เพิงผาผนังถ้ำ วรรณกรรมจากรูปเขียน

เพิงผาและผนังถ้ำมีรูปเขียนตามเรื่องเล่าจากความทรงจำของคนอุษาคเนย์ดึกดำบรรพ์ (ซึ่งเป็นบรรพชนคนไทย) นับเป็นวรรณกรรมอุษาคเนย์

รูปเขียนบนหิน หมายถึง รูปเขียนราว 2,500 ปีมาแล้วบนเพิงผา, ผนังถ้ำ ฯลฯ พบทั่วไปในประเทศไทย และเพื่อนบ้านโดยรอบ

รูปเขียนบนผาหินเหล่านี้ถูกวาดโดยบรรพชนหลายชาติพันธุ์และพูดหลายตระกูลภาษา ซึ่งน่าจะไม่มีตระกูลภาษาไท-ไต เพราะขณะนั้นมีหลักแหล่งอยู่ทางโซเมียตอนบน หรือทางตอนใต้ของจีน-ตอนเหนือของเวียดนาม ยังมาไม่ถึงดินแดนไทยปัจจุบัน

เรื่องเล่าเหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับคนไทย (เพิ่งมีสมัยหลัง) ดังนี้

1. เรื่องเล่าที่นำไปเขียนรูปเป็นเรื่องซึ่งเฮี้ยน และเป็นที่เชื่อถือแพร่หลายได้รับรู้ทั่วกันทุกชาติพันธุ์หรือหลายชาติพันธุ์ และน่าจะรวมทั้งกลุ่มไท-ไต

2. เมื่อคนไท-ไตโยกย้ายลงมาพร้อมภาษาไท-ไต ถึงบริเวณต่างๆ ที่มีรูปเขียนอยู่ก่อนแล้วจึงรับรู้เรื่องเล่า และบอกเล่าสืบเนื่องมา

3. คนดั้งเดิมที่สืบโคตรอยู่บริเวณที่มีรูปเขียนมาแต่เดิม ต่อมาพูดภาษาไท-ไตแล้วกลายตนเป็นไทย เรื่องเล่าจากหินก็เข้าสู่ความทรงจำ เมื่อนานเข้าถูกเขียนเป็นวรรณกรรมไทย ซึ่งตัวอย่างสำคัญอยู่ในเรื่องเล่ากำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าที่แพร่หลายในชาติพันธุ์ต่างๆ

กบ สัญลักษณ์ของฝน บนหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบที่ ต.ท่าเรือ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

รูปเขียน 2,500 ปีบนผาหิน มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับคำบอกเล่าหรือเรื่องเล่า ดังนี้

(1.) มีคำบอกเล่าหรือเรื่องเล่าอยู่ก่อนนานแล้ว

(2.) เมื่อเทคโนโลยีมีพร้อมจึงมีพิธีกรรมเขียนรูป-วาดรูปตามความเชื่อว่าเฮี้ยนและขลังอย่างยิ่งของคำบอกเล่าหรือเรื่องเล่านั้น

(3.) บริเวณที่เขียนรูป-วาดรูป เป็นพื้นที่-สถานที่ทำพิธีกรรมในศาสนาผีร่วมกันของชุมชนมาก่อนและต้องมีพิธีกรรมสม่ำเสมอทุกปี (เทียบได้กับปัจจุบัน คือ บริเวณโบสถ์, วิหาร)

[รูปเขียนเหล่านั้นมิได้ทำขึ้นเพื่อประดับประดาสถานที่สำคัญตามวัฒนธรรมสมัยใหม่ทุกวันนี้]

เรื่องเล่าจากรูปเขียน 2,500 ปีมาแล้วบนผาหินจำนวนไม่น้อยยังสืบเนื่องความเชื่อจนปัจจุบัน เช่น

เซ่นผีแม่ข้าว สืบเนื่องเป็น “นาตาแฮก” ทางลุ่มน้ำโขง และ “แรกนาขวัญ” ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา

บวดควาย หมายถึง การควบคุมควายตามต้องการของคน ยังมีทำสืบเนื่องเป็นการละเล่นทุกวันนี้ในอีสานหลายแห่ง ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนแปลงเป็นการละเล่น “กระอั้วแทงควาย” แต่ปัจจุบันรู้จักทั่วไปว่า “กระตั้วแทงเสือ”

นกส่งขวัญขึ้นฟ้า สืบเนื่องถึงทุกวันนี้เป็น “นกหัสดีลิงค์” ในงานศพพระสงฆ์ หรือผู้มีทรัพย์และอำนาจในชุมชน

คนทำท่ากบเพื่อขอฝน บนลายผ้าของชาวลาว-ไทย ชาวอิบาน (ในซาราวัก ประเทศมาเลเซีย) ชาวอิฟูเกา (ทางเหนือของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์) และที่ผาลาย มณฑลกวางสี

น้ำฝนจากกบ, คางคก

กบเป็นสัตว์มีพลังขลังและเฮี้ยน บันดาลน้ำฝนจากฟ้าตกลงมาทุกครั้งที่เห็นกบหรือได้ยินเสียงกบร้อง ทำให้ชุมชนอุดมสมบูรณ์ คนจึงมีจินตนาการสร้างคำบอกเล่าต่างๆ มากมายหลายเรื่องสืบต่อกันมา

แต่ที่แพร่หลายกว้างขวางมากสุด คือ คันคาก หรือตำนานการจุดบั้งไฟ (คันคาก เป็นคำลาวตรงกับคำภาคกลางว่าคางคก เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำกลุ่มเดียวกับกบ, เขียด)

คันคากเป็นคำบอกเล่าเรื่องราวของคางคกที่มีผิวหนังตะปุ่มตะป่ำน่าเกลียดน่ากลัว แต่ครั้งหนึ่งขัดแย้งกับแถนบนฟ้าที่ไม่ปล่อยน้ำฝนลงมาให้ประชาชนทำนาทำไร่ จึงให้ปลวกขนดินทำทางจากดินขึ้นถึงฟ้า แล้วพาพรรคพวกสารพัดสัตว์เดินขึ้นตามทางไปรบกับแถนบนฟ้าที่ควบคุมน้ำให้ปล่อยน้ำเป็นฝนตกลงดินตามฤดูกาล

กบมีรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศหญิงให้กำเนิดคนทั้งหลาย สมัยก่อนคนจึงเรียกอวัยวะเพศหญิงว่ากบ ส่วนท่ากบ กางแขน กางขา เป็นท่าตั้งเหลี่ยมของโขนกับละครที่ได้จากท่ากบ (ไม่มาจากอินเดียตามที่เคยครอบงำมานาน)

ตะกวด (แลน, เหี้ย) สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ สัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ อยู่เหนือหลังคาเรือน รูปสลักบนหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบที่เวียดนาม

ตะกวดมีพลัง

คําบอกเล่าว่าตะกวดมีพลังขลังและเฮี้ยนควบคุมให้มีดินดำน้ำชุ่มอุดมสมบูรณ์ พบลายเส้นรูปตะกวดบนหลังคาเรือนบนหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1

ตะกวดได้รับยกย่องอย่างสูงพบในตำนานเขมร อยู่ในหนังสือราชพงศาวดารกัมพูชา ส่วนในไทยพบหมู่บ้านบางแห่งของลุ่มน้ำมูลเซ่นวักตะกวดในชีวิตประจำวัน (ตะกวดเป็นคำยืมจากภาษาเขมร ส่วนคำลาวเรียกแลน และคำไทยเรียกเหี้ย)

[เลือกมาบางตอนจากหนังสือ อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ กำลังพิมพ์ จะเสร็จปลายเดือนมีนาคม 2566] •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ