‘เศรษฐา ทวีสิน’ สินค้าใหม่ในตลาดการเมือง อยากให้ ‘ปัง’ ต้องไม่เลือกทาง ‘ติดดิน’

ประกิต กอบกิจวัฒนา

ช่วงเวลานี้ ตลบอบอวลด้วยบรรยากาศแห่งการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองเพื่อให้ได้คะแนนจากประชาชนอย่างเราที่จะเข้าคูหากาให้ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม

เวลาดู live หาเสียงของแต่ละพรรคทุกเย็น ผมก็เห็นลีลาการปราศรัย การให้ข้อมูล ให้คำสัญญาว่าตั้งใจทำให้ชีวิตเราดีขึ้นกว่า 8 ปีที่ผ่านมาอย่างไรบ้างของแต่ละคน แต่ละพรรค ซึ่งเข้าตาบ้าง ขำบ้าง ก็ว่ากันไป

มีคนหนึ่งที่เสนอตัวเข้ามาให้ประชาชนเลือก เป็นหน้าใหม่เอี่ยม แต่ก็ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นว่าที่แคนดิเดตนายกฯ แล้ว คือ เศรษฐา ทวีสิน ในนามพรรคเพื่อไทย ที่ผมสนใจ

เลยอยากชวนมาวิเคราะห์เล่นๆ ว่าจะสร้างแบรนด์ให้เขายังไงดี

 

เวลาเหลือน้อย
คนก็ใหม่ แย่งส่วนแบ่งกลุ่มไหนดีล่ะ

ผมเข้าใจถึงความเหนื่อยของคนทำงานเบื้องหลังคุณเศรษฐาและตัวคุณเศรษฐาเองที่ต้องรีบทำให้คนรู้จักชื่อ จำหน้าได้ และเกิดความสนใจ จนอยากติดตาม

และถ้าจะให้ดีก็คือ เกิดความรู้สึกว่าอยากดู อยากฟัง อยากเกาะติดเวทีทุกที่ที่คุณเศรษฐาไปเดินสายหาเสียงให้พรรคเพื่อไทย จนสุดท้าย ในการเดินเข้าคูหา ก็ตกลงใจกาให้พรรคเพื่อไทย เพราะอยากให้คุณเศรษฐามาเป็นนายกฯ

จะดึงดูดผู้คนให้มาสนใจสินค้าตัวใหม่ “เศรษฐา” ยังไงดี เวลาในการทำการตลาด ถ้านับจากวันนี้ ก็เหลือไม่ถึง 60 วัน และยังต้องแย่งส่วนแบ่งกับคู่แข่งที่มีสินค้าติดตลาดอยู่แล้วมากมาย

ท้าทาย แต่ก็น่าสนุกนะครับกับการค้นให้เจอว่าตำแหน่งของเศรษฐา ทวีสิน ควรอยู่ในตลาดส่วนไหนของคนที่มีสิทธิในการไปเลือกตั้งครั้งนี้

ก่อนหน้าที่เศรษฐาจะขึ้นเวทีปราศรัยในวันที่พรรคเพื่อไทยประกาศเปิดตัวผู้ประสงค์สมัครลงเลือกตั้งทั้ง 400 เขต ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมก็ยอมรับว่าไม่ค่อยได้ให้ความสนใจกับเศรษฐามากนัก

อย่างแรกเลยคือ ความเด่นของแพทองธาร ชินวัตร ที่แผ่แสงเฮ้ากวงจนตาพร่าทุกครั้งเวลาเธอขึ้นบนเวที ด้วยบุคลิกและการพูดจาที่ดูทีไรก็อดนึกถึงพ่อของเธอไม่ได้จริงๆ

อย่างที่สอง เวทีของเศรษฐาที่ผ่านมา เป็นการให้สัมภาษณ์ที่ไม่ค่อยจับใจ จำเนื้อหาไม่ได้ ช่องทางการสื่อสารก็เหมาะกับคนวัย Gen X และเบบี้บูมที่สนใจเรื่องอสังหาฯ มากกว่า

แต่ในช่วงเวลาที่เศรษฐาขึ้นปราศรัยสั้นๆ บนเวทีเพื่อประกาศความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้พรรคได้แลนด์สไลด์ให้ได้ตามที่ประกาศไว้

เขาเรียนรู้เร็วมาก ว่าเวทีการเมืองนั้นต่างจากเวทีธุรกิจอย่างไร

จากการติดตามการวิเคราะห์ของสำนักข่าวต่างๆ เหมือนทุกคนก็พากันให้ความชื่นชมกับลีลาและคำพูดที่เขาเลือกใช้บนเวทีในวันนั้น

ดูเวทีในจังหวัดต่างๆ หลังจากวันนั้น ก็เห็นว่าเขาเพิ่มความดุดันในการปราศรัย เรียกเสียงปรบมือได้เป็นจังหวะ และเชื่อว่าผู้คนที่เป็นแฟนคลับพรรคเพื่อไทยก็เริ่มจดจำหน้า จำชื่อเขาได้แล้ว

แต่พร้อมเลือกเศรษฐาให้เข้ามาอยู่ในใจแทนที่แพทองธารแล้วหรือยัง เนื่องจากเธอต้องหยุดลงหาเสียงในพื้นที่เพราะตั้งครรภ์ ข้อนี้ยังเป็นคำถาม

 

“ปัง” แน่นะ
ถ้าจับมาแต่งตัวให้ “ติดดิน”?

ระหว่างดูเศรษฐาบนเวทีที่ธรรมศาสตร์ในวันนั้น ผมอดคิดถึงธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่เขาเดินเข้าสู่สนามการเมืองและสร้างปรากฏการณ์แบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลยโดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่

ยังจำกันได้ใช่ไหมกับแฮชแท็ก #ฟ้ารักพ่อ ที่เกิดขึ้นก่อนจะถึงวันเลือกตั้งปี 2562 ไม่ถึงเดือน ซึ่งเกิดในวันที่เขาไปร่วมงานประเพณีฟุตบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 73 แล้วมีเสียงคนตะโกนขึ้นมาว่า “ฟ้ารักพ่อ” ธนาธรหันมายิ้มให้กับคนที่เรียกเขา

เท่านั้นแหละ ธนาธรก็กลายเป็นขวัญใจนิวโหวตเตอร์ขึ้นมาทันที ทั้งที่ก่อนหน้านั้น พรรคอนาคตใหม่และธนาธรกำลังอยู่ในวิกฤตจากการถูกโจมตีรอบด้าน ถูกตั้งสมญานามว่า “ไพร่หมื่นล้าน” ถูกโยงเข้ากับกลุ่มคนหลายกลุ่มในทำนองว่าอยู่เบื้องหลัง และเป็นพวกมีความคิด “ล้มเจ้า”

ส่วนในพรรคเองก็วุ่นวายจากการที่ทุกคนสามารถออกมาโต้ตอบประเด็นต่างๆ กันตามสบาย ทำให้เกิดกระแสลบอยู่บ่อยจนคนเริ่มแคลงใจ

แต่แล้วเพียงแค่เสียงตะโกนเรียกธนาธรว่า “พ่อ” กลับทำให้พรรคอนาคตใหม่เปลี่ยนขั้วไปอยู่ในกระแสบวก

จนคำว่า “ฟ้ารักพ่อ” กลายเป็นตำนาน เอ่ยขึ้นมาเมื่อไหร่ คนก็จำได้ว่าหมายถึงใคร

ปรากฏการณ์บนทวิตเตอร์ ที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่กลายเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ไปด้วย อาจเป็นแค่หนึ่งปัจจัย และแน่นอนว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อกระแสนั้นได้คือ บุคลิกของความเป็นธนาธร ที่เป็นนักกีฬา พูดจากับคนรุ่นใหม่ได้ มีรูปร่างหน้าตาที่อยู่ในเทรนด์

ลองทำแบรนด์ให้เศรษฐา ทวีสิน มี “ด้อมในทวิตเตอร์” ไหมครับ

 

ไหนๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเพื่อไทย ทั้งลั่นวาจาด้วยว่าถ้าไม่ได้เป็นนายกฯ ก็จะไม่รับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง เขาย่อมต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น ถ้าอยากเห็นผลโพลในการสำรวจครั้งหน้ามีชื่อของตัวเองติดโผว่าคนอยากได้เขาเป็นนายกฯ

การเจาะเข้ากลุ่มนิวโหวตเตอร์และ Gen Y ผ่านช่องทางทวิตเตอร์แบบมีกลยุทธ์ เป็นทางเลือกที่ผมว่าต้องไม่มองข้าม

ทั้งที่เขาเองก็ประกาศว่าเป็นคนชอบเล่นทวิตเตอร์ สะดวกกับการใช้ช่องทางนี้ แต่ทวิตเตอร์ของเศรษฐายังมีคนติดตามไม่มากพอ ตัวเลขการรีทวีต การเข้าไปพูดคุยก็ยังถือว่าต่ำอยู่

ทีมงานก็คงกำลังช่วยกันสร้าง “มีม” ให้กับว่าที่แคนดิเดตนายกฯ คนนี้ เพื่อให้คนจำภาพเศรษฐา และสร้างแฮชแท็กอะไรสักอย่างในทางบวก เพื่อให้ติดเทรนด์ ระหว่างสู้รบปรบมือกับเหล่านักขุดในโซเชียล และฝ่ายที่พร้อมสร้างกระแสภาพลบให้เกิดกับเขาได้ตลอดเวลา

Gen Z ไม่ใช่แค่ใช้ทวิตเตอร์เป็นหลัก แต่ก็ยังเลือก YouTube และ TikTok เป็นแพลตฟอร์มสำหรับติดตามข่าวสาร ที่สำคัญ คนเจนนี้ติดตามอินฟลูเอนเซอร์อย่างน้อยหนึ่งคน

แล้วภาพลักษณ์อย่างเศรษฐาจะไหวหรือกับการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ให้กลุ่มนี้ อายุเขาเข้าขั้น “พ่อ” ของคนรุ่นใหม่เลยนะ คุณผู้อ่านก็เถียงกับผมได้ในประเด็นนี้

ถ้าดูวันที่เขาเล่นฟุตบอลกับเด็กๆ ตอนลงพื้นที่ในกรุงเทพฯ จากการแต่งตัว และบุคลิกที่ทำตัวเข้าหาคนง่าย มีทีท่ารับฟัง ไม่ดุดันทางความคิด เป็นที่ยอมรับอยู่แล้วในความสามารถด้านการบริหาร คนรุ่นพ่อรุ่นแม่โดยเฉพาะในชนชั้นกลางน่าจะยอมรับเขาได้ง่าย

ยังมีกิจกรรมของคนรุ่นใหม่อีกเยอะมากที่คนอายุ 60 อย่างเขาสามารถเข้าร่วมได้

ปี 2562 การหาเสียงต่อสู้กันด้วยอุดมการณ์ เลือกข้างว่า “จะเอาตู่ หรือไม่เอาตู่” แต่ปีนี้ คนรุ่นพ่อแม่ส่วนใหญ่ ผมเชื่อว่าพวกเขามองการเมืองเปลี่ยนไปจากบทเรียน 4 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ในครอบครัวน่าจะลดน้อยลงมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด

คนในครอบครัวสามารถคุยกันเรื่องการเมืองได้ในระดับหนึ่ง ถ้าพ่อแม่ฟังเสียงเด็ก หรือเด็กฟังผู้ใหญ่ และเห็นด้วยกับพ่อแม่

โอกาสทางการตลาดของคนหน้าใหม่ทางการเมืองเช่นเศรษฐา ทวีสิน ที่จะทำให้ตัวเองเป็นที่สนใจของคนทั้งสองวัยได้ อาจอยู่ตรงนี้

ส่วนการสร้างภาพให้เดินตามรอยของคนที่เคย “ตาดูดาว เท้าติดดิน” ที่กำลังทำให้คนจำภาพเศรษฐาในเวลานี้ จะได้ผลหรือเปล่า

เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจ เลยอดไม่ได้ที่จะมาถามคุณผู้อ่านด้วย