‘ครัวไทย’ เปื้อนพิษ

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
REUTERS/Soe Zeya Tun

ระยะนี้เพื่อนฝูงรุ่นราวคราวเดียวกันร่วงผล็อยหลายคนจนรู้สึกช็อก ทั้งที่เพื่อนๆ เหล่านี้เพิ่งเข้าสู่วัยเกษียณเพียงไม่กี่ปี ยังไม่ทันข้ามหลัก 7 ก็ไปซะแล้ว

ที่น่าตกใจมากกว่าส่วนใหญ่สิ้นลมด้วยโรคมะเร็ง บางคนนั้นรู้ตัวเมื่อมะเร็งลามเข้าสู่ระยะสุดท้าย

ส่วนอีกไม่น้อยใช้เวลารักษาตัวเป็นปี เสียค่าใช้จ่ายไปมากแต่ก็เอาไม่อยู่

มะเร็งเป็นโรคฮิตครองอันดับ 1 ของประเทศไทยมานานไม่น้อยกว่า 23 ปี ข้อมูลล่าสุดพบว่าผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 400 คน หรือปีละ 140,000 คน

สาเหตุสำคัญของการเป็นโรคมะเร็งมาจากพฤติกรรมการกินอาหารซึ่งปนเปื้อนด้วยสารพิษ

กินอาหารเปื้อนสารเคมีอันตรายต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปีทำให้ร่างกายสะสมพิษและทำลายอวัยวะตับไตไส้พุงนำไปสู่โรคมะเร็งร้ายในที่สุด

มีเสียงเรียกร้องมานานแล้วว่าถ้าจะให้คนไทยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งและต้องการให้ประเทศไทยเป็นครัวโลก เป็นแหล่งผลิตอาหารสะอาดปลอดจากสารพิษ รัฐบาลต้องเอาจริงกับนโยบายควบคุมการใช้สารพิษร้ายแรงในแหล่งเพาะปลูกพืชผักผลไม้

แต่รัฐบาลกลับทำในทางตรงกันข้าม แต่ละปีประเทศไทยนำเข้าสารเคมีที่เข้าข่ายอันตรายร้ายแรงสูงมาก

 

องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ชื่อ ไทย-แพน หรือเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เคยเอาสถิติมาแฉว่า ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้งหมด 563 ชนิด

ในจำนวน 563 ชนิด พบว่ามีสารเคมีเข้าข่ายอันตรายร้ายแรงสูง 230 ชนิด แบ่งเป็นสารพิษเฉียบพลันสูง 52 ชนิด สารก่อโรคมะเร็ง 38 ชนิด ก่อกลายพันธุ์ 2 ชนิด เป็นพิษกับระบบสืบพันธุ์ 22 ชนิด รบกวนต่อมไร้ท่อ 4 ชนิด มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ 186 ชนิด เป็นพิษสูงกับตัวผึ้ง 49 ชนิด

ตามข้อมูลยังพบว่าไทยนำเข้าสารพิษที่ตกค้างยาวนาน และสารทำลายชั้นบรรยากาศทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย

ปี 2564 ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 257 ชนิด ปริมาณทั้งหมด 136 ล้านกิโลกรัม เข้าข่ายเป็นสารเคมีอันตรายสูง 95 ชนิด คิดเป็นปริมาณ 69 ล้านกิโลกรัม

ในจำนวนนี้มีสารไกลโฟเซตซึ่งเป็นสารที่สถาบันมะเร็งระหว่างประเทศ กำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง

 

ไกลโฟเซต (Glyphosate) อยู่ในหมวดยาฆ่าหญ้ามีฤทธิ์ดูดซึมและทำลายรากของหญ้าวัชพืชซึ่งเกษตรกรไทยนำมาใช้มากที่สุด สารชนิดนี้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ เกิดผลกระทบไม่เพียงเกษตรกรเสี่ยงป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่คนทั่วไปตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน

ลองนึกภาพเมื่อเกษตรกรฉีดพ่นไกลโฟเซตในแปลงพืชผัก จะเกิดผลกระทบกระจายเป็นวงกว้าง ทำลายสัตว์แมลงในห่วงโซ่อาหารมากมายนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ไส้เดือนดิน แมลงที่เป็นประโยชน์กับพืช นก กบ ปลา ฯลฯ

กบเป็นห่วงโซ่อาหารที่สำคัญ เมื่อเจอฤทธิ์ไกลโฟเซต จำนวนกบลดลง บางชนิดแทบจะสูญพันธุ์ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ เช่น แมลงขยายพันธุ์มากขึ้นเพราะไม่มีกบมาช่วยกินแมลง ไกลโฟเซตยังมีผลกระทบต่อปลา ทำให้เหงือกและตับปลาเสียหายมีผลต่อการกระจายพันธุ์

สารไกลโฟเซตปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำใต้ดิน ในการศึกษาพบว่าสารเคมีตัวนี้จับแน่นกับอนุภาคดิน อยู่ในดินได้นานกว่า 170 วัน และมีโอกาสปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อมสูงมาก

 

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สำรวจวิจัยการปนเปื้อนของสารพิษในพื้นที่ต้นน้ำน่าน พบสารเคมีตกค้างในน้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด และตกค้างในปลาที่เลี้ยงในพื้นที่ต้นน้ำเกินค่ามาตรฐาน และพบสารไกลโฟเซตตกค้างมากที่สุด แสดงให้เห็นว่า เกษตรกรรอบๆ แม่น้ำน่านใช้สารเคมีในปริมาณสูงมาก

เกษตรกรในสหรัฐนับหมื่นรายที่ใช้สารไกลโฟเซตได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัทผู้ผลิตคิดเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะเชื่อว่าเป็นส่วนสำคัญในการเกิดโรคมะเร็ง บางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ห้ามใช้สารชนิดนี้เมื่อปี 2563

สำหรับเกษตรกรไทยนอกจากพ่น “ไกลโฟเซต” ในไร่แล้วเกษตรกรยังใช้สารเคมีชนิดอื่นๆ อย่างไม่บันยะบันยัง ด้วยแรงโฆษณาชวนเชื่อว่าสารเคมีจะช่วยเพิ่มผลผลิตทำให้ผลผลิตดูสวยสดมีราคาสูงและเก็บได้นานขึ้น

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าในการสำรวจพืชผักผลไม้แทบทุกชนิดในประเทศไทยจึงพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อน

 

เมื่อปี 2565 นักสำรวจเข้าห้างสรรพสินค้า 5 แห่งในพื้นที่ 11 จังหวัดเพื่อสุ่มเก็บตัวอย่างผักผลไม้ยอดนิยม อาทิ ผักคะน้า ถั่วฝักยาว พริกแดง มะระ ผักไฮโดรโปนิกส์อย่างกรีนคอส กรีนโอ๊ก ฝรั่ง แตงโม นำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการที่ประเทศอิตาลี พบว่ามีสารเคมีตกค้าง 103 ชนิด

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับไทย-แพน สำรวจส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้ม 10 ตัวอย่าง พบว่าส้มที่ปลูกในไทย 41 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง

สภาองค์กรของผู้บริโภคบอกว่า ทุกครั้งที่สำรวจสารพิษตกค้างในส้มตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทั้งสิ้น

สาเหตุเพราะส้มเป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก เกษตรกรเลือกใช้สารเคมีเพราะเชื่อว่าเป็นวิธีที่กำจัดศัตรูพืชได้เร็วมีประสิทธิภาพมากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ถ้าเปรียบเทียบปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของไทยกับกลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียู พบว่าไทยใช้สารเคมีมากกว่าอียู กล่าวคือ ไทยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 4.1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 6.25 ไร่ หรือ 1 เฮกตาร์ ส่วนอียูอยู่ที่ 3.8 กิโลกรัม/เฮกตาร์ แต่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของไทยกลับต่ำกว่า

จีดีพีของการผลิตพืชของอียูอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท แต่ไทยมีมูลค่าจีดีพีในการผลิตพืชอยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาทเท่านั้น

ค่าเฉลี่ยมูลค่าทางเศรษฐกิจพืชของไทย 1 ฟาร์มต่อ 1 เฮกตาร์อยู่ที่ 54,529 บาท และ 20,714 บาท ส่วนอียูอยู่ที่ 250,233 บาท และ 39,682 บาท

 

ตัวเลขนี้บ่งบอกว่า เกษตรกรไทยใช้สารเคมีกันอย่างพร่ำเพรื่อเกินความเหมาะสม แต่ได้ผลลัพธ์ไม่คุ้มค่า มิหนำซ้ำยังมีผลร้ายตามมาที่รุนแรงทั้งความเสียหายกับสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

เสียงเรียกร้องให้เกษตรกรไทยลดการใช้สารพิษในการเพาะปลูก หันมาใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เป็นวิถีธรรมชาติ เช่น เลี้ยงไก่เอาไว้กินแมลงที่เป็นศัตรูพืช เลี้ยงแพะ ห่าน วัวเพื่อกินหญ้า พืชสมุนไพรแทนสารเคมีในการป้องกันศัตรูพืช ใช้อินทรีย์วัตถุ เช่น แกลบ ขุยมะพร้าวเป็นปุ๋ยชีวภาพ น่าจะเป็นทางออกดีที่สุด

เพราะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ช่วยฟื้นฟูสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและทำให้ความฝันประเทศไทยเป็นครัวโลกเกิดขึ้นจริง •

 

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]