กาง ‘พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้’ สร้างความเท่าเทียม ลดเหลื่อมล้ำ ??

หลังจากผลักดันเรื่องนี้กันมายาวนาน ในที่สุด พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

โดยกฎหมายฉบับนี้ จะมีผลใช้บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศ ซึ่งก็คือวันที่ 19 พฤษภาคม 2566

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ มีดังนี้ ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 และยกฐานะสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จากหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (กสร.) ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภายใต้ ศธ.

สำหรับ กสร.มีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ

1. การเรียนรู้ตลอดชีวิต

2. การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง

และ 3. การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ

การตั้ง กสร.ตามกฎหมายฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคคลให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

เป็นคนดี มีวินัย รู้จักสิทธิควบคู่กับหน้าที่ และความรับผิดชอบ ภูมิใจและตระหนักในความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

รู้จักรักษาประโยชน์ส่วนรวม และของประเทศชาติ รู้จักความพอเพียง มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ใฝ่เรียนรู้ มีความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง มีคุณธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริต

รวมทั้งมีสำนึกในความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มีความเป็นพลเมืองที่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมไทย และสังคมโลกได้อย่างผาสุก เพื่อให้บุคคลมีทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต ที่สอดคล้อง และเท่าทันพัฒนาการของโลก และมีโอกาสพัฒนา หรือเพิ่มพูนทักษะของตนให้สูงขึ้น หรือปรับเปลี่ยนทักษะของตนตามความถนัด หรือความจำเป็น

 

หลังจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ประกาศแล้ว หน่วยปฏิบัติอย่าง ศธ.จะต้องเร่งดำเนินการเปลี่ยนผ่านทันที

โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้กางโรดแม็ป ยุบ กศน.และยกระดับ กสร.ว่า ศธ.ได้กำหนดภารกิจที่ต้องทำให้เสร็จในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

เพื่อให้เกิดการตั้ง กสร.ที่สมบูรณ์ พร้อมกับประสาน สป.ศธ.เพื่อออกแบบ และแนวทางให้ได้มาซึ่งคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กสร. และประสานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อออกแบบ และแนวทางให้ได้มาซึ่งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) กสร.

ทั้งนี้ จะต้องรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อจัดตั้ง ยุบ รวม เลิก รวมถึงโอนภารกิจ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้สิน รวมถึงข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังทั้งหมด จาก สป.ศธ.ไปขึ้นกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้

นอกจากนี้ เร่งรัดให้มีการจัดทำกฎหมายรอง ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 เพื่อจัดเตรียมกฎหมาย ประกาศกระทรวง ประกาศกรม และระเบียบกรมไว้ เพื่อให้เกิดการจัดทำให้แล้วเสร็จทันตามกรอบของระยะเวลาในแต่ละมาตรา

 

ด้าน ดร.คมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. ในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการ กศน.กล่าวว่า นอกจากจะเร่งดำเนินการเตรียมพร้อมด้านต่างๆ ให้เสร็จเร็วที่สุดแล้วนั้น ในส่วนเรื่องโครงสร้างของ กสร.ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาจัดทำกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่มีการยกฐานะขึ้นมาเป็น กสร.ก็จะใช้โครงสร้างของ กศน.เดิมไปพลางก่อน เพราะเรื่องนี้ต้องดำเนินการอย่างละเอียด รอบคอบ และครอบคลุมที่สุด

แม้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการจัดการศึกษา แต่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กลับมองว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย…

สำหรับข้อดี ศ.ดร.สมพงษ์มองว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ จะทำให้พื้นที่ของเด็กเยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษา ประมาณ 9 แสนคน กับผู้ใหญ่ที่เป็นแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน มีโอกาสได้รับการศึกษา พัฒนาตนเอง และเข้าถึงการมีวุฒิการศึกษาที่ง่ายขึ้น

“ทำให้ผู้เรียนสามารถสะสมความรู้เพื่อเอามาเทียบโอนของวุฒิการศึกษาได้ สิ่งที่ตามมาคือ เราจะมีธนาคารหน่วยกิต ทำให้รอยต่อการศึกษาไม่แยกส่วนกัน นอกจากนี้ ยังมีการกระจายอำนาจการจัดการเรียนรู้ไปในระดับพื้นที่มากขึ้น คือมีศูนย์การเรียนรู้ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล อีกทั้งมีระบบหลักสูตรที่ยืดหยุ่น ทำให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาง่าย สามารถเรียนตามความสนใจ ความต้องการของตนได้” ศ.ดร.สมพงษ์ระบุ

ส่วนข้อเสีย ศ.ดร.สมพงษ์มองว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ เน้นแต่การยกระดับ กศน.ให้เป็น กสร.เป็นเสียส่วนใหญ่ แต่ความเป็นกรม มีอธิบดี ท่ามกลางองค์กรหลัก ประกอบด้วย สป.ศธ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะทำให้เกิดความลักลั่นขึ้นใน ศธ. หรือไม่

ประกอบกับความเป็น “กรม” ในระบบราชการที่แข็งตัว จะทำให้ กสร.มีความแข็งตัว ไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างยืดหยุ่นได้ตามหน้าที่ที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.หรือไม่??

นอกจากนี้ สิ่งที่หายไปใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ กลุ่มเป้าหมาย แม้จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัย แต่ กสร.จะกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และมีแนวทางจัดการศึกษาอย่างไรให้ครบคลุมประชาชนทุกช่วงวัยอย่างไร??

ที่สำคัญคือ “กลุ่มครูนอกระบบ” ที่ถูกพูดถึงน้อย แต่ครูกลุ่มนี้เป็นส่วนสำคัญมากที่สุดในการขับเคลื่อนการศึกษา ดังนั้น ควรจะมีความชัดเจนเรื่องนี้มากขึ้น แม้ยังมีข้อดีคือ ผู้ที่จะเข้ามาเป็นครู ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูก็ได้ อาจจะเป็นคนในพื้นที่มีความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และผู้ที่มีความรู้ด้านต่างๆ ที่อยากจะสอนหนังสือ แต่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เข้ามาถ่ายทอดความรู้ให้ประชาชนได้

หวังว่ากฎหมายฉบับนี้ จะเป็นก้าวสำคัญของการศึกษา ที่ทำให้ผู้เรียนทุกช่วงวัย เข้าถึงการเรียนรู้ได้ตามความพร้อม และศักยภาพของบุคคล ทำให้เกิดความเสมอภาค และเท่าเทียมกันของทุกคนในการได้รับการศึกษา นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างแท้จริง!! •

 

 

| การศึกษา