33 ปี ชีวิตสีกากี (10) | ธาตุแท้-สารประกอบ สิ่งที่ได้จากวิทยาศาสตร์

ธาตุแท้-สารประกอบ

สิ่งที่ได้จากวิทยาศาสตร์

เมื่อเข้าไปเรียนที่หนองแขม ผมก็ซึมซับความเป็นนักเรียน น.ข. ที่มีอักษรย่อของโรงเรียน ปักไหมสีน้ำเงินที่หน้าอกว่า น.ข.

สีประจำโรงเรียน คือ สีน้ำเงินเหลือง

อาจารย์ใหญ่เวลานั้นชื่อ อาจารย์วิเชียร กัณหะยูวะ และมีการแข่งขันกีฬาสีภายในโรงเรียนตั้งแต่ชั้น ม.ศ.1 ถึงชั้น ม.ศ.5

โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม เรียกว่า คณะหนองแสง ใช้สีส้ม คณะหนองโสน ใช้สีเหลือง และคณะหนองสาหร่าย ใช้สีม่วง มีการแข่งขันกีฬาสีกัน

ในวันแข่ง แต่ละคณะจะทำอัฒจันทร์ให้นักเรียนที่ไม่เป็นนักกีฬา ขึ้นไปนั่งเชียร์ส่งเสียงร้องเพลงเชียร์ของแต่ละคณะตามที่ฝึกซ้อมกันมา แล้วโบกธงสีคณะของตัวเอง

กีฬาก็มีทั้งวิ่งแข่งหลายระยะ วิ่งวิบาก ชักเย่อทั้งผู้หญิง ผู้ชาย

กีฬาที่สนุกสนาน มีแข่งบาสเกตบอล แชร์บอล ส่วนใหญ่เด็กมัธยมปลายจะแข่งขันกัน ผมยังเด็กมัธยมต้นก็เป็นกองเชียร์ไป

ผมเริ่มเรียนรู้ว่าการเรียนในชั้นประถมกับมัธยม ไม่เหมือนกันแล้ว มีครูมากมายหลายท่านมาสอน

ผมเลือกเรียนวิชาพิเศษ คือ วิชาออกแบบเขียนแบบ เป็นวิชาที่ผมชอบมาก มีการเขียนแบบหลายวิธี ทั้ง Isometric Drawing ที่มองวัตถุจากมุมหรือเหลี่ยมแล้วมองลึกไป การเขียนภาพที่ต้องการด้วยมุมที่เอียงเท่ากันทั้ง 2 ด้าน อาจจะเป็นขนาด 45 องศา 30 องศา แล้วแสดงแบบออกมาเป็นสามมิติ

อีกแบบหนึ่งคือ การเขียนแบบ Oblique Drawing วัตถุที่เขียนจะขนานกับพื้นแล้วมีด้านเดียวที่เอียงทำมุมลึกเข้าไปทางด้านหลังอาจจะกี่องศาแล้วแต่ต้องการ

แล้วยังเรียนฝึกเขียนแบบที่แสดงด้านบน Top View ด้านหน้า Front View และด้านข้าง Side View

และฝึกการเขียนแบบ Perspective Drawing ทั้งหมดเป็นการเรียนแบบพื้นฐานไม่ได้ละเอียดลึกซึ้งแบบพวกช่าง แต่ผมจำเป็นต้องพูดถึงวิชาเขียนแบบที่ผมเรียนชั้น ม.ศ.ต้น

เพราะมีประโยชน์มากมายในการไปทำแผนที่เกิดเหตุ ตอนทำสำนวนการสอบสวน เมื่อเป็นตำรวจแล้ว ทำให้ผมมีจินตนาการ สามารถออกแบบ การกำหนดสัดส่วน มุมมอง จะมองมุมไหน วิธีการนำเสนอ จะทำแบบไหน

และคิดถึงคุณครูอารมณ์ ปรีเลิศ ที่สอนวิชานี้

 

หลังเลิกเรียน จะนั่งเรือหางยาวแล้วเดินกลับมาถึงบ้าน ต้องรีบทำการบ้านให้เสร็จ ไม่ว่าจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ พีชคณิต เรขาคณิต ตรีโกณมิติ นึกถึงครูอาจารย์ที่สอน มี ครูวีรัตน์ นันทวีผล ครูอรทัย จันทร์แจ่ม ครูพยูณ พร้อมมูล

เป็นวิชาที่มีสูตร มีการพิสูจน์ความจริง มีความเป็นเหตุเป็นผล มีที่มาที่ไปของค่าตัวเลข และสูตรต่างๆ มันแสดงให้เห็นว่าได้มาอย่างไร แล้วเอาสูตรเหล่านี้มาใช้แก้ปัญหาอย่างไร

ต่างจากเรียนกฎหมายที่สามพราน มันต้องอธิบายด้วยเหตุด้วยผล และอธิบายได้หลายรูปแบบ สุดแท้แต่ใครอยากจะอธิบายไปทางไหนที่ตัวเองชมชอบ มันจึงเหมือนเป็นนามธรรม

และจนปัจจุบันนี้ ผมยิ่งสับสนจนละอายใจถ้าจะไปอธิบายกฎหมายให้ใครฟัง รู้สึกว่า ผมไม่หน้าด้านพอ รวมทั้งงงๆ ว่า เขาสอนวิชาคณิตศาสตร์กันมาอย่างไร จึงนับเลขแค่หลักเดียวยังไม่เหมือนคนทั่วไป

เรียนวิชาวิทยาศาสตร์กับครูบุญส่ง วิยาภรณ์ ครูสุชาติ พันธ์สนิท พอไปเรียนมัธยมปลาย มีอาจารย์จงกล ทรัพย์สมบูรณ์ สอนวิชาฟิสิกส์ อาจารย์พรพิมล ลีลาศิริคุณ สอนวิชาเคมี

วิชาพวกนี้ในใจผมชอบมาก เพราะมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทำให้รู้จักธาตุต่างๆ คุณสมบัติของความเป็นธาตุ แต่ถ้ามาผสมกันจะกลายเป็นสารประกอบ

ทำให้ผมนึกถึงความเป็นคน ว่าคนเราจะเป็นคนแบบไหน เป็นคนแบบที่เป็นธาตุแท้ มีความมั่นคงทางจิตใจ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มุ่งมั่นจะทำในสิ่งที่ตั้งใจ ก็จะไม่เปลี่ยนอะไรง่ายๆ เรียกว่า เป็นคนจริง

แต่ถ้าจะแปรเปลี่ยนไปเรื่อย เพื่อเอาเปรียบ หรือความอยู่รอด สุดแท้จะอ้างเหตุผลมาสนับสนุน ถือว่าไม่ใช่ธาตุแท้ หรือไม่ใช่คนจริง เป็นพวกสารประกอบ

 

วิชาที่เสียเวลามากๆ และต้องใช้สมาธิจดจ่อ คือวิชาวาดเขียน ต้องวาดรูป แล้วระบายด้วยสีน้ำ ให้เกิดความสวยงาม

วิชานี้ผมค่อนข้างถนัด ในชั้นเรียนถือว่าอยู่ในแนวหน้าคนหนึ่ง แต่ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่ต่างห้อง ในภายหลังก็มาเรียนห้องเดียวกัน ชื่อ เสฐียร ธรรมปรีชา

คนนี้วาดรูปได้เก่งมาก เก่งกว่าผมหลายเท่า เป็นเพื่อนที่มีพรสวรรค์ทางด้านนี้ เสฐียรจะวาดด้วยความรวดเร็ว สัดส่วนถูกต้องแม่นยำ เวลาร่าง เขาวาดเส้นไม่กี่ทีก็รู้แล้วว่าเป็นอะไร วาดได้หมดทุกอย่าง ผมยอมรับเพื่อนคนนี้เลย

เมื่อนึกถึงอดีตที่เรียนที่หนองแขม ก็จะหวนไปคิดถึงครูอาจารย์เก่าๆ มีครูชาย เชื้อมั่ง ครูประณีต เอี่ยมกล่ำ สอนภาษาไทย ครูวรรณลักษณ์ คงเมือง ครูพริ้ม หนูพัฒน์ ครูทองยาน แสนภพ ที่สอนสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ ได้สนุกสนาน

ครูนิภา วิเชียรลักษณ์ ครูจันทร์เพ็ญ ฮั่นตระกูล สอนภาษาอังกฤษ หรือฝ่ายบริหาร คือ ครูประสก มนุญญวงศ์

ผมอยากหายตัวจากออสเตรเลีย ไปกราบงามๆ คุณครูอาจารย์เก่าๆ ที่ให้ความรู้กับผมมากมายในวัยเด็ก

 

พอทำการบ้านเสร็จ ก็ไปช่วยพ่อแม่รดน้ำในสวน ส่วนกลางคืน ที่บ้านต้องจุดตะเกียงเพื่อใช้ความสว่าง เมื่อถึงวันสอบแต่ละครั้ง ต้องทุ่มเทเวลาเพื่ออ่านหนังสือให้ทัน ตามนิสัยของผม บางทีอ่านจนดึกดื่น แสงจากตะเกียงไปแยงตาคนที่จะนอน ทำให้นอนไม่หลับ ผมต้องหาอะไรมาบังเพื่ออ่านหนังสือต่อ

ถ้ายังอ่านไม่จบ ผมจะตื่นตอนเช้าประมาณตี ๕ รีบลุกมาอ่านต่อ แล้วไปสอบ

ผมไม่ค่อยสนุกกับการสอบมากนัก คะแนนการสอบผมยังสูง 80 กว่าเปอร์เซ็นต์เสมอๆ

แต่ไม่เคยสอบได้ที่ 1 เลย อย่างเก่งก็สอบได้เลขตัวเดียว นักเรียนที่ผูกขาดสอบได้ที่ 1 ตลอด คือ ประพนธ์ ศักดาสุคนธ์ จึงมีคนเก่งๆ มากกว่าผมอยู่อีกมากมาย

ตั้งแต่เริ่มชั้นประถมปลาย ผมสนใจเรื่องกีฬามาก มันสนุกชวนติดตามและผมจะเชียร์นักกีฬาทีมชาติไทยมาตลอด ไม่ว่าจะมีการแข่งขันกีฬาแหลมทอง กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพติดต่อกันถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 5 และครั้งที่ 6

ผมจะจำชื่อนักกีฬาดังๆ ในวัยเด็กได้ อย่างนักวิ่งเหรียญทอง อาณัติ รัตนพล นักมวยสากลสมัครเล่น บรรเทา ศรีสุข นักฟุตบอลทีมชาติ จะจำชื่อได้ทั้งทีม นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ สิงห์สนามศุภ สราวุธ ปทีปกรณ์ชัย วิชิต แย้มบุญเรือง

และยังจำชื่อผู้รักษาประตูทีมชาติพม่าที่เป็นดาราเอเชียได้ คือ ทินอ่อง

ทีมพม่ายุคนั้นเก่งมาก ทีมไทยมักจะแพ้ สู้ไม่ค่อยได้

ทีมบาสเกตบอลทีมชาติไทย สมัยเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 ก็เก่งมาก ที่เด่นมากคือ บรรจง ว่องไวเลิศ ทีมยิงปืนของไทยก็โด่งดังและผมสนใจติดตามข่าวกีฬาทุกระยะ ฟังวิทยุรายการข่าวกีฬาของวิทยา สุขดำรงค์ และยอมอดขนมไปซื้อหนังสือกีฬาสยามมาอ่าน หรือกีฬาชกมวย ที่คนไทยเริ่มมีแชมป์โลกหลายคน ตั้งแต่ชาติชาย เชี่ยวน้อย เบิกฤกษ์ ชาติวันชัย เวนิช บ.ข.ส.

เมื่อพี่สาวผมซื้อหนังสือพิมพ์มา ผมจะเปิดอ่านหน้าข่าวกีฬาก่อน คือ สนใจความคืบหน้า ฟังการถ่ายทอดทางวิทยุ เมื่อฟุตบอลทีมชาติไทยลงแข่งขัน

ถ้าผมสนใจการเรียนเหมือนสนใจกีฬา ชีวิตอาจจะเปลี่ยนไปกว่านี้ก็ได้

 

แต่ภาระในการช่วยพ่อแม่ทำสวน ยังทำเป็นปกติ

แม่ผมยังรู้จักวิธีเอาฟืนมาเผาเป็นถ่าน ผมกับพี่ๆ น้องๆ จะช่วยแม่ขุดหลุมขนาดใหญ่ในสวนใกล้บ้าน แล้วเอาฟืนที่เตรียมไว้เพื่อเผาเป็นถ่านมาวางๆ ในหลุมนั้น วางจนเต็มหลุม แล้วเอาทางมะพร้าวหรือไม่ก็ผักตบชวา ชาวบ้านจะเรียก ยาวา มาวางทับไว้ข้างบน

แล้วจุดฟืนให้ลุกไปทั่ว จนมั่นใจว่าฟืนติดไฟดีแล้วไม่ดับแน่นอน ก็เอาดินกลบกองฟืนนั้น จนดินพอกเป็นเนินสูง แล้วจะมีควันไฟจางๆ พุ่งออกมาจากกองเนินนั้นตลอดเวลา แสดงว่าฟืนยังติดไฟและลุกคุอยู่ภายใน

เหมือนการใช้หลุมนั้นควบคุมไม่ให้ไฟลุกแรงเกินไป ด้วยระดับความร้อนที่พอดีๆ และทิ้งไว้เป็นคืน วันรุ่งขึ้น ก็จะได้ถ่านคุณภาพดีไว้ใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในการหุงหาอาหารอย่างดี

วิถีชีวิตของชาวบ้านในสมัยนั้น ชีวิตที่ดำเนินไปโดยปราศจากพลังงานจากไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปาใช้เหมือนปัจจุบัน จึงอยู่กับธรรมชาติเสียเป็นส่วนใหญ่

ข้าวปลาอาหารก็เก็บพวกยอดผัก ตำลึง กระถิน หัวปลี ก็หาจากในสวน กะปิ แม่ก็ช้อนกุ้ง และเคย ด้วยสวิงในคลอง มาทำเป็นกะปิ หรือแม้แต่น้ำปลา ก็ไม่ต้องซื้อ เพราะแม่ทำเอง ไม่ต้องเสียค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ความทันสมัยแม้จะไม่เท่าสมัยนี้ แต่ได้อยู่ใกล้กับธรรมชาติ ก็น่าจะเป็นการชดเชยแทนกันได้

ผมพยายามนึกทบทวนช่วงเวลาที่เป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยมว่า ผมได้รับการเรียนรู้ทางวิชาการจากคุณครูหลายคน นึกถึงคุณครูที่สอนผมมา นึกถึงคุณครูประจำชั้น และบางครั้งผมอาจจะทำผิดจนคุณครูทำโทษ

นึกถึงการบ้านที่คุณครูให้มาจำนวนมาก บางทีผมก็เบื่อๆ แต่ต้องอดทนทำให้เสร็จ

การบ้านช่วยบังคับตัวผมให้รู้จักทำแบบฝึกหัด และพอได้ทำการบ้านก็เหมือนเป็นการทบทวนบทเรียนจนเข้าใจได้ลึกซึ้งขึ้น ก่อนวันสอบได้ทบทวนอีกครั้งก็เข้าใจและสอบได้

เมื่อผมเรียนหนังสือไป ผมมีความรู้สึกชอบวิชาเลขคณิต พีชคณิต เรขาคณิต และตรีโกณมิติ

ยิ่งวิชาวิทยาศาตร์ ผมกลับยิ่งชอบ เพราะวิชาเหล่านี้ มีทฤษฎี มีสูตร และสามารถพิสูจน์ได้ว่า ค่านี้ สูตรนี้ ได้มาอย่างไร คือ พิสูจน์ได้จริง และมีเพียงความจริงเดียวเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น คือ ม.ศ.3 และเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ชั้น ม.ศ.4 และ ม.ศ.5 จะเลือกเรียนแผนกวิทยาศาสตร์ หรือศิลปศาสตร์

ด้วยความชอบผมจึงเลือกเรียนแผนกวิทยาศาสตร์