หมอดูวิชาการส่องอนาคต 2033 (3)

เกษียร เตชะพีระ

หมอดูวิชาการส่องอนาคต 2033 (ตอนที่ 3)

 

คณะกรรมการแอตแลนติก (The Atlantic Council) อันเป็นสถาบันคลังสมองอเมริกันชั้นนำด้าน การระหว่างประเทศและความมั่นคง ได้เผยแพร่ผลการสำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และเล็งการณ์ล่วงหน้า 167 คนจาก 30 ประเทศทั่วโลกออกมาว่าพวกเขาเล็งเห็นแนวโน้มการเมืองโลกอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้าคือ ค.ศ.2033 รวม 10 ประการ (https://www.atlanticcouncil.org/content-series/atlantic-council-strategy-paper-series/2023-global-foresight-survey/)

ต่อจากแนวโน้มข้อ 5) อำนาจอเมริกันในอนาคต คือ…

6) การปล่อยก๊าซคาร์บอนถึงจุดยอดสุด

ในบรรดาเรื่องร้อนต่างๆ ในระเบียบวาระนโยบายระหว่างประเทศ (ได้แก่ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง, สาธารณสุข, การบริหารจัดการเทคโนโลยี, ความมั่นคงทางอาหาร, การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์) ผู้ตอบแบบสอบถามข้อนี้ (151 คน) เลือกระบุเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงว่าจะนำไปสู่การร่วมงานกันระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าเพื่อนในช่วงสิบปีข้างหน้า (42%) ทิ้งห่างเรื่องสาธารณสุขซึ่งเป็นอับดับสอง (25%)

เหตุผลน่าจะอยู่ที่พลังของขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเกือบ 1 ใน 3 ของผู้ตอบ 42% ข้างต้น คะเนว่าจะทรงอิทธิพลทางการเมืองสูงสุดในบรรดาขบวนการทางสังคมทั้งหลายทั่วโลกในทศวรรษหน้า

ก็แลถ้าผู้นำการเมืองและผู้วางนโยบายหันมาเพ่งเล็งรวมศูนย์เรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแล้ว การปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกอันเป็นมูลเหตุหลักของมันจะขึ้นถึงจุดยอดสุดและเริ่มลดต่ำลงเมื่อไหร่กัน?

ปรากฏว่าขณะที่องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) ประเมิน ว่าจุดยอดสุดตามฉากทัศน์แห่งนโยบายที่ประเทศต่างๆ แถลงออกมา (STEPS : Stated Policies Scenario) จะเกิดราวปี 2025 (ดูแผนภูมิด้านล่าง World Energy Outlook 2022, p. 43) ผู้ตอบแบบสอบถามของคณะกรรมการแอตแลนติกส่วนใหญ่กลับไม่คิดว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนจะถึงจุดสุด ยอดแล้วเริ่มลดต่ำลงทันปี 2033 ด้วยซ้ำไป โดยผู้ตอบที่คิดว่ามันอาจจะเกิดได้ภายในปี 2033 มีแค่ 35%

อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบสัดส่วนมากกว่า (39% ต่อ 35%) เห็นว่าถึงปี 2033 ผลกระทบจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจะใหญ่โตพอที่จะกระตุ้นให้มนุษย์เริ่มหามาตรการวิศวภูมิกรรม (geoengineering) แปลกแหวกแนวขนานใหญ่ซึ่งเป็นที่โต้แย้งกันมารับมือมัน เช่น ฉีดพ่นละอองลอยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ

(ภาพซ้าย) ประเทศประชาธิปไตยทุกวันนี้ที่น่าจะกลายเป็นอัตตาธิปไตยที่สุดในช่วงสิบปีข้างหน้า & (ภาพขวา) ประเทศอัตตาธิปไตยทุกวันนี้ที่น่าจะกลายเป็นประชาธิปไตยที่สุดในช่วงสิบปีข้างหน้า (ขนาดวงกลมของแต่ละประเทศบ่งชี้ความน่าจะเป็นจากมาก –> น้อย)

7) โรคระบาดทั่วกับวิกฤตเศรษฐกิจ

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เล็งการณ์ร้ายว่าโลกยังจะต้องเผชิญกับโรคระบาดทั่วแบบโควิด-19 กับวิกฤตแบบเศรษฐกิจโลกถดถอยใหญ่ปี 2008-2009 อีก!

ผู้ตอบ 76% ทำนายว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกระดับเดียวกันนั้นจะเกิดอีกครั้งภายในสิบปีข้างหน้า ส่วนผู้ตอบ 19% หนักข้อยิ่งกว่า โดยคาดว่าจะมีวิกฤตแบบนั้นอีกสองครั้งหรือมากกว่าในช่วงเวลาเดียวกัน

ในทำนองเดียวกัน ผู้ตอบ 49% คาดว่าโลกจะเผชิญโรคระบาดทั่วในขอบเขตกว้างไพศาลและผลกระทบหนักหนาสาหัสแบบโควิด-19 อีกครั้งภายในปี 2033 ส่วนผู้ตอบ 16% ไปไกลกว่าโดยคาดว่าจะมีโรคระบาดทั่วแบบนั้นสองครั้งหรือมากกว่าในช่วงเวลาเดียวกัน

ในแง่หนึ่ง คำตอบเล็งการณ์ร้ายเหล่านี้อาจสะท้อนกับประสบการณ์กินใจระยะใกล้กับโควิด-19

แต่ในอีกแง่ มันอาจบ่งชี้แนวโน้มน่าวิตกว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคสมัยแห่งภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขหนักข้อ บ่อยครั้งขึ้น รวมทั้งหวนกลับไปสู่แบบแผนเศรษฐกิจย้อนยุคทางประวัติศาสตร์ระหว่างปี 1908-1946 ซึ่งเกิดเศรษฐกิจโลกถดถอยถึง 5 ครั้งในช่วงนั้นหรือกว่าหนึ่งครั้งต่อทศวรรษ

 

8) ประชาธิปไตย vs. อัตตาธิปไตย

โดยรวม ผู้ตอบแบบสอบถามไม่เล็งเห็นว่าพลังประชาธิปไตยหรืออัตตาธิปไตยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้ชัย ชนะเด็ดขาดในช่วงสิบปีข้างหน้าผู้ตอบจำนวนมากกว่า (37% ต่อ 29%) คาดว่าจำนวนประเทศประชาธิปไตยในโลกจะหดลดลงแทนที่จะเพิ่มพูนขึ้นในรอบทศวรรษหน้า

แต่แทบทุกคนคะเนว่าจำนวนที่ลด/เพิ่มคงไม่มากนัก ขณะที่ 35% คิดว่าจำนวนประเทศประชาธิปไตยในอีกสิบปีข้างหน้าจะมีเท่ากับในปัจจุบัน

อนึ่ง การนิยามว่าประเทศไหนเป็นประชาธิปไตยหรืออัตตาธิปไตยของผู้ตอบไม่ได้มีฉันทามติเหมือนกันเป็นเอกภาพ จึงมีความเหลื่อมซ้อนสลับปนเปกันอยู่ในแผนภูมิทั้งสองข้างบน

สำหรับประเทศประชาธิปไตยทุกวันนี้ที่น่าจะกลายเป็นอัตตาธิปไตยที่สุดในช่วงสิบปีข้างหน้า เรียงตามลำดับสัดส่วนจำนวนผู้ตอบที่เห็นแนวโน้มดังกล่าว ได้แก่ : สหรัฐอเมริกา (9%), อินเดีย (9%), ฮังการี (9%) ตุรกี (8%), บราซิล (6%), รัสเซีย (4%), โปแลนด์ (4%), ฟิลิปปินส์ (3%), เม็กซิโก (3%), แอฟริกาใต้ (3%), ปากีสถาน (2%), อิตาลี (2%) ฯลฯ

ส่วนประเทศอัตตาธิปไตยทุกวันนี้ที่น่าจะกลายเป็นประชาธิปไตยที่สุดในช่วงสิบปีข้างหน้า เรียงตามลำดับสัดส่วนจำนวนผู้ตอบที่เห็นแนวโน้มดังกล่าว ได้แก่ : อิหร่าน (13%), รัสเซีย (7%), ตุรกี (7%), เบลารุส (6%), ฮังการี (3%), เวเนซุเอลา (3%), ที่เหลือประเทศละ 1% รวมทั้งจีน เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เกาหลีเหนือ เฮติ อียิปต์ ฯลฯ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)