คุยกับทูต | แพทริก เบิร์น ความเป็นไอริช ประเทศไอร์แลนด์…ที่ไม่ใช่ ไอซ์แลนด์ (1)

ปีนี้ เรากำลังจะได้ฉลองวันเซนต์แพทริก (St. Patrick’s Day) อีกครั้ง หลังจากห่างหายไปสามปีเนื่องจากโควิด-19 แพร่ระบาด

วันเซนต์แพทริก หรือวันนักบุญแพทริก เป็นวันหยุดประจำชาติของไอร์แลนด์ที่โด่งดังไปทั่วโลก เป็นการเฉลิมฉลองทางศาสนาที่จัดขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่นักบุญองค์อุปถัมภ์ที่สำคัญที่สุดของไอร์แลนด์คือ นักบุญแพทริก เสียชีวิต

นายแพทริก หรือ แพต เบิร์น (H.E. Mr. Patrick Pat Bourne) เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวกับเราเกี่ยวกับวันเซนต์แพทริก ความสัมพันธ์ทวิภาคี รวมทั้งแง่มุมต่างๆ ของวัฒนธรรมไอริช เพื่อที่เราจะได้รู้จักไอร์แลนด์มากขึ้น

ความคิดแรกเมื่อทราบว่ากรุงเทพฯ จะเป็นบ้านใหม่ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า

“แน่นอน ผมต้องรู้สึกตื่นเต้นและดีใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะในอดีตเคยมาเยือนประเทศไทยทั้งในฐานะนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ก็ได้พบว่า ที่นี่น่าสนใจมาก”

นายแพทริก หรือ แพท เบิร์น เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

ประวัติความเป็นมา

ก่อนหน้าที่จะมารับหน้าที่ในประเทศไทย เอกอัครราชทูตแพตดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2018 โดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศบรูไน, ติมอร์เลสเต, หมู่เกาะมาร์แชลล์, ไมโครนีเซีย และปาเลา

“เมื่อวาระการดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสิงคโปร์กำลังจะสิ้นสุดลง ด้วยความกระตือรือร้นอย่างยิ่งของผมที่ต้องการจะทำงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บวกกับความโชคดีที่ตำแหน่งในกรุงเทพฯ ว่างลง ผมจึงได้แจ้งให้รัฐมนตรีและผู้บังคับบัญชาทราบอย่างชัดเจนว่า กรุงเทพฯ เป็นสถานที่ซึ่งผมต้องการจะไปปฏิบัติหน้าที่ในการให้บริการเป็นลำดับต่อไป”

หลังจากจบปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยดับลินซิตี้ (Dublin City University) ก็ได้เริ่มงานทางการทูตในตำแหน่งเลขานุการตรีปี 1990 แต่ก่อนหน้านี้ระหว่างปี 1984-1990 เป็นเจ้าหน้าที่บริหารในกระทรวงยุติธรรมของไอร์แลนด์

ต่อมา ท่านทูตแพตได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริการกงสุลในกรุงดับลิน, กงสุลใหญ่ของไอร์แลนด์ในเอดินบะระหรืออิเดนเบิร์ก (Edinburgh) รวมถึงปฏิบัติหน้าที่ทางการทูตที่สถานทูตไอร์แลนด์ในอิรัก อิหร่าน เดนมาร์ก ออสเตรเลีย และอินเดีย

ท่านทูตและภริยา

พบรักในต่างแดน

“เมื่อไปประจำกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ผมได้พบรักกับสาวสวยซึ่งเกิดในศรีลังกามีนามว่า Sonali Rajasingham โดยเธอติดตามบิดาซึ่งไปทำงานที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำกรุงเตหะราน ชีวิตครอบครัวของเราจึงเริ่มต้นที่นั่น ครองคู่กันตราบจนทุกวันนี้เป็นเวลานานถึง 31 ปีแล้ว และเรามีลูกสาวสองคน คนหนึ่งทำงานในสิงคโปร์ ส่วนอีกคนทำงานที่สถานทูตไอร์แลนด์ในแคนาดา”

ท่านทูตแพตเล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้มอย่างภาคภูมิใจ

8 ต.ค. 2022 นายแพทริก เบิร์น เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและไอร์แลนด์

เริ่มจากการสถาปนาความสัมพันธ์ทางกงสุลเมื่อปี 1966 แล้วจึงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มกราคม 1975 และไทยแต่งตั้งเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน เป็นเอกอัครราชทูตประจำไอร์แลนด์

รัฐบาลไอร์แลนด์เปิดสถานเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทยเมื่อต้นปี 2015 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน มีนายเบรนแดน โรเจอร์ส (H.E. Brendan Rogers) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทยเป็นคนแรก เขตอาณาครอบคลุมประเทศเมียนมา, คนที่สองคือ นายโทนี่ คอตเตอร์ (H.E. Tony Cotter)

ดังนั้น นายแพทริก เบิร์น จึงเป็นเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทยคนที่สาม ซึ่งกำลังวางแผนเตรียมงานครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและไอร์แลนด์ ในปี 2025

กรุงเทพฯ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดว่า การที่จะผสมผสานความเป็นชาวตะวันตกและการปรับตัวข้ามวัฒนธรรมให้เข้ากับชีวิตในประเทศไทยนั้นง่ายหรือยากเพียงใด

“ครั้งนี้ นับเป็นตำแหน่งที่แปดของผมในฐานะนักการทูต ซึ่งโดยปกติ ผมมักจะชอบความแปลกใหม่และความท้าทายในการใช้ชีวิตและทำงานในสถานที่แห่งใหม่เสมอ”

“ที่กรุงเทพฯ ผมได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและเรียบง่าย ทุกคนที่ผมได้พบเป็นมิตรและให้ความช่วยเหลืออย่างดีมาก คนไทยก็เหมือนกับชาวไอริชในหลายๆ ด้าน นั่นคือ ให้การต้อนรับผู้มาเยือนด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดีงาม พร้อมกับรอยยิ้มหรือเสียงหัวเราะ และมักจะหาอะไรมาให้ดื่มกินเสมอ เช่นเดียวกับชาวไอริชที่ขึ้นชื่อเรื่องรักสนุก เป็นมิตรและโอบอ้อมอารี”

“ผมจึงคิดว่า เราคล้ายคลึงกันมาก ดังนั้น เมื่อมาอยู่ที่นี่ก็รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ถึงแม้ว่าสภาพอากาศโดยทั่วไป และภาษาจะแตกต่างกันก็ตาม”

คนไอริชขึ้นชื่อในเรื่องความเป็นมิตร มีความภูมิใจในชาติและวัฒนธรรมของตัวเอง และยินดีที่จะแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ให้กับชาวต่างชาติ ถึงแม้ไอร์แลนด์จะเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรเพียงประมาณ 5 ล้านคน แต่เชื่อกันว่าผู้คนมากกว่า 70 ล้านคนทั่วโลกได้รับมรดกทางวัฒนธรรมของชาวไอริช

08 ก.พ. 2023 เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

การจัดลำดับความสำคัญในการทำงาน

“ผมต้องการยกระดับในการมีส่วนร่วม การแลกเปลี่ยน และความร่วมมือกับประเทศไทยในอีกหลายด้าน เรื่องสำคัญ คือการมีส่วนร่วมทางการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยกับนักศึกษาและคนหนุ่มสาวของเราทั้งสองประเทศ”

“ด้วยความพยายามและมุ่งมั่นอย่างหนักของผมในการยกระดับโปรไฟล์ของไอร์แลนด์ เพื่อให้เกิดการรับรู้ถึงวัฒนธรรมของเราอย่างแพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทย เราจึงต้องทำงานอย่างแน่วแน่และจริงจัง เช่น แนะนำคนไทยให้รู้จักกับภาพยนตร์และรายการทีวีไอริชยอดนิยม เช่น The Banshees of Inisherin และ Derry Girls”

“ทางด้านดนตรี เรามีนักดนตรีและศิลปินชาวไอริชมากมายที่มีชื่อเสียง และหลายคนคุ้นเคย เช่น Riverdance, U2 และ Westlife”

“ส่วนนักเขียนและนักกวีคนสำคัญชาวไอริช ก็ได้แก่ James Joyce, Oscar Wilde, Roddy และ Sally Rooney เป็นต้น”

“นอกจากนี้ ผมยังต้องการนำชุมชนธุรกิจของเรามารวมกันเพื่อช่วยขยายการเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพราะเราเป็นผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี”

ไอร์แลนด์เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Google, Facebook, Linkedin, Microsoft, Apple และ Etsy ซึ่งได้จัดตั้งสำนักงานใหญ่ในยุโรปของตนที่กรุงดับลิน

พื้นที่รอบท่าเรือ Grand Canal Dock จึงเป็นที่รู้จักกันในนาม Silicon Docks ซึ่งเปรียบเสมือนซิลิคอนวัลเลย์ หรือแหล่งรวมบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรมจากหลากหลายแห่งทั่วโลก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับ Mr. Patrick Pat Bourne เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย  ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

การทำความตกลงการค้าเสรี (FTA)

“เนื่องจากไอร์แลนด์เป็นชาติสมาชิกของสหภาพยุโรป”

“เรากำลังดำเนินการเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทยซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกัน”

 

การพัฒนาความสัมพันธ์ไอร์แลนด์-ไทยที่ผ่านมา

“ความสัมพันธ์ของเราเป็นไปในทางบวกมากโดยมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาตั้งแต่ปี1975 ซึ่งจะมีการฉลองครบรอบ 50 ปีในอีกไม่นาน”

“เนื่องจากเรามีสถานเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว อย่างไรก็ตาม ผมก็อยากเห็นสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศของเราที่กรุงดับลิน เพราะปัจจุบันมีเพียงสถานทูตที่กรุงลอนดอนดูแลอยู่”

“เมื่อปีที่แล้ว เรามีการประชุมหารือทางการเมืองไทย-ไอร์แลนด์ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงดับลิน ซึ่งเป็นการช่วยให้เราระบุขอบเขตต่างๆ ในการขยายความร่วมมือ”

“ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-ไอร์แลนด์กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีมูลค่าเกิน 1 พันล้านยูโรต่อปี”

“ตอนนี้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไอริช ในขณะที่ชาวไทยไปไอร์แลนด์เพื่อการศึกษาและพักผ่อนมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ น่าจะเป็นเพราะคนไทยตกหลุมรักในธรรมชาติ อากาศที่เย็นสบาย ปราสาทโบราณเก่าแก่หลายร้อยปี ทิวเขาเขียวชอุ่ม และสนามกอล์ฟอันงดงามของเราเป็นพิเศษ”

“โดยรวมแล้ว ผมคิดว่าความสัมพันธ์ของเรามีแนวโน้มที่ดีมาก”

เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ เข้าพบกระชับสัมพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อประสานความร่วมมือกันในอนาคต เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2022

การมีส่วนร่วมของชาวไอริชในประเทศไทย

“เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรามีชาวไอริชประมาณ 3,500 คนอาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน และเนื่องจากไอร์แลนด์มีความแข็งแกร่งในด้านการศึกษา หลายคนในจำนวนนี้เป็นคนหนุ่มสาวชาวไอริชที่ทำงานเป็นครูในโรงเรียนและวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด”

“นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญชาวไอริชจำนวนมากมาทำงานที่นี่ด้านบริการทางการเงิน วิศวกรรม การท่องเที่ยวและการพักผ่อน อาหาร การชำระเงินแบบดิจิทัล และบริการสนับสนุนธุรกิจ”

“รวมทั้งมีชาวไอริชที่นี่ดำเนินการจัดหางานให้กับแรงงานไทยจำนวนมาก และพวกเขาก็ได้รับประโยชน์จากความสามารถเป็นเลิศของคนในท้องถิ่น นับว่าเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่มีภูมิรัฐศาสตร์อยู่ในจุดที่ได้เปรียบต่อการพัฒนา” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin