คุรุสภาฝ่าดราม่า ‘7 โมดูล’ ช่วยกลุ่มยกเว้นไม่ต้องมี ‘ตั๋วครู’!!

ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา

นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน ที่วงการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้ใช้ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” รูปแบบใหม่ ตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2565 ซึ่งต่อไปใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจะแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ

1. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

2. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา

3. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา

และ 4. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์

จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 มีนาคม 2566

การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามข้อบังคับใหม่นี้ เป็นใบอนุญาตที่บ่งบอกถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญของครู จำแนกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

1. ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู (P-License) มีอายุ 2 ปี

2. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (B-License) มีอายุ 5 ปี

และ 3. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง (A-License) มีอายุ 7 ปี

ผู้ที่มีสิทธิได้รับ P-License ต้องจบการศึกษาหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาที่คุรุสภารับรอง โดยเข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นมา ดังนั้น เมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษา ทุกคนจะได้ P-License โดยไม่ต้องสอบ

ส่วน B-License ต้องเป็นผู้ที่จบหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 และผ่านเกณฑ์การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูครบตามที่คุรุสภากำหนด

และ A-License ต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูระดับ B-License หรือฉบับเดิมอยู่แล้ว มีวิทยฐานะตั้งแต่ระดับชำนาญการ หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือผ่านเกณฑ์การประเมินตามระดับคุณภาพของมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด

 

แต่ยังไม่ทันได้เริ่มใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูรูปแบบใหม่ ก็มีประเด็นดราม่าร้อนแรงในวงการศึกษา หลังจากคุรุสภาจัดหลักสูตรอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู สำหรับผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว จำนวน 7 โมดูล (Module)

7 โมดูล ประกอบด้วย

โมดูล 1 การเปลี่ยนแปลงบริบทของโลก สังคม และแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

โมดูล 2 จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาการศึกษา และจิตวิทยาให้คำปรึกษาในการวิเคราะห์และพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ

โมดูล 3 เนื้อหาวิชาที่สอน หลักสูตร ศาสตร์การสอน และเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้

โมดูล 4 การวัด ประเมินผลการเรียนรู้ และการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียน

โมดูล 5 การใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา

โมดูล 6 การออกแบบและการดำเนินการเกี่ยวกับงานประกันคุณภาพการศึกษา

และโมดูล 7 จิตวิญญาณความเป็นครู และจรรยาบรรณของวิชาชีพ

เพราะหลายคนเข้าใจว่าการจัดอบรมหลักสูตร 7 โมดูลนี้ จะเป็น “ทางลัด” ที่ทำให้ผู้ที่ไม่ได้จบปริญญาทางการศึกษา แค่เข้ารับการอบรมก็จะได้รับ B-License ทันที ในขณะผู้ที่เรียนครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จะต้องเข้ารับการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูตามที่คุรุสภากำหนด เมื่อผ่านการทดสอบ ถึงจะได้รับ B-License!!

พร้อมกับตั้งคำถามจี้ไปยังคุรุสภา ว่าคุรุสภากำลังทำให้วิชาชีพครูด้อยคุณภาพ และทำให้ผู้ที่จบครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ไม่มีที่ยืนในวิชาชีพหรือไม่!!

 

ร้อนถึง ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา ต้องออกมาทำความเข้าใจว่า หลักสูตร 7 โมดูลนี้ สำหรับผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว ให้มีมาตรฐานความรู้วิชาชีพ และเป็นคุณสมบัติ เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยเมื่อเข้ารับการอบรม และขอเทียบความรู้แล้ว จะได้รับ P-License ไปปฏิบัติหน้าที่ครูในสถานศึกษารัฐ และเอกชนได้ หลังจากนั้น สามารถเข้ารับการทดสอบ และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู เพื่อขอรับ B-License ต่อไป

ทั้งนี้ ปัจุบันมีครูที่ไม่ได้สำเร็จปริญญาทางการศึกษา ที่ได้รับการยกเว้นให้ประกอบอาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตฯ อยู่ในระบบ จำนวน 54,484 คน แบ่งเป็น ชาวไทย 33,973 คน จำแนกตามสังกัด/หน่วยงาน ดังนี้ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 12 คน, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 119 คน, กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 3 คน, สถาบันพลศึกษา 17 คน, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 17 คน, สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) 7 คน, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 8,327 คน, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 6,203 คน, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 17,283 คน, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) 180 คน, สำนักงานส่งเริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 37 คน, สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 808 คน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 960 คน

และชาวต่างประเทศ 20,511 คน จำแนกตามสังกัด/หน่วยงาน ดังนี้ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 4 คน, อว. 360 คน, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 11 คน, สำนักการศึกษา กทม. 550 คน, สพฐ. 4,968 คน, สอศ. 186 คน, สช. 13,525 คน พศ. 1 คน, สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 1 คน และ อปท. 929 คน

ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ขอผ่อนผันมากกว่า 8 ปีขึ้นไป จำนวน 1,954 คน แบ่งเป็น ชาวไทย 1,269 คน และชาวต่างประเทศ 685 คน

“คุรุสภาพบว่า ผู้ที่ได้รับการยกเว้น และผ่อนผัน ยังไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไข และมีข้อจำกัดต่างๆ ส่งผลให้มีการขอขยายระยะเวลาผ่อนผันอย่างต่อเนื่องจนถึง 8 ปี ประเด็นปัญหาดังกล่าว หากไม่เร่งแก้ไข อาจจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อคุณภาพ และผู้เรียน โดยหลักสูตร 7 โมดูลนี้ เป็นหลักสูตรออนไลน์ ที่มีการอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ” ผศ.ดร.อมลวรรณระบุ

 

ทั้งนี้ เลขาธิการคุรุสภาได้ทำความเข้าใจการเข้าสู่วิชาชีพครูในปัจุบัน แบ่ง 2 ช่องทาง ดังนี้

ช่องทางที่ 1 ผู้ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ รัก และศรัทธาในวิชาชีพครู เข้าเรียนในหลักสูตรที่คุรุสภาให้การรับรองปริญญา เมื่อสำเร็จการศึกษา จะได้รับ P-License ซึ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่ครูในสถานศึกษาภาครัฐ และเอกชนได้ จากนั้นเข้ารับการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูตามที่คุรุสภากำหนด เมื่อผ่านการทดสอบ จะได้รับ B-License ต่อไป

ส่วนช่องทางที่ 2 คือผู้ที่อยากเป็นครู แต่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาจากคณะอื่นๆ หรือจากต่างประเทศ หากปฏิบัติหน้าที่ครูในสถานศึกษาของรัฐ หรือเอกชน จะต้องขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ครั้งละ 2 ปี

ซึ่งครูเหล่านี้สามารถ เลือกได้ว่า จะเข้าเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต ในสถาบันอุดมศึกษาตามที่คุรุสภารับรอง

หรือเข้ารับการอบรม 7 โมดูลตามที่คุรุสภากำหนด

เมื่อสำเร็จการศึกษา หรือเทียบความรู้ และผ่านการรับรองความรู้แล้ว จะได้รับ P-License สามารถไปปฏิบัติหน้าที่ครูในสถานศึกษารัฐ และเอกชนได้ หลังจากนั้น สามารถเข้ารับการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู เพื่อขอรับ B-License ต่อไป

หลายคนมองว่าการที่คุรุสภาจัดทำหลักสูตร 7 โมดูล ขึ้นมา เพื่อต้องการช่วยเหลือที่ผู้ที่ได้รับการยกเว้น และขอผ่อนผันมาเป็นเวลานาน ให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยไม่ต้องไปเสียเงินเรียน ป.บัณฑิต มากมายเหมือนที่ผ่านมา

แม้จะเป็นเรื่องดี แต่คุรุสภาจะมีมาตรการอย่างไร ที่จะกำกับ ติดตาม และตรวจสอบ ว่าบุคคลเหล่านี้เข้ามาอบรม 7 โมดูลจริง??

ที่สำคัญ เมื่อคนเหล่านี้จะผ่านการอบรม และผ่านการเทียบความรู้จนได้รับ P-License แล้ว แต่ถ้าสอบเพื่อขอรับ B-License ไม่ผ่าน คุรุสภาจะผ่อนผันให้เหมือนที่ผ่านมาหรือไม่??

ถือเป็นโจทย์ใหญ่ ที่คุรุสภาต้องเร่งหาแนวทางกำกับดูแล เพื่อให้นักเรียน และผู้ปกครอง เชื่อมั่นในบุคลากรที่ประกอบวิชาชีพครูต่อไป… •

 

| การศึกษา