ธรรมชาติ, ศิลปะ, ชีวะ, แฮ็กเกอร์ (2) | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

เพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมงจาก Edible Makerspace พวกเราเดินทางมาถึงสำนักงานของบริษัท GenScript สาขาสิงคโปร์

ที่นี่ราวโลกอีกใบที่ต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง

ขณะที่ Edible Makerspace อยู่ในห้องรังหนูรกๆ แน่นไปด้วยอุปกรณ์มือสองหรือแฮนด์เมดเก่าๆ และบริหารจัดการโดยแฮ็กเกอร์เนิร์ดๆ สองสามคน

GenScript อยู่บนอาคารเก้าชั้น พื้นที่แล็บกับออฟฟิศรวมกันเกือบสามพันตารางเมตร

เครื่องไม้เครื่องมือใหม่เอี่ยมเรียงรายบนชั้นวางและโต๊ะทำงานโล่งสะอาด

นักวิจัยและเจ้าหน้าที่เทคนิคในชุดกาวน์ขาวเดินกันขวักไขว่

GenScript เป็นบริษัทไบโอเทคยักษ์ใหญ่มูลค่ากว่าห้าพันล้านเหรียญ ก่อตั้งโดยนักวิจัยชาวจีนในสหรัฐเมื่อกว่ายี่สิบปีก่อน

ให้บริการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ เปปไทด์ แอนติบอดี้ เอนไซม์ ฯลฯ รวมทั้งงานวิจัยพัฒนายาในกว่าร้อยประเทศ

มีสำนักงานและฐานการผลิตใหญ่ที่สหรัฐและจีน

ส่วนสาขาที่พวกเราไปเพิ่งเริ่มเปิดเมื่อปีที่แล้วเพื่อรองรับลูกค้าสายไบโอเทคที่มีอยู่หนาแน่นในสิงคโปร์และเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งกระจายความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ภาคธุรกิจเปิดกว้างกับแก๊ง BioArt ของพวกเราจนน่าประหลาดใจ

ที่ GenScript นักวิจัยหัวหน้าฝ่ายผลิตมาเปิดห้องประชุมต้อนรับ และพาพวกเราเดินชมห้องแล็บทั้งๆ ที่เป็นเช้าวันเสาร์

นอกจากบริษัทใหญ่อย่าง Genscript เรายังได้เจอกับสตาร์ตอัพดาวรุ่งอย่าง Allozyme (บริการวิศวกรรมเอนไซม์เพื่อการแพทย์ เกษตร และอุตสาหกรรม) และ Prefers (พัฒนาเทคนิคการหมักเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่ม)

เราได้คนร่วมเวิร์กช็อปจากฝั่งธุรกิจอย่าง NEXTER LIVING (สตาร์ตอัพภายในของเครือซิเมนต์ไทย) และ Nalagenetics (สตาร์ตอัพด้านการแพทย์แม่นยำของสิงคโปร์-อินโดนีเซีย)

การผสมผสานระหว่างนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายชัดเจนอย่างในภาคธุรกิจเหล่านี้ และที่ขับเคลื่อนความอยากรู้อยากเห็นล้วนๆ อย่างกลุ่มแฮ็กเกอร์/เมกเกอร์ตอนที่แล้วน่าจะทำให้วิทยาการก้าวหน้าไปไกล

(บนซ้าย) ศูนย์วิจัยใหม่ของ GenScript สาขาสิงคโปร์, (บนขวา) เรื่องเล่าจากผู้ก่อตั้ง Prefers, (ล่างซ้ายและขวา) เรื่องเล่าจาก Allozyme

สถานีถัดไปจาก Edible Makerspace และ GenScript คือ Ground-Up Initiative (GUI) โลกอีกใบที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิงอีกครั้ง

เพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมงพวกเราเดินทางจากห้องแล็บล้ำสมัยของบริษัทไบโอเทคระดับโลกมาสู่หมู่บ้านเล็กๆ ในป่าขนาดกว่าห้าไร่ใจกลางเมือง

หนึ่งในผู้ก่อตั้ง GUI พาพวกเราเดินชมบรรยากาศรอบๆ ที่ทำให้พวกเราแทบไม่เชื่อสายตาว่าเรายังอยู่ในสิงคโปร์

ต้นไม้ที่ขึ้นครึ้มแน่นไร้ระเบียบข้างลำคลอง เรือนปลูกผักที่สร้างขึ้นหยาบๆ จากพลาสติกเหลือทิ้งกับท่อพีวีซีเก่าๆ เตาถ่านประกอบเองจากท่อนไม้ไผ่ฉาบปูน บ้านสองชั้นกลางดงไม้เลื้อยข้างโรงอาหารอบอวลกลิ่นน้ำหมักออร์แกนิก

มิตรสหายชาวอินโดนีเซียคนหนึ่งในทีมทักผมว่าที่นี่ให้ความรู้สึกเหมือนชุมชนชายแดนสักแห่งในประเทศโลกที่สามของพวกเรา

GUI เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรก่อตั้งโดยกลุ่มอาสาสมัครที่เชื่อว่ามนุษย์ควรจะรักษาความสัมพันธ์กับธรรมชาติที่แท้ กับผืนดินที่เรายืนเหยียบ กับสังคมรอบๆ และตัวตนภายใน

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เมื่อเราได้ลงมือลงแรงทำกิจกรรมร่วมกัน กิจกรรมมือเปล่ากับอุปกรณ์โลว์เทคสุดๆ ที่เพียงพอต่อการผลิตปัจจัยพื้นฐาน อย่างการเพาะปลูก ปรุงอาหาร หัตถกรรมจากไม้และวัสดุเหลือใช้อื่น ฯลฯ

GUI แสดงความกังวลว่าการผลักดันเทคโนโลยีขั้นสุดเพื่อทำทุกอย่างแบบอัตโนมัติด้วยประสิทธิภาพสูงสุดจะทำให้รากเหง้าแห่งความเป็นมนุษย์นั้นสูญหายไป

ทีม GUI ใช้เวลากว่าสิบปีสร้างชุมชนเล็กๆ ในป่าแห่งนี้ แต่รัฐบาลกลางมองว่าการเกษตรและดำรงชีพวิถีธรรมชาติสไตล์ GUI นั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับความอยู่รอดของประเทศเกาะเล็กๆ อย่างสิงคโปร์

ช่วงโควิด-19 ระบาดที่ใครๆ ก็ต่างปิดประเทศทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักและสิงคโปร์ต้องเผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหาร บทเรียนนี้ทำให้รัฐบาลตั้งเป้าว่าสิงคโปร์ต้องพึ่งพาตัวเองด้านการผลิตอาหารให้มากที่สุด

หมุดหมายสำคัญคือภายในปี 2030 จะต้องผลิตอาหารได้เองอย่างน้อย 30% ของความต้องการภายในประเทศ

ด้วยขนาดพื้นที่จำกัดสิงคโปร์ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง การเกษตรแม่นยำ การเกษตรแนวตั้ง เนื้อเพาะเลี้ยง ฯลฯ

ในมุมความมั่นคงของชาตินี่อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียความสัมพันธ์กับธรรมชาติที่แท้

ทีม GUI เล่าว่าพวกเขาต่อสู้เรียกร้องเพื่อรักษาชุมชนกลางป่าแห่งนี้มาตลอดสิบกว่าปี รอบนี้พวกเขาอาจจะทำไม่สำเร็จและต้องย้ายออกไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

บรรยากาศบ้านๆ ที่ Ground Up Initiative

ประเด็นความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาเพื่อความอยู่รอดกับการรักษาธรรมชาติและความเป็นมนุษย์ปรากฏขึ้นหลายครั้งในบทสนทนาระหว่างทีมของเรากับคนท้องถิ่นตลอดห้าวันของเวิร์กช็อป

วันก่อนหน้ากลุ่ม Urban Jungle Folks (UJF) พาพวกเราเดินชมต้นไม้ใบหญ้าริมถนนและสวนสาธารณะของสิงคโปร์ที่ได้ชื่อว่าเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และเขียวขจีที่สุดในโลก

UJF เล่าว่าแม้แต่ใบไม้ซักใบที่ร่วงหล่นอยู่กับพื้นที่นี่ก็มีกฎหมายห้ามเก็บ

กฎระเบียบเข้มงวดรักษาสวนที่งดงามเหล่านี้ไว้ได้ก็จริงแต่ทำให้คนสิงคโปร์ทั่วไปแทบไม่มีความรู้เลยว่าต้นไม้เหล่านี้คืออะไร อะไรกินได้/ไม่ได้ มีฤทธิ์ทางยาอย่างไร

เมื่ออาหารขาดแคลนตอนโควิด-19 ทุกคนแย่งกันไปซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งๆ ที่มีของกินได้อยู่รอบตัว

พันธกิจของ UJF คือการช่วยกันเติมเต็มความรู้ประชาชนเรื่องนี้

“เราต้องเป็นที่หนึ่งเท่านั้น ที่สองไม่มีค่าอะไร” ครูท่านหนึ่งในกลุ่มผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปเล่าให้เราฟังถึงค่านิยมของชาวสิงคโปร์ที่ปลูกฝังไล่กันลงมาตั้งแต่ระดับรัฐบาลกลาง บริษัท สถาบันการศึกษา ลงมาถึงระดับครอบครัว

เธอบอกว่าครูที่นี่เงินเดือนสูงมากแต่ก็ยังมีคนลาออกไม่น้อยเพราะทนความกดดันเพื่อ “เป็นที่หนึ่ง” จากทั้งโรงเรียนทั้งผู้ปกครองไม่ไหว

ความทะเยอทะยานในการพัฒนาบวกกับความเข้มงวดเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยทำให้ประเทศเกาะเล็กๆ แห่งนี้เดินทางมาไกล

แต่ก็อาจจะต้องทิ้งบางสิ่งที่สำคัญมากๆ ไว้ข้างหลัง

สำรวจงานศิลปะรอบสิงคโปร์

ระหว่างเดินทางไปทั่วสิงคโปร์ พวกเราได้เห็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะหลายแหล่งซ่อนตัวอยู่ในสวน ค่ายทหารเก่า และโกดังเก็บของ

ศิลปะเหล่านี้อาจเป็นวิธีเดียวที่ผู้คนพยายามรักษาความเป็นมนุษย์และธรรมชาติที่แท้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เวิร์กช็อป BioArt : Intimacy with Nature คราวนี้น่าสนใจตรงที่เราไม่ได้สร้างงานศิลปะในความหมายแบบดั้งเดิมมากนัก

กิจกรรมกลุ่มกับการเสวนาแบ่งปันความคิดกับเพื่อนศิลปินทำให้เราเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่าศิลปะคืออะไรและมีบทบาทอย่างไรในชีวิตของเรา

ที่ GUI ศิลปินจากไต้หวัน Esther Lu นำกิจกรรม “Echolocation” ให้พวกเราสวมวิญญาณวาฬไฮบริด นำทางด้วยเสียงสะท้อนขณะตาปิดสนิท และการสื่อสารกันโดยไม่ใช้คำพูด

สอนบทเรียนเกี่ยวกับสติ ความขี้เล่น และความสำคัญของการรักษาโสตสัมผัสของสิ่งที่มีความหมายต่อเรา

ส่วน Din Chan ศิลปินชาวสิงคโปร์และ Wave Pongruengkiat นำกิจกรรม “Spirit House” ให้เราได้ลองสร้างศาลเจ้าเล็กๆ จากกิ่งไม้ และใบไม้รอบๆ GUI ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาที่จะปกป้องและรักษาจิตวิญญาณของแผ่นดินเอาไว้

การสนทนากับศิลปินเสียงชาวสิงคโปร์ Cheryl Ong และนักประวัติศาสตร์ศิลปะและภัณฑารักษ์ชาวเยอรมัน Regine Rapp ช่วยพวกเรารู้จักศิลปะในฐานะเครื่องมือบันทึกและสื่อสารประสบการณ์ Cheryl แบ่งปันความสนใจของเธอในการบันทึกเสียงการเจริญเติบโตของไมซีเลียมจากรา

 

นอกจากนี้ เธอยังพูดถึงการแสดงเสียงแบบด้นสด การโต้ตอบกันด้วยสารพัดเครื่องเคาะ ดีด เป่า ฯลฯ บทเวทีราวกับบทสนทนา

ส่วน Regine เน้นย้ำถึงความสำคัญของการวิจัยเชิงลึกและการลงมือทำจริงกับเครื่องมือชีววิทยาเพื่อสร้าง BioArt

เธอยังให้คำแนะนำในการชื่นชมศิลปะโดยปล่อยให้มันดึงดูดเราและนำเสนอตัวเองออกมา “เมื่อคุณเดินเข้าแกลเลอรี่ ถ้าเจองานแค่ 2-3 ชิ้นที่โดนก็ถือว่าคุ้มแล้ว ไม่ต้องโลภมากพยายามดูและเข้าใจทุกชิ้น”

ศิลปินเลือกแง่มุมที่น่าสนใจของธรรมชาติและชีวิตมาเล่าเรื่องผ่านศิลปะแขนงต่างๆ อาจจะยังอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ว่าทำไม มีเพียงความรู้สึกเบื้องลึกบอกว่ามันสำคัญพอจะอุทิศเวลาและแรงกายสร้างงานสักชิ้นขึ้นมาเก็บช่วงประสบการณ์นั้นๆ ไว้

งานศิลปะทำหน้าที่เข้ารหัส อนุรักษ์และเผยแพร่ “แก่นสำคัญ” เกี่ยวกับประสบการณ์ของเรา

แก่นสำคัญนี้อาจจะเกินความสามารถของผู้สร้างที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่วันหนึ่งข้างหน้า ผู้ชมที่หลากหลายอาจจะนำมุมมองที่แตกต่างมาตีความ ดึงแก่นและถอดรหัสความหมายที่เหนือกว่าศิลปินผู้สร้างจะอธิบายได้

BioArt : Intimacy with Nature ย้ำถึงบทบาทของศิลปะในการรักษาความเป็นมนุษย์ เราได้เห็นว่าความอยากรู้อยากเห็นของแฮ็กเกอร์/เมกเกอร์อย่าง Saad กับ Darin และความเชี่ยวชาญเชิงลึกของนักชีววิทยาตัวอาร์ตอย่าง Hideo กับ George สามารถกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในสาขานี้ ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพจำเป็นต่อการขับเคลื่อนความก้าวหน้า

ในขณะที่ผู้รักธรรมชาติ เช่น Urban Jungle Folks และ Ground-Up Initiative เตือนเราถึงความสำคัญของสายสัมพันธ์กับธรรมชาติ

ศิลปินและภัณฑารักษ์อย่าง Cheryl กัน Regine ได้แสดงให้เราเห็นว่าศิลปะสามารถบันทึกเรื่องราวและทำให้เราเข้าใจโลกรอบตัวเราลึกซึ้งขึ้นได้อย่างไร

มุมมองที่หลากหลายเหล่านี้จำเป็นต่อการสร้างความสมดุลระหว่างความก้าวหน้าและการอนุรักษ์ เมื่อเราเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความท้าทายในโลกปัจจุบัน