ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย ‘มาเลเซีย’ พบชาวพุทธ จว.ชายแดนภาคใต้ กับข้อเสนอแนะ 10 ปีสันติภาพปาตานี

รายงานพิเศษ | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย ‘มาเลเซีย’

พบชาวพุทธ จว.ชายแดนภาคใต้

กับข้อเสนอแนะ 10 ปีสันติภาพปาตานี

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

28 กุมภาพันธ์-3 มีนาคม 2566 “ศ.พล.อ.ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดีน” ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียคนใหม่ ในกระบวนการสันติภาพปาตานี/พูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะเป็นคนแรกที่ลงพื้นที่พบทุกภาคส่วนไม่ว่าพุทธ มุสลิม รัฐ เอกชน รวมทั้งประชาชนตามท้องถนน และเข้าวัดที่วัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี พบผู้นำทุกภาคส่วนของชาวพุทธ

สะท้อนว่า เครือข่ายชาวพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสำคัญมากๆ เช่นกันหลัง 10 ปีกระบวนการสันติสุขชายแดนใต้/สันติภาพปาตานี

ในขณะที่ ศ.พล.อ.ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน สะท้อนว่า “ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายในของไทย โดยมาเลเซียมาทำหน้าที่คนกลางเพื่อช่วยแก้ปัญหา ซึ่งในพื้นที่มีความหลากหลายของคนหลายศาสนา จึงไม่อาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือแนวทางใดแนวทางหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาได้ แต่ต้องแสวงหาแนวทางร่วมกัน ซึ่งการบรรลุข้อตกลงในการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์ร่วม หรือ JCPP ร่วมกันภายใน 2 ปีจะเป็นโรดแม๊บสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง”

นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่าง ปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มคอมมิวนิสต์มลายาในมาเลเซียในอดีต ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งทางการไทยช่วยเป็นคนกลางจนได้ข้อตกลงหยุดยิง พร้อมชี้ว่า ปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นจากคนบางกลุ่ม ไม่ใช่ปัญหาของศาสนา และขอให้ทุกคนอย่าปิดตายปฏิเสธการพูดคุย เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหา

จึงอยากให้ทุกคนเข้ามาพูดคุย นำเสนอปัญหา เพื่อหาทางออกร่วมกัน

ตัวแทนชาวไทยพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมพบปะเพื่อบอกเล่าสถานการณ์ของชาวไทยพุทธในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อ ศ.พล.อ.ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดีน ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขฝ่ายมาเลเซีย ระหว่างการเดินทางมาพบเครือข่ายชาวไทยพุทธที่วัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โดยมี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยเดินทางมาด้วย โดยตัวแทนชาวพุทธได้รายงานตัวเลขของชาวไทยพุทธที่ลดลงต่อเนื่องจากสถานการณ์ทำให้การย้ายถิ่น

โดยก่อนเกิดเหตุความไม่สงบมีคนไทยพุทธกว่า 300,000 คน คนมุสลิมกว่า 1,700,000 คน แต่ความรุนแรงช่วง 19 ปี ทำให้คนไทยพุทธบาดเจ็บและเสียชีวิตกว่า 9,700 คน

ทำให้ปัจจุบันเกิดการย้ายถิ่นเหลือคนไทยพุทธ 150,000 คน หรือร้อยละ 6.6 จึงอยากให้ยุติความรุนแรงกับคนไทยพุทธ

ขณะที่ตันศรี ซุลกิฟลี ถือว่าเป็นนายทหารนักวิชาการ กล่าวว่า ตนเองได้รับมอบความไว้วางใจอย่างเป็นทางการจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดาโต๊ะ ศรี อันวาร์ อิบราฮีม เพื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยความสะดวก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นการสืบทอดตำแหน่งต่อจากตันศรี อับดุลการีม โนร์ ก่อนได้รับตำแหน่งนี้

“ผมเป็นข้าราชการเกษียณอายุจากกองกำลังแห่งประเทศมาเลเซีย หลังจากรับราชการมา 42 ปี ตำแหน่งราชการสุดท้ายคือผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองกำลังมาเลเซีย คนที่ 20 ตั้งแต่ปี 2561 จนเกษียณอายุราชการในปี 2563 โดยก่อนหน้านั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศแห่งมาเลเซีย เป็นเวลา 7 ปี ซึ่งเคยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เป็นอุทยานเรียนรู้ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย”

ท่านย้ำว่า แม้จะเป็นทหาร แต่จิตใจและความสนใจของตนเองใกล้ชิดกับโลกวิชาการ เคยได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์คุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยเปอร์ลิส และนักวิชาการกิตติมศักดิ์ จากสถาบันดับเบิลยูเอ็มจี มหาวิทยาลัยวอร์ริก ประเทศอังกฤษ และเป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศแห่งมาเลเซีย

“จนถึงทุกวันนี้ ผมยังปฏิบัติหน้าที่นักวิชาการและสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัย สาขาวิชาที่มีความเชี่ยวชาญ คือ War and Conflict สงครามกับความขัดแย้ง การได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยความสะดวกครั้งนี้จึงเป็นเกียรติและยังเป็นโอกาสทองเพื่อนำทฤษฎีต่างๆ มาใช้ในสถานการณ์จริงของโลกแห่งความเป็นจริง และยังเป็นหัวหน้าหมวดความมั่นคงและการป้องกันประเทศ สถาบันศาสตราจารย์แห่งประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับนักคิดที่รวบรวมความเชี่ยวชาญของศาสตราจารย์หลายท่านมาเสนอความเห็นต่อนโยบายหลักเพื่อพัฒนาสังคมมาเลเซียด้วย”

“การมีส่วนร่วมของฝ่ายที่สาม ทั้งองค์กรนอกภาครัฐ ภาคประชาสังคม จะได้รับการขับเคลื่อนเพื่อให้มีความคืบหน้าทางบวก จากผู้อำนวยความสะดวก เพราะการเจรจาเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อส่งเสริมให้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง”

“ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผมขอแสดงความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนการปฏิบัติของรัฐบาลมาเลเซีย และมั่นใจว่าวิธีการตามความเห็นชอบของทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาควรจะเป็นวิธีปฏิบัติของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสีย”

ศ.พล.อ.ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน ย้ำว่า ประเด็นสำคัญที่ตนเองต้องการจะเน้นคือ การสร้างสันติภาพมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับมนุษยธรรม ดังนั้น ทุกฝ่ายควรพยายามเพื่อขยายการมีส่วนร่วมในสภาพแวดล้อมของทุกฝ่าย โดยยึดมั่นใน “big heart and big mind” จิตใจอันยิ่งใหญ่ เพื่อบรรลุสถานการณืที่ทุกฝ่ายจะสามารถเป็นผู้ชนะได้ Win-Win

“คำสำคัญคือสันติภาพ Keamanan และต้องเป็นประเด็นหลักของแต่ละฝ่ายถึงแม้ว่าภายหลังจะมีหลักการ agree to disagree เห็นด้วยที่จะไม่เห็นด้วย แต่คำสำคัญนี้ต้องมีการปฏิบัติและได้รับการเคารพ”

“สุภาษิตมลายูบอกว่า Menang jadi arang, kalah jadi abu ชนะก็เป็นถ่าน แพ้ก็เป็นเถ้า ไม่มีฝ่ายใดได้ประโยชน์จากการใช้ความรุนแรง ในทางกลับกันการใช้ความรุนแรงจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงและมีความเสี่ยงที่จะถล่มสังคมทั้งหมดในพื้นที่ความขัดแย้งด้วยซ้ำ”

ตันศรี ซุนกิฟลี ได้เชิญชวนทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันในการแลกเปลี่ยนบนโต๊ะเจรจาเพื่อยุติการปะทะกัน แสวงหาจุดร่วม สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และให้เข้าถึงระดับรากหญ้า และสุดท้ายก็จะนำไปสู่การสิ้นสุดของความขัดแย้ง

“Tak lalu dandang di air, di gurun ditanjakkan เราต้องพยายามทุกอย่าง ตราบใดที่สามารถบรรลุเป้าหมายของเราได้

เครือข่ายชาวพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Budhist Network in Deepsouth, Thailand) นั้น นางสาวลม้าย มานะการ ได้เปิดเผยต่อผู้เขียนว่า เป็นเครือข่ายเชิงพื้นที่ที่รวมตัวกันในลักษณะภาคีร่วมสร้างข้อเสนอเพื่อกระบวนการพูดคุย

แต่ละองค์กรในเครือข่ายมีอิสระต่อกันในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และพันธกิจขององค์กรนั้นๆ

ประธานหรือหัวหน้าองค์กรหรือผู้ประสานงานองค์กร จะประสานงานและเชื่อมต่อกันด้วยภารกิจที่เห็นพ้องต้องกัน โดยให้แต่ละองค์กรหรือกลุ่มเป็นตัวเชื่อมต่อกับสมาชิกขององค์กร รับฟังและส่งข้อเสนอต่อการพูดคุยสันติภาพ ในแต่ละจังหวะของการทำข้อเสนอในแต่ละช่วง

บางครั้งทางองค์กรสามารถออกข้อเสนอผ่านองค์กรเดี่ยวของตัวเองอย่างอิสระ ขึ้นกับโอกาสและสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่

ขณะนี้มีกลุ่มองค์กร โดยเครือข่ายชาวพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีองค์กรสมาชิกและภาคี ดังต่อไปนี้

1.ชมรมพุทธรักษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (4 จังหวัด) 2.เครือข่ายชาวพุทธจังหวัดปัตตานี 3.กลุ่มชาวพุทธจังหวัดยะลา 4.เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5.เครือข่ายพุทธธรรมนำสันติสุข จชต. (5 จังหวัด) 6.สมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ (4 จังหวัด) 7.กลุ่มชาวพุทธรักสันติ

การขับเคลื่อนงานของเครือข่ายชาวพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา เครือข่ายชาวพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอบคุณผู้อำนวยความสะดวก ประเทศมาเลเซีย คู่พูดคุย ไทยและบีอาร์เอ็น ที่เดินหน้าการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง เราสนับสนุนการพูดคุยเสมอมานับสิบปี และมีความหวังในความจริงใจของทุกฝ่าย โดยการระดมความเห็นจากสมาชิกพลเมืองชาวพุทธ ทำข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ และเสนอต่อการพูดคุยสันติสุข มาอย่างต่อเนื่อง

เพราะ “เรา : ทั้งชาวพุทธดั้งเดิม และชาวพุทธที่มาอยู่อาศัย เกิด เติบโต มีชีวิตร่วมกันมากับพี่น้องศาสนิกอื่น เพราะเราคือพี่น้องกัน อยากอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย เป็นสุข อยู่ในพื้นที่ จชต.แห่งนึ้ร่วมกัน”

 

น.ส.ลม้าย มานะการ เพิ่มเติมว่า ความหวังของเครือข่ายต่อการพูคคุยสันติภาพสำหรับในห้วงศักราชใหม่ ปี 2566 นี้ เครือข่ายชาวพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมุ่งหน้า ยืนหยัดต่อภารกิจข้างต้น และมีข้อเสนอต่อกระบวนการพูดคุย ดังนี้

1) ให้มีการพูดคุยและจัดทำข้อตกลงบนโต๊ะพูดคุย ระหว่าง BRN และไทย เรื่อง ยุติการก่อเหตุรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารของทุกฝ่ายในพื้นที่ตลอดเวลา 3 เดือนในห้วงเข้าพรรษา ถึงประเพณีชักพระของชาวพุทธ เพื่อให้เกิด “วาระเข้าพรรษาสันติ-ปลอดภัยสำหรับทุกคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้”

2) ให้ทั้ง 2 ฝ่ายที่เป็นคู่พูดคุยในขณะนี้ รวมทั้งผู้อำนวยความสะดวก ประเทศมาเลเซีย ร่วมกันแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการเมือง และขอให้คู่พูดคุย เดินหน้ากระบวนการพูดคุย และแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีการและกระบวนการทางการเมือง โดยเอื้อให้มีการเปิดพื้นที่การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ทุกกลุ่ม เพื่อเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อ และความร่วมมือในการสร้างสันติสุข

3) ประชาชน กลุ่ม องค์กร และตัวแทนกลุ่มชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธในพื้นที่ จชต. ขอมีโอกาสแสดงพลัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย และขบวนการบีอาร์เอ็น ภายใต้การดำเนินงานของคณะพูดคุยฝ่ายไทย และคณะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยประเทศมาเลเซีย