The Adventure of Iron Pussy หัวใจทรนง | หนังน้ำเน่าเบาสมอง ฉบับอภิชาติพงศ์ & ไมเคิล เชาวนาศัย

The Adventure of Iron Pussy หัวใจทรนง | หนังน้ำเน่าเบาสมอง

ฉบับอภิชาติพงศ์ & ไมเคิล เชาวนาศัย

 

หากเอ่ยถึงเอกลักษณ์ในฝีมือการกำกับหนังของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หลายคนคงนึกถึงหนังอาร์ตเชื่องช้า มีสัญญะให้ตีความตลอดเวลา ซึ่งความช้าและเนิบนาบนี้เป็นกิตติศัพท์ที่ทำคนดูหลับคาโรงเป็นประจำ

ภาพจำเหล่านี้อาจเป็นจริงกับผลงานเรื่องอื่นๆ ของเขา ทว่า ไม่ใช่กับ ‘The Adventure of Iron Pussy’ หรือ ‘หัวใจทรนง’ ภาพยนตร์แนว Action-Comedy

ที่เราขอการันตีว่าเรื่องนี้เป็นหนังที่ดูง่ายที่สุดในบรรดาหนังอาร์ตของอภิชาติพงศ์

อันที่จริงหากกล่าวว่า The Adventure of Iron Pussy เป็นภาพยนตร์ฝีมืออภิชาติพงศ์คนเดียวก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะเดิมหนังเรื่องนี้มีต้นฉบับมาจากหนังสั้นของ ไมเคิล เชาวนาศัย ที่ได้รางวัลรัตน์ เปสตันยี จากมูลนิธิหนังไทย (หอภาพยนตร์) ในปี 2542

และนอกเหนือจากการเป็นนักทำหนังสั้นแล้วไมเคิลยังเป็นศิลปินร่วมสมัย งานศิลปะของเขามักมีเนื้อหาเสียดสีสังคมและวิพากษ์ค่านิยมและความเชื่อแบบไทยๆ ไมเคิลนับว่าเป็นศิลปิน Media Art ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับเอเชียเลยทีเดียว

ใน The Adventure of Iron Pussy ฉบับอภิชาติพงศ์นี้ นอกจากจะได้ไมเคิลมาเขียนบทและกำกับฯ ร่วมแล้ว นักแสดงประกอบคนอื่นก็ไม่ธรรมดา!

เพราะต่างเป็นดาราที่เราคุ้นเคยจากจอแก้วทั้งนั้น แถมภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีฉากตื่นเต้นเต็มไปหมด ทั้งฉากระเบิด เข้าถ้ำเข้าป่า งานเลี้ยงสุดหรูในคฤหาสน์ และอื่นๆ อีกมากมายตามฉบับละครไทย

 

เท้าความถึงต้นฉบับเดิม Iron Pussy หรือนางเอกของเรามีประวัติเคยเป็นอะโกโก้บอยมาก่อน

เมื่อเกิดภยันอันตรายต่อ sex workers ย่านพัฒน์พงศ์เธอก็จะแปลงร่างจากพนักงานร้านสะดวกซื้อมาเป็นฮีโร่ (ทรานส์) สาวผู้คอยปราบปรามเหล่าอันธพาลที่ข่มเหงรังแกคนทำอาชีพขายบริการ

แต่ในฉบับปี 2557 นี้ Iron Pussy ได้รับภารกิจลับจากรัฐบาลให้ตามสืบเบื้องหลังธุรกิจพันล้านของ คุณชายแทง (แสดงโดย กฤษดา สุโกศล/น้อย-วงพรู) ไฮโซหนุ่มบุตรชายของมาดามปอมปาดอย (แสดงโดย ดรุณี กฤตบุญญาลัย) ด้วยภารกิจลับนี้ Iron Pussy ต้องปลอมตัวเป็นสาวใช้เพื่อเข้าไปสืบความลับในคฤหาสน์สุดหรู เรื่องเหมือนไม่ยากเกินความสามารถ

ทว่า ภารกิจนี้กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อใจเจ้ากรรมดันหวั่นไหวให้คุณชายแทงทั้งที่รู้อยู่ว่าคุณชายมีคู่หมั้นคู่หมายเป็นไฮโซนักเรียนนอกอย่าง คุณรุ้งราณี (แสดงโดย สิริยากร พุกกะเวส) อยู่แล้ว

เรื่องราวการผจญภัยของ Iron Pussy ฉบับอภิชาติพงศ์นี้ตั้งใจสร้างเลียนแบบละครน้ำเน่าสมัยก่อน นักแสดงส่วนใหญ่ต่างเป็นดาราที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีจากจอโทรทัศน์ ทั้ง กรุง ศรีวิไล และนักแสดงประกอบอย่าง ธีรวัฒน์ ทองจิตติ (ซูโม่เป๊ปซี่) พร้อมกันนั้นตัวละครทุกคนต่างถูกพากย์เสียงทับและมีฉากร้องเพลงประกอบตลอดเรื่อง (ด้วยเหตุนี้เองทำให้เว็บไซต์วิจารณ์บางแห่งจัดหนังเรื่องนี้เป็นแนว Musical-Comedy)

นอกจากเรื่องเสียงพากย์และการใช้นักแสดงดังแล้ว อภิชาติพงศ์ยังพยายามทำภาพในเรื่องให้ออกมาคล้ายกับภาพในหนังสมัยก่อนที่ถ่ายด้วยฟิล์ม 16 ม.ม.

แต่ในการทำหนังเรื่องนี้อภิชาติพงศ์ใช้กล้องดิจิทัลความละเอียดต่ำถ่ายทำเพื่อให้ได้ภาพที่ออกมาแตกพร่านิดๆ คล้ายออกมาจากหนังยุคมิตร-เพชรา

ซึ่งจากหนังสือ ชั้นครู ๑ ตัวตนโดยตัวงานอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เขาเคยกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ว่า

“นี่เป็นขยะที่ดีที่เราชอบ เป็นหนังที่ผมทำร่วมกับ Iron Pussy คือคุณไมเคิล เชาวนาศัย ก็ช่วยกันคิดบทถ่ายทำแล้วก็ทะเลาะกันไปด้วย แต่ว่าเป็นงานที่พิเศษมากที่คนไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงทำงานนี้ (…)

เราพยายามจะเชื่อมความทรงจำที่เราดูหนังเก่า ละครเก่า ละครทีวีทั้งหลาย (หนัง) เรื่องนี้มันเป็นการบังคับตัวเองด้วยว่าให้ทำงานเป็นคอนเซ็ปต์อย่างหนึ่งที่ไม่ต้องวิเคราะห์ว่าตัวละครนี้เป็นยังไง ทุกอย่างมันมีรูปแบบของมันอยู่แล้ว พระเอกอย่างนี้ นางเอกอย่างนี้ บทอย่างนี้ คือเรื่องนี้จะมีทุกอย่างตั้งแต่ไฟไหม้ ระเบิด เข้าถ้ำ เผาโน่นเผานี่ ถ่ายทำสั้นมากๆ รู้สึกแค่ 10-20 วัน ทำให้เราไม่มีโอกาสได้คิดเพราะว่าคนสมัยก่อนเวลาทำงานถ่ายทำ อย่างสมัยคุณเพชราบางทีถ่ายหนังวันละ 2-3 เรื่อง ผู้กำกับก็ไม่มีเวลาคิดเหมือนกัน ถ่ายๆ ทำไปออกมาเหมือนสายพาน”

จากหนังสือ ชั้นครู ๑ ตัวตนโดยตัวงานอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

นัยยะของภาพอันแตกพร่าตลอดเรื่องอาจหมายถึงสื่อน้ำเน่าในสังคมไทยที่ยังคงฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ อย่างไม่รู้จบ แต่หากกล่าวว่ามีแต่คนไทยเท่านั้นที่ดูละครน้ำเน่าก็คงไม่ถูกต้องและไม่ยุติธรรมเท่าใดนัก เพราะอันที่จริงแล้วทุกๆ ประเทศทั่วโลกต่างมีละครน้ำเน่าตามฉบับของตนอยู่ รวมถึงประเทศที่เจริญแล้วก็ด้วย

แม้ว่าปัจจุบันคนทำละครและภาพยนตร์จะพยายามสร้างหนังและละครน้ำดีให้มีปริมาณเยอะขึ้น แต่ทว่า ละครน้ำเน่าก็ยังไม่สูญหายตายจากไปไหน คำถามสำคัญที่เราควรถามกันคือ แล้วละครน้ำเน่าเหล่านี้มีหน้าที่อะไรในสังคม?

จากบทความวิชาการของ สมสุข นิมมาน ที่ศึกษาหัวข้อ ละครโทรทัศน์ เรื่องของ “ตบๆ จูบๆ” และ “ผัวๆ เมียๆ” ในสื่อ “น้ำเน่า” สมสุขกล่าวว่าหากเราตั้งคำถามว่าอะไรคือพันธกิจของละครน้ำเน่า คำตอบของคำถามนี้น่าจะตอบได้แบบกว้างๆ ได้ 2 แนว

หนึ่ง คือในแง่การตลาดสิ่งที่มาคู่กับละครโทรทัศน์คือโฆษณาคั่นเวลาเบรก สมสุขชี้ให้เห็นว่าละครโทรทัศน์ (รวมถึงรายการทีวีทั้งหลาย) ต่างเป็นพื้นที่ดึงดูดบรรดาผู้อุปถัมภ์รายการและโฆษณาใหญ่น้อย ทำให้ละครเหล่านี้ต้องพยายามช่วงชิงเรตติ้งจากผู้ชมให้ได้มากที่สุด

สอง-คำตอบที่พวกเราน่าจะคุ้นเคยคือการเป็นพื้นที่มอบความบันเทิงและคติสอนใจให้แก่ผู้ชม ซึ่งคำตอบข้อนี้ตามมาด้วยกลไกที่ว่า ทำไมละครโทรทัศน์จึงสามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกบันเทิงได้ สมสุขอธิบายว่าคงเป็นเพราะละครน้ำเน่าเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้จินตนาการและความจริงได้โคจรมาพบกัน

จวบจนทุกวันนี้เราคงต้องยอมรับว่า ความบันเทิงอันปราศจากสาระ นี้กลายเป็นรากเหง้าและกลายเป็นส่วนประกอบหนึ่งในความทรงจำของพวกเราทุกคนที่เป็นผู้ชม รวมถึงตัวคนทำหนังเรื่องนี้อย่างอภิชาติพงศ์ก็เช่นกัน

ท่านที่สนใจรับชม The Adventure of Iron Pussy (หัวใจทรนง) ได้ที่หอภาพยนตร์ ในวันศุกร์ที่ 21 เมษายน 2566 เวลา 14.00 น. ในกิจกรรมดูหนังคลาสสิคกับ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน •

 

ข้อมูลจาก

– หนังสือ สื่อบันเทิง : อำนาจแห่งสื่อไร้สาระ (2545) โดย กาญจนา แก้วเทพและคณะ

– หนังสือ ชั้นครู ๑ ตัวตนโดยตัวงาน อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (2556)

https://cultandtrace.blogspot.com/2008/04/media-art-hero.html

https://www.youtube.com/watch?v=pC2m4Kdikzc

https://mgronline.com/entertainment/detail/9470000063334

ข้อมูลภาพจาก

https://www.kickthemachine.com/page80/page24/page14/index.html

https://www.filmdoo.com/films/the-adventures-of-iron-pussy/

 

บทความพิเศษ | ปริชาติ หาญตนศิริสกุล