คณะทหารหนุ่ม (33) | ยึดกัมพูชา-บุกภาคอีสานไทย ปัจจัยภายนอกกระทบการเมืองไทย

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

เปิดตัว

ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สังคมและสื่อมวลชนเริ่มให้ความสนใจบทบาทของคณะทหารหนุ่มซึ่งไม่สามารถปกปิดตัวเองได้อย่างที่เคยเป็นมา

สมาชิกระดับแกนนำของคณะทหารหนุ่มจึงได้เริ่มปรากฏตัวแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น “ตัวเปิด” ได้แก่ พ.อ.จำลอง ศรีเมือง

ส่วน พ.ท.มนูญ รูปขจร ยังคงเก็บตัวเงียบ และจัดการประชุมพบปะกับสมาชิกของกลุ่มในลักษณะปิดลับอย่างสม่ำเสมอที่กองพันทหารม้าที่ 4 บางกระบือ ซึ่งตนเป็นผู้บังคับกองพัน

โดยไม่ยอมให้สัมภาษณ์นักหนังสือพิมพ์ใดๆ ทั้งสิ้น

 

ปัจจัยภายใน-ปัจจัยภายนอก

“ปัจจัยภายในประเทศ” ที่สำคัญสูงสุด ระหว่างปี พ.ศ.2521 เกิดจากการต่อสู้ของกลุ่มอำนาจเก่าทางทหารที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ซึ่งมีผู้บัญชาการเหล่าทัพและโครงสร้างอำนาจส่วนบนในกองทัพให้การสนับสนุน

กับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะทหารหนุ่ม

ขณะที่อีกปัจจัยภายในประเทศซึ่งยังมองไม่เห็นทางออก คือการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยซึ่งเติบโตเข้มแข็งอย่างก้าวกระโดดหลังเหตุการณ์ล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519…

คำขวัญ “ตายสิบเกิดแสน” และ “จากวนาสู่นาครในปี 2525” เป็นที่เล่าขานกันไปทั่วในหมู่สังคมไทย พร้อมๆ กับความเชื่อว่า เวียดนามให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างเต็มกำลัง นอกเหนือจากจีนและประเทศอื่นๆ ในค่ายสังคมนิยม

ขณะที่ “ปัจจัยภายนอกประเทศ” ที่ปรากฏชัดเจนในปี พ.ศ.2521 คือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับกัมพูชา…

 

ความขัดแย้งเวียดนาม-กัมพูชา

ระหว่างสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 ในกัมพูชา พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและเขมรแดงนับเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นในการต่อสู้กับรัฐบาลเขมรที่มีสหรัฐอเมริกาหนุน

ทว่า ผู้นำเขมรแดงกลับเกรงว่าพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามกำลังวางแผนจัดตั้งสหพันธ์อินโดจีนโดยมีเวียดนามเป็นผู้นำ ลาวและกัมพูชาเป็นประเทศบริวาร

ดังนั้น เพื่อขัดขวางความพยายามของเวียดนามในการครอบงำกัมพูชา ในช่วงที่เขมรแดงเริ่มเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงครามภายในกับฝ่ายรัฐบาลนายพลลอน นอล ผู้นำเขมรแดงจึงเริ่มกวาดล้างกำลังพลที่ได้รับการฝึกจากเวียดนามในกองทหารเขมรแดง

ครั้นเมื่อรัฐบาลนายพลลอน นอล ยอมแพ้ในเมษายน พ.ศ.2518 เพียงเดือนถัดมา รัฐบาล “กัมพูชาประชาธิปไตย” ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่โดยเขมรแดงก็เริ่มก่อสงครามโดยตรงกับเวียดนามทันที ด้วยการส่งกำลังเข้าโจมตีเกาะฝูก๊วกของเวียดนาม

ฝ่ายเวียดนามพยายามหาทางมิให้ความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้นด้วยการเจรจา

แต่ผู้นำเขมรแดงก็ยังคงเชื่อมั่นเจตนาในการเข้าครอบงำกัมพูชาของเวียดนาม

ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2520 เขมรแดงจึงเริ่มการโจมตีทางทหารครั้งใหญ่ต่อเวียดนามอีกครั้งหนึ่ง

เวียดนามจึงเริ่มการตีโต้ตอบเมื่อปลาย พ.ศ.2520 จนสามารถยึดครองพื้นที่ในกัมพูชาได้หลายแห่งเพื่อพยายามบีบให้รัฐบาลกัมพูชาเจรจา

ครั้นถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2521 ทหารเวียดนามก็ยอมถอนกำลังออกไปจากกัมพูชาเพื่อผลทางการเมือง แต่การสู้รบระหว่างสองประเทศก็ยังคงดำเนินไปตลอด

พ.ศ.2521 สาธารณรัฐประชาชนจีนพยายามเข้ามาไกล่เกลี่ย แต่ก็ไม่สำเร็จ

จนในที่สุดเวียดนามก็เปิดฉากการรุกแตกหักต่อกัมพูชาในปลายปี พ.ศ.2521 และสามารถเข้ายึดกรุงพนมเปญได้ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2522

 

ยึดครองกัมพูชา
บุกภาคอีสานของไทย

ระหว่างที่การสู้รบของเวียดนามกับกัมพูชากำลังขยายตัวสู่ความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับนั้น

เวียดนามและลาวได้ยื่นข้อเสนอต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2520 ในการส่งกำลังเข้าร่วมปลดปล่อยภาคอีสานของไทย แต่ได้รับการปฏิเสธ

ทำให้เวียดนามเหนือพยายามเข้าช่วงชิงการนำการทำสงครามปฏิวัติในไทย เริ่มด้วยการตัดความช่วยเหลือทั้งสิ้น และขับไล่พลพรรคของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยออกจากดินแดนลาวในทันที

พร้อมคำประณามว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตกอยู่ใต้อิทธิพลของจีน

นอกจากนั้น เวียดนามและลาวยังพยายามตั้งพรรคปฏิวัติใหม่ภายใต้อิทธิพลเวียดนามเพื่อช่วงชิงการนำจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คือ “พรรคประชาชนปฏิวัติไทย” หรือที่เรียกกันว่า “พรรคดาวเขียว”

โดยมีนายบุญเย็น วอทอง เป็นผู้นำ ที่ประกาศแยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยพร้อมสหายอีกจำนวนหนึ่ง

ฝ่ายความมั่นคงและสื่อมวลชนไทยเฝ้าจับตาติดตามความเปลี่ยนแปลงในกัมพูชาซึ่งมีพรมแดนติดกับไทยด้วยความหวาดวิตก

ขณะที่ข่าวเวียดนามจะบุกไทยต่อจากกัมพูชาเริ่มเป็นที่โจษจันในหมู่คนไทยและก่อให้เกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง ทั้งระดับตัวบุคคลและการลงทุนจากต่างประเทศ

ปัจจัยภายนอกที่เป็นไปได้จากการคุกคามของเวียดนามจะเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งในการกำหนดตัวผู้นำทั้งการทหารและการเมืองของไทยในช่วงเวลาแห่งวิกฤตครั้งนี้

 

โรงเรียนเสนาธิการทหารบก พ.ศ.2521
: “ป๋าเปรม” และ “คณะทหารหนุ่ม”

ช่วงวิกฤต พ.ศ.2521 ผู้เขียนได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกเมื่อเดือนตุลาคม พร้อมกับเพื่อนนายทหารระดับร้อยเอก-พันตรี จำนวนประมาณ 200 คนจากหน่วยทหารทั่วประเทศ ขณะที่ “คณะทหารหนุ่ม” เริ่มเปิดตัวจนเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีทั้งในสังคมไทยทั่วไปและทหารในกองทัพแล้ว

นายทหารนักเรียนทุกคนล้วนผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และยังรู้สึกขื่นขมกับความรังเกียจของสังคมต่ออาชีพทหาร และยังได้รับรู้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบต่อพฤติกรรมของนายทหารระดับสูงของกองทัพบก

ดังนั้น อุดมการณ์ “เราจะเสี่ยงเพื่อชาติและราชบัลลังก์ โดยไม่หวังลาภสักการะใดๆ” จึงเป็นที่ชื่นชมและเกิดความหวังว่าคณะทหารหนุ่มจะสามารถกอบกู้เกียรติยศของทหารกลับคืนมา

โดยเฉพาะความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการขวาจัดของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ยิ่งทำให้นายทหารนักเรียนซึ่งส่วนใหญ่ผ่านการคุมกำลังระดับกองร้อยมาแล้วตระหนักในความสำคัญของตัวเองมากขึ้น

ต่างไปจากคำขวัญ “ปากอย่าพร่ำ ทำตามคำสั่ง” ที่ถูกปลูกฝังมาตลอดชีวิตทหาร

พวกเราเริ่มย้อนคิดและตั้งคำถามให้กับหลายช่วงเวลาของกองทัพที่ผ่านมา

นายทหารชั้นยศร้อยเอกและพันตรีก่อนเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกใน พ.ศ.2521 เหล่านี้ล้วนผ่านสงครามทั้งในและนอกประเทศด้วยตัวเองมาแล้วสดๆ ร้อนๆ แทบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสงครามเวียดนาม สงครามลับในลาว โดยเฉพาะสงครามภายในกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

หลายคนออกจากฐานกองร้อยที่ควบคุมบังคับบัญชาในพื้นที่การรบป่าเขาก็เดินทางตรงมารายงานตัวที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกทันที

มีไม่น้อยที่รับราชการอยู่ในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงยิ่งทราบดีถึงภัยคุกคามที่มาจากกลุ่มประเทศอินโดจีนที่มีเวียดนามเป็นผู้นำ

เป็นภัยที่พวกเขาต่างตระหนักถึงอำนาจกำลังรบ เปรียบเทียบว่าน่าห่วงกังวลเพียงใดหากต้องรบกัน และพวกเราระดับร้อยเอกและพันตรีนี่แหละที่จะต้องอยู่ประจำในแนวรบหน้าสุด

นายทหารเหล่านี้ล้วนเติบโตมาในยุคสงครามเย็นที่ทำให้มีประสบการณ์ทั้งในที่ตั้งปกติและในสนามรบนอกประเทศร่วมกับมหามิตรสหรัฐอเมริกาในการปักหลักเคียงบ่าเคียงไหล่ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ศัตรูร่วม

แต่มาบัดนี้ทหารอเมริกันและฐานทัพทั้งหมดในไทยต่างถอนตัวออกจนหมดสิ้นแล้วในปี พ.ศ.2519 มิหนำซ้ำองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “SEATO” ที่เป็นองค์กรแห่งความร่วมมือทางทหารเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ก็ปิดตัวลงอย่างถาวรเมื่อ 30 มิถุนายน พ.ศ.2520

พวกเราจึงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกโดดเดี่ยว ว้าเหว่ ขณะที่ทราบอยู่เต็มอกว่า เวียดนามได้รับการสนับสนุนจากค่ายสังคมนิยมโดยเฉพาะโซเวียตอย่างเต็มที่

เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยืนอยู่บนขาของตัวเองโดยมีเอกราชของชาติเป็นเดิมพันสุดท้าย

พวกเราจึงมีความหวังต่ออนาคตของชาติและกองทัพจากอุดมการณ์ที่น่าเลื่อมใสของคณะทหารหนุ่ม