หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ / “ปีก”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“ปีก”

กระทั่งถึงวันนี้ ยิ่งเวลาในการทำงานอยู่ในป่าผ่านมาเนิ่นนานเช่นไร

สิ่งหนึ่งที่ผมยอมรับอย่างไม่มีข้อกังขาเลยคือ มีบทเรียนรวมทั้งเรื่องราวอีกมากมายที่ผมยังไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่เข้าใจ

เมื่อเฝ้าดูอย่างช้าๆ และหัวใจที่เปิดรับ

ตั้งแต่ใบไม้สักใบ แมลง ดอกไม้ ไปกระทั่งถึงช้าง

ไม่เพียงจะเห็นว่า ทุกอย่างล้วนแต่เชื่อมโยงเกี่ยวข้อง

ได้เห็นการออกแบบ จัดสรรมาอย่างไม่มีที่ติ

นั่นคือความยิ่งใหญ่

และไม่แปลกอะไร ที่เมื่อเห็นความยิ่งใหญ่เช่นนี้

เราจะรู้สึกราวกับเป็นเศษธุลี

ในสมัยหนึ่ง ผมอยากมีปีก

ไม่มีเหตุผลอื่นใดมากไปกว่า ปีกคือเครื่องหมายแห่งอิสระ

โบยบินไปทั่ว ใต้ผืนฟ้ากว้างดูเหมือนว่านั่นคือความอิสระเสรี

ต่อเมื่อผ่านการดูนกไปสักระยะหนึ่ง ผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ปีกของนก คือความหมายแห่งเสรีจริงหรือ

หรือแท้จริง นกใช้ปีกเพียงเพื่อเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่ โดยมีแหล่งอาหารเป็นตัวกำหนด

เหมือนเช่นสัตว์ป่าอื่นๆ

การเดินทางของพวกมันมีจุดหมายที่แหล่งอาหาร

เหล่านกอพยพจำนวนมหาศาล เดินทางหลบความลำเค็ญในช่วงฤดูหนาว จากทางตอนเหนือของโลกมาสู่โซนใต้ๆ

พวกมันเดินทางเป็นประจำทุกๆ ปี จำเจ ซ้ำซาก

โดยใช้ปีกบางๆ เป็นเครื่องมือ

ในความเป็นจริง

ปีกคืออวัยวะส่วนหนึ่งของนก ทำให้มันเคลื่อนที่ไป-มาเหนือพื้นดินได้

เรามองปีกของนกด้วยความหมายแห่งความเป็นอิสระ

หากมีปีก ย่อมบินไปไหนๆ ได้ทั่ว ตามใจปรารถนา

เราคร่ำครวญถึงการอยากมีปีก

กระทั่งลืมไปว่า ควรฝึกฝนอวัยวะที่เรามี คือตีน ให้คล่องแคล่ว เพราะมันคือเครื่องมืออันทำให้คนเคลื่อนที่ไป-มาได้อย่างเหมาะสม

นกบางชนิดมีปีก แต่ไม่ได้ใช้ปีกในชีวิตประจำสักเท่าไหร่

ไม่ว่าจะเป็นการหาอาหาร หรือเคลื่อนที่จากแห่งหนึ่งเพื่อไปอีกแห่ง

นกที่อาศัยในทะเลทรายบางตัว ล่าเหยื่อโดยใช้ตีนวิ่งอย่างรวดเร็ว

แต่แน่นอนว่า มีนกหลายชนิดใช้ประโยชน์จากปีกของตัวเอง

ใช้ปีกเป็นเครื่องมือสำหรับการดำรงชีพอย่างเชี่ยวชาญ

นกส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้โดยอาศัยปีก แต่นกหลายชนิดใช้ปีกที่มีน้อยมาก

บางตัวไม่ใช้เพื่อบินเสียด้วยซ้ำ

ไม่ได้หมายความว่านกพวกนั้นพยายามฝืนทำในสิ่งที่ตนไม่ได้ถูกกำหนดมาให้เป็น

แต่เพราะเหตุผลว่า

พวกมันรู้จักตัวเอง

รู้ว่าตนเกิดมาเหมาะกับเครื่องมือชนิดใด

หากความหมายของคำว่า “อิสระ” คือการมีชีวิตอยู่โดยไร้กรอบ ไร้สิ่งใดมาควบคุม

ยิ่งดูเหมือนจะ “เพ้อ” ถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ผู้ทำงาน “อิสระ” ทุกคน รู้ซึ้งถึงความจริงนี้ดี

เพราะสิ่งที่ยากที่สุดยิ่งกว่าสิ่งใดๆ

คือ การควบคุมตนเอง

ผมเคยคิดอยากมีปีก โดยเฉพาะเวลาที่เดินอย่างเหน็ดเหนื่อยอยู่บนทางอันรกทึบ

ในเวลาเช่นนั้น แหงนหน้าดูท้องฟ้า ก็มักเห็นนกบินไปในทิศทางที่เรากำลังมุ่งหน้าไป คล้ายกับว่า นกจะไปได้อย่างรวดเร็ว

เหมือนจะไม่ได้ใช้พละกำลังมากเลย

ทั้งที่ในความเป็นจริง นอกจากพละกำลัง นกยังต้องมีเทคนิคในการขยับปีก ในการบิน เพื่อสงวนพลังงาน

และ “เทคนิค” เหล่านี้ ต้องผ่านการฝึกฝนจากบทเรียนที่พ่อแม่ส่งมาให้

หลายปีก่อน ผมเคยใช้เวลาหลายวันอยู่ในหมู่บ้านแม่จันทะ ชุมชนชาวกะเหรี่ยง อยู่ห่างจากอำเภออุ้มผาง ราวๆ 5 ชั่วโมง โดยรถขับเคลื่อนสี่ล้อช่วงฤดูแล้ง ส่วนในช่วงฤดูฝน การเดินทางไปที่นี่มีหนทางเดียว คือการเดิน

ผมพักบนบ้านไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยใบตองตึง มีแสงไฟสว่างนวล ต้นกำเนิดพลังงานมาจากแผงโซลาร์เซลล์ แผงเล็กๆ ข้างบ้าน

ลานดินหน้าบ้าน เด็กๆ กลุ่มใหญ่วิ่งเล่นรอบรถ บางคนถูฝุ่นออกจากกันชน และใช้ส่องดูหน้าตัวเองด้วยท่าทางน่าเอ็นดู

โสร่งสีแดงที่เมียอดีตผู้ใหญ่บ้าน ผู้เป็นเจ้าของบ้าน และเป็นเพื่อนผม ทอเอง ที่ผมสวมอยู่ ช่วยให้ผมดูกลมกลืนขึ้น

โสร่งกะเหรี่ยงจะใส่สั้นใต้หัวเข่า ไม่ยาวกรอมเท้าเหมือนโสร่งทางใต้ แต่สวมใส่แล้วสบายพอๆ กัน

เหล่าเก๊า อดีตผู้ใหญ่ เจ้าของบ้าน ชวนผมมาตามรอยสมเสร็จ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่คนที่นี่เรียกว่า “ม้าของพระเจ้า” ในป่าบริเวณนี้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

ขณะอยู่ร่วมกับพวกเขา ผมรู้สึกราวกับอยู่ต่างประเทศ ภาษาที่พวกเขาใช้ ผมเข้าใจน้อยมาก

อาหารหลักคือปลา เพราะหมู่บ้านอยู่ติดแม่น้ำ

“คนที่นี่ไม่มีใครทำอะไรสมเสร็จหรอก” อดีตผู้ใหญ่เล่า

“พวกเราถือว่ามันเป็นสัตว์พิเศษ เราจะโชคร้ายถ้าทำอะไรมัน”

“นกเงือกก็เหมือนกัน” เขาเล่าต่อ

“พวกเราไม่มีใครยิงนกเงือก”

มีความเชื่ออยู่มากมายในป่า อันทำให้สัตว์หลายชนิดปลอดภัย

และก็มี “ความเชื่อ” หลายอย่างเช่นกัน

ทำให้สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์

ร่วมเดือน ที่เหล่าเก๊า เพื่อนชาวกะเหรี่ยงพาผมสำรวจเขา นำผมขึ้นเขา ลงหุบ ล่องไปตามแม่น้ำ เฝ้ารอที่โป่งเล็กๆ แต่ละวันเดินไม่น้อยกว่า 20 กิโลเมตร

ผมไม่พบสมเสร็จ

แต่ไม่ใช่เรื่องน่าผิดหวังอะไร

สิ่งที่ได้เพิ่มมาจากการเดินตามเพื่อนผู้อาวุโส

คือ ทักษะในการเดินที่มากขึ้น

เวลาของการทำงานในป่าผ่านไป

ผมเริ่มคุ้นชินกับการใช้ตีน

รู้ว่าขณะเดินขึ้นเขา ต้องวางเท้าอย่างไร ในตอนลงเช่นกัน

ผมเรียนรู้จังหวะการเดินของตัวเอง ว่าช้า หรือเร็วขนาดไหน จึงจะสัมพันธ์กับระบบหายใจ

ผมเริ่มต้นด้วยความอยากมีปีก

แต่การเดินในป่า รวมทั้งสัตว์มีปีกอย่างนก ได้สอนให้รู้จักการใช้ตีน

อาจเป็นเพียงเรื่องง่ายๆ แต่ผมใช้เวลาไปไม่น้อยกว่าจะรู้ว่า บนโลกใบนี้ ทุกชีวิตต่างล้วนถูกควบคุม

นกถูกควบคุมด้วยผืนฟ้า

เช่นเดียวกับปลา ที่ชีวิตต้องขึ้นอยู่กับผืนน้ำ

ขณะเดินตามรอย “ม้าของพระเจ้า”

ผมใช้ตีนเป็นเครื่องมือ คล้ายดังที่นกใช้ “ปีก”

ถึงที่สุด ผมก็รู้ว่า

ไม่ว่าจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือ

ก็จะถูกควบคุมด้วยอวัยวะหนึ่ง

ที่เราเรียกว่า หัวใจ

และที่นั่น คล้ายจะเป็นที่อยู่ของความอิสระอันแท้จริง