เกณฑ์และหลักคิด ‘ของผม’ วิธีเลือก ส.ส. ‘เขต-ปาร์ตี้ลิสต์’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

ในที่สุดก็มีการยุบสภาเกิดขึ้นจนได้

และสิ่งที่ติดตามมาคือเสียงปี่เสียงกลองของสนามเลือกตั้ง ที่มีความครึกครื้นตื่นเต้นและเป็นที่จับจ้องของผู้คนโดยทั่วไปรวมทั้งผมด้วย

ตามกระแสข่าวที่ปรากฏในสื่อสาธารณะทั้งหลาย ความสนใจของคนจำนวนไม่น้อยอยู่ตรงที่ว่า ผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ขั้วทางการเมืองขั้วไหนจะได้รับชัยชนะ

กล่าวให้พอเข้าใจได้ง่ายๆ ก็ต้องบอกขั้วที่หนึ่งคือพรรคการเมืองที่ร่วมกันเป็นรัฐบาลอยู่ในเวลานี้

ส่วนขั้วที่สองคือขั้วที่เป็นฝ่ายค้านอยู่ในปัจจุบัน ทั้งสองฝั่งนี้กำลังชิงไหวชิงพริบกันน่าดู

อีกไม่นานเกินรอ วันเลือกตั้งก็จะมาถึงแล้ว ตอนค่ำของวันที่ 14 พฤษภาคม เราคงพอได้รับทราบคะแนนเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการ

แต่กว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะรับรองผลอย่างเป็นทางการก็ต้องรออีกหลายขั้นตอน

เพราะอาจจะมีการแจกใบเหลืองใบเขียวใบแดงให้วุ่นวายไปหมด

และกว่าจะได้รับคำตอบสุดท้ายว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองแต่ละพรรคมีสุทธิเป็นอย่างไรบ้าง ก็คงตกเข้าไปกลางเดือนกรกฎาคมโน่น และกว่ารัฐบาลใหม่จะลงมือทำหน้าที่ได้จริงก็คงต้องเดือนสิงหาคมไปแล้ว

ผมไม่รู้เหมือนกันว่ามีประเทศไหนอีกบ้างที่เขาจัดให้มีระบบเลือกตั้งมหัศจรรย์ได้ถึงปานนี้

 

ระหว่างที่อะไรต่อมิอะไรยังไม่ตกผลึก ผมตั้งคำถามกับตัวเองเป็นคำถามเฉพาะหน้าว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ดี ครั้งที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็ดี ผมมีเกณฑ์หรือหลักคิดอย่างไรในการลงคะแนนเลือกตั้ง

เนื่องจากการเลือกตั้งคราวนี้มีบัตรสองใบ

ใบหนึ่งสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสำหรับเขตเลือกตั้ง

อีกใบหนึ่งเป็นบัตรเลือกตั้งของระบบปาร์ตี้ลิสต์

เพียงแค่นี้ก็เกิดคำถามขึ้นมาในใจแล้วว่า เราควรลงคะแนนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบเขตเลือกตั้งกับระบบปาร์ตี้ลิสต์เป็นพรรคเดียวกันหรือไม่

คำถามข้อนี้ตอบยากเป็นบ้า

เพราะถ้าคิดถึงทฤษฎีในทางการเมืองแล้ว การที่เราตัดสินใจมอบคะแนนและความไว้วางใจของเราให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เราก็ควรวางใจสนิท โดยลงคะแนนเลือกผู้สมัครในเขตเลือกตั้งจากพรรคนั้นพร้อมกันกับที่เลือกผู้สมัครบัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกันด้วย คะแนนเลือกตั้งทั้งสองระบบจะได้สอดคล้องเป็นเหตุเป็นผลกัน

แต่ในชีวิตจริงบางครั้งเรื่องราวก็ไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎีเสมอไป

ตัวแปรที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอาจจะลงคะแนนให้ผู้สมัครในระบบเขตเลือกตั้งเป็นผู้สมัครจากพรรคหนึ่ง

และลงคะแนนให้ระบบบัญชีปาร์ตี้ลิสต์จากอีกพรรคหนึ่งสามารถเกิดขึ้นได้

เพราะไม่มีข้อห้ามปรามไว้แต่อย่างไร

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในต่างจังหวัด เหตุผลที่ใช้ในการตัดสินใจเพื่อเลือกบุคคลที่เสนอตัวเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบเขตมีเรื่องต้องคิดมาก และหลายเรื่องเป็นเรื่องใกล้ตัว

เช่น รู้จักมักคุ้นกันมานานแค่ไหน เขาเคยมาช่วยงานศพ งานแต่งงาน โกนจุก งานบวชนาคบ้านเราหรือไม่

เวลาน้ำท่วม ฝนแล้ง หรือขายพืชผลการเกษตรไม่ได้ เคยโผล่หน้าค่าตามาให้ปรับทุกข์บ้างหรือไม่ สารพัดเรื่องที่จะเป็นไปได้

เพราะความจริงคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบเขตเลือกตั้งตามต่างจังหวัดนั้น ประชาชนคนทั้งหลายอาจจะไม่ได้นึกถึงการเข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติเลยแม้แต่น้อย หากแต่เขาคิดว่าจะสามารถพึ่งพาอาศัยไหว้วานกันได้เพียงใดแค่ไหน

เรื่องอย่างนี้สำหรับผมซึ่งเป็นชาวกรุงย่อมมองไม่เห็นความสำคัญ เพราะชาวกรุงจำนวนไม่น้อยสามารถเข้าถึงบริการของรัฐ หรือสามารถมีปากมีเสียงแสดงตัวตนของตัวเองได้โดยไม่ต้องอาศัยปากหรือมือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

แต่สำหรับต่างจังหวัด ส.ส. แทบจะเป็นยาสามัญประจำบ้านเลยทีเดียว

เพราะฉะนั้น การตัดสินใจลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบเขตจึงอาจไม่มีความสัมพันธ์อย่างไรกับระบบปาร์ตี้ลิสต์

แล้วระบบปาร์ตี้ลิสต์เราดูอะไรเป็นเกณฑ์ได้บ้างเล่า

 

ตามความคิดของผมแล้วการที่ผมหรือใครก็ตามจะเลือกพรรคการเมืองใดเป็นพรรคการเมืองในดวงใจและมอบคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้ น่าจะเป็นส่วนผสมกันระหว่างข้อมูลสองสามอย่าง

อย่างแรก หนีไม่พ้นเรื่องนโยบายครับ เราคงต้องคำนึงถึงนโยบายที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคนำเสนอในเวทีรณรงค์เลือกตั้ง

แต่เอาเข้าจริงแล้ว นโยบายของพรรคการเมืองก็ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องเดียวเสียที่ไหน เสนอมาตั้งยี่สิบสามสิบข้อ มีความเป็นไปได้สูงครับที่เราอาจจะถูกใจบางข้อและไม่ถูกใจในบางข้อ

คราวนี้ก็ต้องเลือกดูโดยภาพรวมล่ะ ว่าตัวเราเองให้ความสำคัญกับเรื่องใดเป็นพิเศษ แล้วก็ปักหมุดไม้เอานโยบายเรื่องนั้นเป็นหัวใจหลักของการตัดสินใจ

เช่น ถ้าเราให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจเหนือกว่านโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เราก็ต้องเปรียบนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองทั้งหลายว่านโยบายของพรรคใดเข้าท่าที่สุด แม้เรื่องอื่นอาจจะอ่อนไปบ้าง ก็ต้องทำใจ แล้วตัดสินใจเลือกลงคะแนนให้พรรคใดพรรคหนึ่งที่มีนโยบายเศรษฐกิจถูกใจเรามากที่สุด

หรือถ้าเราให้ความสำคัญกับนโยบายในเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องนโยบายทางการเมืองเป็นหลัก เรื่องการศึกษากว่าจะจัดอยู่ในแถวสอง ไม่ต้องนำมาเป็นตัวชี้ขาดร่วมกัน

นอกจากนโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรคแล้ว บุคคลที่อยู่ในปาร์ตี้ลิสต์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่แต่ละพรรคการเมืองนำเสนออยู่ในบัญชีที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็มีความสำคัญยิ่งยวด

เพราะนโยบายเขียนให้ดีวิเศษเลิศหรูเพียงใด แต่พอเห็นหน้าตัวละครที่พรรคนำเสนอว่าจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อขับเคลื่อนนโยบายแล้ว เราอยากจะกลั้นใจตายเสียในบัดนั้น

แบบนี้จะไปลงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้ทำไม

 

ประวัติและท่าทีบทบาททางการเมืองของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ผ่านมาในอดีตก็มีความสำคัญใช่ย่อยเสียเมื่อไหร่ ถ้ามองย้อนหลังไปแล้วพบว่าพรรคการเมืองบางพรรคมีประวัติที่ไม่น่าไว้วางใจ ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมของการพลิกไปพลิกมาโดยขาดอุดมการ การมีส่วนสนับสนุนรัฐประหารมาแล้วในอดีตไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ฯลฯ

แบบนี้ก็ลงคะแนนให้ไม่ไหวเหมือนกัน

สำหรับผมแล้ว ในการเลือกลงคะแนนในระบบปาร์ตี้ลิสต์ ผมจึงนำตัวแปรทั้งสามอย่างมาผสมกลมเกลียวกันเข้าจนตกผลึก และเกิดคำตอบสุดท้ายที่จะทำให้ผมตัดสินใจไปลงคะแนนในวันที่ 14 พฤษภาคมอย่างไร

การใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาทีในคูหาเลือกตั้ง จึงไม่ใช่การตัดสินใจเฉพาะหน้า หากแต่เป็นการประมวลผลข้อมูลที่เราได้เก็บงำไว้ในสมองของเรามาช้านาน แล้วกลั่นออกมาเป็นคำตอบสุดท้าย เป็นโอกาสที่เราจะแสดงตัวตนของเราให้ปรากฏว่าเราประสงค์จะเลือกอนาคตของเราอย่างไร

แถมยังไม่ใช่อนาคตของเราโดยลำพังด้วย แต่เป็นอนาคตของประเทศ อนาคตของลูกหลานอีกกี่ชั่วคนก็ไม่รู้ที่จะเกิดมาในวันข้างหน้า

กลางเดือนพฤษภาคมพบกันที่หน่วยเลือกตั้งนะครับ

คันไม้คันมือมานานแล้ว ฮา!