ที่มาของ “ศาลาแดง” ชื่อนี้ได้แต่ใดมา

ปริญญา ตรีน้อยใส
ภาพประกอบ : ตัวขบวนรถรางไฟฟ้าชนิด EMU จอดอยู่ที่สถานีปากน้ำ

มองบ้านมองเมือง เคยบอกว่าจะพาไปมอง ย่านศาลาแดง แต่เถลไถลไปไกล ก่อนที่จะมีทางรถไฟและสถานีรถไฟ

สถานีที่จะมองคราวนี้ ไม่ใช่สถานีรถไฟลอยฟ้า ศาลาแดง ของรถไฟสายสีเขียวเข้ม ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บีทีเอส ซึ่งมีทางเชื่อมลอยฟ้ากับสถานีรถไฟใต้ดิน สีลม ของรถไฟสายสีน้ำเงิน ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

หากเป็น สถานีรถไฟศาลาแดง ของรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำ รถไฟสายแรกของสยามประเทศ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวต่างประเทศเปิดกิจการค้า ตั้งโรงงาน ท่าเรือ และคลังสินค้า รวมทั้งพำนักในพระนครเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ทำให้พระนครมีปัญหาเมืองมากมาย โดยเฉพาะปัญหาความแออัดหนาแน่นของอาคารบ้านเรือน บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา

จึงมีข้อเสนอให้สร้างท่าเรือ ใกล้กับปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อลดความคับคั่งของเรือ และไม่ให้เรือใหญ่เข้ามาถึงในพระนคร โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติตั้งถิ่นฐาน

และเปิดกิจการในบริเวณใกล้เคียง

 

เพื่อความสะดวกในการเดินทางติดต่อจากปากน้ำ เข้าพระนคร บริษัท รถไฟปากน้ำทุน จำกัด โดยพระยาชลยุทธโยธิน (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) และพระนิเทศชลธี (แอลเฟรด ยอนลอบเดอเยฟ อานีเอช) ชาวเดนมาร์ก จึงได้รับสัมปทานเดินรถไฟสายปากน้ำเพื่อขนสินค้าและผู้โดยสาร เป็นเวลา 50 ปี

เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ ใช้เงินลงทุนมาก จึงใช้เวลาอีกหลายปี กว่าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเริ่มก่อสร้างทางรถไฟ

จนสามารถเปิดเดินรถ จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ไปถึงสถานีปากน้ำ ระยะทาง 21.3 กิโลเมตรได้ ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2436

นับเป็นทางรถไฟสายแรกของสยาม ที่ทำให้ประเทศก้าวสู่ความทันสมัย ก่อนหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ใกล้เคียงกับกิจการรถไฟญี่ปุ่น ที่เริ่มในปี พ.ศ.2425

เสียดายว่า พ่อค้าชาวต่างประเทศ ไม่ได้โยกย้ายกิจการและถิ่นพำนัก รวมทั้งไม่มีการสร้างท่าเรือที่ปากน้ำ ทำให้กิจการรถไฟไม่ประสบผลตามแผนงานธุรกิจ จนถึงขั้นขาดทุน จำเป็นต้องโอนกิจการให้กรมรถไฟหลวง ดำเนินการแทน

ก่อนที่เลิกการเดินรถในเวลาต่อมา

 

ทั้งนี้ จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ที่อยู่ใกล้ตรงจุดที่คลองตรงเชื่อมต่อกับคลองผดุงกรุงเกษม รวมทั้งถนนเจริญกรุงและย่านการค้าเยาวราช ทางรถไฟจะเลียบไปตามแนวคลองตรง จนถึงคลองพระโขนง และต่อเนื่องไปจนถึงปากน้ำ โดยรางรถไฟจะอยู่ริมฝั่งคลองด้านทิศเหนือ

โดยมีจุดจอดรถไฟหนึ่ง ตรงปากคลองสีลม เพื่อความสะดวกแก่ผู้คนที่อยู่อาศัยใกล้เคียง และเป็นจุดเชื่อมต่อกับย่านบางรักที่อยู่ปลายถนนสีลม ด้านถนนเจริญกรุง

มีการก่อสร้างศาลาพักผู้โดยสาร เป็นอาคารโล่ง มุงหลังคาแดง ทำให้เรียกขานกันว่า สถานีศาลาแดง

รวมทั้งกลายเป็นคำเรียกขานบริเวณใกล้เคียงว่า ย่านศาลาแดง ถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ ที่นิยมสร้างบ้านเรือนเป็นตึก บนสนามหญ้ากว้าง แบบตะวันตก อย่างเช่น บ้านพักของกัปตันวอแรล ที่อยู่ริมคลองตรง เยื้องกับสถานีรถไฟศาลาแดง หรือคนอื่นๆ ที่ต่อมาเปลี่ยนมือเป็นบ้านคหบดี เช่น บ้านอับดุลราฮิม บ้านสารสิน บ้านโอสถานุเคราะห์ บ้านจิราธิวัฒน์ เป็นต้น

เรื่องที่เล่ามา น่าจะเป็นเหตุผลให้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม ในปัจจุบัน ใช้ชื่อ ศาลาแดง ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟสายปากน้ำ ที่ชื่อ ศาลาแดง ด้วยประการฉะนี้แล •