ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ลึกแต่ไม่ลับ |
ผู้เขียน | จรัญ พงษ์จีน |
เผยแพร่ |
“เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา” เผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ความว่า “ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ พ.ศ.2562 …บัดนี้ได้ปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีที่สี่ อันเป็นปีสุดท้ายของอายุสภาผู้แทนราษฎรแล้ว …สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนโดยเร็ว เพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง”
“จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ”
“สภาผู้แทนราษฎร” ชุดนี้มาจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 หากปฏิบัติหน้าที่จะครบวาระ 4 ปีเต็มในวันที่ 23 มีนาคม 2566 จึงเท่ากับว่า การยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ถูกยุบก่อนครบวาระไปแบบเฉียดฉิวเพียง 3 วัน
การยุบก่อนกำหนด ไม่ว่าจะ 3 วัน หรือ 1 ชั่วโมง มีมรรคผลในทางการเมือง เกี่ยวกับ “ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” อยู่มากพอสมควร
ตามบทบัญญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 แห่งมาตรา 97 ระบุว่า” ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่กรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลาดังกล่าวให้ลดเหลือ 30 วัน”
กรณีที่ว่า หากสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้อยู่ครบเทอม “ผู้สมัครทุกค่ายสังกัด” ต้องแต่งตัวให้แล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 7-14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเลยเวลามาแล้ว ลูกพรรคที่ได้รับอานิสงส์มากที่สุด คือ “รวมไทยสร้างชาติ” ไม่ต้องตายยกเข่ง เพราะติดกับดัก 90 วัน ได้เงื่อนไขสังกัดพรรค 30 วัน อยู่รอดปลอดภัยกันระนาว
รวดเร็ว ฉับไว ทันใจดี “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ “กกต.” ประชุมและมีมติกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป หลังประกาศยุบสภาไม่กี่ชั่วยาม มีมติเคาะ เห็นชอบวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 7 พฤษภาคม ออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้า วันที่ 3-7 เมษายน รับสมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้ง วันที่ 4-7 เมษายน รับสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ และให้พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
ตามไทม์ไลน์นี้ คาดว่าช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนกรกฎาคม “กกต.” สามารถประกาศผลเลือกตั้งได้ ปลายเดือนกรกฎาคม “สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่” ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม มีมติเลือกนายกรัฐมนตรี และต้นเดือนสิงหาคม จะเห็นรูปโฉมรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะเข้าบริหารประเทศไทยสืบต่อไปได้ แบบเต็มตัว
สําหรับสถานการณ์ของศึกเลือกตั้งปี 2566 แม้จะใช้บริการรัฐธรรมนูญภายใต้กรอบฉบับ 2560 เดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันอยู่ในหลายเงื่อนไข กล่าวคือ จำนวน ส.ส.เขตเลือกตั้ง กับบัญชีรายชื่อ มูลฐานเดิม 2562 สัดส่วน 350 กับ 150 แต่เลือกตั้ง 2566 เปลี่ยนเป็น 400 กับ 100 จำนวนเต็มทั้ง 2 ระบบ 500 ที่นั่งเท่าเดิม และใช้บัตรเลือกตั้งจาก ใบเดียวเป็น 2 ใบ สูตรการคำนวณที่มา ส.ส. จากหาร 500 เป็นหาร 100 ทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ตัวเลขผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งเพิ่มจาก 70,000 เสียง เป็น 350,000 เสึยง “พรรคขนาดเล็ก” จึงมีโอกาสแจ้งเกิดยาก
พูดถึงศึกเลือกตั้ง เซียนทุกสำนัก-โพลทุกค่าย-แม่มด-หมอผี ทุกป่าช้าต่างพากัน “ฟันธง” ไปทิศทางเดียวกันว่า “พรรคเพื่อไทย” จะชนะเลือกตั้งแบบแบเบอร์ และน่าจะมีคะแนนทิ้งห่างอันดับ 2 หลายช่วงตัว
ยกผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ครั้งที่ 1 เมื่อล่าสุด เรื่องศึกเลือกตั้ง 2566 กระจายสอบถามทุกภูมิภาคจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
“3 โจทย์” ที่ได้รับคำตอบ “บุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี” ระบุว่า “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” เพื่อไทย ร้อยละ 38.20 “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ก้าวไกล ร้อยละ 15.75 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” รวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 15.65
“พรรคการเมืองที่จะเลือกให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ได้รับคำตอบว่า “เพื่อไทย” อันดับ 1 ร้อยละ 49.85 ตามด้วย “ก้าวไกล” ร้อยละ 17.15 “รวมไทยสร้างชาติ” ร้อยละ 12.15
“พรรคการเมืองที่จะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต ” ยังปรากฏว่า “เพื่อไทย” ครองแชมป์ร้อยละ 49.75 “ก้าวไกล” ตามมาห่างๆ ร้อยละ 17.40 และ “รวมไทยสร้างชาติ” เกาะติดอยู่อันดับ 3 ร้อยละ 11.75
หากวิเคราะห์ตามทฤษฎีหลักวิทยาศาสตร์ “พรรคเพื่อไทย” ที่ชนะลอยลำ คูณคำนวณจากสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของ “นิด้าโพล” แม้จะไม่ถึง 310 เสียงก็จริง แต่ร้อยละ 49.85 เมื่อถอดรหัสออกมาเป็นตัวเลข ก็น่าจะ 240 อัพ หลังแตะเชือกครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปแล้ว ดึงแค่ “ก้าวไกล” มาผสมโรงก็ทะลุเพดาน ยิ่งรวมพลคนกันเอง จาก “ฝ่ายค้านเก่า” มาร่วมวงไพบูลย์ทั้งหมด ยิ่งสบายหายห่วง
ตามศาสตร์ของระบอบประชาธิปไตย เมื่อประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยออกมาใช้สิทธิตัดสินใจกันแล้ว การดำเนินการของรัฐ ต้องถือมติเสียงข้างมากเป็นกติกาตัดสินเป็นมาตรฐาน
แต่ “ในทางปฏิบัติ” เนื่องจากมาตรฐานประเทศไทยไม่คงเส้นคงวา “พรรคขนาดเล็ก” ยังพอมีโอกาส มีความเป็นไปได้ เกิดขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่ออีกหลายทาง โจทย์ข้อแรก ตอบถูกคือ “พรรคเพื่อไทย” ชนะเลือกตั้ง แต่โจทย์ข้อที่สอง ว่าด้วยการได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ อาจจะตอบผิด เพราะมี “ปัจจัยอื่น” เข้ามามีส่วนผสม
มารคอหอยของ “เพื่อไทย” ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่งเข้าประกวด เพื่อป้องกันแชมป์
“บิ๊กตู่” แต้มบุญแกสูงส่งมาก ประเภทหน้าแดงแรงไม่ออก ศึกเลือกตั้ง 2566 พรรคเพื่อไทยท่องคัมภีร์แลนด์สไลด์ ถล่มทลาย วางยุทธศาสตร์ไว้ที่ 310 ที่นั่ง
ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เป้าแค่จิ๊บๆ เกิน 25 ที่นั่ง เข้าข่ายร้อยละ 5 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ไม่ต้องชกใต้เข็มขัด แต่สามารถหยิบชิ้นปลามันได้แล้ว
“การเมืองสไตล์ไทยๆ ใครๆ ก็พากันมึนงง ยิ่งกว่ายืนหลงอยู่ในดงกล้วย”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022