง สามารถสู้กับสิงห์หรือฆ่ามังกร หรือแบกขอนซุงได้”

และ “พระรามเป็นคนอ่อนแอที่สุด ไม่เคยทำงานสมบุกสมบันกับใคร จะออกรบก็ต่อเมื่อพิเภกบอกว่าชาตาของแม่ทัพฝ่ายข้าศึกถึงฆาต เวลาลำบากก็ต้องส่งคนอื่นไป จนเมื่อถึงเวลาสบายไม่ต้องทำอะไร นอกจากยกศรพรมมาศขึ้นพาดสายเท่านั้นแหละ พระรามจึงออกเอง” (หลวงวิจิตรฯ, 14-15)

ครุฑมีซิกซ์แพ็กที่มุมตึกกรมไปรษณีย์โทรเลขบางรัก และรัฐธรรมนูญกับหลัก 6 ประการ

กล้ามเนื้อ ซิกซ์แพ็ก
กับศิลปะสมัยคณะราษฎร

นับแต่รัฐบาลจัดตั้งกรมศิลปากร (2476) ขึ้นเพื่อกำหนดและกำกับแนวทางศิลปในระบอบประชาธิปไตย โดยมีหลวงวิจิตรฯ เป็นอธิบดีคนแรก เขามีส่วนกำหนดและผลักดันให้ศิลปะสมัยนั้นให้สนับสนุนนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลเป็นอย่างมาก

และเขาเห็นว่า ศิลปะสามารถขัดเกลาพลเมืองให้คล้อยตามนโยบายรัฐได้ ศิลปะทำให้พลเมืองมีจิตใจที่เสียสละเพื่อส่วนรวมได้

รัฐจึงต้องให้ความใส่ในการชักจูงพลเมืองให้ใส่ใจศิลปะให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนทำให้ศิลปะในครั้งนั้นมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นจนถูกเรียกว่า “ศิลปะสมัยคณะราษฎร” (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2563, 126-129)

ลักษณทั่วไปของศิลปะสมัยคณะราษฎร ในด้านสถาปัตยกรรมอันเป็นแบบทันสมัย เป็นเครื่องคอนกรีตและใช้สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญรวมทั้งหลัก 6 ประการแทรกอยู่ตามงานออกแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมในครั้งนั้น

ศิลปะสมัยคณะราษฎรที่เป็นประติมากรรมเน้นความสมจริง มุ่งเน้นให้ศิลปะร่วมขับเคลื่อนการเมืองอันเป็นยุคสมัยแห่งจิตวิญญาณใหม่ กล่าวอีกอย่างคือ ศิลปะเพื่อการเมือง (ชาตรี, 124)

ในด้านประติมากรรมนั้นความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย ร่างเต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อ อันเป็นร่างอุดมคติแห่งระบอบใหม่ถูกแสดงออกอย่างชัดเจน เป็นการตอบสนองต่อนโยบายสร้างชาติและพลเมืองใหม่ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.

เฉกเช่นเดียวกับเรือนร่างของสตรีที่สมบูรณ์แข็งแรงสูงใหญ่มากขึ้น ให้สมเป็นหญิงในสมัยสร้างชาติ มิใช่สวยอย่างอ้อนแอ้นอรชร หรือเอวบางร่างน้อยตามแบบจารีตที่สืบทอดมาซึ่งเป็นความสวยงามที่พ้นสมัย (ชาตรี, 147-149)

ดังเห็นจากงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2482 มีประติมากรรมขนาดใหญ่รูปผู้ชายมีเรือนร่างกำยำเต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อกำลังย่างเดิน ขนาด 2 เท่าของคนจริง ชื่อ “เดินเดินเดิน” ตั้งหน้าร้านกรมศิลปากร เป็นประติมากรรมที่พ้องกับเพลง “เดินเดินเดิน” ของหลวงวิจิตรฯ ที่กำลังดังกึกก้องทั่วสังคมไทย

เฉกเช่นประติมากรรม “คนโก่งธนู” ของแช่ม ขาวมีชื่อ ที่แสดงความแข็งแรงของร่างกายที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อที่เหยียดตึงดึงคันธนูให้โก่งโค้งพร้อมที่จะปล่อยพลังขับให้ลูกธนูพุ่งตรงออกไปยังเป้าหมาย ดุจเดียวกับการสร้างเรือนร่างใหม่ที่แข็งแรงย่อมทำให้เป้าหมายในการสร้างชาติบรรลุได้

ยุวชนทหารเดินสวนสนามที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

การปรับปรุงเรือนกายใหม่
ให้กับพลเมือง

โครงการสร้างชาติด้วยพลเมืองที่แข็งแรงนั้น เริ่มปรากฏกิจกรรมของรัฐบาลจัดประกวดชายฉกรรจ์ที่ท้องสนามหลวงเมื่องานวันขึ้นปีใหม่ 1 เมษายน 2483 เพื่อเป็นตัวอย่างแก่พลเมืองทราบถึงแนวทางการออกกายบริหารให้มีสุขภาพดี

การประกวดชายฉกรรจ์นี้มีการจัดหลายแห่งในสมัยสร้างชาติ ทั้งเวทีงานวัด งานตลาดนัด มีเกณฑ์การตัดสิน คือ อวัยวะทุกส่วนสมบูรณ์และร่างกายได้สัดส่วน

เฉกเช่นเดียวกับการประกวดนางสาวสยาม (2477) ที่พิจารณาความงามของดวงหน้าที่งามชดช้อยแล้ว ยังต้องมีเรือนร่างที่ส่วนสัดที่ถูกสุขลักษณะด้วย (ก้องสกล, 111, 115)

ในสมัยสร้างชาตินี้มีการสร้างมาตรฐานร่างกาย และกระบวนการไปสู่ร่างมาตรฐานแก่พลเมือง กระแสความทำตามนโยบายสร้างชาติในครั้งนั้นได้รับการตอบรับอย่างดีจากทุกภาคส่วนในสังคม (ชาตรี, 152)

การสร้างร่างกายอุดมคติเป็นกระบวนการในการสร้างพลเมืองไทยแบบใหม่โดยมีเป้าหมายเรือนร่างสมบูรณ์แข็งแรง และอุดมไปด้วยกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ อย่างร่างกายชาวตะวันตก ที่ถือเป็นเรือนร่างแบบอารยะ ในขณะที่ร่างกายแบบใหม่เป็นการปฏิเสธร่างกายของพลเมืองแบบจารีตที่ไม่ดี ไม่เป็นอารยะ ต่ำกว่ามาตรฐาน (ชาตรี, 152-153)

สำหรับประติมากรรมสมัยใหม่ที่เน้นกล้ามเนื้อสมจริงประดับอาคารที่โดดเด่น คือ อาคารศาลากลางหลังเก่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (2484) ด้านหน้าของอาคารมีพระบรมรูปของวีรกษัตริย์ และวีรกษัตริย์ของไทย 6 พระองค์ที่สมจริงและมีความบึกบึนประดับอยู่เหนือหัวเสา คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (silpa-mag.com/article82994)

ทหารขว้างระเบิด (2480) มีซิกซ์แพ็ก และเรือนร่างของโพยม บุญยะศาสตร์ ผู้เขียนตำราเพาะกายศาสตร์

การเปลี่ยนชื่อ
ให้สอดคล้องกับเพศ

นอกจากการส่งเสริมร่าง “สมชาย” และ “สมหญิง” แล้ว รัฐบาลสมัยจอมพล ป. กำหนดให้ชื่อต้องแสดงเพศที่มีเพียงสองขั้วคือ ชายหรือหญิง ผ่านประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี 24 มิถุนายน 2484 เรื่องหลักตั้งชื่อบุคคล ความว่า

ที่ผ่านมา สังคมไทยตั้งชื่อชายและหญิงยังมีความสับสน จึงให้มีหลักตั้งชื่อเพื่อให้รู้ว่าเป็นชายหรือหญิงเพื่ออารยธรรมของชาติ

รัฐบาลจึงขอชักชวนคนไทยร่วมใจกันตั้งชื่อแสดงเพศ เพื่อดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมฟื้นฟูเป็นศรีสง่าแก่ชาติ ในช่วงปี 2484-2485 รัฐบาลพยายามเชิญชวนให้ประชาชนไทยตั้งชื่อให้สอดคล้องกับเพศ (วิรัช ศิริรัตนะนาวิน, 2544, 27)

รัฐบาลมีความพยายามสร้างความเป็นสมัยใหม่ทางวัฒนธรรม โดยมีแนวทางว่าผู้ชายต้องมีชื่อเป็นชาย ส่วนผู้หญิงก็ควรมีชื่อเป็นหญิง

ชื่อผู้ชายควรเป็นชื่อที่แสดงอำนาจ เข้มแข็ง เช่น องอาจ กล้า ธนู ส่วนชื่อผู้หญิงควรแสดงความอ่อนหวาน ชื่อดอกไม้ ผัก ผลไม้ รวมถึงเครื่องประดับ อย่างเช่น กุหลาบ แตง ทุเรียน แหวน ใช้เป็นหลักเกณฑ์ที่ให้ยึดถือปฏิบัติอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะสำหรับข้าราชการที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาล

ช่วงเวลานั้น ในประวัติของคนรุ่นเก่า เช่น ศักดิชัย บำรุงพงศ์ ข้าราชกากระทรวงการต่างประเทศ นักเขียน เดิมชื่อ “นายบุญส่ง” แต่เมื่อจะสมัครเข้ารับราชการต้องเปลี่ยนชื่อให้สมชาย ส่วนวีรกุล ทองน้อย นักเขียนการ์ตูน เดิมชื่อ “นายพิกุล” แต่ขณะนั้นเขารับราชการในกองทัพเรือ ต้องเปลี่ยนเป็นวีรกุล

รวมทั้งชื่อของเด็กต่างจังหวัดที่ชื่อสมจิตร ภูมิศักดิ ก็เปลี่ยนป็น “จิตร” ในที่สุด (sarakadee.com/2018/09/19/2484-2485)

ช่วงเวลาดังกล่าว จึงเป็นสมัยแห่งการสร้างเรือนกายใหม่แก่พลเมืองให้มีความแข็งแรง เพื่อผลิตภาพในการสร้างชาติ รวมทั้งการเริ่มจำแนกร่าง ชื่อ และความเป็นชาย-หญิงที่ชัดเจนขึ้น

ประติมากรรมแสดงมัดกล้าม ชื่อ “เดินเดินเดิน” (2482) และ “หลักหกยกสยาม” เครดิตภาพ ศรัญญู เทพสงเคราะห์
ประติมากรรมสตรีสมัยสร้างชาติที่กำยำบึกบึนมีซิกซ์แพ็ก เครดิตภาพ ชาตรี ประกิตนนทการ
ประติมากรรม “เดินเดินเดิน” กรมศิลปากรในงานฉลองรัฐธรรมนูญ (2482) เครดิตภาพ ชาตรี ประกิตนนทการ
“คนโก่งคันธนู” โดยแช่ม ขาวมีชื่อ แสดงในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2481
ประติมากรรมหลักเศรษฐกิจ (2480) นักมวย (2494) โดยสิทธิเดช แสงหิรัญ
ศาลากลางจังหวัดอยุธยาหลังเก่า (2484) มิวเซียมไทย