สงครามที่ไม่ชนะ ! ปัญหาของกองทัพรัสเซีย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

สงครามที่ไม่ชนะ !

ปัญหาของกองทัพรัสเซีย

 

“กองทัพรัสเซียดูดีมากในวันสวนสนาม แต่เบื้องหลังภาพถ่ายและเครื่องแบบนั้นคือความสึกกร่อนจากการคอร์รัปชั่น การรับสินบน และความไร้ประสิทธิภาพ”

Frank Ledwidge (ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง)

 

ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียเริ่มต้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ด้วยความหวังอย่างมากว่า กองทัพรัสเซียจะยึดเคียฟได้ในเวลาเพียงไม่กี่วัน และสงครามจะยุติโดยเร็ว

แต่จนบัดนี้มากกว่า 1 ปีแล้ว สงครามยังคงดำเนินต่อไป และไม่อาจคาดเดาจุดจบของสงครามนี้ได้

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองสำรวจถึงปัญหาบางประการของรัสเซียที่เกิดขึ้นในช่วงปีแรกของสงคราม

จากเบรสเนฟ ถึงปูติน

 

แต่เดิมหลายฝ่ายมีความเชื่อว่า ประธานาธิบดีปูตินต้องการใช้ “การขู่” เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อบรรดารัฐที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตมาก่อน ให้ตระหนักว่าพวกเขาจะต้องเลือกอยู่กับรัสเซียเท่านั้น ไม่ใช่การหันไปมีใจในการเข้าร่วมกับประเทศตะวันตก

ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับ “หลักการเบรสเนฟ” (The Brezhnev Doctrine) ในยุคสงครามเย็น ที่รัฐในยุโรปตะวันออกจะต้องอยู่ในสังกัดของสหภาพโซเวียตเท่านั้น และไม่อนุญาตให้มีแนวนโยบายที่ต่างจากศูนย์กลางอำนาจที่มอสโก

การขู่ยังเป็นความคาดหวังของการส่งสัญญาณไปยังบรรดาประเทศตะวันตกว่า รัสเซียยังคงต้องการดำรงอิทธิพลเหนือพื้นที่ทางด้านยุโรปตะวันออก และพื้นที่ทางด้านทะเลบอลติกต่อไป

ทั้งไม่ต้องการให้ตะวันตกขยายอิทธิพลเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว เช่น กรณีการขยายสมาชิกภาพของนาโตไปทางยุโรปตะวันออกและแถบทะเลบอลติก

ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศในพื้นที่ดังกล่าวได้เข้าร่วมกับนาโต รัสเซียมองว่าการขยายอิทธิพลเช่นนี้เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อสถานะด้านความมั่นคงของรัสเซีย และประธานาธิบดีปูตินใช้ประเด็นนี้เป็นข้ออ้างทุกครั้งเมื่อเขากล่าวถึงภัยคุกคามจากตะวันตก

 

ประธานาธิบดีปูตินมีความหวังว่า สัญญาณเหล่านี้จะได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามจากฝ่ายตะวันตก ที่จะยอมปล่อยให้อิทธิพลของรัสเซียในพื้นที่ดังกล่าวดำรงอยู่ต่อไปเช่นในยุคสงครามเย็น เพราะต้อง “ยำเกรง” ต่อสถานะความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ของรัสเซีย หรืออย่างน้อยตะวันตกควรต้องยอมรับถึงการดำรงอยู่ของ “พื้นที่ด้านความมั่นคง” ของรัสเซีย

เช่นที่ตะวันตกเคยยอมรับด้วยการไม่แทรกแซงปัญหาการเมืองภายใน ดังเช่นในยุคสงครามเย็น เช่น แม้จะเกิดวิกฤตจากการเรียกร้องหาเสรีนิยม และถูกปราบปรามจากกองทัพโซเวียตเพียงใด ตะวันตกก็จะไม่แทรกแซง ดังเช่น การลุกขึ้นในเชโกสโลวะเกีย หรือที่เรียกกันว่า “ปรากสปริง” (The Prague Spring) ในปี 1968 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในยุคนั้น และเป็นการแสดงถึงการยอมรับของรัฐมหาอำนาจตะวันตกที่จะไม่แทรกแซงในพื้นที่ที่เป็นเขตอิทธิพลของโซเวียต อันอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าได้

อย่างไรก็ตาม ผู้นำรัสเซียอาจจะไม่ตระหนักถึง “ภูมิทัศน์ใหม่” ที่เกิดขึ้นกับการเมืองภายในของหลายประเทศที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจของโซเวียตในยุคสงครามเย็น ที่วันนี้ผู้คนในประเทศเหล่านั้น ไม่ต้องการอยู่กับระบอบอำนาจนิยมของรัสเซีย และหันมองไปทางยุโรปตะวันตกด้วยความหวัง

ซึ่งยูเครนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้ หรือบรรดารัฐบอลติกทั้งสามก็ไม่แตกต่างกัน ซึ่งคนในสังคมต้องการเห็นประชาธิปไตย นิติรัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจ มากกว่าที่จะต้องยอมทนอยู่กับ “ระบอบปูติน” ที่แทบจะไม่ต่างจาก “ระบอบสตาลิน” ในอดีต

ดังนั้น “หลักการปูติน” จึงแทบไม่ต่างจาก “หลักการเบรสเนฟ” ที่มองว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการคุกคามต่อรัสเซีย และรัสเซียมีสิทธิ์ที่จะใช้กำลังเข้าจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น เช่นที่กองทัพโซเวียตเคยใช้กำลังเข้าปราบปรามฝ่ายปฏิรูปในฮังการีในปี 1956 หรือในเชโกสโลวะเกียในปี 1968

 

การใช้กำลังทั้งสองครั้งประสบความสำเร็จมาแล้วอย่างง่ายดายในยุคสงครามเย็น เพราะตะวันตกยอมรับต่อ “เขตอิทธิพล” ของโซเวียต และไม่ต้องการเข้าแทรกแซง ความสำเร็จในยุคสมัยใหม่

ดังเช่นรัสเซียใช้กำลังแทรกแซงวิกฤตการณ์จอร์เจียในปี 2008 หรือการใช้กำลังในวิกฤตการณ์ยูเครนในปี 2014 ล้วนประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ตามความต้องการของรัฐบาลมอสโก จนสามารถยึดดินแดนทั้งไครเมียและดอนบาสมาไว้ในอำนาจของรัสเซียได้

อันทำให้ผู้นำรัสเซียมีทัศนะว่า การใช้กำลังต่อยูเครนในปี 2022 ก็น่าจะให้ผลลัพธ์เช่นเดิม เพราะเคยสำเร็จอย่างง่ายดายมาแล้ว

นอกจากนี้ ด้วยขนาดของกองทัพ และด้วยสถานะของความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ ยูเครนไม่น่าที่จะยันการรุกของกองทัพรัสเซียได้นาน และสงครามชิงเคียฟ (The Battale for Kiev) น่าจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน และจบลงด้วยชัยชนะของรัสเซีย

แต่สงครามกลับพลิกไปเป็นอื่น เพียงระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือนเต็ม นับจากการเริ่มต้นการบุก กองทัพรัสเซียกลับไม่สามารถรุกคืบหน้าไปได้อย่างที่ต้องการ และเริ่มถูกผลักถอยร่นในเวลาต่อมา

 

ปัญหาของรัสเซีย

สภาวะเช่นนี้ทำให้ภาพรวมของสงครามในปีแรก เป็นปีแห่งความสำเร็จของ “การยันทางยุทธศาสตร์” ของรัฐบาลและกองทัพยูเครน และอาจจะต้องยอมรับในอีกมุมหนึ่งว่า เป็นปีแห่งความถดถอยของกองทัพรัสเซียอย่างคาดไม่ถึง และหลังจากการรุกกลับ (counteroffensive) ทางภาคใต้ในเดือนกันยายนแล้ว กองทัพรัสเซียดูจะเป็นฝ่ายตั้งรับมากขึ้นในสนามรบ

ฉะนั้น หากสำรวจการรบในหนึ่งปีแรกของสงคราม เราอาจสรุปปัญหาของรัสเซียได้ 3 ประการหลัก คือ

 

1) การประมาณการข้าศึกผิดพลาด

ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญของการทำแผนสงครามคือ การประมาณการฝ่ายข้าศึก ที่มิใช่เป็นเพียงการพิจารณาเฉพาะในส่วนของกำลังรบเท่านั้น หากยังต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจอยู่นอกเหนือความคาดหมาย หรือเป็นปัจจัยที่งานข่าวกรองไม่สามารถประเมินฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเป็นจริง

ดังนั้น เมื่อกองทัพรัสเซียข้ามเส้นเขตแดนเข้าไปในยูเครนแล้ว พวกเขาไม่ได้รับการต้อนรับเช่นที่คาดหวัง อาจจะต่างจากการเข้ายึดพื้นที่ทางดอนบาสในปี 2014 เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว มีคนเชื้อสายรัสเซียอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คนส่วนหนึ่งในพื้นที่เช่นนี้ จึงต้องการที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย คนเหล่านี้ยังเชื่ออีกด้วยว่า ยูเครนเป็นของรัสเซียอย่างแบ่งแยกมิได้

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนเหล่านั้น พร้อมที่จะสนับสนุนการผนวกดินแดนของผู้นำรัสเซีย แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ยินยอมไปในทิศทางเช่นนั้น และเข้าร่วมการต่อสู้ในสงครามเพื่อปกป้องเอกราชของยูเครน

อีกทั้งการประกาศของผู้นำยูเครนที่จะอยู่ต่อสู้ร่วมกับชาวยูเครนในบ้าน โดยไม่ตัดสินใจอพยพออกไปตั้ง “รัฐบาลพลัดถิ่น” นั้น กลายเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญคือ เป็น “พลังอำนาจที่ไม่มีตัวตน” ที่สามารถขยายผลในการชักชวนทั้งชาวยูเครนในประเทศ และรัฐบาลต่างประเทศให้เข้าร่วมทำสงครามต่อต้านการรุกรานของรัสเซียอย่างได้ผล

เราอาจกล่าวได้ว่า “ปัจจัยผู้นำ” ผนวกเข้ากับ “ปัจจัยความมุ่งมั่นและขวัญกำลังใจ” ของคนในสังคมยูเครนที่ตัดสินใจเข้าร่วม “สงครามต่อต้านจักรวรรดิรัสเซีย” กลายเป็นดัง “ซอฟต์เพาเวอร์” (soft power) ที่อาจจะมีพลังในการขับเคลื่อนสงครามของฝ่ายยูเครนมากกว่าพลังของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ของกองทัพรัสเซียที่มีความเหนือกว่า

ภาพรวมจากสงครามจึงสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจต่อพลวัตใหม่ของสังคมยูเครนหลังเหตุการณ์ “ยูโรไมดาน” ในปี 2014

 

2) ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของกองทัพรัสเซีย

ปฏิบัติการทางทหารที่เริ่มตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาภายในของกองทัพรัสเซียอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการบังคับบัญชาและการควบคุม (command and control) การส่งกำลังบำรุง หน่วยทหารขาดทักษะในการรบ กำลังพลขาดขวัญกำลังใจ โดยเฉพาะการประเมินทางยุทธศาสตร์และยุทธการที่ผิดพลาดของผู้บังคับบัญชา อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาการคอร์รัปชั่นและการแสวงหาผลประโยชน์ในกองทัพ

อีกทั้งเมื่อสงครามถูกลากยาวออกไป กองทัพรัสเซียประสบปัญหาความขาดแคลนอาวุธ ซึ่งทำให้ในช่วงที่ผ่านมา รัสเซียต้องพึ่งการสนับสนุนโดรนจากอิหร่าน

ปัจจัยภายในเหล่านี้ทำให้กองทัพรัสเซียอ่อนแออย่างมาก แม้จะเป็นกองทัพของรัฐมหาอำนาจใหญ่ และมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองก็ตาม แต่ภาพสะท้อนของปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น ดูจะไม่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความเข้มแข็งทางทหารของรัสเซียอย่างที่หลายฝ่ายประเมิน

ตัวอย่างจากการรบในเชชเนียหรือในซีเรีย เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีถึงปัญหาการใช้กำลังของรัสเซีย ที่มีความรุนแรงอย่างมาก

สำหรับสงครามในยูเครนนั้น เห็นชัดว่ากองทัพรัสเซียไม่ประสบความสำเร็จมากนักในหลายพื้นที่การรบ กล่าวคือ กองทัพรัสเซียไม่สามารถสร้างความสำเร็จทางทหารจนแปรเป็น “ผลตอบแทนทางยุทธศาสตร์” ได้จริง อันมีนัยว่าโอกาสของชัยชนะในสนามรบใน 1 ปีแรกด้วยเงื่อนไขภายในของปัญหาประสิทธิภาพทางทหารนั้น จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ขณะเดียวกันเมื่อกองทัพยูเครนสามารถทำการยันในทางยุทธศาสตร์ได้แล้ว การรบจึงมีสภาวะเป็น “สงครามตรึงกำลัง” ที่ต่างฝ่ายต่างไม่สามารถเอาชนะอีกฝ่ายได้อย่างเด็ดขาดจากการรบที่เกิดขึ้น หรือเกิดสภาวะที่คู่สงคราม “ถูกตรึง” อยู่กับที่ในทางทหาร (military stalemate)

 

3) สงครามในบ้านของสังคมรัสเซีย

ในขณะที่สังคมยูเครนมีท่าทีชัดเจนในการให้ความสนับสนุนการทำสงครามของประธานาธิบดีเซเลนสกี สังคมรัสเซียกลับไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามของประธานาธิบดีปูติน ดังเช่นหลังจากการประกาศระดมพลของรัฐบาลแล้ว คนหนุ่มหลายส่วนพยายามหาทางออกจากประเทศ เพราะพวกเขาไม่ต้องการถูกเกณฑ์ไปรบในยูเครน

หรือในอีกด้านคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับสงคราม ต่างพากันออกจากประเทศ อีกทั้งการวิพากษ์วิจารณ์สงครามกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมีการจัดการกับผู้เห็นต่างและฝ่ายค้านอย่างรุนแรง

การต่อต้านสงครามกลายเป็น “สงครามในบ้าน” ของประธานาธิบดีปูติน จนเห็นได้ชัดว่ารัสเซียมีพลังอำนาจทางทหาร แต่แทบไม่มี “พลังอำนาจที่ไม่มีตัวตน” ในแบบที่ยูเครนมี และยิ่งขวัญกำลังใจของทหารรัสเซียตกต่ำ พร้อมกับประสิทธิภาพทางทหารที่อ่อนด้อยแล้ว

พลังทางทหารของรัสเซียที่มีมากกว่าในสนามรบแต่เพียงประการเดียว ไม่สามารถทำให้เกิดความเหนือกว่าทางยุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่ชัยชนะในสงครามได้เลย!