ประวัติศาสตร์จอมปลอม จารึกไว้ให้โดย AI

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ประวัติศาสตร์จอมปลอม

จารึกไว้ให้โดย AI

 

ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมาอย่างยาวนานน่าจะถูกประสบการณ์บ่มเพาะให้เรารู้ดีว่าภาพที่เราเห็นไม่จำเป็นต้องสะท้อนความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์เสมอไป

ตั้งแต่ภาพเซลฟี่ของเพื่อนที่หน้านวลเนียนหุ่นเป๊ะปังราวกับเป็นคนละคนกับที่เราเพิ่งเจอหน้าไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

ไปจนถึงภาพใส่ร้ายป้ายสีบุคคลมีชื่อเสียงที่เราเรียกกันว่าเป็นภาพตัดต่อ ทั้งหมดนี้หลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของอินเตอร์เน็ตและเรามีหน้าที่ต้องคอยหาจุดผิดสังเกตให้เจอและไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ

ที่ผ่านมาการจะหาจุดผิดสังเกตที่ว่านั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลังสักเท่าไหร่ แต่ใครจะนึกว่าผ่านมาไม่นาน ตอนนี้เราก็ได้เดินทางมายุคที่เราอาจจะกำลังมองภาพของเหตุการณ์หายนะเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์เลยก็ได้

เมื่อเร็วๆ มานี้มีคนแชร์ภาพถ่ายบนเว็บไซต์ Reddit เป็นภาพจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในแคนาดาและมลรัฐวอชิงตันและโอเรกอนของสหรัฐ

ในอัลบั้มภาพกว่า 20 ภาพ ประกอบไปด้วยภาพของผู้ใหญ่และเด็กที่สีหน้าแตกตื่นอยู่ภายในอาคาร

ภาพความเสียหายของถนนและสิ่งก่อสร้างในเมือง ภาพผู้คนที่มีสีหน้าว้าวุ่นเป็นทุกข์อยู่บนถนนที่มีเศษปูนกลาดเกลื่อน

และภาพการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตตัวเปื้อนฝุ่นออกจากซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้าง

ทุกภาพล้วนชวนให้เกิดความรู้สึกหดหู่ เวทนาในชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ติดอยู่อย่างเดียวตรงที่ไม่มีใครจำได้เลยว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นตอนไหน

เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นจริง

ภาพที่แสนจะสมจริงเหล่านี้เป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นด้วย Midjourney หรือเครื่องมือ AI ที่ช่วยให้เราสร้างภาพอะไรขึ้นมาก็ได้ผ่านการพิมพ์ข้อความคำสั่งลงไปว่าอยากได้ภาพอะไร

ชุดภาพเหตุการณ์แผ่นดินไหวชุดนี้สมจริงจนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางและถูกดันให้เป็นไฮไลต์บนหน้าแรกของเว็บไซต์

เสริมความสมจริงด้วยคำอธิบายเหตุการณ์ใต้ภาพอย่างละเอียด เช่น ‘ภาพเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ในแวนคูเวอร์ดึงผู้รอดชีวิตออกจากร้านหนังสือที่พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว’ หรือ ‘ภาพแคปเจอร์จากวิดีโอที่บันทึกในระหว่างเกิดเหตุแผ่นดินไหวความรุนแรง 9.1 แม็กนิจูดในโอเรกอน’

คำอธิบายด้วยสำนวนภาษาแบบเดียวกับสำนักข่าวยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับรูปภาพชุดนี้ หลอกคนบนอินเตอร์เน็ตให้เชื่อได้อย่างสุดใจว่านี่เป็นภาพถ่ายจากเหตุการณ์จริงทั้งหมด

ทั้งที่หากค้นประวัติศาสตร์แล้วก็จะไม่เจอเหตุการณ์นี้บันทึกอยู่เลย

ฉันเชื่อว่าคุณผู้อ่านน่าจะได้เห็นภาพที่สร้างโดย Midjourney ผ่านตามาบ้างเพราะมีการแชร์บนโซเชียลมีเดียมากมายแต่ก็อาจจะไม่ทันรู้ตัวว่าภาพที่เห็นไม่ใช่ภาพที่ถ่ายบุคคลหรือสถานที่จริงๆ แต่เป็นภาพที่ AI สร้างขึ้นมาใหม่ ดูผิวเผินมันเหมือนของจริงจนสมองของเราไม่ได้สั่งการให้รู้สึกเอะใจเลย

 

ล่าสุดฉันเห็นคนแชร์ภาพพระสันตปาปาฟรานซิสสวมเสื้อหนาวสีขาวพองๆ รัดช่วงเอวเข้ารูปพอดีตัว พร้อมสร้อยไม้กางเขนโอเวอร์ไซซ์ที่ดูลุคโดยรวมแล้วเก๋และเท่ในสไตล์แร็พเปอร์ ฉันก็ไม่ได้คิดอะไรมากและเกือบฝังไว้ในความทรงจำแล้วว่าท่านเคยแต่งตัวแบบนี้

แต่ก็เพิ่งมารู้ว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่งภาพที่สร้างขึ้นมาโดย Midjourney เหมือนกัน

Midjourney ถูกนำมาใช้ในการสร้างภาพปลอมที่ดูเหมือนจริงอย่างเหลือเชื่ออีกมากมาย สร้างความสับสนให้คนบนโซเชียลมีเดียสุดๆ เพราะไม่แน่ใจว่าอะไรจริงอะไรไม่จริงอีกต่อไปแล้ว อย่างเช่นภาพโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ถูกตำรวจจับกุมตัว ภาพทรัมป์คุกเข่าสวดมนต์ (ซึ่งเป็นภาพปลอมแต่ตัวเขาเองก็หยิบมาแชร์ด้วย) หรือจากชุดภาพแผ่นดินไหวปลอมชุดนี้ก็มีภาพของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ที่กำลังจับมือกับนายกเทศมนตรีของทาโคมาอยู่หน้าอาคารที่พังถล่มลงมาด้วย

เว็บไซต์ Forbes บอกว่าภาพปลอมเหล่านี้สามารถหลุดรอดการตรวจจับของซอฟต์แวร์ตรวจจับภาพปลอมได้ เมื่อลองใส่ภาพปลอมบางภาพจากอัลบั้มนี้ไปให้เว็บไซต์อย่าง Hugging Face ตรวจสอบก็พบว่าได้ผลลัพธ์ว่ามีแนวโน้มจะเป็นภาพปลอมเพียง 54 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แถมเมื่อใส่ภาพปลอมอีกภาพเข้าไป ระบบกลับเด้งผลลัพธ์ออกมาว่ามีโอกาสเป็นภาพจริงถึงตั้ง 86 เปอร์เซ็นต์

ดูเองก็ไม่รู้ ให้ AI ด้วยกันดูก็ยังไม่รู้ แล้วเราจะเหลือความหวังอะไรอีก

โชคยังดีในตอนนี้ที่ AI ซึ่งใช้ในการสร้างภาพยังมีจุดบกพร่องบางอย่างที่มันยังแก้ไขไม่ได้อยู่ นั่นก็คือมันยังไม่สามารถสร้าง ‘มือ’ และ ‘ฟัน’ ของมนุษย์ได้อย่างสมจริง

หากลองซูมเข้าไปดูภาพปลอมแต่ละภาพจะสังเกตเห็นว่า AI มีปัญหาในการสร้างมือของมนุษย์ให้ถูกหลักกายศาสตร์ บางคนมีนิ้วเกิน บางคนมีนิ้วขาด บางคนมีนิ้วทุกนิ้วที่ความยาวเท่ากัน

มีอยู่ภาพหนึ่งที่เป็นคนถือธงชาติแคนาดายืนหันหลังมองทะเลอยู่บนชายหาด เมื่อซูมเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นว่าแม้คนในภาพจะหันหลัง แต่มือที่เอื้อมจับด้ามธงอยู่นั้นผิดรูปราวกับแขนของเธอที่ถูกซ่อนอยู่หลังธงสามารถบิดได้คล้ายเกลียวเชือก

อย่างไรก็ตาม พอลองสำรวจดูหลายๆ ภาพ ฉันก็พบว่าไม่ใช่ทุกภาพที่ AI จะสร้างมือของคนพลั้งพลาด บางภาพมันก็ทำได้ดีพอจนไม่ชวนให้เอะใจเหมือนกัน

 

จริงอยู่ที่การทำภาพปลอมไม่ใช่ของใหม่ เรามีภาพปลอม ภาพตัดต่อ ภาพรีทัช ภาพที่จัดฉากถ่ายขึ้นมา หรืออีกสารพัดภาพที่จะหลอกล่อให้เราหลงเชื่อมาอย่างยาวนาน แต่ความน่ากลัวของเครื่องมือ AI สร้างภาพก็คือ ‘ความง่ายดาย’ ในการใช้งาน ทำได้ง่าย ทำได้เร็ว และเล่นใหญ่จัดให้ได้ทุกอย่าง จะเอาฉากสวรรค์ นรก ป่าหิมพานต์ ตัวละครจะเป็นใครยิ่งใหญ่คิวแน่นขนาดไหนก็จับใส่ในภาพให้ได้ โดยที่ต้นทุนค่าใช้งานต่ำแสนต่ำ และวิธีใช้ก็เพียงแค่การพิมพ์สิ่งที่ต้องการลงไปเท่านั้น

สักราวสองปีก่อนฉันเคยเขียนถึงภาพคนที่ AI สร้างขึ้นและสิ่งต่างๆ ที่มันไม่สามารถทำให้สมจริงได้ อย่างเช่นพื้นหลัง ผม ต่างหู แว่นตา ฯลฯ ทำให้มองปราดเดียวก็รู้ว่ามีอะไรบางอย่างผิดปกติ

เวลาผ่านมาไม่นานเลยตอนนี้ความสามารถของมันเป็นไปในแบบก้าวกระโดด เหลือจุดที่ผิดสังเกตเพียงแค่มือเท่านั้น

ไม่ต้องเดาก็มั่นใจได้เลยว่าไม่ต้องรอนานมันก็น่าจะสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องนี้ไปได้ฉลุย

และเมื่อถึงวันนั้น วันที่เราไม่สามารถเชื่อสายตาตัวเองล้วนๆ ได้อีกต่อไป วิจารณญาณของมนุษย์จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องลับให้เฉียบแหลมที่สุด