เมื่อ ‘บิ๊กบี้’ เจอบี้? เขย่า ทบ. วัดดวง ตท.23 จับตาคีย์แมน ตท.2 ชิงเลขาฯ สมช.

เมื่อ ‘บิ๊กบี้’ เจอบี้? เขย่า ทบ. วัดดวง ตท.23 กลางการเมืองร้อน จับตาคีย์แมน ตท.24 ชิงเลขาฯ สมช. กับเส้นทาง ‘บิ๊กหนุ่ย’

 

การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้มีผลแค่การแต่งตั้งโยกย้ายทหารครั้งสำคัญ ที่เป็นครั้งใหญ่เพราะเปลี่ยนผู้บัญชาการเหล่าทัพยกแผงเท่านั้น

แต่เก้าอี้ใหญ่ที่ตึกแดง ทำเนียบรัฐบาล ที่รอนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาชี้ชะตาด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเก้าอี้ที่มักจะได้รับผลกระทบจากการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร และมักต้องเป็นที่รองรับทหารที่อกหักจากเก้าอี้ใหญ่ในกองทัพเสมอ

อย่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่จะต้องมีการเปลี่ยนคนใหม่ เนื่องจากบิ๊กไก่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม จะเกษียณกันยายน 2566 นี้ หลังนั่งมาจะ 2 ปี

พล.อ.สุพจน์ ก็เป็นนายทหารที่พลาดหวังจากเก้าอี้ ผบ.ทหารสูงสุด เพราะตอนนั้น บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.คอแดงคนแรก และ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 คนแรกด้วย ส่งบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ที่เป็นทหารคอแดง จาก ทบ. มาจ่อเป็นเสนาธิการทหาร และขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด คอแดงคนแรก นั่งยาว 3 ปี

ดังนั้น เลขาฯ สมช.คนต่อไป ก็ถูกจับจ้องว่า จะต้องเป็นทหารอีกหรือไม่ เพราะต้องมีนายทหารที่พลาดหวังจากเก้าอี้ ผบ.ทหารสูงสุด

พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์, พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี,พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง

หากบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทหารสูงสุด ขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด คอแดงคนที่ 2 ก็จะทำให้บิ๊กจ่อย พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 24 ทหารคอเขียว อาจต้องถูกส่งออกมาเป็นเลขาฯ สมช. หรือไม่

หรืออาจเป็นบิ๊กทหารคนอื่น ที่เริ่มมีชื่อเป็นแคนดิเดตเลขาฯ สมช. เช่น เสธ.หยอย พล.อ.อุกฤษฏ์ บุญตานนท์ เสธ.ทบ. ทหารคอเขียว อายุน้อย เกษียณกันยายน 2570 ที่เคยถูกวางตัวเป็นปลัดกลาโหมคนต่อไป เพราะบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ เพื่อน ตท.24 จะเกษียณกันยายน 2568

แต่ข่าวสะพัดในกลาโหมว่า มีการวางตัวบิ๊กปั้น พล.อ.ไพบูลย์ วรวรรณปรีชา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม (ผอ.สนผ.กห.) เพื่อนรัก ตท.24 ของ พล.อ.สนิธชนก ต่อคิวเป็นปลัดกลาโหมเอาไว้อีกคน

รวมไปถึงชื่อของ ตท.24 อีกคน อย่างบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มาละคำ ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. แถมเป็นทหารคอแดง ที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2569

พล.อ.ธราพงษ์ มาละคำ

เพราะเส้นทางของ พล.อ.ธราพงษ์ ต้องพลิกผัน ในการโยกย้ายตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา จากแม่ทัพน้อยที่ 1 ที่เป็นตัวเต็งขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1 แบบที่เรียกว่า แช่แป้ง แต่ก็เจอฟ้าผ่า ต้องหลีกทางให้บิ๊กปู พล.ท.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ที่มี “สัญญาณแรง” ถูกส่งไปฝึกหลักสูตรทหารคอแดง แล้วก็ขึ้นจากรองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่เป็นน้องเล็ก ตท.26 เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เลย แบบที่เรียกว่า รุ่นพี่ ตท.24 ที่เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 รวมทั้ง พล.อ.ธราพงษ์ แม่ทัพน้อยที่ 1 ตอนนั้น ต้องกระจัดกระจาย หลบหลีกทางให้

ดังนั้น พล.อ.ธราพงษ์จึงกลายเป็นแคนดิเดตปลัดกลาโหมอีกคน ที่ต้องจับตาว่า โยกย้ายตุลาคมนี้ ถ้าถูกส่งจาก ทบ.ไปกลาโหม ก็มีแนวโน้มสูงที่จะได้เป็นปลัดกลาโหม และจะเป็นปลัดกลาโหมคอแดงคนแรก

แต่หากระดับ “หน่วยเหนือ” เกรงว่าจะตอกย้ำปัญหาความแปลกแยก น้อยเนื้อต่ำใจของทหารคอเขียว กับคอแดง ก็สามารถเสนอถอด “คอแดง” ออกได้ เพื่อให้ พล.อ.ธราพงษ์กลับมาเป็นทหารคอเขียว

เพราะเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีคำสั่งปลดคอแดงกว่า 70 นาย รวมทั้งระดับนายพล ไม่ใช่เพราะมีความผิด แต่เพราะไม่ได้อยู่ใน ฉก.ทม.รอ.904 แล้ว และถูกมองว่าหลุดไลน์ ทั้ง 3 ทหารม้า บิ๊กบุ๋ม พล.อ.สุวิทย์ เกตุศรี ผบ.ศปร. บก.ทัพไทย รองรุณ พล.ท.กันตพจน์ เศรษฐรัศมี รอง เสธ.ทบ. และ เสธ.แนน พล.ต.พนาเวศ จันทรังสี อดีตเจ้ากรมการสัตว์ ทบ.

แต่ท้ายที่สุด ก็ต้องรอดูว่า หลังเลือกตั้ง ใครจะมาเป็นนายกฯ และ รมว.กลาโหม หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาอีกสมัย ก็อาจจะไม่มีแรงกระเพื่อมในการโยกย้ายมากนัก

และหากเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และไม่ว่าจะควบ รมว.กลาโหมเองหรือไม่ หรือให้บิ๊กน้อย พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรืออดีตบิ๊กทหาร น้องรักสายตรงคนอื่น เป็น รมว.กลาโหมก็ตาม โอกาสของ พล.อ.ธราพงษ์ ที่จะขึ้นเป็นปลัดกลาโหม ก็มีสูง

เช่นเดียวกับที่โอกาสของบิ๊กโต พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผช.ผบ.ทบ. สายคอแดง ลูกรัก จะขึ้นเป็น ผบ.ทบ. แม้ว่านายกฯ และ รมว.กลาโหม จะไม่อาจแทรกแซงการแต่งตั้ง ผบ.ทบ.ได้ก็ตาม แต่เส้นทางจะราบรื่นมากกว่า

แต่หากเป็น พล.อ.ประยุทธ์ได้อยู่ต่อ โอกาสของบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. ที่เป็นเต็งหนึ่ง ผบ.ทบ. จะสูงกว่า

เพราะรู้กันดีว่า พล.อ.อภิรัชต์ รองเลขาธิการ สนว. ยังคงมีบทบาทต่อทิศทางกองทัพ โดยเฉพาะในยุคที่บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เป็น ผบ.ทบ. และ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904

เพราะระหว่าง พล.อ.เจริญชัย และ พล.อ.สุขสรรค์ ที่เป็นเพื่อน ตท.23 กัน หากใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้เป็น ผบ.ทบ. ก็อาจจะถูกส่งไป บก.ทัพไทย เพื่อเป็น ผบ.ทหารสูงสุด 1 ปี เพราะเกษียณกันยายน 2567 จากนั้น พล.อ.ทรงวิทย์ รุ่นน้อง ตท.24 ที่เกษียณกันยายน 2568 จึงค่อยขึ้น ผบ.ทหารสูงสุดก่อนเกษียณ

เป็นไปตามกระแสข่าว ใน ตท.23 ที่ว่า ผบ.เหล่าทัพชุดใหม่ ในโผตุลาคมนี้ จะเป็น ตท.23 ทั้งหมด ทั้ง ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ.คนใหม่

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม

แต่ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. ก็ต้องอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปต่อ มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล หรือเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี

การจัดวางตัวแม่ทัพนายกองในกองทัพจากการแต่งตั้งโยกย้าย จะมีผลต่อเลขาฯ สมช.คนต่อไป ที่จะต้องมีบิ๊กทหาร ในจำนวนนี้จะต้องถูกส่งออกมาอยู่ตึกแดง ทำเนียบรัฐบาล จากโผโยกย้ายที่ไม่ลงตัว

หาก พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร ได้เป็นนายกฯ โอกาสที่เลขาฯ สมช.จะเป็นทหารจากโผโยกย้ายที่ไม่ลงตัว ก็มีสูง

แต่อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวใน สมช.ว่า พล.อ.สุพจน์เองต้องการให้พลเรือนใน สมช. ได้ขึ้นเป็นเลขาฯ สมช.บ้าง เพราะทหารมาปิดทางคนในมาหลายครั้งหลายหนแล้ว

แม้ว่า 3 รองเลขาฯ สมช.ที่มีอยู่ตอนนี้ จะมีอายุราชการอีกหลายปี เกษียณปี 2570 ก็ตาม แต่กลับเป็นข้อดีที่จะได้ทำงานต่อเนื่อง

เพราะ พล.อ.สุพจน์ที่นั่งเลขาฯ สมช. 2 ปี ยังมองว่า การเอาคนที่เหลืออายุราชการปีเดียวมาเป็นเลขาฯ สมช. จะทำงานไม่ต่อเนื่อง แป๊บเดียวเกษียณแล้ว เพราะขนาดนั่ง 2 ปี ยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมากมาย เพราะงานความมั่นคงมีหลายมิติ และยิ่งซับซ้อนมากขึ้นในโลกปัจจุบัน

เพราะในบรรดา 3 รองเลขาฯ สมช.นั้น ก็ล้วนเป็นพลเรือนสายความมั่นคงที่เป็นคนเก่ง มีความสามารถ เช่น รองฉัตร นายฉัตรชัย บางชวด เป็นรองเลขาฯ สมช. (1) ที่มีบทบาทสำคัญ เพราะดูแลความมั่นคงในฝ่ายทหารมายาวนาน เป็นที่รู้จักคุ้นเคยกับนายทหารในกองทัพ และอยู่ในคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้มาหลายยุค จนปัจจุบัน และเป็นคนเรียบง่าย เดินไปไหนมาไหนคนเดียว

ขณะที่นายรัชกรณ์ นภาพรพิพัฒน์ รองเลขาฯ สมช. (2) นั้น จะดูแลสายพลเรือน แม้จะมีบุคลิกภาพที่แตกต่าง แต่ที่ถูกจับตาคือ เป็นเพื่อนสนิทรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ของนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม รองเลขาฯ นายกฯ ที่ใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ และถูกส่งไปเรียน วปอ.รุ่นที่แล้ว พร้อมกันทั้ง 2 คน

ส่วนนายวรณัฐ คงเมือง รองเลขาฯ สมช. (3) เพิ่งมารับหน้าที่ และดูแลความมั่นคงสายการเมืองระหว่างประเทศ Siri ก็ล้วนเป็นคนเก่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เก้าอี้เลขาฯ สมช.นี้เป็นเก้าอี้การเมือง ที่แล้วแต่นายกฯ และฝ่ายความมั่นคงจะร่วมกันพิจารณา และต้องต่อสู้กับกองทัพ ที่ยังไม่ต้องการปล่อยเก้าอี้นี้ให้พลเรือน เพราะยังเชื่อว่า งานความมั่นคง ต้องทหารเท่านั้นที่จะทำได้ดีกว่า หากเปลี่ยนรัฐบาล ไม่ใช่นายกฯ ทหารเก่า โอกาสที่คนใน หรือข้าราชการพลเรือน สายตรงการเมือง จะย้ายมาเสียบยอดเลยก็เป็นได้

และต้องรอดูว่า บทบาทของ พล.อ.สุพจน์ จะสามารถผลักดันให้พลเรือน รองเลขาฯ สมช.คนใดเอาชนะฝ่ายทหารได้เป็นเลขาฯ สมช.ได้หรือไม่

ในอีกไม่กี่เดือน จะเข้าสู่ฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้ายทหารปลายปีครั้งใหญ่ ที่ต้องเปลี่ยน ผบ.เหล่าทัพ 4 คนพร้อมกัน เพราะเกษียณ โดยรัฐบาลใหม่ที่ยังไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่า จะเป็นนายกฯ หน้าเก่า หรือคนใหม่ เพราะหากใครมาเป็นรัฐบาล จะได้โยกย้ายทหารครั้งนี้ด้วย

จึงไม่แปลกที่มีรายงานว่า พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ได้หารือกับ ผบ.เหล่าทัพ ยืนยันในความเป็นกลางทางการเมือง โดยเฉพาะในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ที่กองทัพถูกจับตามองมาก เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วน พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ก็เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งทั้งคู่เป็นทั้งผู้บังคับบัญชา เป็นนาย และเป็นรุ่นพี่ จนฝ่ายการเมืองหวั่นว่าจะมีการเทคะแนนให้ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์

ประเด็นนี้ บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. เคร่งครัดมาก อีกทั้งเป็นทหารคอแดง ทหารอาชีพ จึงสั่งห้าม ผบ.หน่วยทุกระดับ ไม่ให้สั่งกำลังพลให้เลือกใคร ช่วยใคร ในการเลือกตั้งนี้ โดยให้กำลังพลตัดสินใจเอง

มีรายงานว่า ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร รู้ดีว่าไม่อาจมีอิทธิพลเหนือ ผบ.เหล่าทัพ หรือไปสั่งให้ช่วยพรรคตัวเองได้ เพราะบทบาท 3 ปีที่เป็น ผบ.ทบ. พล.อ.ณรงค์พันธ์วางบทบาทได้ดี มีระยะห่างกับการเมือง

ดังนั้น หากใครขัดคำสั่ง วางตัวไม่เป็นกลาง จะถูกลงโทษทันที

 

โดยมีประเดิมแล้วในโผโยกย้าย 127 ผู้การกรม หรือโผพันเอกพิเศษ ล่าสุด ที่ย้ายทั้งผู้บังคับการกรม 2 กรมหลัก เข้ากรุประจำ จนทำให้ พล.ร.11 กองพลสไตรก์เกอร์ สั่นสะเทือน

หลังมีสายตรงจากทำเนียบรัฐบาล ถึง พล.อ.ณรงค์พันธ์ รายงานว่ามีนายทหารวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง เพราะไปร่วมงานของนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่ ที่ไม่ใช่พรรค รทสช. และยังเป็นคนละขั้วแล้ว โดยมีภาพปรากฏ จึงทวงถามความเป็นกลาง เช่นที่ประกาศไว้

จนมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน เป็นการภายใน ทบ. ก่อนที่จะโยกย้าย เพราะแรงกดดัน ทั้งๆ ที่นายทหารทั้ง 2 นายนี้ เป็นน้องรักของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ที่วางตัวให้เจริญเติบโตไว้หมาดๆ

ทั้งนี้ ในความเป็นจริง ผบ.หน่วยทหารในต่างจังหวัด ต่างต้องสานสัมพันธ์กับข้าราชการ ตำรวจ และนักการเมืองในพื้นที่ เพื่อการประสานงาน ความร่วมมือต่างๆ เป็นเช่นนี้มายาวนานแล้ว

แม้ พล.อ.ณรงค์พันธ์จะเข้าใจดี แต่แรงกดดันทำให้ต้องย้ายลูกน้องตัวเองเข้ากรุ จนเป็นที่รู้กันดีใน ทบ.ว่า งานนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ต้องยอมกลืนเลือดเลยทีเดียว

เรื่องนี้จึงกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ของกองทัพบกเลยทีเดียว

แม้จะยังไม่มีการยืนยันว่า สาเหตุที่แท้จริงคืออะไรก็ตาม

แต่ก็ทำให้บรรยากาศในกองทัพตึงเครียดขึ้น

อันเป็นผลพวงจากการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้