ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
ผ่านพ้นไป 20 ปี สำหรับการบุกโจมตีอิรัก ของสหรัฐอเมริกา ที่ก่อให้เกิดเกิดสงคราม และความรุนแรงต่อเนื่องเรื่อยมา จนทำให้อิรักตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมืองอย่างยาวนาน
แต่ตอนนี้ กรุงแบกแดด เมืองหลวงอิรักเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หนุ่มสาวชาวอิรักอยู่ในชุดกางเกางยีนส์ รองเท้าผ้าใบ เต้นรำกันอย่างสนุกสนาน ริมแม่น้ำไทกริส
บ่งชี้ให้เห็นถึงโลกที่ห่างไกลจากความหวาดกลัว หลังการบุกอิรักของสหรัฐเมื่อ 20 ปีก่อน
ผู้คนในกรุงแบกแดด อยู่กันอย่างมีความสงบสุขที่หาได้ยาก ในช่วงประวัติศาสตร์ยุคใหม่อันแสนเจ็บปวด
ขณะที่ชายหนุ่มพากันขับรถยนต์ ท่ามกลางเมืองที่เต็มไปด้วยตึกที่ครั้งหนึ่งเคยมีแต่ระเบิด
จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อ 20 ปีก่อน เรียกการบุกอิรักที่นำโดยสหรัฐ ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2003 ว่า เป็นปฏิบัติการเพื่อปลดปล่อยชาวอิรัก ขับไล่รัฐบาลของซัดดัม ฮุสเซน เผด็จการที่ปกครองผู้คน 20 ล้านคนด้วยความหวาดกลัวมานานกว่า 20 ปี
แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นการทำลายความเป็นเอกภาพของรัฐ ใจกลางโลกอาหรับด้วย โดยมีชาวอิรักราว 300,000 คน ที่ถูกสังหารในช่วงปี 2003-2023 นอกจากนี้ ช่วงเวลาเดียวกันก็ยังมีทั้งทหาร ผู้รับเหมา และพลเรือนของสหรัฐ กว่า 8,000 คน ที่ต้องจบชีวิตลงจากสงครามและความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมาในอิรัก
อย่างไรก็ตาม ราวครึ่งหนึ่งของประชากรในปัจจุบัน ยังโตไม่พอที่จะจดจำชีวิตภายใต้การนำของซัดดัม ฮุสเซน ได้ จากการสัมภาษณ์ชาวอิรักรุ่นใหม่ ตั้งแต่ในกรุงแบกแดด จนถึงเมืองฟัลลูจาห์ พบว่า วัยรุ่นหนุ่มสาวเหล่านี้ ต่างรู้สึกเสียดายกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้น หลังจากซัดดัมถูกโค่นอำนาจลง
แต่หลายคนก็มีความหวังเกี่ยวกับเสรีภาพและโอกาสที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
จอห์น เดนิสซีวสกี และเจโรม ดีเลย์ สองนักข่าวจากสำนักข่าวเอพี เคยอยู่ในกรุงแบกแดดเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนที่สหรัฐเริ่มการทิ้งระเบิดถล่มอิรัก และเขาทั้งสองกลับมาที่แบกแดดอีกครั้ง เพื่อรายงานว่า ตอนนี้อิรักเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
ประธานาธิบดีอับดุล ลาติฟ ราชิด ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้นำอิรักเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้บอกกับผู้สื่อข่าวของเอพี ถึงโอกาสที่สว่างไสวของอิรัก หลังจากอิรักต้องตกอยู่ในสภาวะแช่แข็งมานานเนื่องจากสงคราม และว่า ตอนนี้ความมั่งคั่ง และสันติสุข ได้กลับคืนสู่อิรักแล้ว
และว่า หากคนหนุ่มสาวมีความอดทนสักนิด ตนก็คิดว่า ชีวิตในอิรักจะดีขึ้นอย่างมาก
ซาฟา ราชิด นักเขียนวัย 26 ปี ได้พูดคุยกับนักการเมืองและเพื่อนฝูงจำนวนมาก ที่คอฟฟี่ช็อปแห่งหนึ่งในย่านคาราดา ในกรุงแบกแดด โดยราชิดบอกว่า หลังการบุกอิรักของสหรัฐ อิรักก็แตกสลาย มีแต่ความรุนแรงเข้าครอบงำ
แต่วันนี้มันต่างออกไป เขาและเพื่อนร่วมงานมีใจเดียวกัน พูดคุยเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างอิสระ และคิดว่าคนหนุ่มสาวพยายามที่จะแก้ไขสถานการณ์เหล่านี้
ขณะที่นัวร์ อัลฮูดา ซาอัด อายุ 26 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง บอกว่า คนรุ่นเดียวกับเธอได้กลายเป็นผู้นำการประท้วง ที่ประณามการคอร์รัปชั่น และเรียกร้องบริการต่างๆ รวมถึงแสวงหาการเลือกตั้งแบบครอบคลุม
และคนเหล่านี้จะไม่หยุดจนกว่าจะสร้างให้อิรักดีขึ้น
ตัดภาพมาที่เมืองฟัลลูจาห์ หนึ่งในเมืองที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะสงครามมานาน และเต็มไปด้วยร่องรอยของความเสียหาย
ตอนนี้เต็มไปด้วยอพาร์ตเมนต์ โรงพยาบาล สวนสนุก ที่สำหรับเดินเล่น แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ปล่อยให้ผู้สื่อข่าวจากตะวันตกเดินไปไหนมาไหนโดยไม่มีการคุ้มกัน ซึ่งเป็นสัญญาณว่า ยังมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นอยู่
แต่ชาวบ้านก็มีความสุขกับการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่
ดร.ฮูตีฟา อลิสซาวี ผู้นำมัสยิด บอกว่า “เราสูญเสียมามาก ทั้งครอบครัว” แต่ตอนนี้เขามีความสุขดีกับการรักษาความปลอดภัย และถ้ายังเป็นอยู่แบบนี้ต่อไป ก็จะสมบูรณ์มาก
เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในประเทศอิรัก ที่กำลังเริ่มต้นชีวิตใหม่ในบ้านเกิดของตัวเอง หลังต้องเจอกับมรสุมหนักมานานนับสิบปี

the dome and minaret of the Seventeen Ramadan Mosque in Baghdad’s landmark Fardous square (L) on same the date with a picture taken 20 years earlier on April 9, 2003 showing an Iraqi man hanging a rope around a statue of Iraqi former president Saddam Hussein at the same spot before it was brought down following his fall as a result of the US-led invasion of Iraq three weeks earlier. – TV footage beamed around the world on April 9, 2003 showed US Marines toppling a giant statue of Saddam, after the fall of the Iraqi dictator. (Photo by AHMAD AL-RUBAYE and Patrick BAZ / AFP)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022