คณะทหารหนุ่ม (29) | ยึดกรุงเทพฯ ใน 2 ชั่วโมง

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

การเข้ายึดครองกัมพูชาเมื่อต้นปี พ.ศ.2522 ที่เกิดขึ้นระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้นำไปสู่การเผชิญหน้ากันทางทหารจนนำไปสู่การปะทะกันอยู่ตลอดเวลาระหว่างทหารไทยและเวียดนามต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จนปรากฏข่าวที่ไม่เป็นทางการว่า เวียดนามจะบุกยึดกรุงเทพฯ ให้ได้ในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง

ขณะที่แสนยานุภาพทางการทหารของเวียดนามซึ่งเพิ่งเอาชนะมหาอำนาจสหรัฐมาแล้วและกลายเป็นมหาอำนาจทางการทหารอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโซเวียตหนุนหลัง

ก่อนหน้านี้ นับแต่รวมชาติได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ.2518 กระบอกเสียงของเวียดนามก็โหมโจมตีไทยทั้งเรื่องของการส่งกำลังไปร่วมรบในเวียดนามใต้ การที่ยอมให้สหรัฐใช้ไทยเป็นฐานบินโจมตีเวียดนามเหนือ

รวมทั้งประเด็นชาวเวียดนามในไทยถูกข่มเหงรังแกอย่างไม่เป็นธรรม

 

ทัศนะกระทรวงการต่างประเทศไทย

“นโยบายของไทยต่อเวียดนาม” ของสุรพงษ์ ชัยนาม บันทึกสถานการณ์ช่วงนี้ว่า

ในส่วนที่เกี่ยวกับปฏิกิริยาของเวียดนามต่อการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งจากข้อความโจมตีรัฐบาลไทยอย่างรุนแรงและต่อเนื่องทั้งโดยทางสถานีวิทยุฮานอย หนังสือพิมพ์เหยินเซิน ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม หนังสือพิมพ์ก๊วนด่อย เหยินเซิน ของกองทัพเวียดนาม ตลอดจนข่าวโทรพิมพ์ของสำนักข่าววีเอ็นเอ็น (สำนักข่าวของรัฐบาลเวียดนาม)

ดังอาทิ หนังสือพิมพ์ก๊วนด่อย เหยินเซิน ของกองทัพเวียดนาม ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2519 ได้ลงบทวิจารณ์โจมตีนายถนัด คอมันตร์

โดยกล่าวหาว่า นายถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้สบประมาทเวียดนาม ‘อย่างไม่มีมูลว่าคอมมิวนิสต์จากลาวและเวียดนามได้แทรกแซงประเทศไทยอันเป็นการกล่าวหาเพื่อให้เจ้านายอเมริกันพอใจเท่านั้น’

รายงานเดียวกันนี้ได้กล่าวหาอีกด้วยว่า ทางการไทยได้จับกุมคุมขังชาวเวียดนามไว้ประมาณ 10,000 คน และว่า ทางการไทยได้กดขี่ข่มเหงชาวเวียดนามในประเทศไทยอันเป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและข้อตกลงในแถลงการณ์ร่วมไทยเวียดนามฉบับวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2519

ทั้งวิจารณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยครั้งนี้เป็นแผนการของสหรัฐเพื่อเปิดโอกาสให้สหรัฐกลับเข้ามามีฐานปฏิบัติการภายในประเทศไทยอีก (หนังสือสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกงที่ 01/3487/2519 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2519)

การส่งกำลังเข้ายึดครองกัมพูชาของเวียดนามเหนือเมื่อปลาย พ.ศ.2521 นั้น เป็นความพยายามในการสร้างวงล้อมจีนทางด้านใต้อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการใหญ่ของสหภาพโซเวียด

และในส่วนหนึ่งของแผนการนี้ เวียดนามและลาวยังมีแผนในการเข้ายึดภาคอีสานของไทยด้วย

 

แผนยึดภาคอีสาน

“ลุงวัฒนา” (ชวลิต ทับขวา) บันทึกไว้ใน “จากเสรีไทยถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสายอีสาน” ดังนี้

“มีปัญหาเกิดการโต้แย้งทางความคิดใน อน. (เขตรับผิดชอบพื้นที่อีสานเหนือของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภาคอีสาน/บัญชร) ว่า จะรับรองว่าการปฏิวัติเป็นสินค้าส่งออกหรือจะต่อต้าน คือจะยอมรับให้กำลังจากภายนอกประเทศเข้ามาช่วยตีปลดปล่อยพื้นที่และสร้างอำนาจรัฐปฏิวัติขึ้น หรือจะปฏิเสธและต่อต้าน”

“ที่มีผู้เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมาก็เพราะพรรคเวียดนามและพรรคลาวได้เสนอแนวทางการปฏิวัติเป็นสินค้าส่งออก การปฏิวัติของแต่ละประเทศเป็นส่วนประกอบของการปฏิวัติโลก มีคนไม่น้อยมีความเห็นคล้อยตามความคิดนี้ เพราะมันเป็นทางลัดไปสู่หลักชัยไม่เหนื่อยแรง”

“ในระยะแรกใน อก. (อีสานกลาง) นำขอ อน.เป็นเสียงส่วนใหญ่ด้วยซ้ำไป แต่เราเห็นว่าหากมองในระยะยาวในผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนแล้ว เราไม่อาจรับความคิดนี้ได้ จึงใช้เหตุผลโต้แย้งยืนยันและโน้มน้าวจิตใจของเพื่อนร่วมงานและผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ใต้การนำผ่านการโต้แย้งกันหลายรอบ เสียงส่วนใหญ่ที่ถูกโน้มนำก็โน้มมาทางต่อต้าน ซึ่งพอทำข้อสรุปยุติได้”

“แต่ในทางยุทธวิธี อาศัยการถ่วงและซื้อเวลาในการตอบ เมื่อโยนลูกไปให้ ศก. (ศูนย์กลางการนำ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จังหวัดน่าน/บัญชร) โดยเราไม่มีสิทธิตัดสินปัญหาใหญ่เช่นนี้”

“พรรคลาวที่เป็นผู้ประสานงานมักเร่งเร้าให้ได้คำตอบที่แน่นอนแจ่มชัด ทั้งเสนอแผนการรูปธรรมมาให้พิจารณา และเสนอขอผู้นำของ อน.จะเป็นคนหนึ่งคนใดใน 2 คนนี้ไปประจำที่ประเทศลาวเพื่อสะดวกในการตัดสินใจและความรวดเร็วในการประสานงาน 2 คนนั้นคือ ลุงสยาม และคุณเจริญ”

“เมื่อถูกรุก เรายังถือหลักประนีประนอมเพื่อเห็นแก่มิตรภาพ อ้างเหตุขัดข้องที่ 2 คนยังมีความจำเป็นต่อการเตรียมงานด้านต่างๆ และปรับขบวนของ อน.ภายในประเทศ เฉพาะหน้าจึงส่งคุณเผด็จเป็นตัวแทนของ อน.ไปประจำที่ลาว”

“ทางลาวจำยอมรับซื้อเวลามาได้ร่วมปี เมื่อเห็นว่าถึง อน.ให้ร่วมแนวทางเขาไม่ได้แล้ว ทางลาวก็ใช้ท่าทีเป็นแข็งกร้าว กระทั่งใช้มาตรการรุนแรงต่อเรา ดึงกำลังทหารกองพันที่เราส่งไปให้ ศก.ไปได้จำนวนมาก และกำลังร่วมที่อยู่ลาวอีกจำนวนหนึ่งพร้อมกับยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ หยูกยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง เสื้อผ้า”

“ของเหล่านี้หากใช้รถบรรทุกขนาด 6 ล้อบรรทุกเต็มอัตราจะใช้ราว 12-13 คัน นับเป็นการสูญเสียทรัพย์สินและวัตถุปัจจัยสงครามมากที่สุด คนจำนวน 300 กว่าคนถึงขับออกจากแผ่นดินลาว ทาง อน.รับทั้งหมดและจัดสู่เขตงานต่างๆ ช่วยกันแบกรับ”

(ขอบคุณ ศูนย์สารนิเทศอีสานศิรินธร และบัณฑิต จันทร์ศรีคำ “แคน สาลิกา”)

 

ยืนยันจาก ธง แจ่มศรี

ธง แจ่มศรี อดีตเลขาธิการใหญ่แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ชุดที่ 4 พ.ศ.2525 บันทึกยืนยันกรณีนี้ไว้ในหนังสือ “ธง แจ่มศรี ใต้ธงปฏิวัติ” เช่นกัน

“พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้เชิญตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไปร่วมงานครบรอบ 2 ปีแห่งการปฏิวัติเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2520 ฝ่ายคอมมิวนิสต์ไทยได้ส่งคุณประสิทธิ์ ตะเพียนทอง และคุณประวิง อุทัยทวีป เป็นตัวแทน พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและลาวเสนอว่า นอกเหนือจากการหนุนช่วยด้านวัตถุปัจจัยและกำลังอาวุธ พรรคพี่น้องทั้งสองพรรคพร้อมที่จะส่งกำลังทหารมาช่วยปฏิวัติไทยให้ได้รับชัยชนะ อาจจะมาจากหน่วยทหารลาวหรือทหารชนชาติไทในเวียดนาม ทหารเหล่านี้จะเข้ามาช่วยการสู้รบในยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเป็นฝ่ายกำหนด”

“ฝ่ายเวียดนามเสนอถึงขนาดว่า การพัฒนาเร่งสร้างสังคมใหม่ของเขายังชะลอจังหวะก้าวได้ ขอให้ไทยปฏิวัติเสียก่อน คุณประสิทธิ์ได้ตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า จะขอนำมาหารือในคณะกรรมการพรรคฝ่ายไทยเสียก่อน”