อุษาวิถี (21) อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (21)

อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความรู้หรือภูมิปัญญาที่เคยถูกยึดครองโดยพวกผู้ดีเมื่อก่อนหน้านี้นั้น ณ บัดนี้ได้ขยายการถือครองไปยังอีกชนชั้นหนึ่งที่ไม่มีแม้แต่อำนาจทางการเมือง

ที่สำคัญก็คือว่า ชนชั้นปราชญ์เหล่านี้ต่างมีแรงปรารถนาอย่างสูงยิ่ง ในอันที่จะมุ่งคิดค้นสัจธรรมเพื่อนำมาสลายกลียุคที่ดำรงอยู่นานนับหลายร้อยปีลงไป

ด้วยเหตุนี้ ชนชั้นปราชญ์จึงได้รับความเคารพยกย่องจากสังคมจีนแทบทุกระดับในเวลานั้น

และจะด้วยเพราะกลียุคที่ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใครอย่างแท้จริงก็ดี หรือเพราะผู้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ปรารถนาสัจธรรมเพื่อนำมาสร้างรัฐของตนให้มีเสถียรภาพและความรุ่งเรืองก็ดี หรือเพราะชนชั้นปราชญ์มีที่มาจากชนชั้นล่างหรือไพร่ที่มีอิสระทางความคิดก็ดี

สังคมจีนในเวลานั้นก็กลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยเสรีภาพทางความคิดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ปรากฏการณ์ทั้งสองดังกล่าวสะท้อนให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองของสังคมจีนครั้งใหญ่

เป็นภาพการก้าวขึ้นมาของชนชั้นที่ไร้ความรู้แต่มีอำนาจทางการเมืองภาพหนึ่ง

และเป็นภาพการก้าวขึ้นมาของชนชั้นที่มีความรู้สูงแต่ไร้อำนาจทางการเมืองอีกภาพหนึ่ง

ในภาพหลังนี้เองที่ขงจื่อ นักปราชญ์คนสำคัญของจีนได้ถือกำเนิดขึ้น

 

ขงจื่อเป็นบุตรของข่งเหอกับเอี๋ยนเจิงจ้ายคู่สามีภรรยา1 เกิด ก.ค.ศ.551 (หรือเกิด 8 ปีก่อน พ.ศ. กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ปีที่ขงจื่อมีอายุ 8 ขวบเป็นปีที่พุทธโคดมเสด็จปรินิพพาน

อันที่จริงแล้วชื่อของขงจื่อ (หรือขงจื๊อในภาษาจีนแต้จิ๋วดังที่ไทยเราเรียกกัน) นั้น เป็นชื่อที่เรียกอย่างยกย่องในชั้นหลัง คือยกย่องให้ขงจื่อเป็นปราชญ์ ด้วยคำว่า จื่อ แปลว่า ปราชญ์ อาจารย์ ครู ส่วนชื่อจริงของขงจื่อนั้นคือ ชิว

ดังนั้น ขงจื่อจึงมีชื่อว่า ข่งชิว

ต้นตระกูลของขงจื่อ เป็นชนชั้นผู้ดีแห่งรัฐซ่ง (ปัจจุบันคือพรมแดนระหว่างมณฑลเหอหนานกับเจียงซู) โดยมีเชื้อสายขัตติยะผูกพันกับราชวงศ์อิน (อีกชื่อหนึ่งของราชวงศ์ซาง) โดยสามารถสืบสาวย้อนหลังกลับไปได้จนถึงกษัตริย์เฉิงทางผู้ปราดเปรื่องของราชวงศ์ซาง

หลังจากที่ราชวงศ์ซางล่มสลายไปด้วยการเข้ามาแทนที่ของราชวงศ์โจวแล้ว กษัตริย์อู่ได้บังคับให้อู่เกิงโอรสของกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซางไปพำนักอยู่ยังเมืองเชาเก๋อ

ต่อมาเมื่อกษัตริย์อู่สิ้นพระชนม์ โอรสก็ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อเป็นกษัตริย์เฉิง เนื่องจากกษัตริย์ยังทรงเยาว์วัย โจวกงผู้เป็นลุงของกษัตริย์เฉิงจึงทำหน้าที่รักษาการแทน ถึงตอนนี้อู่เกิง ซึ่งถูกเนรเทศให้ไปพำนักอยู่ที่เมืองเชาเก๋อ ก็เห็นเป็นโอกาสอันดีในการที่จะยกทัพเข้าโค่นล้มกษัตริย์เฉิง

ผลของการยกทัพเข้าโค่นกษัตริย์ในครั้งนี้ ทำให้โจวกงได้หลบหนีไปยังเชาเก๋อเพื่อไปตั้งหลักสู้กับอู่เกิง

ที่เมืองเชาเก๋อ กษัตริย์เฉิงได้แต่งตั้งเว่ยจื่อฉี ซึ่งเป็นโอรสองค์โตของกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซางเป็นกษัตริย์ที่ชอบธรรมต่อจากกษัตริย์เฉิงถัง พร้อมทั้งพระราชทานที่ดินในเมืองซ่งให้ปกครองสืบไปลูกชั่วหลาน

และคงได้สืบทอดวงศ์ของตนเรื่อยมาจนถึงในชั่วรุ่นปู่ของซูเหลียง ซึ่งเป็นรุ่นที่ 5 ที่มีชื่อว่า ข่งฟู่เจีย

 

ในชั่วรุ่นปู่นี้เองที่เป็นผู้เปลี่ยนชื่อสกุลของตระกูลตนมาเป็นข่ง และหลังจากต่อมาปู่ของเขาถูกรัฐมนตรีผู้ทรยศคนหนึ่งฆ่าตายแล้ว ผู้เป็นบุตรชายซึ่งมีชื่อว่า มู่จินฝู จึงได้หนีออกจากเมืองซ่งมายังเมืองชวีฟู่ เมืองหลวงของรัฐหลู่ (อันเป็นรัฐที่กษัตริย์อู่ได้พระราชทานแก่โจวกง)

แต่เนื่องจากโจวกงต้องอยู่ช่วยกษัตริย์เฉิงบริหารบ้านเมือง จึงได้มอบรัฐนี้ให้กับป๋อฉินบุตรชายคนโตของตนเป็นผู้บริหารแทน

มู่จินฝูพำนักอยู่ที่เมืองนี้โดยมีลูกหลานสืบทอดเป็นลำดับ ดังนี้ เกาอี๋ฝู ฟางซู ป๋อเซีย และซูเหลียง ในที่สุด

และจากการที่ต้นตระกูลของขงจื่อสามารถสืบสาวไปจนถึงราชวงศ์ซางหรืออินนี้เอง ขงจื่อจึงมักอ้างอิงตนเองว่าเป็น “คนอิน” หรือ “ชาวอิน” อยู่เสมอ

 

ซูเหลียงคือฉายาของข่งเหอผู้เป็นบิดาของขงจื่อ แต่เมื่อสืบทอดมาถึงรุ่นที่ 4 ผลจากการศึกในยุควสันตสาร์ทก็สะเทือนมาถึงตระกูลของเขา เมื่อมีการล้มล้างการปกครองกันขึ้นมาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

อนึ่ง ธรรมเนียมการตั้งชื่อของสังคมจีนในอดีตนั้น นอกจากจะมีชื่อสกุลหรือ “แซ่” อันสืบทอดมาจากบรรพชนและชื่อตัวที่บิดามารดาตั้งให้แล้วก็ยังมีชื่อฉายาอีกด้วย ชื่อฉายานี้มีธรรมเนียมในการตั้งเมื่อถึงวัยหนึ่ง นอกจากนี้ ยังไม่รวมชื่อที่ใช้เรียกขานหรือชื่อเล่นอีกด้วย ชื่ออย่างหลังนี้ไม่ได้มีทุกคนเสมอไป แม้จะเป็นตระกูลผู้ดีก็ตาม

อย่างไรก็ตาม บรรพชนของตระกูลข่งซึ่งหลบหนีมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่รัฐหลู่นี้ แม้จะสืบทอดตระกูลมาจากชนชั้นผู้ดีก็ตาม แต่ฐานะนี้แทบจะไม่หลงเหลือความหมายและความสำคัญอันใดเลย

ด้วยเหตุนี้ ข่งเหอ ซึ่งมีอาชีพรับราชการทหารอยู่ในรัฐนี้ แม้จะมีวีรกรรมเป็นที่เลื่องลืออยู่บ้าง แต่ก็มีตำแหน่งที่ไม่สูงส่งนัก

 

ควรกล่าวด้วยว่า ขงจื่อไม่ได้เกิดกับภรรยาคนแรกของข่งเหอ เนื่องจากภรรยาคนแรกได้เสียชีวิตไปก่อนโดยทิ้งบุตรชายไว้คนหนึ่ง ซึ่งในประวัติศาสตร์ไม่ได้กล่าวถึงเอาไว้ ความเป็นพุ่มม่ายจึงตกอยู่แก่ข่งเหอเป็นเวลาหลายปี

กระทั่งเมื่อมีอายุมากขึ้น เขาจึงตัดสินใจแต่งงานใหม่อีกครั้งหนึ่งกับหญิงที่มีอายุอ่อนกว่าเขาหลายปี หญิงนี้มีชื่อว่า เอี๋ยนเจิงจ้าย

เนื่องจากการแต่งงานครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณี ชีวิตคู่ของคนทั้งสองจึงไม่ใคร่เป็นที่ยอมรับของชุมชนมากนัก และมักจะได้รับการค่อนขอดเหยียดหยามอยู่เสมอ

ดังนั้น เมื่อขงจื่อถือกำเนิดขึ้น ชีวิตของเขาจึงหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ว่าไม่ได้ ยิ่งเมื่อบิดาของเขาต้องมาลาจากไปหลังจากที่เขามีอายุได้เพียง 3 ขวบด้วยแล้ว ชีวิตในวัยเด็กของเขาจึงยิ่งถูกซ้ำเติมลงไปอีก

1คำในพยางค์แรกของคำว่า ขงจื่อ นี้เป็นการออกเสียงตามโดยได้ผันวรรณยุกต์ตามหลักภาษาจีนเมื่อพยางค์ที่หนึ่ง (ข่ง) กับพยางค์ที่สอง (จื่อ) มีเสียงสามเหมือนกัน ตามหลักภาษาจีนให้ผันวรรณยุกต์ในพยางค์แรกเป็นเสียงสอง (ขง) คำว่า ข่งจื่อ จึงต้องออกเสียงเป็น ขงจื่อ (ในการทับศัพท์ภาษาไทยคือตัดไม้เอกในพยางค์แรกออกไป) จากเหตุนี้ จึงเห็นได้ว่า การออกเสียงชื่อบิดาของขงจื่อในพยางค์แรกจึงเป็น ข่ง อันเป็นเสียงที่แท้จริงของคำคำนี้ มิใช่เป็นการพิมพ์ผิดแต่ประการใด