แรงเฉื่อย ‘ผี COVID’ ฉุดบริษัท Hi-Tech ร่วงระนาว

มีการวิเคราะห์ว่า สาเหตุหลักมาจากปัจจัยสภาพเศรษฐกิจขาลงทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะเงินเฟ้อ ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น และสงครามในยูเครน

แต่เหตุผลสำคัญน่าจะมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่แม้ขณะนี้ทั่วโลกได้ทยอยกลับสู่สภาวะปกติแล้วก็ตาม

ทว่า “แรงเฉื่อย” ของ COVID-19 ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ และอาจไม่ทันการณ์ต่อการดำรงสภาพคล่องทางธุรกิจ ในสภาพที่บรรดาผู้บริโภคเองก็ฟื้นตัวช้าเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่าบริษัท Hi-Tech ต่างๆ ที่แม้หลายคนจะมองว่า นี่คือช่วงเวลาที่ดีของธุรกิจ ICT และ Online

ทว่า ในสถานการณ์จริงไม่เป็นเช่นนั้น

 

ตัวอย่างที่ไม่น่าเชื่อก็คือ Zoom ที่ประกาศเตรียมปลดพนักงาน 1,300 ตำแหน่ง เพราะยุคนี้ ใครๆ ก็รู้จัก Zoom ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ประชุม Online

รู้จัก จน Zoom เกือบจะอยู่ในสถานะเดียวกับ Fab (ผงซักฟอก), Xerox (เครื่องถ่ายเอกสาร), Max (ที่เย็บกระดาษ) ที่เป็น “แบรนด์” หรือ “ยี่ห้อ” ที่กลายมาเป็นชื่อเรียก “ประเภทสินค้า”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงที่ COVID-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก Zoom ได้รับความนิยมในทันทีจากการใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพในสถานการณ์ Work from Home และ Learn from Home

ดังนั้น ประกาศปรับลดพนักงาน 1,300 ตำแหน่ง หรือราว 15% ของพนักงานทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะมีการลดเงินเดือนของผู้บริหารบริษัท หลังความต้องการใช้ Zoom มีแนวโน้มลดลง เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้คลี่คลายตัว

นอกจากพนักงานที่จะหายไป 1,300 คนแล้ว คนที่เหลือยังถูกลดเงินเดือนลงคนละ 20% อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Eric Yuan เจ้าของ Zoom ได้สมัครใจลดเงินเดือนตัวเองลงถึง 98%

เช่นเดียวกับ The Big Five อันได้แก่ Alphabet (Google), Amazon, Apple, Meta (Facebook) และ Microsoft

ต้องยอมรับว่า The Big Five เป็นพลังขับเคลื่อนตลาดหลักทรัพย์ และเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาให้เฟื่องฟูตลอดระยะเวลานับ 10 ปีที่ผ่านมา

จากความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ และผลประกอบการที่น่าตื่นตาตื่นใจ ทว่า สถานการณ์ได้ผันแปรอย่างรวดเร็ว

ผลประกอบการไตรมาส 3 ของปี ค.ศ.2022 ที่ทรุดต่ำลง ส่งผลกระทบถึงราคาหุ้นของ The Big Five ดิ่งลงตามไปด้วย

มูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์รวมกันของ The Big Five หดหายไปกว่า 37% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

นําโดย Meta ซึ่งเคยมีมูลค่าหุ้นในตลาด เหนือระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนกันยายน ปี ค.ศ.2021 ปัจจุบัน มูลค่าหุ้นได้ทรุดตัว 70% หรือร่วงลง 260,000 ล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นสุดไตรมาส 3 ของปีกลาย

Amazon เองก็เผชิญวิกฤตมูลค่าหุ้นที่ดิ่งลงต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก ทั้งๆ ที่มูลค่าหุ้นของ Amazon เคยทำ New High ได้ในปี ค.ศ.2020

ทำให้ Amazon ได้ออกมาประกาศแผนเลิกจ้างพนักงานประมาณ 10,000 คน หรือราว 3% ของพนักงานทั้งหมด

สาเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายในด้านการลงทุนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราผลตอบแทนต่อเงินทุนที่เคยสูงกว่า 60% เมื่อ 5 ปีก่อน ลดลงเหลือราว 26% เท่านั้น

เช่นเดียวกับ Meta บริษัทแม่ของ Facebook ที่ประกาศลดพนักงานมากกว่า 11,000 คน หรือราว 13% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด

 

Twitter เองก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน แม้เพิ่งจะได้เจ้าของคนใหม่คือ Elon Musk ผู้ไม่รั้งรอใดๆ ได้ประกาศมาตรการโละพนักงานกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัท

เช่นเดียวกับ Dell ที่ก็เตรียมปลดคนงานกว่า 6,000 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 5% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 133,000 คน ทั่วโลกเช่นกัน

เช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ อาทิ สถาบันการเงิน Goldman Sachs และ Alphabet บริษัทแม่ของ Google

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ Dell ต้องเผชิญกับสภาวะผันผวนของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ PC (Personal Computer) ที่ชะลอตัวลงหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 สิ้นสุด

แม้ว่า Jeff Clarke ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของ Dell จะพยายามดำเนินมาตรการลดรายจ่าย และงดจ้างงานใหม่ไปแล้วตั้งแต่ปีกลายก็ตาม

เช่นเดียวกับ HP (Hewlett Packard) คู่แข่งสำคัญของ Dell ที่ก็ประกาศจะปลดพนักงานจำนวน 6,000 ตำแหน่งเช่นกัน

เพราะ International Data Corporation หรือ IDC บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินว่า ยอดขาย PC และ Tablet PC โดยรวมน่าจะลดลง 2.6% ในปีนี้

หลังจากเติบโตรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่คนทั่วโลก Word from Home และ Learn from Home

 

เช่นเดียวกับ Spotify บริษัท Music Streaming และ Podcast ระดับโลก ที่ก็ประกาศลดจำนวนพนักงานลง 6% เช่นกัน

โดยมาตรการลดคนงานของ Spotify ในครั้งนี้จะมีผู้ถูกปลดออกจากตำแหน่งประมาณ 600 คน จากทั้งหมดราว 9,800 คน

Daniel Ek ซึ่งเป็น CEO ของ Spotify กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราพยายามอย่างหนักเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย แต่มันยังไม่เพียงพอ

“Spotify ลงทุนไปมากเกินกว่ารายได้ที่เข้ามา และค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจก็เพิ่มขึ้นรวดเร็วเป็น 2 เท่าของปีที่แล้ว” Daniel Ek กระชุ่น

ทั้งนี้ Spotify ทุ่มงบฯ ไปกับการขยายธุรกิจ Podcast ซึ่ง Spotify คาดการณ์ว่ามีโอกาสได้เงินโฆษณาสูง แต่ Agency โฆษณากลับไม่จัดงบฯ มาลง Spotify มากเท่าที่คาดการณ์ไว้

ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกับ Meta บริษัทแม่ของ Facebook และ Alphabet บริษัทแม่ของ Google

 

เช่นเดียวกับ Walt Disney ที่ได้ประกาศว่าจะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยมีโครงการลดพนักงานจำนวน 7,000 คน คิดเป็นร้อยละ 3.6 ของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดทั่วโลก

ซึ่งจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ถึง 5,500 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

การปรับโครงสร้างดังกล่าว จะเกิดขึ้นกับกลุ่มงานหลัก ได้แก่ “กลุ่มบันเทิง” ที่มีธุรกิจภาพยนตร์ รายการทีวี และ Movie Streaming ตามมาด้วย “กลุ่มกีฬา” คือ ESPN และ “กลุ่มสวนสนุก”

อีกบริษัทหนึ่งซึ่งได้มีการประกาศลดพนักงานเช่นเดียวกันก็คือ Yahoo! ซึ่งประกาศว่าจะลดพนักงานกว่า 20% ของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด และมีแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ การลดคนงานของ Yahoo! ดังกล่าว จะส่งผลสะเทือนมากถึง “ครึ่งหนึ่ง” ของสายงาน “เทคโนโลยีโฆษณา” เลยทีเดียว

 

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหลังจากอุตสาหกรรม Hi-Tech เช่น ICT และธุรกิจ Online เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากความต้องการใช้งานในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักของ COVID-19

ที่ผู้คนทั่วโลกพากัน Work from Home และ Learn from Home

เมื่อสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลง ภาคธุรกิจกลับต้องเผชิญหน้ากับสภาพเศรษฐกิจขาลงทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะเงินเฟ้อ ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น และสงครามในยูเครนกระหน่ำซ้ำเข้ามาอีก

ธุรกิจ Hi-Tech จึงย้อนกลับมาเผชิญหน้ากับ “อุปสงค์” หรือ “ความต้องการสินค้าและบริการ” ที่ลดลงในเวลานี้

ประกอบกับการจ้างงานจำนวนมากในช่วงก่อน COVID-19 ได้นำมาซึ่งความจำเป็นของการลดคนงานเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

เห็นได้จากปรากฏการณ์ปลดพนักงานของบรรษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกจำนวนมากก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Meta (Facebook) และ Alphabet (Google) ก็ตาม

 

ทิ้งท้ายด้วยข้อสังเกตที่ว่า Apple และ Microsoft ค่อนข้างประคองตัวได้ดีพอสมควรเมื่อเทียบกับ The Big Five รายอื่น

ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ก่อตั้งไม่มีสิทธิ์ออกเสียงเหนือกว่าผู้ถือหุ้นอื่นๆ ดังนั้น การที่เจ้าของรับฟังเสียงผู้ถือหุ้น และนักลงทุนจึงเป็นมุมบวก

ที่การตัดสินใจต่างๆ ได้รับการกำกับดูแลจากหลายฝ่าย จึงช่วยลดความผิดพลาดได้มาก เมื่อเทียบกับบริษัท Hi-Tech อื่นๆ