มองไทยใหม่ : สาส์นสมเด็จ ฉบับราชบัณฑิตยสภา

คอลัมน์ “มองไทยใหม่” ในครั้งนี้มีหนังสือดีมาแนะนำให้รู้จักอีกเล่มหนึ่งแล้ว นั่นคือ สาส์นสมเด็จ ฉบับราชบัณฑิตยสภา

สาส์นสมเด็จ เป็นแหล่งรวมความรู้ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม โบราณคดี สังคม และอื่นๆ ซึ่งล้วนมีคุณค่าอย่างยิ่ง

ในโอกาสที่เป็นวาระครบรอบ ๑๕๐ ปี ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ใน พ.ศ.๒๕๕๖ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ใน พ.ศ.๒๕๕๗ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจึงได้จัดพิมพ์หนังสือสาส์นสมเด็จ ฉบับราชบัณฑิตยสภา ขึ้น เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณูปการของทั้ง ๒ พระองค์ที่มีต่อการศึกษาศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ ของไทย

อันที่จริง หนังสือสาส์นสมเด็จนี้ มูลนิธิสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และองค์การค้าของคุรุสภา ได้เคยจัดพิมพ์เผยแพร่มาแล้ว เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ โดยเป็นการพิมพ์ฉลองพระชนมายุสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครบ ๓ รอบ

ในครั้งนั้นพิมพ์เป็นชุด ๗ เล่ม (พ.ศ.๒๔๕๗ – พ.ศ.๒๔๗๘) ส่วนฉบับของราชบัณฑิตยสภานั้น เป็น เล่ม ๑ (พ.ศ.๒๔๕๗ – ๒๔๖๑)

จุดเด่นของฉบับราชบัณฑิตยสภาก็คือ ยังคงรักษาอักขรวิธีเดิมไว้ ตามต้นฉบับของหอสมุดดำรงราชานุภาพ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร และจัดทำเชิงอรรถอธิบายคำศัพท์และองค์ความรู้ต่างๆ รวมทั้งชื่อบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์ เพื่อให้ผู้ศึกษาและผู้สนใจเข้าใจความหมายและสื่อสารได้ตรงตามความหมายที่แท้จริงของศัพท์นั้นๆ พร้อมทั้งมีภาพประกอบ ภาคผนวก และดัชนีค้นคำท้ายเล่ม

ตัวอย่าง

ใน “สาส์น” ฉบับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๗ นั้น ฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๔ มีเชิงอรรถที่คำว่า “แม่” โดยอธิบายว่า “ทรงหมายถึงพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย พระมารดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์”

ส่วนฉบับราชบัณฑิตยสภา อธิบายเพิ่มเติมว่า “หม่อมเจ้าหญิงพรรณราย พระธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ กับหม่อมกิ่ม เป็นพระชนนีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยา และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย”

นอกจากนี้ ฉบับราชบัณฑิตยสภายังเพิ่มเชิงอรรถอธิบายว่า “หนังสือแจกงานเมรุ” หมายถึง “หนังสือเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป (งานพระราชทานเพลิงมีขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๙ ณ เมรุวัดเบญจมบพิตร)”

ผู้สนใจจะหาอ่านได้จากหนังสือดังกล่าว