คณะทหารหนุ่ม (32) | ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ ทหารยศพันตรี-พันโท กดดันผู้มีอำนาจได้

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

โยกย้ายทหาร ตุลาคม พ.ศ.2521

การโยกย้ายนายทหารใน 1 ตุลาคม พ.ศ.2521 นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสภาวะอำนาจคู่ระหว่างสองขั้วผู้นำทางทหารที่ต่างยังคงชิงไหวชิงพริบกันอยู่ตลอดเวลา

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จะต้องเกษียณอายุจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ใน 30 กันยายน พ.ศ.2521 และเป็นวงรอบของผู้บัญชาการทหารบกจะต้องขึ้นดำรงตำแหน่งนี้แทน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นคือ พล.อ.เสริม ณ นคร ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในปีถัดไป พ.ศ.2522

จึงเป็นที่คาดหมายว่าจะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดควบคู่ไปกับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และจะอยู่ในตำแหน่งนี้ไปอีก 1 ปีเต็ม

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในลักษณะ “ขาลอย” อำนาจทางการทหารซึ่งแยกไม่ออกกับอำนาจทางการเมืองจะเทไปรวมอยู่ที่ พล.อ.เสริม ณ นคร เพียงคนเดียว

ช่วงที่ผ่านมา พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ยังมี “พันธมิตร” ที่สำคัญคือ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการทหารบก แต่ก็จะต้องเกษียณอายุราชการในกันยายน พ.ศ.2521 นี้เช่นเดียวกัน

จากตุลาคม พ.ศ.2521 เป็นต้นไป ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงนับว่าโดดเดี่ยวอย่างยิ่ง หนาวเย็นอย่างยิ่ง

การมอบตำแหน่ง “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย” ให้กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ข้าม พล.อ.เสริม ณ นคร จึงนับว่ามีนัยทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการเสริมบารมีให้กับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในเวลาอีกไม่นาน

 

พลังทหารหนุ่ม

ครั้งที่คณะปฏิรูปการปกครองเข้ายึดอำนาจเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 คณะทหารหนุ่มยศพันตรี-พันโท เป็นเพียง “เบี้ย” ตัวหนึ่งที่ยังไร้เดียงสาทางการเมือง ได้นำกำลังออกมาเพื่อรักษาความสงบตามคำสั่งของกองทัพบก แต่ก็นับเป็นประสบการณ์ครั้งแรกและเป็นจุดเริ่มแห่งการตระหนักรู้ถึงอำนาจปืนในมือขณะที่ศูนย์อำนาจในการบังคับบัญชาของกองทัพบกยังไม่ฟื้นตัว

ประสบการณ์ครั้งที่ 2 ของคณะทหารหนุ่มเกิดขึ้นเมื่อครั้ง พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ พยายามก่อรัฐประหารเมื่อ มีนาคม พ.ศ.2520 และเป็นกำลังของคณะทหารหนุ่มนี่เองที่ใช้รถถังปิดล้อมกองบัญชาการคณะปฏิวัติที่สวนรื่นฤดีตามคำสั่งรัฐบาลจนกระทั่งเหตุการณ์คลี่คลายลง

ประสบการณ์ครั้งที่ 3 คือความพยายามในการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อมิถุนายน พ.ศ.2520 แต่ พล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบกเปลี่ยนใจ จึงล้มเลิกแล้วนำกำลังกลับกรมกอง

การรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่สำเร็จลงอย่างง่ายดายปานพลิกฝ่ามือเมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 จึงเป็นประสบการณ์ครั้งที่ 4

ประสบการณ์ในห้วงเวลาสั้นๆ ทั้งหมดนี้ทำให้คณะทหารหนุ่มตระหนักและมั่นใจในศักยภาพแห่งกำลังอาวุธในมือตน

 

พยัคฆ์หนุ่มติดปีก

บทบาทของทหารหนุ่มในการเป็นกำลังหลักของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 และการผลักดันให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้คณะทหารหนุ่มมีอำนาจต่อรองทั้งด้านการทหารและการเมืองเต็มที่

ขณะที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นนายทหารที่ปราศจากฐานกำลังอำนาจที่แท้จริง บัดนี้ก็ได้มีฐานกำลังสนับสนุนอย่างชัดเจนแล้วจากนายทหารระดับกลางที่คุมกำลังระดับกองพันคือคณะทหารหนุ่ม

สถานภาพของคณะทหารหนุ่มทั้งในทางกองทัพและในทางการเมืองจึงทวีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กำลังทหารระดับกองพันในบังคับบัญชาของนายทหารชั้นยศเพียงระดับพันตรี-พันโท สามารถกดดันผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะการขู่ว่าจะใช้กำลังทำปฏิวัติซ้อน

ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2520 เป็นต้นมา คณะทหารหนุ่มจึงกลายเป็น “กลุ่มกดดันทางการเมือง” ที่สำคัญที่สุดในระบอบการเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่คณะทหารหนุ่มใช้ยังคงมีลักษณะปกปิด การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจะกระทำในรูปของการเข้าพบนายกรัฐมนตรีเป็นการส่วนตัวเพื่อเสนอแนะมาตรการทางการเมืองต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และเสนอแนะตัวบุคคลที่จะเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี ความเห็นเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล และความคิดเห็นที่มีต่อภาพลักษณ์และการปฏิบัติงานของรัฐมนตรีบางคน เป็นต้น

 

ไม่เอาสงัด

พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ แม้จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในตำแหน่ง “ประธานสภานโยบายแห่งชาติ” จึงนำไปสู่การชิงไหวชิงพริบในทางการเมืองกับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งมีคณะทหารหนุ่มเป็นฐานกำลังให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และในที่สุดก็สามารถลดบทบาทและอิทธิพลในทางการเมืองของกลุ่ม พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ อย่างได้ผลในที่สุด

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ในเดือนธันวาคม คณะทหารหนุ่มมีความพึงพอใจอย่างมาก เพราะสามารถป้องกันมิให้ประธานสภานโยบายแห่งชาติ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกเป็นผลสำเร็จ

โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ซึ่งมีจำนวนถึง 3 ใน 4 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

ขยายฐานกำลัง

สถานภาพและความมั่นใจในพลังอำนาจต่อรองทางการทหารและการเมืองที่มีสูงขึ้นทำให้คณะทหารหนุ่มเริ่มขยายฐานกำลังให้กว้างขวางขึ้น โดยชั้นต้นเน้นหนักไปที่นายทหารระดับล่างลงมาโดยเฉพาะระดับผู้บังคับกองพัน ซึ่งกระทำด้วยความระมัดระวัง

ทั้งนี้เนื่องจากบางส่วนของนายทหารระดับผู้บังคับการกรมและผู้บังคับกองพันบางคนยังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโครงสร้างอำนาจเดิม การขยายฐานกำลังของคณะทหารหนุ่มจึงอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายทหารระดับล่างที่ใกล้ชิดและไว้วางใจ โดยเฉพาะกับผู้บังคับกองพันของกรมที่คณะทหารหนุ่มเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่

ขณะเดียวกัน คณะทหารหนุ่มก็พยายามยกระดับขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บังคับการกรมซึ่งจะทำให้มีอำนาจต่อรองสูงขึ้น และยังเป็นช่องทางที่จะแสวงหาความสนับสนุนจากผู้ใต้บังคับบัญชาระดับผู้บังคับกองพันได้ง่ายขึ้นด้วย

ความพยายามประการหลังนี้จะนำไปสู่การกระทบกระทั่งกับนายทหารรุ่นพี่ในที่สุด เมื่อต้องเบียดชิงในตำแหน่งเดียวกัน

 

สร้างแนวร่วม

คณะทหารหนุ่มเริ่มขยายความสัมพันธ์กับนักการเมืองพลเรือน ข้าราชการประจำ และอาจารย์มหาวิทยาลัยบางส่วนซึ่งเริ่มมาบ้างแล้วตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2520 เพื่อทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งนักวิชาการกลุ่มนี้ได้ให้ข้อคิดเห็นแก่คณะทหารหนุ่มเป็นระยะๆ จนคณะทหารหนุ่มมีความเชื่อถือในความคิดเห็นของนักวิชาการกลุ่มนี้มากพอสมควร

โดยเฉพาะแนวทางลดความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมที่เสนอให้ผลักดันการนิรโทษกรรมแก่นักศึกษาที่ถูกคุมขังในคดี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ซึ่งคณะทหารหนุ่มเห็นพ้องด้วยและได้เสนอแนะต่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

จนนำไปสู่การประกาศนิรโทษกรรมเมื่อกลางเดือนกันยายน พ.ศ.2521