ปฏิวัติสี! กัมพูชากับ ‘ลัทธิเอาอย่าง-นิยมไทย!’

อภิญญา ตะวันออก

สารภาพบาป สำหรับนักวิพากษ์สาหาว/ดุดันต่อต้านนายฮุน เซน และหลายคนเหล่านั้น ต่างถูกทำให้หายไปจากกัมพูชา

และแม้ว่าด้านหนึ่งยังมีโลกสายสื่อที่พาพวกเขากลับมาต่อสู้นานากับฮุน เซน อีก

แต่แทบไม่หลงเหลือใครเลยที่จะต่อกรกับเขาได้ กระทั่งฮุน เซน ชายกล้าแก่ตัวลง กระนั้น ระบอบปกครองของตนก็ยังมั่นคง

พลัน จู่ๆ วันไม่เป็นใจก็มาถึง

เริ่มจากต้นปีที่ฮุน เซน เริ่มประสบพบว่า กำลังตกเป็นเป้านิ่ง โดยกลุ่มที่ “สหการ” เดียวกันอย่างพรรคคอมมิวนิสต์ที่เพิกเฉยเช่นกัน

มรสุมครั้งใหญ่ ต้นปีที่ผ่านมา บททดสอบอันยะเยือกในประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ตนไปเยือน กลับแสดงท่าทีที่เย็นชา

ไม่มีใครรู้หรอกว่า ภาษากายครั้งนั้น มันบ่งบอกอะไร? แต่เสียงเล็ดลือไปทั่วสร๊กเล็กๆ แห่งนี้ว่า จีนจะไม่อุ้มสมด้านเศรษฐกิจเขมรอีกต่อไปสำหรับนโยบายอนาคต ยกเว้นแต่เรื่องความมั่นคงในภูมิภาคที่รัฐบาลฮุน เซน ได้ทำพันธสัญญาไว้แล้ว

พูดง่ายๆ ภาคเอกชนของจีนซึ่งกลับไปขึ้นตรงต่อนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์ จะไม่ลงทุนเช่นอดีตที่ผ่านมา

อีกทั้งกัมพูชาเองก็มีหนี้สินพะเรอเกวียนกับจีนท่วมท้น จนไม่น่าจะพึ่งพิงกันได้อีก เว้นเสียแต่ความช่วยเหลือด้านความมั่นคง

กัมพูชายังเผชิญหน้ากับสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดเบอร์ 1 ที่กลับมาตั้งกำแพงภาษีสินค้า EBA จากสินค้าทุกสิ่งยกเว้นอาวุธ (Everything But Arms) ด้วยเริ่มเห็นว่า ไม่ได้ช่วยลงไปในกลุ่มรากหญ้าแรงงานกัมพูชา เว้นแต่นายทุนต่างชาติและการส่งออกเกษตรกรรมที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่อีลิตเขมรไม่กี่ตระกูลเท่านั้น

ส่วนสหรัฐเองนั้น ปัญหาการค้ามนุษย์ Tier3 ที่กัมพูชามีมาตรฐานต่ำไม่ขจัดปัญหาการค้ามนุษย์และสิทธิมนุษยชนของกัมพูชา ส่งผลให้มีนโยบายกีดกันการส่งออกของกัมพูชา ซึ่งแต่เดิมปลอดภาษีจำนวนมาก

เฒ่าฮุน เซน ยังโดนอีกดอก จากที่พยายามอ้างความสำเร็จทางเศรษฐกิจว่า กัมพูชาถูกยกเลิกฐานะความเป็นประเทศยากไร้ และนั่นหมายถึง ดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างประเทศที่อาจจะเปลี่ยนไปในการหาแหล่งทุนสำหรับอนาคต

ไม่เหลืออะไรให้เป็นข่าวดี แม้แต่ซีเกมส์ที่ตนเป็นเจ้าภาพก็แทบจะรากเลือดจากแหล่งทุนเงินที่ร่อยหรอ ซ้ำจีนปฏิเสธความช่วยเหลือ

ส่วนไทยเพื่อนบ้านก็เกิดปมบาดหมางทางวัฒนธรรมอย่างสุดอิหลักอิเหลื่อจนยากจะเอ่ยปากขอความร่วมมือและไปต่อ

แต่บาดเจ็บทางจิตใจ คือการถูกชาวเน็ตไทยซ้ำเติมด้อยค่าผู้นำกัมพูชาอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน และมันยังกลายเป็นหายนะทางอ้อม

พวกคน “สร๊กอาย” พลเมืองชาตินั้นช่างไร้อารยธรรมด้านการวิพากษ์เสียกระไร? ตัวอย่างที่ว่า คือการด้อยค่าผู้นำของตน ชนิดที่ รายวัน รายสัปดาห์ รายนาทีเลยก็ว่าได้

แต่ไหนแต่ไร สมเด็จฮุน เซน นั้น เคยแต่ยืนอยู่หน้าโพเดียม กราดด่าบริภาษต่อฝ่ายตรงข้าม ผ่านไมโครโฟนมาตลอด 20 ปี ไม่มีใครต่อกร

อนิจจา บัดนี้ การสำแดงอารยะใหม่ในชนชาติหนึ่งซึ่งไม่ผิดกฎหมาย

ด้วยการ “วิพากษ์” ผู้นำประเทศ แถมยังเป็น “อารยธรรมหมู่” ที่ “ทำตาม” กันต่อๆ เหมือน “ติ๊กต็อก” ในโซเชียล!

คิดดูเถอะว่า ขนาดตนเองปิดสื่ออิสระจนเกือบหมดทั้งประเทศแล้ว

แต่กลับมาเจอพลเมืองนอกรีตอย่างพวก “สร๊กเสียม” ที่ไม่มียางอาย พร้อมใจกันต้านผู้นำของตนได้ทุกวัน

เรื่องแบบนี้มันทำให้สมเด็จฮุน เซน สุดจะเซ็งเกินต้าน คิดดูเถอะ ตลอด 10 ปีเต็มที่ตนต่อต้านป้องปรามสิ่งนั้น นั่นคือ “ปฏิวัติสี” (ปฏิวัติปอณ์/Colour Revolutions) ในกัมพูชามายาวนาน จับเด็กๆ เขมรเข้าคุกเปร็ยซอเพราะไปแสดงออกสนับสนุนนักกิจกรรมสังคมด้วยข้อหาเป็นภัยความมั่นคง หรือก่อการขบถ “ปฏิวัติสี!”

ในสมัยที่โซเชียลขณะนั้นยังไม่รุดหน้าไปมากเช่นวันนี้ พวกเจนซี (Z) เขมรที่ยังอินโนเซนส์ไม่รู้ด้วยซ้ำในคำว่า “ปฏิวัติวัฒนธรรม” หรือ “ปฏิวัติสี” มีความหมายว่าอะไร?

แต่บัดนี้ ฮุน เซน เริ่มจะเห็นพิษสงอันคาตาจากพวกเจนซี (Z) สร๊กไทยที่เป็นตัวจิ๊ดในเรื่องการแสดงออกพฤติกรรม “ต่อต้านความอยุติธรรมทางสังคม” และ “ผู้นำประเทศ” อย่างสารพัดวิธี

ในบางอย่างที่ยากต่อการรับมือเหล่านี้ ในความจริตวิตกของผู้นำเขมรซึ่งยินดีจะใช้วิธีแข็งกร้าวต่อพลเมืองของตนอย่างสุดกำลัง ทว่า สำหรับพลเมืองชาติเพื่อนบ้านที่ก้าวหน้าด้านการหยิบยกต่อรองการประท้วงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสำหรับฮุน เซน แล้ว นี่คืออสรพิษแห่งการปกครองในระบอบของตน

และนับเป็นเรื่องเดียวที่ผู้นำเขมรไม่นิยม ต้องการลอกเลียนแบบ “ลัทธิเอาอย่าง” ไทยนิยมแต่อย่างใด

รบกวนจิตใจอย่างมาก ยิ่งสมเด็จฮุน เซน เรียนรู้เรื่องสิ่งนี้มายาวนาน ความไม่พึงในสิ่งนี้ก็ยิ่งตามมาหลอนต่อตนเองและพลเมือง โดยมักเห็นว่า นับวัน กรอบขันธ์/เงื่อนไขในการไปสู่พฤติกรรมหมู่นี้ อาจสร้างความเสียหายให้แก่ระบอบของตน

สำหรับสิ่งแฝงอยู่ใน “ปฏิวัติสี” ที่ว่า ซึ่งไม่ต่างจากซอฟต์เพาเวอร์ ที่สามารถสื่อสารไปสู่ประเด็นเดียวกัน โดยเฉพาะเทคนิควิธีหรือที่เขมรเรียกว่า “ปัจเจกเทศ” ที่เป็นเหมือนอาวุธร้ายแรงที่สามารถสังหารตนเองและระบอบได้สักวัน และทั้งหมดนี้อาจส่งผลต่อ “ศักยภาพและความเป็นผู้นำ”

การเรียนรู้แนวความคิดเชิงปัจเจก (อิสระบุคคล) จากสร๊กไทยที่อาจลามไหลเป็นโดมิโนเหมือนมวย “กุนแขมร์” ที่กลับไปฟาดงวงฟาดงาผู้นำตนเอง และนั่น ใครจะรู้?

พลัน ฉันก็รู้แล้วว่า “จุดอ่อน” ของฮุน เซน อยู่ตรงไหน?

ทําไมผู้นำกัมพูชาจึงแข็งกร้าวต่อทุกกลุ่มฝ่ายในกัมพูชากว่า 30 ปีที่ตนปกครอง ตลอดจนหลักเหลี่ยมวิธีแห่งการสกัดทำลายจนขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยในเขมรฝ่อลีบ ขณะที่ชาวเจนซี (Z) ไทยกลับเติบโตในฉบับแห่งบททดสอบประเทศของตน

ต่อการถอดบทเรียนการต้านตึงเผด็จการอย่างถึงขนบ

และด้วยขนบนั้นหรือไม่ เป็นจุดอ่อนของฮุน เซน? โดยเฉพาะ “การต่อต้านอันลื่นไหล” ที่ฝังเป็นหลักเหลี่ยม/ดีเอ็นเอจริตชนชาวสร๊กไทย

ความหลากหลายวัฒนธรรมไทย-เขมรที่ผ่านมา ที่ไม่ว่านักปกครองคนใดจะหยิบฉวยไปเพื่อประโยชน์ของตนหรือสร๊กการเมือง

อื่นใดนั้น “วัฒนธรรมที่ลื่นไหล” ในหมู่จริตไทยเหล่านี้ คือพิษสงอันตรายในรูปแบบปฏิวัติสี-ปฏิวัติวัฒนธรรมที่อาจส่งผลพลิกผันต่ออนาคตการเมืองประเทศ

ตัวอย่างที่เห็นได้ ณ วันนี้ อิทธิพลจริตไทยที่กระพืออยู่แถวหน้าและเป็นอาวุธลับในวิถีขนบต่อพลเมืองอาเซียน ไม่ว่ากรณีอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ต่อประเด็นโมเดลความเท่าเทียมทุกเพศเจนเดอร์/Gender ของไทย ในปฏิบัติวิธีที่ไร้รูปกฎหมายชุมชนนี้ ได้ยกระดับให้ไทยกลายเป็นหัวหน้าใหญ่ของหมู่บ้าน เช่นเดียวกับเมียนมา ในตัวอย่างการสื่อสารระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-เมียนมาต่อกรณีการปลดแอกประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างมีนัยยะสัมบูรณ์นั้น และด้วยมรรควิธีนั้น มันคือทั้งหมดของการสื่อสารในภาษาเดียวกัน

ไม่เท่านั้น ขบถนิยมในวิถีของไทยกำลังขยายอิทธิพลเข้าไปอย่างเงียบๆ ในหมู่ชาวเวียดนามคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาอย่างแตกต่างจากระบอบสังคมของพรรคคอมมิวนิสต์ และนั่นคือสิ่งที่อาจสร้างความหนักใจแก่รัฐเวียดนามในข้างหน้าเหมือนอย่างที่ผู้นำกัมพูชาหวาดวิตก!

ฟังดูผาดๆ คล้ายกับเป็นปมสยองของ 2 ชาติ ที่ต่างมีปมเด่นเดียวกันทางวัฒนธรรม

ทว่า มันจะไปได้ดีกว่าไหม หากฝ่ายรับและฝ่ายรุกจะขจัดความเกลียดชังอัน “ขึงตึง” ในจิตใจนั้นออกไป และเหลือไว้แต่แบบจำลองของ “ปฏิวัติสี” ที่ชาวเขมรถ่ายผ่าน “จำลอง” ไปจากพลเมืองสร๊กเสียม

ตามลัทธิเอาอย่าง “วัฒนธรรมปฏิวัติ!-วัฒนธรรมการเมือง!”

ซึ่งมีข้อสังเกตเล็กๆ ว่า จากนี้ไป อย่าได้ไว้ใจใน “บองทม”

เครดิตภาพ : rfa